27thJuly

27thJuly

27thJuly

 

May 04,2024

รฟท.ฟ้องผู้เช่า ๒ รายไม่ยอมย้าย ทำ‘รถไฟความเร็วสูงโคราช’ล่าช้า

 

รถไฟความเร็วสูงโคราชยังล่าช้ากว่าแผน สัญญาที่ ๓-๕ พบผู้เช่า ๒ รายยังไม่ยอมย้ายออกจาก อ้างอาศัยมากว่า ๓๕ ปี ต่อรองขอค่าขนย้าย รฟท.ยื่นฟ้องศาลขับไล่เรียกค่าเสียหาย หลังทำให้โครงการล่าช้า ทั้งที่บอกเลิกสัญญาเช่าตั้งแต่มิถุนายน ๒๕๖๕ และให้ย้ายภายใน ๕ มีนาคม ๒๕๖๗

ตามที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอคืนพื้นที่อาคารพาณิชย์ ๓๕ คูหา ด้านทิศตะวันตกของสถานีรถไฟนครราชสีมา ริมถนนมุขมนตรี ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนมารีย์วิทยา เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ ๑ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา สัญญาที่ ๓-๕ งานโยธา ช่วงสถานีโคกรวด-สถานีนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ดินของ รฟท. และมีเอกชนเช่าช่วงก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ แต่ผู้เช่าส่วนหนึ่ง อ้างอยู่อาศัยกว่า ๓๕ ปี ไม่ยอมย้ายออก และพยายามต่อรองขอค่าขนย้าย

ต่อมา รฟท.ได้นำป้ายประกาศไปติดหน้าอาคารที่มีข้อพิพาทโดยมีข้อความว่า “รฟท.ได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอแจ้งให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของผู้ให้เช่าและให้ส่งมอบพื้นที่คืนในสภาพเรียบร้อย ภายในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๗ หากไม่ดำเนินการ จะใช้สิทธิดำเนินการฟ้องขับไล่เรียกค่าเสียหายต่อไป” รวมทั้งนำแบริเออร์ไปปิดกั้นด้านหน้า ก่อนครบกำหนดเวลาผู้เช่า ๓ ราย ได้ขนย้ายทรัพย์สินออกก่อนครบเวลา เหลือผู้เช่า ๒ ราย ยังไม่ยอมออก ส่งผลให้บริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง พบปัญหาอุปสรรคไม่สามารถนำเครื่องจักรกลเข้าไปปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแนวเขตก่อสร้างสถานีรถไฟความสูง ๓ ชั้น ให้บริการรถไฟความเร็วสูงและทางคู่ จึงต้องชะลอการรื้อถอน ส่วนพนักงาน รฟท. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในอาคารสถานีรถไฟประวัติศาสตร์ ได้ย้ายวัสดุอุปกรณ์มาไว้อาคารชั่วคราวด้านข้างรวมทั้งผู้รับจ้างได้ทยอยย้ายอาณัติสัญญาณของรถไฟทางคู่เดิมมาติดตั้งที่ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นสำนักงานชั่วคราว เพื่อเตรียมรื้อถอนอาคารสถานีเก่าในเร็วๆ นี้

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๗ ที่ห้องประชุมสถานีรถไฟนครราชสีมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย รฟท. นัดผู้เช่าอาคาร ๓๕ แปลง (เก่า) มาทำบันทึกสละพื้นที่เช่าและการครอบครองสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าว เพื่อให้ผู้รับจ้างสามารถเข้าพื้นที่ทำการรื้อถอน ปรากฏว่ามีจำนวน ๑๐ ราย ไม่ได้มาดำเนินการ ส่วน ๒ รายที่ไม่ย้ายออกไม่ยอมทำบันทึกแต่อย่างใด แม้ฝ่ายกฎหมายพยายามชี้แจงขอความร่วมมือก็ไม่เป็นผล ผู้เช่า ๒ ราย ซึ่งมาทั้งครอบครัวอ่านเอกสารแล้วพากันเดินทางกลับ

จากนั้น รฟท.ได้มอบหมายให้ผู้รับจ้างนำป้ายไปติดประกาศการรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารทั้งหมดออกจากพื้นที่ภายใน ๗ วัน นับจากวันที่ติดประกาศ

ฝ่ายกฎหมาย รฟท. เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินรถไฟของผู้เช่า ๓๕ คูหา ว่า เมื่อปี พ.ศ ๒๕๓๒ นายทุนจากกรุงเทพมหานคร ได้ขอเช่าที่ดินผืนดังกล่าว เพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ เนื่องจากอยู่ย่านชุมชนใจกลางเมืองโคราช จึงมีผู้เช่าประกอบการค้าทั้งตลาดสด ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ คลินิกแพทย์ ห้างขายทอง ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายอุปกรณ์การเรียน ร้านขายของชำ สำนักงานกฎหมาย ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ฯ ต่อมามีการเปลี่ยนการครอบครองขายสิทธิต่อกันโดยเซ้งกิจการแล้วแต่ทำเล คูหาละ ๕-๘ แสนบาท กระทั่งรัฐบาลมีเมกะโปรเจ็กต์ รถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ จึงไม่ต่อสัญญาเช่าพร้อมขอคืนพื้นที่ ปรากฏผู้เช่าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือและการตรวจสอบพบผู้เช่ากว่า ๑๐ ราย ไม่จ่ายค่าเช่านานหลายปี มียอดค้างสะสมรวมหลายแสนบาท กรณีดังกล่าว รฟท.จะเรียกเก็บหนี้ที่ค้างชำระ ส่วนผู้เช่าที่จ่ายครบจะคืนค่าประกันสัญญาเช่าพื้นที่คูหาละ ๓.๕ หมื่นบาท สำหรับผู้เช่า ๒ ราย ที่ดื้อแพ่งได้ยื่นฟ้องให้ศาลจังหวัดนครราชสีมา ขอให้ออกหมายบังคับคดีขับไล่พร้อมจ่ายค่าใช้ประโยชน์ที่ดิน         

ทั้งนี้ รฟท.ได้แจ้งผลงานสะสมถึงสิ้นเดือนมีนาคม ๑๐.๖๑% ภาพรวมช้ากว่าแผนงาน ๓.๙๒% และแจ้งเลื่อนปิดการจราจรบริเวณถนนสืบศิริ ๖ (แยกบ้านพักตำรวจรถไฟ) ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคมถึง ๓๐ เมษายน ๒๕๖๗ เป็นวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ เนื่องจากพบดินอ่อนใต้ถนนจึงทำให้ล่าช้า และจะเปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๗ เพื่อก่อสร้างทางเบี่ยงสาธารณะเพื่อหลบแนวเขตงานรื้อย้ายรางประธาน ประชาชนทั่วไปสามารถใช้เส้นทางหน้า กศน. เพื่อวิ่งตรงมาแยกตัด ๑๑ ถนนสืบศิริได้

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๖๔ วันที่ ๑๕ เดือนเมษายน - วันที่ ๑๔ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๗


213 4,552