27thJuly

27thJuly

27thJuly

 

May 04,2024

รฟท.เปิด TOR หาผู้รับเหมา ลุยรถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย ๑๖๗ กม.ราคากลาง ๒๘,๗๕๙ ล.

 

การรถไฟฯ เปิดรายละเอียดงาน เตรียมหาผู้รับเหมาลุยก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง ๑๖๗ กม. ราคากลาง ๒๘,๗๕๙ ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างกันยายน’๖๗ แล้วเสร็จในปี ๒๕๗๐ ช่วยเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางราง สนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

ตามที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เผยแพร่ประชาพิจารณ์ร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference :TOR) ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางจากขอนแก่น-หนองคาย (กม.๔๕๓+๙๕๕ ถึง กม.๖๒๐+๒๗๕) ระยะทาง ๑๖๗ กม. ราคากลาง ๒๘,๗๒๐ ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๗ ทั้งนี้ เปิดรับฟังคำวิจารณ์ระหว่างวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๗ สิ้นสุดวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๗ ซึ่งมีรายละเอียดเกือบ ๒๐๐ หน้านั้น โดยคาดว่า โครงการนี้จะมีการก่อสร้างในเดือนกันยายน ๒๕๖๗ และกำหนดแล้วเสร็จในปี ๒๕๗๐

สำหรับลักษณะของงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย จะเป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม ๑ ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม และมีการก่อสร้างปรับแนวเส้นทางใหม่บางส่วน รวมระยะทางประมาณ ๑๖๗ กิโลเมตร โครงสร้างทางรถไฟเป็นทางวิ่งระดับพื้น ทางรถไฟยกระดับ และสะพานรถไฟ, งานก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่ ปรับปรุงสถานีรถไฟเดิม และงานก่อสร้างที่หยุดรถ, งานก่อสร้างย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า (CY), งานก่อสร้างโยธาและอื่นๆ ของโครงการ เช่น งานระบบระบายน้ำ สะพานลอยคนเดินข้าม งานรั้ว, งานก่อสร้างทางยกระดับข้ามทางรถไฟ (Overpass) ทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) และรูปแบบอื่นๆ ที่ รฟท. กำหนดเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟ, งานระบบรางเป็นทางกว้าง ๑ เมตร (Meter Gauge), งานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดแนวเส้นทาง และจะต้องเชื่อมระบบ (Interface) กับโครงการที่เกี่ยวข้อง, งานรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างและอุปสรรคต่างๆ ที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ (ถ้ามี) โดยผู้รับจ้างต้องดำเนินการรื้อย้ายตามความจำเป็นและเหมาะสมตามแต่กรณี ซึ่งกำหนดระยะเวลาส่งมอบ ๑,๐๘๐ วัน นับถัดจากวันที่ รฟท.แจ้งให้เริ่มงาน

ทั้งนี้ กำหนดราคากลางไว้เป็นเงินจำนวน ๒๘,๗๒๐,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ ๗) คำนวณ ณ วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๗

โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ ต้องมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางรถไฟในวงเงินไม่น้อยกว่า ๔,๓๑๓,๘๕๐,๐๐๐ บาท และต้องเป็นงานที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐโดยตรง หรือหน่วยงานเอกชนที่ รฟท.เชื่อถือ

กรณีเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งได้จดทะเบียนเกินกว่า ๑ ปีกำหนดให้มีมูลค่าสุทธิของกิจการจากผลต่างระหว่างสินทรัพย์สุทธิหักด้วยหนี้สินสุทธิที่ที่ปรากฎในงบแสดงฐานะทางการเงิน ซึ่งต้องมีค่าเป็นบวก ๑ ปีสุดท้ายก่อนยื่นข้อเสนอ กรณีผู้ยื่นข้อเสนอเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งยังไม่มีการรายงานงบแสดงฐานะการเงินกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้พิจารณาการกำหนดมูลค่าของทุนจดทะเบียน โดยผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระมูลค่าหุ้นแล้ว ณ วันที่ยื่นข้อเสนอ ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ล้านบาท เป็นต้น

กรณีผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นนิติบุคคลรายเดียว ต้องเป็นนิติบุคคลไทยที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟ(ก) ที่มีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียว ไม่น้อยกว่า ๔,๓๑๓,๘๕๐,๐๐๐ บาท (สี่พันสามร้อยสิบสามล้านแปดแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
กรณีผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า ต้องมีนิติบุคคลไทยที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยป็นผู้เข้าร่วมค้าหลัก (Lead Firm) โดยสมาชิกทุกรายที่รวมตัวกันเป็นกิจการร่วมค้านั้นต้องเป็นนิติบุคคล และต้องมีสัดส่วนนิติบุคคลไทยรายเดียวหรือมากกว่าหนึ่งรายรวมกันในการร่วมค้ามากกว่าร้อยละ ๕๐ โดยผู้เข้าร่วมค้าหลัก (Lead Firm) จะต้องมีสัดส่วนการร่วมค้ามากที่สุดและสัดส่วนนี้จะต้องไม่เปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาโครงการ ซึ่งในวันยื่นเอกสารประกวดราคา จะต้องยื่นเอกสารข้อตกลงสำหรับการร่วมกันเป็นกิจการร่วมค้า

ทั้งนี้ ต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟ(ก) ที่มีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียว ไม่น้อยกว่า ๔,๓๑๓,๘๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วโดยสามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้เข้าร่วมค้าหลัก (Lead Firm) เป็นผลงานของกิจการร่วมค้าได้และผู้เข้าร่วมค้ารายอื่นๆ ของกิจการร่วมค้าทุกรายต้องมีผลงานอย่างน้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ก) ผลงานก่อสร้างทางรถไฟ(ก) ที่มีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า ๙๐๐ ล้านบาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ข) ผลงานก่อสร้างงานโยธา(ข) ที่มีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า ๙๐๐ ล้านบาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เป็นต้น

สำหรับหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาโครงการ จะมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ๖ หัวข้อ รวม ๑๐๐ คะแนน ผู้ที่จะผ่านการพิจารณาจะต้องได้คะแนนในแต่ละหัวข้อไม่ต่ำกว่า ๗๕% ของคะแนนเต็ม จึงจะถือว่าผ่านการคัดเลือกตามข้อเสนอ


 

อนึ่ง โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ในแผนงาน ๑ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่) ระยะที่ ๒ เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง สนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และลดระยะเวลาในการโดยสารและการขนส่งสินค้า ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ และแผนการพัฒนาต่างๆ ของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการใช้ระบบขนส่งระบบรางเพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดมลพิษ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและสามารถประหยัดการใช้พลังงานของประเทศได้ในระยะยาว ซึ่งเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๖ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอ โดยเป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม ๑ ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม และมีการก่อสร้างปรับแนวเส้นทางใหม่บางส่วน รวมระยะทางประมาณ ๑๖๗ กิโลเมตร พร้อมทั้งงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดทั้งสายทาง พร้อมก่อสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความรวดเร็วและความปลอดภัยในการบริการ เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๖๔ วันที่ ๑๕ เดือนเมษายน - วันที่ ๑๔ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๗


226 5,577