27thJuly

27thJuly

27thJuly

 

June 01,2024

มติ‘อจร.’ต้องทุบสร้างทางลอด ทล.ยันสะพานยังมั่นคง ๒๐ ปี ให้‘สวนดุสิต’ทำโพลหาข้อยุติ

 

ยังหาข้อยุติไม่ได้ รถไฟทางคู่บริเวณแยกสีมาธานี มติที่ประชุม อจร.จังหวัดฯ ให้ทุบสะพานสร้างทางลอด และยกระดับทางรถไฟ พร้อมขอดูรูปแบบที่ชัดเจน หลัง รฟท.เสนอไม่ต้องทุบก็ได้ ทล.ยืนยันสะพานใช้งานแล้วกว่า ๓๐ ปียังมั่นคงไปอีกมากกว่า ๒๐ ปี ถ้าทุบต้องใช้เวลา ๑-๒ ปีและเกิดผลกระทบมากมาย แต่ อจร.ย้ำกี่ปีก็ต้องทุบเพื่อความเจริญ ล่าสุด คค.เชิญประชุมหาข้อสรุป

ตามที่เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗ มีการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.จว.นครราชสีมา) ซึ่งนายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผวจ.นครราชสีมา ได้รับมอบหมายจาก ผวจ.นครราชสีมา ให้เป็นประธานการประชุมแทน โดยมีคณะกรรมการ อจร.ฯ เข้าร่วมที่ประชุม อาทิ นายจรูญ จงไกรจักร ขนส่งจังหวัดฯ, นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ ผู้แทนประธานหอการค้าจังหวัดฯ, ดร.จารุพงษ์ บรรเทา ผู้แทน มทร.อีสาน, นายภาณุ เล็กสุนทร, นายรัฐกิตติ์ วัชรไพศาลสิน ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาชน, นายศุภฤกษ์ สุดยอดประเสริฐ ผู้แทนกรมขนส่งทางราง, นายกฤษดา มัชฌิมาภิโร ผู้แทน รฟท. เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายแสงชัย สาธิตวงศ์ไพบูลย์ ที่ปรึกษา รฟท., นายสหพล กาญจนเวนิช ที่่ปรึกษาหอการค้าฯ, นายประพจน์ ธรรมประทีป สมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา อำเภอเมือง เขต ๔ และนายชิตพล เหล่าอัน ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๓

วาระการประชุมที่น่าสนใจและยังหาบทสรุปไม่ได้คือการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ โดยนายศุภฤกษ์ สุดยอดประเสริฐ กล่าวว่า ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๑๓๒ กม. อยู่ระหว่างเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม ค่าปรองดองอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมส่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกอบให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยรมช.คมนาคม มอบหมายให้ รฟท. เร่งรัดดำเนินการจ่ายค่าทดแทนพื้นที่เวนคืนและอสังหาริมทรัพย์ในสัญญาที่ ๑ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร และสัญญาที่ ๓ งานอุโมงค์รถไฟภายในกลางปี ๒๕๖๗ และเร่งก่อสร้างส่วนที่เหลือ รวมทั้งก่อสร้างทางรถไฟบริเวณสถานีคลองขนานจิตร-สถานีคลองไผ่ เพิ่มเติม ๒๓๗ เมตร พร้อมเบี่ยงแนวเส้นทางรถไฟไปใช้อุโมงค์ลำตะคอง ให้แล้วเสร็จภายในต้นปี ๒๕๖๘ เพื่อเปิดใช้งานรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร รวมอุโมงค์ ๓ แห่ง ระยะทางประมาณ ๖๖ กิโลเมตร ซึ่งหลังจากเปิดใช้งานรถไฟทางคู่ช่วงดังกล่าว จะช่วยลดระยะเวลาเดินทางได้ ๔๐ นาที

คาดเสนอบอร์ด รฟท.มิถุนายน
นายกฤษดา มัชฌิมาภิโร ผู้แทน รฟท. กล่าวถึง กรณีมีข้อเรียกร้องให้ปรับรูปแบบจากคันดินเป็นยกระดับ ปัจจุบันเรื่องได้ผ่านคณะกรรมการภายในการรถไฟฯ ซึ่งมีผู้ว่าการรถไฟฯ เป็นประธานฯ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๗ แล้ว พร้อมได้นำเรื่องเสนอคณะที่ ๒ ก่อนที่เสนอบอร์ดการรถไฟฯ คาดว่าจะนำเรื่องเสนอบอร์ดการรถไฟฯ ภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๗ เพื่อขออนุมัติกรอบวงเงิน และระยะเวลาเพิ่มเติมต่อกระทรวงคมนาคม

รูปแบบ ๓ ทำได้ทันที
ทั้งนี้ นายแสงชัย สาธิตวงศ์ไพบูลย์ ที่ปรึกษา รฟท.ได้นำเสนอรูปแบบการก่อสร้างบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟบริเวณโรงแรมสีมาธานี โดยแบบที่ ๑ รถไฟระดับดิน ลอดใต้สะพานสีมาธานี แบบแสดงการแก้ปัญหาจุดตัดและการจราจรใหม่บริเวณตัวเมืองโคราช ถนนลอดรถไฟ ๙ จุด (สะพาน) ยกระดับทางรถไฟ ช่วง กม. ๒๖๐+๙๐๐-๒๖๖+๐๐๐ (๕ กม.) แบบไม่ทุบสะพานสีมาธานี โดยจะเป็นท่อลอดเหลี่ยม, แบบที่ ๒ ทางรถไฟยกระดับ รื้อสะพานสีมาธานี เป็นทางยกระดับถึงสถานีจิระ, แบบที่ ๓ ทางรถไฟยกระดับ ลอดใต้สะพานสีมาธานี ยกระดับจากสถานีภูเขาลาดไม่ต่ำกว่า ๕ เมตร จากนั้นจะลอดใต้สะพานเลี่ยงเมือง แล้วยกระดับอีกครั้ง แล้วลอดใต้สะพานสีมาธานี แล้วยกระดับไปสถานีนครราชสีมาและถึงสถานีจิระ และแบบที่ ๔ แนวก่อสร้างทางรถไฟแบ่งสัญญาหยุดที่สถานีโคกกรวด แล้วเบี่ยงแนวไปเลี่ยงเมือง ทั้งนี้ ที่ปรึกษาเสนอแนวรูปแบบที่ ๓ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ทันที เป็นการแก้ปัญหาจุดตัด แก้ปัญหาความล่าช้าจากการทำ EIA และไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจรที่จะต้องทุบสะพานสีมาธานี

 

มติชาวโคราชให้ยกระดับ
นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กล่าวว่า เดิมรถไฟทางคู่จะเป็นคันดิน แต่ติดปัญหาชุมชน ในส่วนที่เป็นคันดิน โดยเฉพาะในบริเวณสะพานสีมาธานีได้ทำข้อสรุปจากการประชุมของผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน และผู้แทนภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ มีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับเริ่มตั้งแต่บริเวณทางเลี่ยงเมือง (บายพาส) และสิ้นสุดที่สถานีชุมทางถนนจิระ และทำการรื้อสะพานข้ามแยกสีมาธานี แล้วก่สร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทน ประกอบกับการรถไฟได้ปรับแบบช่วงภูเขาลาดเป็นการยกระดับด้วย จึงเป็นที่ทราบกันว่าในช่วงผ่านเมืองเป็นการยกระดับทั้งหมดตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ แต่เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๗ มีการเสนอแผน/รูปแบบขึ้นมาใหม่ คือ แบบที่ ๑ และแบบที่ ๒ เป็นแบบเดิม ส่วนแบบที่ ๓ เป็นการย้อนปัญหาก่อนปี ๒๕๖๒ คือเป็นแบบลอดใต้สะพานสีมาธานีที่เป็นปัญหาเดิม และวันนี้ที่ปรึกษาได้เสนอว่ารูปแบบที่ ๓ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งไม่สอดคล้องกับมติที่ประชุมเมื่อปี ๒๕๖๒ ส่วนรูปแบบที่ ๔ เมื่อสร้างถึงสถานีโคกกรวดแล้ว เลี่ยงเมืองตามแนว MR-MAP ออกไปนอกเมือง ไม่สอดคล้องความเป็นจริงของระบบการขนส่งสาธารณะ สำหรับแบบที่ ๓ ถนนเดิมที่รถยนต์วิ่งผ่านได้ เช่น ถนนสืบศิริรถจะข้ามไปไม่ได้ต้องวิ่งอ้อม ด้วยเหตุผลดังกล่าว และเคยสอบถามกรมทางหลวงว่าเคยมีแบบทางลอดแล้ว ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๒.๖ ปี ขอให้พิจารณาเรื่องประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและทัศนียภาพที่ดีของเมือง

ต้องยึดมติปี ๒๕๖๒
ในขณะที่นายภาณุ เล็กสุนทร กล่าวว่า หลังจากมติปี ๒๕๖๒ ได้ข้อสรุปรูปแบบการก่อสร้างทางรถไฟว่าจะยกระดับทางรถไฟ ทุบสะพานสีมาธานี แล้วก่อสร้างอุโมงค์แทน แต่เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๗ มีการเสนอรูปแบบเสนอย้อนกลับเหมือนเดิมเมื่อปี ๒๕๕๙ ซึ่งชาวโคราชเริ่มถกเถียงกันในขณะนั้น และได้พูดคุยจนมีบทสรุปเมื่อปี ๒๕๖๒ กรณีการรถไฟฯ แจ้งว่าการยกระดับทางรถไฟดังกล่าวจะทำให้เพิ่มงบประมาณ ๑ หมื่นล้านบาทนั้น หากพิจารณาด้านเศรษฐกิจอีก ๑๐ ปีข้างหน้า มูลค่าความเสียหายมากว่าหมื่นล้านบาท และหากล่าช้าต่อไปความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมจะมีมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้ข้อยุติเรื่องนี้ จึงเสนอขอให้นำข้อสรุปเมื่อปี ๒๕๖๒ ซึ่งได้ผ่านการพูดคุยถกเถียงกันมาแล้วกว่า ๓ ปี นำเสนอการรถไฟฯ หรือกระทรวงคมนาคมพิจารณาอีกครั้ง

มติปี’๖๒ คุ้มค่ากับการลงทุน
นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา ประธานฯ กล่าวว่า ข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ได้มีการประชุมหารือกันที่หอประชุมเปรมติณสลานนท์ นับจากวันนั้นถึงวันนี้ ๕ ปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งเมื่อปี ๒๕๖๒ เสนอจะใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๔-๕ พันล้านบาท แต่ปัจจุบันใช้งบประมาณหมื่นล้านบาทแล้ว และหากนำตัวเลขทางเศรษฐกิจของจังหวัดฯ ข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ ปี ๒๕๖๕ จังหวัดนครราชสีมามี GPP ๓๓๕,๔๗๒ ล้านบาท มากเป็นอันดับหนึ่งของภาคอีสานมาประกอบการพิจารณา จะเห็นได้ว่าการก่อสร้างทางรถไฟตามมติปี ๒๕๖๒ มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน

รื้อสะพานทำทางลอด
การประชุมมาถึงวาระที่ ๔.๒ แผนงานและแนวทางการก่สร้างรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ซึ่งนายชัยวัฒน์ในฐานะผู้แทนประธานหอการค้าจังหวัดฯ ย้ำว่า ภาคประชาชน ภาคเอกชนมีการพูดคุยหลายครั้ง และมีมติอยู่แล้วเมื่อปี ๒๕๖๒ ขอให้มีการยกระดับทางรถไฟรื้อสะพานสีมาธานีออก แล้วทำทางลอดแทน เพื่อให้การเชื่อมโยงวิถีชุมชนจะได้เหมือนเดิม จึงนำเสนอ อจร.จังหวัดฯ ว่า ชาวนครราชสีมามีความชัดเจนที่จะบอกการรถไฟฯ ให้นำมติของชาวโคราช เมื่อปี ๒๕๖๒ ไปพิจารณาเพื่อเร่งดำเนินการเพื่อมิให้เสียโอกาสมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดริเริ่มจัดทำแผน MR-MAP เมื่อปี ๒๕๖๔ มีการประชุมหารือผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางถนนและทางราง (ทล, ทช., กทพ., ขร., รฟท. และ สนข.) มีการพิจารณาประเด็นว่า สะพานสีมาธานียังมีสภาพดี จึงเป็นที่มาว่าทำไมกระทรวงคมนาคมพิจารณาเส้นทาง MP-MAP ที่มีการบูรณาการระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับการรถไฟฯ เข้าด้วยกัน เป็นเส้นทางที่รองรับโลจิสติกส์ช่วงที่ผ่านตัวจังหวัดฯ จึงเป็นเส้นที่เลี่ยงเมืองเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่มากที่สุดในการรองรับโลจิสติกส์ ส่วนประเด็นที่จะทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี ขึ้นอยู่กับหน่วยงานเจ้าของโครงการฯ คือ การรถไฟฯ จะต้องนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาตัดสินใจต่อไป

ขอมติที่ประชุม
จากนั้น นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา ประธานที่ประชุมได้ขอมติที่ประชุมในวาระนี้ โดยระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ มีการประชุมหารือกันที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ และผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ส.ว. ส.ส.ในจังหวัดนครราชสีมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน และผู้แทนภาคประชาชน รวมถึงมีผู้แทนจากการรถไฟฯ ซึ่งมอบหมายให้นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ในขณะนั้น พร้อมด้วยรองวิศวกรฝ่ายก่อสร้าง และคณะที่ปรึกษาการรถไฟฯ เข้าร่วมประชุมชี้แจงฯ รวมผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๒๕๐ คน โดยนายวิเซียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ในขณะนั้น มีหนังสือลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ ลงมติและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ไปยังผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ในวันนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการขับเคลื่อนพัฒนาการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงขอมติที่ประชุม อจร.นครราชสีมาพิจารณาให้ความเห็นชอบยืนยันมติเดิมที่ทางจังหวัดนครราชสีมาได้เคยมีมติเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ และได้มีการแจ้งหนังสือตามหนังสือจังหวัดนครราชสีมาวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ ที่เห็นชอบรูปแบบการก่อสร้างทางรถไฟและการจัดระบบการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ และทำการรื้อสะพานข้ามแยกสีมาธานี แล้วก่อสร้างทางลอดทดแทน

มติ อจร.โคราชยืนยันต้องทุบสะพาน
โดยมติที่ประชุม อจร.ฯ ในวันนี้ เห็นชอบยืนยันตามมติเดิมที่จังหวัดนครราชสีมได้เคยมีมติเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ คือ “เห็นชอบตามรูปแบบการก่อสร้างทางรถไฟและการจัดระบบการจราจร โดยให้มีการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ เริ่มตั้งแต่บริเวณทางเลี่ยงเมือง (บายพาส) สิ้นสุดที่สถานีชุมทางถนนจิระ และรื้อสะพานข้ามแยกสีมา แล้วก่อสร้างทางลอดทดแทน ซึ่งก่อนการรื้อสะพานและก่อสร้างทางลอด การรถไฟฯ จะต้องทำการก่อสร้างทางเบี่ยงเสมอระดับชั่วคราวทั้งขาเข้าและขาออกเมืองข้างละ ๓ ช่องจราจรให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เพื่อช่วยระบายการจราจรทั้งขาเข้าและขาออกเมืองบริเวณแยกสีมาธานี ทั้งนี้ ระยะเวลาดำเนินการกำหนดแล้วเสร็จภายใน ๓ ปี” โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ สรุปรายงานการประชุมแจ้งมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ก.คมนาคมประชุมหารือ
จากนั้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗ มีการประชุมหารือแนวทางการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแยกสีมาธานี โดยเป็นการประชุมออนไลน์จากกระทรวงคมนาคม และห้องประชุมชั้น ๓ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธาน พร้อมด้วยอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทน รฟท. ผู้แทนกรมทางหลวง และนายธีรพันธ์ ภูมิรัตนประพิณ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ ในขณะที่ทางจังหวัดนครราชสีมามีนายกิตติศักด์ ธีระวัฒนา รองผวจ.นครราชสีมา นั่งเป็นประธาน พร้อมนายปกรณ์ ศรีปานวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ ๑๐, นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรีนครฯ และคณะกรรมการ อจร.จังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วม

๘ ปีแล้วแต่ยังอยู่ที่เดิม
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงฯ มีความห่วงใยในการก่อสร้างและเกิดผลกระทบในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นฮับใหญ่ของภาคอีสาน ที่ผ่านมากระทรวงฯ ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่่อให้จังหวัดฯ เป็นศูนย์กลางของภาคอีสานและยังเป็นฮับใหญ่ของภูมิภาคที่จะเชื่อมต่อทั้งถนนและระบบราง ทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และส่วนต่อขยายรถไฟความเร็วสูง และการเชื่อมต่อกับโครงข่ายอื่นๆ

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า เนื่องด้วย รมว.คมนาคมให้เชิญประชุมหารือเพื่อสรุปข้อดี ข้อเสีย เนื่องจากรัฐบาลเข้ามาบริหารจึงต้องการทราบปัญหาเดิม และข้อมูลทั้งหมด รวมทั้งข้อดีข้อเสียในปัจจุบัน ไม่ต้องการปล่อยปัญหานี้ทิ้งไว้ เนื่องจากรถไฟทางคู่จากมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระบางส่วนก่อสร้างเสร็จแล้ว รมช.คมนาคมเห็นว่าควรเปิดใช้บางช่วง ตั้งแต่มาบกะเบา-คลองขนานจิตร ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อให้การเดินทางไปยังอีสานบนและอีสานใต้เร็วขึ้น อย่างน้อยเร็วขึ้นประมาณ ๑ ชม. ปริมาณรถก็จะมากขึ้น แต่ถ้าปล่อยปัญหาช่วงนี้ทิ้งไว้ เนื่องจากรถไฟวิ่งระดับดิน และเป็นทางเดียวที่มีอยู่เดิม ยังไม่ทำอะไรเลย และปล่อยทิ้งไว้แบบนี้ ผลกระทบการจราจรทั้งทางรถไฟและรถยนต์ของโคราชในปลายปีนี้ก็จะมากขึ้น เพราะรถไฟวิ่งมากขึ้นและเร็วขึ้น ขณะที่ทางรถไฟจุดนี้ยังเป็นรถไฟทางเดียวอยู่ ต้องมีปัญหาการจราจร กรณีไม่ทำอะไรเลย ก็จะมีปัญหาสืบเนื่องกันไป รมช.คมนาคม จึงเห็นว่า รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหาร จึงอยากทราบว่า ข้อมูลข้อดีข้อเสียจะต้องนำเสนอเข้าสู่ ครม. เนื่องจากว่าโครงการนี้ มติ ครม.เคยอนุมัติโครงการไว้เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๙ ปัจจุบันปี ๒๕๖๗ เป็นเวลา ๘ ปีแล้วยังอยู่ที่เดิม ผลกระทบจะเริ่มเกิดขึ้นในปลายปีนี้แล้ว ถ้าปล่อยทิิ้งไว้แบบนี้อีก จึงจำเป็นจะต้องหาข้อมูลเสริมข้อดีข้อเสียเพื่อเสนอ ครม. ซึ่งครม.เห็นชอบไปแล้ว ทำอีไอเอแล้ว รวมทั้งกระบวนการทางกฎหมายครบแล้ว จึงอนุมัติโครงการ แต่เนื่องจากเป็นข้อมูลเก่ามากตั้งแต่ ๘ ปีที่แล้ว ซึ่งในเบื้องต้น กรมรางฯ ได้ประสานการรถไฟฯ และกรมทางหลวง สรุปข้อมูลเบื้องต้น

 

รฟท.นำเสนอข้อมูล
จากนั้นจึงมอบหมายให้หัวหน้ากลุ่มวิเคราะห์โครงการนำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมซึ่งเป็นประเด็นสืบเนื่องจากชาวโคราชมีข้อเรียกร้องให้การก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา บริเวณแยกสีมาธานีเป็นทางยกระดับเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม การแบ่งแยกชุมชน และลดปัญหาจุดตัด ๙ จุด มีชาวโคราชส่วนหนึ่งต้องการให้สร้างเป็นทางลอดทดแทน ซึ่งจากการประชุม อจร.นครราชสีมาเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ที่ประชุมยืนยันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาตามฉันทานุมัติของที่ประชุม อจร.เมื่อปี ๒๕๖๒ ยืนยันให้มีการรื้อถอนสะพานสีมาธานีและก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทน
การให้ยกระดับ ทุบสะพาน และก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดมี ๒ ประเด็นที่ส่งผลต่อการจราจรระหว่างก่อสร้างทางลอด ๑.ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ต้องทำอีไอเอต้องใช้เวลา ๒ ปี ๒.ผลกระทบด้านจราจร เนื่องจากถนนมิตรภาพ มีการจราจรหนาแน่นมากประมาณ ๑๑๘,๐๐๐ คันต่อวัน ทำให้ความยาวของการจราจรเกือบ ๒ กม. สะสม ๔ ชม.ถ้าช่วงเทศกาลปีใหม่-สงกรานต์จะเพิ่มขึ้นอีก ๔๐-๕๐% และมีระยะเวลาการก่อสร้างไม่น้อยกว่า ๓ ปี

รื้อสะพานมีผลกระทบแน่นอน
การรถไฟฯ นำความเห็นและข้อเรียกร้องของชาวโคราชมาพิจารณาและนำเสนอรูปแบบการแก้ปัญหา โดยทำเป็นทางรถไฟยกระดับแต่ลอดใต้สะพานสีมาธานี เป็น SPAN ยาว ๑๕-๓๐ ม. ข้อดีคือทางรถไฟไม่แบ่งแยกชุมชน ไม่มีผลกระทบต่อการจราจร แต่ถ้ารื้อสะพานจะมีผลกระทบแน่นอน และสามารถแก้ไขปัญหาจุดตัดทั้ง ๙ จุด ไม่ต้องทำโอเวอร์พาส อันเดอร์พาส และยูเทิร์น ไม่กีดขวางทางระบายน้ำ และไม่บดบังทัศนียภาพ ซึ่งการรถไฟฯ ไปจัดทำข้อมูลและเปรียบเทียบให้เห็นกรณีทุบกับไม่ทุบเป็นอย่างไร จาก ๓ ด้าน ได้แก่ ๑.ด้านวิศวกรรมและการจราจร ๒.ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และ ๓.ด้านสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่า กรณีไม่ทุบจะมีคะแนนสูงกว่าการทุบสะพาน (คะแนนเต็มด้านละ ๓๕ คะแนน) ซึ่งกรณีไม่ทุบสะพาน ด้านวิศวกรรมและการจราจร ๓๒.๒๐ คะแนน, ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ๓๐ คะแนน และด้านสิ่งแวดล้อม ๓๒.๗๐ คะแนน รวม ๙๔.๙๐ คะแนน ส่วนกรณีทุบสะพาน ด้านวิศวกรรมและการจราจร ๓๐.๘๐ คะแนน, ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ๒๔ คะแนน และด้านสิ่งแวดล้อม ๓๑ คะแนน รวม ๘๕.๘๐ คะแนน

ไม่แตะต้องสมบัติราชการ
รองปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า เรื่องเหล่านี้กระทรวงใส่ใจตลอด ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ที่มีการอนุมัติโครงการถึงขณะนี้มีการลงนามจ้างผู้รับเหมา เดิมต้องแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๖-๒๕๖๗ แต่ขณะนี้ก็ยังค้างอยู่ ที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยนายวิเชียร จันทรโณทัย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้รับข้อเรียกร้องต่างๆ หลังจากนั้นมีการหารือกันภายในจังวัด ตนได้นำข้อเรียกร้องให้การรถไฟฯ ไปพิจารณา ซึ่งเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น การออกแบบไม่มีการทุบสะพานเพราะเป็นทรัพย์สินของทางราชการ และถือว่าเป็นทางเข้าเมืองที่สำคัญของโคราช จึงพยายามไม่เข้าไปแตะต้องเพราะจะทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดฯ สะเทือนระหว่างก่อสร้าง
เมื่อเช้าได้อัปเดตโครงการต่างๆ ในจังหวัดฯ มีความห่วงใยอีกประเด็น เพราะขณะนี้มีการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด ๒ จุดคือแยกเทอร์มินอลฯ จะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๙ ลองคิดดูว่า ถ้าจุดตรงสีมาธานีมีการทุบสะพานคงจะต้องสอบถามประชาชนชาวนครราชสีมาและชุมชนในตลาดทั้งหมด ถ้ามีการทุบจริงๆ เศรษฐกิจของชาวชุมชนตั้งแต่สี่แยกอัมพวันจนถึงในตลาดชั้นในที่มีการเข้าออกเมืองด้วยความลำบากนั้นจะทำอย่างไร ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการมาหารือ

 

ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รอง ผวจ.นครราช สีมา กล่าวว่า จ.นครราชสีมาไม่ใช่เด็กดื้อ พวกเรามีการพูดคุยทุกภาคส่วน ไม่ใช่ความเห็นของคนใดคนหนึ่ง ที่สำคัญไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะตนที่เป็นรองผู้ว่าฯ แต่หมวกอีกใบคือคนโคราช เป็นประชาชนคนโคราชซึ่งติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ เรื่องนี้สำคัญมาก จนมีมติออกมา และในฐานะที่ อจร.ดูแลเรื่องนี้ ผู้ว่าฯ ต้องการให้เกิดความชัดเจน จึงเกิดการประชุม อจร.ที่ผ่านมาและเป็นมติ ส่วนที่กระทรวงฯ นำเสนอข้อมูลก็น้อมรับไว้ ส่วนรายละเอียดจะพิจารณาอย่างไรต้องให้หลายภาคส่วนร่วมพิจารณา รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมในวันนี้

เข้าใจมาตลอดว่าทุบสะพาน
นายชัยวัฒน์ วงษ์เบญจรัตน์ ผู้แทนหอการค้าจังหวัดฯ กล่าวว่า ในช่วงปี ๒๕๕๙-๒๕๖๒ มีประเด็นทุบ-ไม่ทุบสะพาน ซึ่งมติของจังหวัดฯ คือทุบสะพาน แต่จากปี ๒๕๖๒ จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๗ ผ่านมา ๔ ปีเศษเราไม่ได้รับข้อมูล มีแค่การรายงานความคืบหน้าเข้ามาใน อจร.จังหวัดฯ ทั้งในส่วนของรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง จึงคิดว่าทุกอย่างน่าจะเป็นไปตามแผน เพราะในขณะที่เราคุยกันเยอะๆ ในปี ๒๕๖๒ ซึ่งมีการร่วมประชุมระหว่างภาครัฐและประชาชน ทำให้เข้าใจว่าจะมีการทุบสะพานเพื่อสร้างรถไฟ แต่หลังปี ๖๒ ช่วงก่อนเข้าเมืองจะไม่ใช่การยกระดับแต่ประชาชนไปเรียกร้องจนเกิดการยกระดับ เพราะเป็นชุมชนที่ค่อนข้างโต และชุมชนขนาดใหญ่ เราก็คิดว่าช่วงผ่านเมืองประมาณ ๕ กม.ดูเหมือนว่าจะมีการยกระดับทั้งหมด จนเข้าสถานีรถไฟนครราชสีมา ถึงสถานีจิระ และเพิ่งเมื่อช่วงเดือนมกราคม ๒๕๖๗ ที่ทำให้ชุดเดิมเมื่อปี ๖๒ กลับมาคุยกันใหม่ว่า ก่อนเข้าสะพานสีมาธานีมีการยกระดับปรับแบบ แต่พอถึงสะพานสีมาธานีกลับเป็นการลอดสะพาน

“ข้อมูลที่การรถไฟฯ นำเสนอในที่ประชุมนี้เป็นข้อเท็จจริง ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่เราก็ไม่ได้มองถึงกระบวนการของรถไฟอย่างเดียว แต่เมื่อเป็นคนโคราชก็มองว่า เมื่อรถไฟทั้งสองชนิดผ่านเข้ามาในเมืองจะได้ประโยชน์หลายด้าน แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วเมืองจะอยู่กับรถไฟไปอีกไม่รู้กี่สิบปีอาจจะร้อยปี เพราะฉะนั้น เรามองในอุปสรรคต่างๆ เช่น งบประมาณการลงทุนที่จะเปลี่ยนในช่วง ๑.๖ กม. ลดระดับ ๘๐๐ ม. กับลอดใต้สะพานแล้วค่อยๆ ยกระดับขึ้นไป รวม ๑.๖ กม. มีตอม่อสูง-ต่ำ ส่วนงบประมาณในการทำทางลอดของกรมทางหลวง เชื่อมั่นว่าถ้าบูรณาการระหว่างรถไฟกับทางหลวงก็จะเกิดมิติที่สามารถจัดการไปได้ และหากไม่ทุบประชาชนต้องอ้อมไปไกลพอควร ทำให้มูลค่าของประชาชนเสียหายในระยะยาวสูงกว่า” นายชัยวัฒน์ กล่าว

สะพานแข็งแรงมีอายุใช้งานอีกกว่า ๒๐ ปี
ทั้งนี้ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวย้ำว่า ไม่อยากให้เถียงกันในห้องประชุม แต่เป็นการมารับฟังข้อมูล จากนั้นนายประพันธ์ ภูมิรัตนประพิณ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ ได้ให้รายละเอียดของสะพานข้ามทางรถไฟบริเวณโรงแรมสีมาธานีว่า กรมทางหลวงเข้าไปสร้างสะพานบริเวณนี้ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ แล้วเสร็จเมื่อกลางปี ๒๕๓๖ อายุการใช้งานเพิ่ง ๓๐ ปี ความจริงแล้วตามที่วิศวกรออกแบบจะสามารถใช้งาน ๕๐ ปีเป็นอย่างน้อย หากมีการซ่อมบำรุงก็จะสามารถใช้งานได้นานกว่านั้น และอายุการใช่งานตอนนี้ก็เกินครึ่งอายุมาไม่มาก ยังเหลือการใช้งานได้ประมาณ ๒๐ ปี ยังมีความมั่นคงแข็งแรง อยากให้นึกภาพ ถนนมิตรภาพจะเป็นถนนเส้นเลือดใหญ่ที่นำคนจากกรุงเทพฯ สระบุรี ผ่านมายังเศรษฐกิจตัวเมืองนครราชสีมา ในอดีตทางรถไฟและถนนมิตรภาพตัดกัน เมื่อก่อนรถไม่เยอะ รถไฟก็ไม่เยอะ ปัญหาอุบัติเหตุการจราจรติดขัดก็ไม่มี แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาถึงปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕ ก็คงเริ่มเห็นแล้วว่าเป็นจุดที่กระทบในด้านความสะดวกสบายและความเสี่ยงอุบัติเหตุ ทล.จึงก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของกระทรวงที่พยายามลดจุดตัดเพื่อลดอุบัติเหตุ เพราะจุดตัดรถไฟเป็นจุดที่เสี่ยง ทล.จึงสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ หลังจากสร้างเสร็จในปี ๒๕๓๖ มาถึงปัจจุบันต้องยอมรับการใช้งานการเข้ามาในตัวเมืองโคราชสะดวกสบายมาก

ผลกระทบจากการรื้อ
“หากมีการรื้อสะพาน ปัญหาอยู่ตรงนี้ ถ้าดูจากขอบสะพานทั้งสองข้าง ไปจนถึงหน้าเขตที่ดินหรือเขตทางหลวง ระยะห่างจะมีแค่ ๑๐-๑๒ เมตร ในการทุบรื้อจะต้องใช้เครื่องจักร มีทั้งการสกัด ทุบ จะมีผลกกระทบทั้งเสียง ฝุ่น รวมถึงต้องทำอุปกรณ์ฉากกั้น ซึ่งบริเวณนั้นถือว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจร้านค้ารวมถึงถนนเลียบทางรถไฟจะกลายเป็นอัมพาตในขณะทุบ ซึ่งการทุบประเมินเวลาไม่น้อยกว่า ๑-๒ ปี รวมทั้งโครงสร้างที่เป็นเสาเข็มด้านใต้เพื่อสร้างทางลอดต้องเอาออก อย่าลืมว่า ใต้ดินมีสิ่งที่เป็นสาธารณูปโภคที่เกาะไปกับถนนมิตรภาพ ทั้งท่อส่งน้ำประปาเทศบาลฯ รวมถึงระบบสื่อสารต่างๆ จะมีผลกระทบมาก คิดแค่เฉพาะ ๒ ปีเฟสแรก เฉพาะการทุบรื้อสะพานออก ชาวโคราชต้องเปลี่ยนวิถีในการเดินทาง คนที่เคยสัญจรบนถนนมิตรภาพอย่างสะดวกสบาย โดยเฉพาะฝั่งหัวสะพานที่ข้ามทางรถไฟไปแล้วต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตในการเดินทาง ต้องเปลี่ยนเส้นทางใหม่ ไปเสาะหาเส้นทางโครงข่ายย่อย เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องลำบาก รวมถึงเศรษฐกิจ” ผอ.แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ กล่าว

ต้องมีความชัดเจนโดยเร็ว
นายสรพงศ์ รองปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเร่งตัดสินใจทันที เนิ่นช้ามาหลายปี และถ้าเรื่องนี้ตัดสินใจง่ายอย่างที่เมื่อปี ๒๕๖๒ ประชาคมชาวนครราชสีมาฟันธงและยื่นต่อส่วนกลางคงดำเนินการให้ไปแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ง่าย กระทรวงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการทุบทำลายทรัพย์สินของทางราชการหรือการดูแลประชาชนทั้งหมดจะดำเนินการไม่ให้มีผลกระทบ จริงๆ แล้ว การดำเนินการไม่มีอะไรเลย เพราะสามารถแก้ไขในเชิงวิศวกรรมอยู่แล้ว รถไฟความเร็วสูงเข้ามาก็ยกระดับเป็นเลเวล ๓ ข้ามสะพานได้ ถ้าในวันนี้ยังยึดในหลักการเดิม มีแค่ช่วง ๕๐๐ เมตรเท่านั้นที่ข้ามไปหากันไม่ได้ ถ้าจะทุบต้องมีการทำอีไอเอใหม่ ต้องนำเข้าครม.ด้วย เนื่องจากวงเงินเดิมและแนวทางเดิม ข้อมูลทางวิศวกรรมต่างๆ ครม.อนุมัติเห็นชอบไปหมดแล้ว ต้องใช้เวลานานมาก และทางกระทรวงฯ ก็ไม่อยากให้เกิดภาพที่คลุมเครือต่อไปเรื่อยๆ จึงอยากให้มีความชัดเจนโดยเร็วที่สุด ถ้าจะให้มีการทำประชาคมหรือทำโพลทางเราก็ยินดี

อ้างไม่เคยเห็นรูปแบบ
นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า สิ่งที่กล่าวมาในวันนี้ดีมาก แต่เสียใจว่าช้าไปนิดหนึ่ง เพราะโครงการนี้ไม่ใช่เพิ่งมาพูดกัน เรียนด้วยข้อเท็จจริง ว่า คนในพื้นที่ไม่ว่าจะโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง มารับฟังความคิดเห็นก็มานั่งเล่านั่งพูด ฉายภาพที่สวยหรูให้พวกเราดู แต่รูปแบบไม่เคยเห็น คนในพื้นที่มีการวางแผนเรื่องการจราจรตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ เช่นกรณีทางลอดทั้ง ๒ แห่ง ไม่ใช่แค่กรมทางหลวงเท่านั้นที่จะวางแผนเรื่องการจราจร แต่เป็นพวกเราที่มาร่วมวางแผนกันว่าทำอย่างไรจะให้ประชาชนได้รับความสะดวก ซึ่งทุกโครงการก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต ทุกคนยอมรับ จะเปลี่ยนมากหรือน้อยต้องช่วยกัน จึงคิดว่าเรื่องการจราจรไม่น่ามีปัญหา ซึ่งมีตัวแทนภาคประชาชนอยู่ใน อจร. ที่ต้องการแสดงข้อคิดเห็น

นายภานุ เล็กสุนทร

สะพานกี่ปีก็ต้องทุบ
นายภานุ เล็กสุนทร กล่าวว่า “ขอบคุณที่มาสร้างความเจริญ แต่พวกเราชาวโคราชจะอยู่กับความเจริญที่มาสร้างให้ จึงสามารถเสนอความคิดเห็นได้ในมิติความเจริญของท่านกับความเจริญของเรา ขอมีปากเสียงสิ่งไหนที่อยากได้ไม่อยากได้ รบรากันมาตั้งแต่ปี ๕๙, ๖๐, ๖๑ และมีข้อสรุปในปี ๖๒ จึงส่งไปยังกระทรวง จากนั้นในปี ๖๓-๖๗ ตนอยู่ใน อจร.ทุกครั้ง ประชุมทุก ๒ เดือนก็จะถามทุกครั้งการรถไฟฯ กับทางหลวงว่า แบบเสร็จหรือยัง ตอนใหม่ๆ ผอ.แขวง ๒ ขณะนั้น ก็ตอบว่าเสร็จแล้ว รอการรถไฟฯ อนุมัติ ส่วนเวลาการทุบรวมทั้งการก่อสร้างทั้งหมดนั้นอดีตผอ.แขวง ๒ บอกว่าประมาณ ๒ ปีถึง ๒ ปีครึ่ง เราตามเรื่องทุกครั้ง แต่ไม่เคยได้ จึงทำให้เรื่องยืดยาวและเข้าใจว่าจะเป็นการยกระดับ ถ้ามีความจำเป็นและเกิดประโยชน์ต่อเมือง สะพานจะอายุเหลือกี่ปีก็ต้องทุบ ขอว่าทำตามความต้องการคนโคราช เราไม่ได้ก่อหวอด เพื่อคัดค้านการรถไฟฯ เพราะนำความเจริญมาให้ แต่เราคัดค้านเพื่อให้พวกเราอยู่ได้ดี มีสุข และมีความเจริญทัดเทียมกันในทุกชุมชน” ซึ่งนายภานุย้ำว่า “มี ๒ ทางเลือกให้คือ จะทำตามสิ่งที่คนโคราชต้องการ หรือทำตามการรถไฟฯ (ที่ปรึกษา) มีสองทางเลือกนี้เท่านั้น”

จ้างสวนดุสิตโพลลงพื้นที่
รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในเรื่องนี้อาจจะมีการว่าจ้างสวนดุสิตโพลลงพื้นที่ ทั้งการ กระจายข่าวและทำประชามติ เพื่อให้รู้ว่าในเขตเทศบาลนครฯ และผู้ที่มีส่วนได้เสียทั้งหมด มีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งจะต้องอธิบายพี่น้องประชาชนตามบ้านให้เข้าใจ นอกเหนือจากการจัดประชุมในหน่วยงานราชการ เราใช้แนวทางนี้ในรถไฟฟ้าในเมืองด้วย ประชาชนในพื้นที่ก็จะได้รับข่าวสารโดยตรง ขอเป็นทางเลือกที่ ๓ คือขอไปฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริงในพื้นที่ด้วย โดยใช้สวนดุสิตโพล สำหรับข้อมูลการประชุมปี ๒๕๖๒ ยังไม่ได้นำมาตัดสินในระดับกระทรวง และมีการนำมาพิจารณา เข้าใจว่าปลัดกระทรวงและผู้เกี่ยวข้องในช่วงปี ๒๕๖๒ มีการประชุมในระดับกระทรวงและนำมาพิจารณาในเชิงวิศวกรรม งบประมาณ และอีไอเอ ตนได้อ่านรายงานต่างๆ ในปี ๒๕๖๒ แต่ไม่ใช่ว่าเราฟังใครหรือไม่ฟังใคร เพียงแต่ขอไปพิจารณาในข้อเท็จจริงทั้งหมดให้ครบถ้วน และห่วงใยหากมีการปิดเส้นทางการจราจร

ดร.จารุพงษ์ บรรเทา เสนอความเห็นว่า หากลงพื้นที่ขอให้มีการลงข้อมูลเชิงปริมาณด้วย เช่น ทางจังหวัดฯ เคยให้มทร.อีสานศึกษาข้อมูลปริมาณการจราจรข้ามทางรถไฟ มีปริมาณค่อนข้างสูง โดยเฉพาะช่วงสืบศิริที่มีปริมาณสูงมากที่สุด ในช่วงเวลาเช้าที่ต้องไปโรงเรียน จะได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

ในขณะที่นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่า แทบยังไม่เคยเห็นรูปแบบของรถไฟทางคู่ที่เข้ามา จึงกังวลว่าจะกระทบโครงสร้างพื้นฐาน เหมือนกับรถไฟความเร็วสูงที่กระทบค่อนข้างมาก อยากรู้ล่วงหน้า และอยากให้มาสำรวจพื้นที่ รวมทั้งให้คำนึงถึงเรื่องระดับความสูงด้วยว่ารถดับเพลิงสามารถวิ่งได้หรือไม่

ระยะห่าง-ความสูงของเสา
นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผวจ.นครราช สีมา ย้ำอีกว่า ที่ผ่านมาเราไม่เห็นรายละเอียดของแบบ เพื่อที่จะรู้ว่าเสาแต่ละต้นห่างกันเท่าไหร่ สูงเท่าไหร่ เห็นแค่แบบที่เป็นกราฟิก ก็ว่าดี จึงตัดสินใจตามนั้น แต่เมื่อก่อสร้างแล้วมันไม่ใช่ ปัญหาคือลดระดับความสูง อย่าลืมว่า จ.นครราชสีมาเป็นที่ตั้งของกองทัพภาคที่ ๒ ต้องรับฟังด้วย รถดับเพลิงมีเท่าไหร่ แทบจะไม่ได้เห็นแบบเลย ถ้าได้เห็นรูปแบบก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

ด้านนายชัยวัฒน์ วงษ์เบญจรัตน์ เสนอว่า ในกรณีที่สวนดุสิตจะเข้ามาลงพื้นที่ชุมชนและทำโพล อยากให้มีข้อมูลด้าน value และผลกระทบที่เกิดในระยะยาวเกี่ยวกับการลงทุนในกรณีที่มีการทุบสะพาน ซึ่งเข้าใจได้ว่าจะเกิดปัญหาบ้างในช่วง ๓-๕ ปี รวมทั้งต้องเพิ่มงบประมาณ และต้องเสียเวลาอีกนิดหน่อย จึงอยากให้มีตัวเลขของความคุ้มค่าในระยะยาวให้ชัดเจน การตัดสินใจต่างๆ ก็อาจจะง่ายขึ้น
 

โคราชเมืองศักดิ์สิทธิ์
รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวสรุปว่า “ในเรื่องรูปแบบจะให้วิศวกรที่ปรึกษานำแบบไปอธิบายและให้ดูว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความสบายใจ เราเห็นโคราชเป็นเมืองโมเดล ตั้งแต่มีการพัฒนาในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราในทุกวันนี้ทำเราเคารพพื้นที่ ถือว่าโคราชเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ ถ้าไม่มีกรุงเทพฯ-โคราช ก็คงไม่มีทางรถไฟทั่วประเทศ สิ่งที่เราพยายามจะแก้ปัญหาต้องเกิดความยั่งยืน เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ถ้าทุกฝ่ายไม่ได้ก็ต้องเป็นคนส่วนใหญ่ ที่จะได้รับผลกระทบและอยู่กับมันไปชั่วกัลปาวสาน สิ่งหนึ่งที่ต้องชาเลนจ์คือ ผมดูแลระบบขนส่งที่จะต้องไปเชื่อมต่อในส่วนพืชสวนโลกที่อุดรธานีและนครราชสีมาในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รถไฟทางคู่ถือว่าสำคัญ ในวันนี้รถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-ชุมพร แล้วเสร็จ ทำให้ลดระยะเวลาการเดินทางจากหัวหินจาก ๕ ชม.เหลือ ๓ ชม. ประชาชนมีความสุขมาก ผมอยากเห็นประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมามีความสุขมากขึ้น เราแก้ไขตรงผาเสด็จเป็นอุโมงค์หมดแล้ว ผมเชื่อว่าการเดินทางจากกรุงเทพฯ มานครราชสีมา จะสามารถลดระยะเวลาได้เป็นชั่วโมง รวมทั้งมอเตอร์เวย์ก็ลดเวลาได้เป็นชั่วโมง ต่อไปกรุงเทพฯ-โคราช จะเหมือนโอซาก้ากับโตเกียวอย่างแน่นอน อยากเห็นภาพนี้เร็วๆ อยากทำให้สำเร็จเร็วๆ ต่อไปโคราชจะเป็นเมืองที่มี GPP อันดับ ๒ รองจากกรุงเทพฯ อยากทำให้เสร็จเร็วๆ อยากให้ประชาชนได้ใช้ ในวันนี้เราจะไม่พูดกันด้วยอารมณ์ความรู้สึก เราพูดกันด้วยเรื่องวิศวกรรม ความยั่งยืน”

คค.เชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม
ล่าสุดมีข่าวว่า กระทรวงคมนาคมกำหนดจัดการประชุมหารีอระหว่างส่วนราชการถึงแนวทางการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ช่วงมายกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เพื่อหารือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแยกสีมาธานี โดยมีนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพื้นที่ไปร่วมด้วย เนื่องจากมีความเห็นที่แตกต่างกัน จึงต้องการหาข้อสรุป โดยจัดประชุมขึ้นในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม โดยจะมีการหารือและนำเสนอแนวทางการก่อสร้างรถความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแยกสีมาธานี รวมทั้งแผนและกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ

ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๖๕ วันที่ ๑๕ เดือนพฤษภาคม - วันที่ ๑๔ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๗


132 3,595