17thSeptember

17thSeptember

17thSeptember

 

July 02,2024

‘อีสานอินไซต์’คาดการณ์ปีนี้ หนี้ครัวเรือนแนวโน้มเพิ่มขึ้น ชี้อีสานเปราะบางทางการเงิน

 

อีสานอินไซต์ (ISAN INSIGHT) โครงการภายใต้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมี ผศ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ จัดทำและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยแพร่บทวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๗ ภาพรวมเศรษฐกิจอีสานเผชิญความน่ากังวลหลายด้าน ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่อง อีกทั้งการท่องเที่ยวอีสานเริ่มชะลอตัวหลังจากเทศกาลวันหยุดยาวหมดลง

 

 

การบริโภคอีสานชะลอตัวลงโดยเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากการขาดแรงหนุนในการกระตุ้นการบริโภคจากเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงยังชะลอลงจากการกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นอีกครั้ง สะท้อนถึงแนวโน้มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลงต่อเนื่อง

 

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออีสานกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากทรงตัวในระดับสูงมาก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มสินค้าที่ราคามีการเร่งตัวชัดเจน มาจากกลุ่มการเดินทาง จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารหลายรายการ ทั้งกลุ่มเนื้อสัตว์ และสินค้าเกษตร โดย อีสานอินไซต์เห็นความรุนแรงของผลกระทบต่อกลุ่มครัวเรือนที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เผชิญกับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงกว่ากลุ่มทั่วไปชัดเจน ตามสัดส่วนการใช้จ่ายที่มีสัดส่วนการใช้ในหมวดอาหาร และหมวดเคหสถานที่ราคาต้นทุนเร่งตัวสูงขึ้น มากกว่ากลุ่มทั่วไป

ผลกระทบจากเอลนีโญเริ่มรุนแรงขึ้น โดยสินค้าเกษตรทั้งกลุ่มข้าว พืชไร่ พืชสวน ไม่ผล และพืชผัก มีปริมาณการเก็บเกี่ยวที่ลดลงชัดเจนในทุกกลุ่มสินค้าจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำกักเก็บที่ไม่เอื้อต่อการทำกิจกรรมทางการเกษตร โดยอีสานอินไซต์เห็นแนวโน้มการปรับราคาเมื่อเทียบกับ ๒ ปีก่อนเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มเมล็ดกาแฟ และพืชผัก ที่ราคาเพิ่มขึ้นกว่าครึ่ง

 

โดยอีสานอินไซต์คาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้ออีสานตลอดทั้งปีจะค่อยๆ ชะลอตัวลง หากไม่มีปัจจัยดีหรือปัจจัยกดดันเข้ามากระทบเพิ่มเติม จากการช่วยเหลือของมาตรการรัฐในการช่วยค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าสาธารณูปโภคต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามหากมีปัจจัยกดดันโดยเฉพาะด้านราคาน้ำมัน หรือการขาดแคลนสินค้าเกษตร อาจทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มเริ่มตัวสูงขึ้น และนับเป็นจุดสูงสุดใหม่

อีกหนึ่งประเด็นร้อน คงหนี้ไม่พ้นเรื่องหนี้ครัวเรือน ที่หนี้สินครัวเรือนของอีสานยังอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีนี้ถึงแม้จะปรับลดลงจากช่วง COVID-19 อีกทั้ง ภาคอีสานมีสัดส่วนจำนวนครัวเรือนที่มีหนี้สินมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น สะท้อนถึงความเปราะบางทางการเงินของภาคอีสาน และเมื่อมองในเชิงเงินให้กู้ของธนาคารพาณิชย์ในภาคอีสาน มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงตามความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเป็นการกู้ยืมจากการใช้บัตรเครดิตเป็นหลัก โดยมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนปัญหากำลังซื้อที่จำกัดอย่างชัดเจน

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๖๖ วันที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน - วันที่ ๑๔ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๗


43 1,880