8thSeptember

8thSeptember

8thSeptember

 

July 04,2024

รถไฟทางคู่‘ไม่ทุบสะพาน’ ‘สุรวุฒิ’ลั่นต้องยกระดับ

หลังกระทรวงคมนาคมเรียกผู้ว่าฯ โคราชและภาคเอกชนร่วมประชุมกรณีรถไฟทางคู่ช่วงผ่านเมือง ได้ข้อสรุปไม่ทุบสะพานสีมาธานี โดยมี ๒ แนวทาง “ยกระดับแล้วลอดใต้สะพาน” กับ “ยกระดับข้ามสะพาน” ให้รฟท.ออกแบบที่ชัดเจนทำความเข้าใจกับประชาชน ด้าน “สุรวุฒิ เชิดชัย” ออกมาแสดงจุดยืนต้องยกระดับ


ตามที่เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๔.๐๐ น. กระทรวงคมนาคมกำหนดจัดการประชุมหารือระหว่างส่วนราชการถึงแนวทางการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เพื่อหารือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแยกสีมาธานี โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพื้นที่ไปร่วมด้วย เนื่องจากมีความเห็นที่แตกต่างกัน จึงต้องการหาข้อสรุป โดยจะมีการหารือและนำเสนอแนวทางการก่อสร้างรถความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแยกสีมาธานี รวมทั้งแผนและกรอบระยะเวลาในการดำเนินการนั้น

โดยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมร่วมกับนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ที่ปรึกษานายก อบจ.นครราชสีมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) หอการค้า และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา โดยมี นางสาวณภัทรา กมลรักษา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวง ร่วมประชุม

ได้ข้อสรุปไม่ทุบสะพาน
ภายหลังการประชุม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สรุปว่า การหารือกับกลุ่มผู้แทนภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจังหวัดนครราชสีมาในวันนี้ เพื่ออธิบายความจริง ความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของแนวทางการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อให้กลุ่มผู้นำในจังหวัดนำไปสื่อสารชี้แจงและทำความเข้าใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาได้รับทราบ โดยแนวทางการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในส่วนที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมาทั้งหมดจะเป็นทางยกระดับสูง ๘ เมตร ประชาชนทั้งสองฝั่งทางรถไฟสามารถสัญจรไปมาได้สะดวกโดยใช้ทางลอดใต้ทางรถไฟ ซึ่งไม่เป็นการแบ่งแยกตัวเมืองออกเป็นสองฝั่ง การก่อสร้างไม่ได้ทำให้น้ำท่วมตัวเมืองอย่างแน่นอน ในส่วนที่ผ่านตัวเมืองบริเวณสะพานสีมาธานี รฟท. ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการก่อสร้าง โดยสรุปได้ ๒ แนวทาง ดังนี้

๑.ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ลอดใต้สะพานสีมาธานี ซึ่งจะมีช่วงระยะทางรถไฟลดระดับลงลอดใต้สะพานสีมาธานีและขึ้นไปเป็นทางยกระดับ ประมาณ ๑,๖๐๐ เมตร โดยไม่ต้องทุบสะพานสีมาธานี และ ๒.ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ข้ามสะพานสีมาธานี โดยไม่ต้องทุบสะพานสีมาธานี แนวทางนี้ รฟท. ชี้แจงว่า อาจส่งผลกระทบกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ที่ขบวนรถไฟความเร็วสูงต้องหยุดที่สถานีโคราช และทางคู่เมื่อยกระดับข้ามสะพานสีมาธานีแล้วไม่สามารถลดระดับเพื่อหยุดที่สถานีโคราชได้ เนื่องจากระยะทางไม่เพียงพอ ซึ่งอาจต้องย้ายสถานีโคราชไปอยู่ที่เหมาะสม หรืออาจยกระดับผ่านสถานีโคราชแล้วลดระดับเข้าสู่สถานีจิระแทน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบให้ รฟท. ดำเนินการออกแบบเป็นภาพกราฟิกทั้ง ๒ แนวทาง เพื่อให้ผู้นำในจังหวัดนครราชสีมาเห็นภาพที่ชัดเจน และนำไปสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้

‘สุริยะ’ลงพื้นที่โคราช
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๗ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เชื่อมต่อไทย–ลาว–จีน (ตอนใต้) ผลักดันให้ไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล พร้อมพบปะประชาชนและรับฟังปัญหาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในช่วงบ่ายมีการตรวจราชการที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า เนื่องจากนายกรัฐมนตรีให้นโยบายลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาประชาชนและในโอกาสที่จะมีการประชุม ครม.สัญจรที่โคราช จึงถือโอกาสลงพื้นที่มาพบปะส.ส.ในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาของประชาชน เพื่อนำข้อสรุปต่างๆ นำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาก่อนที่จะมีการลงพื้นที่ครม.สัญจร จังหวัดนครราชสีมาเป็นประตูสู่ภาคอีสาน เป็นพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาด้านต่างๆ ทุกมิติ โดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่ง เน้นความสะดวกรวดเร็วและความปลอดภัยของประชาชน จะต้องเดินทางทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้อยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคม ในการตรวจราชการในจังหวัดฯ วันนี้ ตนได้ให้นโยบายและแก้ไขปัญหาคมนาคมขนส่งทางบก โดยเฉพาะเส้นทางจากจังหวัดนครราชสีมาไปขอนแก่น ซึ่งมีทางร่วมทางแยกจำนวนมาก ทำให้ไม่ปลอดภัยในการใช้เส้นทาง และทำให้เกิดวิกฤตรถติดในช่วงเทศกาล จึงให้กระทรวงคมนาคมจัดทำข้อมูลโครงการตลอดเส้นทางให้อแล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ก็ต้องให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

“และในวันนี้จะมีการพูดคุยเรื่องปัญหาที่จะมีการทุบสะพานสีมาธานี เป็นประเด็นที่ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมามีความห่วงใยอยากให้มีการทุบสะพานนี้ ซึ่งเรื่องนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ (นายสุรพงษ์) ได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดฯ หอการค้าฯ และหน่วยงานต่างๆ ไปประชุมที่กระทรวงคมนาคมแล้ว มีข้อสรุปเบื้องต้นออกมาแล้วว่า สะพานนี้จะไม่ทุบ มีทางเลือก ๒ ทางคือ สร้างทางรถไฟข้ามสะพานสีมาธานี หรือจะลอดใต้สะพาน แต่เท่าที่ฟังจากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นั้นความต้องการของประชาชนคือให้สร้างทางรถไฟข้ามสะพาน ซึ่งตนจะใช้แนวทางนี้เป็นแนวทางแรกในการแก้ไขปัญหาให้ได้ และน่าจะทำให้ประชาชนในพื้นที่พอใจ”

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องถัดไปก็มีการพูดถึงมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ซึ่งขณะนี้เหลือช่วงเดียวที่ยังมีปัญหา ซึ่งกระทรวงคมนาคมเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว น่าจะไม่มีปัญหาและเริ่มก่อสร้างได้ นอกจาก นี้ส.ส.ก็ต้องการให้มีการก่อสร้างมอเตอร์เวย์จากโคราชไปขอนแก่น หนองคาย ซึ่งตนเห็นว่า มีความสำคัญและต้องการให้ดำเนินโครงการนี้ต่อไป เพราะถ้าสามารถสร้างเชื่อมไปถึงประเทศลาว และจีน จะช่วยเสริมสร้างความสามารถด้านการแข่งขันทางการค้าของไทย นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงฯ ยังเสนอเส้นทางจากโคราชแล้วเชื่อมไปยังแหลมฉบังจะทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพทางทะเลได้

“ส่วนมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช (M6) ช่วงหินกอง-โคราช ในปลายปี ๒๕๖๗ ก็จะทำให้เสร็จ และเรื่องการจัดพืชสวนโลก ซึ่งเรื่องที่เป็นห่วงก็คือการจัดการจราจร การสร้างเครือข่ายระบบราง และเมื่อคนมาถึงตัวเมืองแล้ว ทำอย่างไรคนจึงจะไปถึงพื้นที่ ทำอย่างไรคนถึงจะไปถึงพื้นที่จัดงานเลย” นายสุริยะ กล่าว

‘สุรวุฒิ’ ยันต้องยกระดับ
ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๗ ที่ห้องประชุมมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง สว่างเมตตาธรรมสถานโคราช นายสุรวุฒิ เชิดชัย อดีตนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งมีอู่ต่อรถอยู่ใกล้พื้นที่สะพานสีมาธานี จัดเวทีแสดงจุดยืนโดยระบุว่า ภาคเอกชนมีมติให้รถไฟทางคู่ยกระดับผ่านเมืองตลอดเส้นทางในระยะทาง ๕ กิโลเมตร เพื่อผลลดกระทบและปัญหาอุปสรรคทางข้ามทางรถไฟที่เป็นจุดตัดทางเชื่อมชุมชน รูปแบบที่ รฟท.นำเสนอจะส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจหลายประเด็น ดังนี้ ๑.ทัศนียภาพของเส้นทางเข้าสู่ตัวเมือง หากยกระดับระบบการเชื่อมโยงการคมนาคมกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงและไม่ปิดกั้นการเชื่อมโยงเส้นทาง จะทำให้ภาพรวมของเมืองดีขึ้น ๒.บริเวณสี่แยกอัมพวันใต้สะพานสีมาธานีก่อสร้างปี ๒๕๐๘ และต่อเติมแล้วเสร็จปี ๒๕๓๐ ส่งผลกระทบธุรกิจการค้าขายซบเซา คนในพื้นที่ยอมรับเพื่อส่วนรวมและความเจริญของเมือง ขณะนี้เรากำลังมีสิ่งใหม่เข้ามา หากมีสะพานประกอบกับรถไฟทางคู่มาลอดใต้สะพานจะทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นเครื่องหมายบวกปิดกั้นแนวเขตทางทั้งหมดในรัศมี ๑.๖ ตารางกิโลเมตร ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเงียบเหงาซบเซามากกว่าเดิม ดังนั้นการยกระดับให้ลอยข้ามเมืองไป ทำให้ชุมชนดำรงชีพได้อย่างปกติ เศรษฐกิจจะเติบโต

๓.ผลกระทบการระบายน้ำท่วม หากยกระดับรถไฟทางคู่ จะสามารถบริหารจัดการพื้นที่ใต้ทางรถไฟให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากกว่าทางระดับดิน และ ๔.ต้นทุนการเสียเวลาและสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการเดินทาง การใช้ชีวิตไปมาหาสู่กันต้องเพิ่มระยะทางจากเดิม ข้อมูลการสัญจรผ่านถนนสืบศิริ มีปริมาณยานพาหนะวันละ ๒๐,๐๐๐ คัน ในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งงบทุบสะพานประมาณ ๔๐๐ ล้านบาท และก่อสร้างทางลอด ๘๐๐ ล้านบาท รวมเป็น ๑,๒๐๐ ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับชาวโคราชต้องอยู่กับรถไฟ การลงทุนคุ้มค่าในระยะยาว ดังนั้นการยกระดับรถไฟทางคู่เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับเมืองในอนาคต


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๖๖ วันที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน - วันที่ ๑๔ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๗


301 5,170