8thSeptember

8thSeptember

8thSeptember

 

July 08,2024

หาพื้นที่ย้ายเรือนจำ’เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้าง‘โคราชมิวเซียม’ยิ่งใหญ่ เตรียมทุบเปิดโล่งข้างลานย่าโม

 

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30-17.00 น. ที่อาคารยุพราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีการสัมมนาวิชาการเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาเมืองนครราชสีมา หลังการขุดค้นพบแหล่งโบราณณคดีสมัยเหล็ก บริเวณถนนพลล้าน เขตเทศบาลนครนครราชสีมา” โดยในการสัมมนาเรื่อง “แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาการเรียนรู้และท่องเที่ยวเมืองนครราชสีมา” มีวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยน ประกอบด้วย นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา, ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักโบราณคดีอิสระ, นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา, ผศ.พิทักษ์ชัย จัตุชัย นักประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ผศ.ธีระ วรรธนะปกรณ์ อดีตประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน ซึ่ง ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการโคราชจีโอพาร์คโลก ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ โดยมีนายสุจิตต์ วงษ์เทศ มาบรรยายเรื่อง “นครราชสีมา ต้นทางชาวสยาม ความเป็นไทย” ด้วย

ทั้งนี้ นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวในเวทีสัมมนานี้ว่า ทิศทางการพัฒนาโคราช เป้าหมายก็คือเพื่อสังคมที่ดี เศรษฐกิจที่ดี และทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุดท้ายก็คือความสุข แต่การพัฒนามีหลายมิติ เริ่มตั้งโครงสร้างพื้นฐาน เริ่มตั้งแต่การคมนาคม การศึกษา การสาธารณสุข และคุณภาพชีวิต ซึ่งในส่วนโคราชของเราเป็นเมืองใหญ่ ประวัติศาสตร์เยอะ แต่นักท่องเที่ยวไม่แวะ มาแล้วก็ผ่าน ไม่พัก ไม่ค้างคืน ยิ่งมีรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ ยิ่งจะผ่านปื๊ดๆ ทําอย่างไรจะให้เขาหยุด เขาพัก เขาแวะ พออาจารย์สุจิตต์พูดก็เห็นภาพ ต้องทําให้เขาหยุด ต้องทําให้เขาแวะ เทศบาลนครฯ ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรง แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่อยากจะเพิ่มคือพื้นที่สาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และการพัฒนาคูเมืองที่ชำรุดทรุดโทรมมาเยอะ เมื่อก่อนพัฒนาเฉพาะด้านทิศตะวันตกคือลานย่าโม กับทิศเหนือคือสถาบันการศึกษา แต่ทิศที่ยังไม่ถูกพัฒนาเลยก็คือทิศตะวันออกกับทิศใต้ เหตุที่ไม่ถูกพัฒนาเพราะมีสถานที่ราชการที่ขอใช้พื้นที่ยังอยู่ แต่ว่าชํารุดทรุดโทรมมาก ตอนที่ตนเข้ามารับตำแหน่งก็ให้เจ้าหน้าที่ไปทําความสะอาดรอบคูเมืองทั้งหมด กระทั่งไปพบต้นโพธิ์โอบกําแพง ซึ่งหลายท่านยังไม่เคยเห็น จากนั้นก็มีแนวคิดว่า เราอยากจะพัฒนาฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันตก ทั้ง 4 ทิศ ให้สวยงาม พยายามที่จะขอพื้นที่จากส่วนราชการ เราได้รับความร่วมมือจากจังหวัด คณะกรรมการเมืองเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ธนารักษ์จังหวัดนครราชสีมา เมื่อได้คุยกันก็รู้ว่าเราต้องการพัฒนาตรงจุดนี้ให้เป็นคู่เมืองที่มีชีวิตชีวา เป็นสถานที่นันทนาการ เป็นลานกิจกรรมของคนเมือง เป็นลานวัฒนธรรม เป็นป่าแห่งการเรียนรู้ เป็นป่าในเมือง เป็นกิจกรรมเพื่อศึกษาระบบนิเวศ เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องของพลังงานทดแทน

“มีการออกแบบคอนเซ็ปต์ทั้ง 4 ด้านเอาไว้แล้ว หน้าลานย่าโมจะเป็นลานวัฒนธรรมทั้งหมด เพราะเราจัดกิจกรรมงานประเพณีต่างๆ นับเป็นจตุรัสของเมือง ตอนนี้ผมได้รับความร่วมมือจากที่ปรึกษาของกรมโยธาธิการฯ ออกแบบเปิดโล่งทั้งหมด ลานโอเปร่าห้องน้ำจะไม่มีให้เห็น จะเปิดโล่งทั้งหมด เมื่อแบบเสร็จแล้ว จะมีการทำประชาพิจารณ์” นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา

 

นายประเสริฐ บุญชัยสุข กล่าวอีกว่า แต่ที่ได้รับงบประมาณก่อนคือด้านทิศตะวันออก คูที่ 12 “บูรพารวมพล” เมื่อเจ้าของพื้นที่เดิมคือสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 คืนพื้นที่ให้สำนักงานธนารักษ์ฯ เราก็ไปขอใช้จากธนารักษ์ฯ จึงมีโครงการพัฒนาคูเมืองนี้เป็นแห่งแรก หากใครนึกไม่ออกก็คือศูนย์กามโรคเก่านั่นเอง ตรงนั้นมีสํานักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 เมื่อได้รับอนุญาตเสร็จแล้ว การที่จะไปพัฒนาก็มีความจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการขุดพิสูจน์ก่อน เพราะเป็นพื้นที่โบราณสถาน เป็นเขตเมืองเก่าด้วย และได้รับความกรุณาจากนายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ลงพื้นที่มาดูจุดที่จะขุด ไม่รู้ว่าโครงกระดูก 3 โครงนี้รอเราอยู่ 2,000 ปีแล้ว เมื่อก่อนขุดไม่พบไม่เจอ พอขุดไปเจอโครงแรกสมบูรณ์มาก ฟันไม่มีหลุดสักซี่ ฟันเต็มปาก โครงที่สองเป็นโครงเด็ก ส่วนโครงที่ 3 ชวนติดตาม มีเครื่องประดับ โดยเฉพาะทองคํา และมีชามที่เรียกพิมายดํา ทําให้ชวนติดตามและต้องมีการขุดพิสูจน์ต่อไป ซึ่งก็ได้รับความกรุณาจากกรมศิลปากรว่า เดือนตุลาคมนี้ เราจะมาเปิดหลุมต่อเนื่องตรงที่เป็นถนนแถวหน้า ก็จะพิสูจน์กันต่อ เพื่อให้ทราบข้อมูลทางโบราณคดีให้ชัดเจน แล้วตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ในการศึกษาในการเข้าใจว่า เมืองของเราเป็นมาอย่างไร เป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ต้องศึกษา

“เมื่อเห็นอย่างนี้ เราเห็นคุณค่าของเมือง จึงนั่งคิดกันว่า ควรจะสร้างพิพิธภัณฑ์เมือง หรือโคราชมิวเซียม (Korat Museum) ที่ได้นําเสนอ มีการปรึกษาหารือหลายฝ่ายว่าต้องหาพื้นที่ในการสร้าง ซึ่งพิพิธภัณฑ์เมืองหรือโคราชมิวเซียมต้องยิ่งใหญ่ ต้องไม่เล็ก เพราะเรามีของดีเต็มพื้นที่ เต็มทั้งจังหวัด ยิ่งได้ยินได้ฟังจากเมืองเสมาเมื่อสักครู่ ท่านประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ ก็มาจากเมืองเสมา ท่านรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ตรงนั้นถ้าเราสามารถพัฒนาจะเป็นอะไรที่บอกประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ให้คนรุ่นหลังได้รับทราบ เกิดก่อนพิมาย มีคุณค่าและมีมูลค่า ที่เราจะพัฒนาได้ ขอรับปากว่าจะพยายามหาพื้นที่ในการก่อสร้าง”

นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวอีกว่า คุยกับธนารักษ์อีกว่า ในฐานะที่ท่านรู้ว่าพื้นที่ของท่านอยู่ตรงไหน มีที่ดินอยู่ตรงไหน เพราะในเขตเทศบาลนครฯ หายากมาก แต่ตอนนี้เราเห็นพื้นที่หนึ่ง อยู่ใกล้ๆ กับ มทส. เป็นพันไร่ ตอนแรกจะไปขอพื้นที่ทหารอากาศอยู่ใกล้สวนสัตว์ ย้ายคุกออกไป เรือนจำโคราชเก่าแก่มาก นักโทษล้นเรือนจํา มีแผนงานจะย้ายมานับสิบปีแล้ว ตั้งแต่สมัยท่านสุวัจน์ (ลิปตพัลลภ) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผมเคยไปคุยกับเรือนจํา เขาบอกว่ามีแผนจะย้ายตั้งแต่ยุคนั้น จะทําโครงการจะย้าย เพราะว่าหนาแน่นและอยู่กลางเมือง ขณะนี้เรามีแนวคิดว่า อยากได้พื้นที่ตรงนี้เกือบ 40 ไร่มาทําพิพิธภัณฑ์เมืองหรือโคราชมิวเซียมได้เลย แล้วเราจะมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์กลางเมือง คูเมือง 4 ทิศก็สวยงามมีชีวิตชีวา มีลานกิจกรรม ลานวัฒนธรรม และมีพิพิธภัณฑ์ให้ชมด้วย สิ่งนี้คือความตั้งใจ จะพยายามหาพื้นที่ให้ได้ วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรับทราบแล้วว่า โคราชต้องการพื้นที่เรือนจําปัจจุบันนี้เพื่อที่จะมาทําประโยชน์ พัฒนาในเรื่องมูลค่าและคุณค่าต่างๆ

“นอกจากนั้นยังได้คุยกับอาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ แล้วว่า วันที่ 15 กรกฎาคมนี้จะมาโคราช ผมจะพาเดินคูเมืองทั้งหมด และศึกษาอย่างจริงจัง โดยจะให้ท่านเป็นอีกคนหนึ่งที่จะมาเป็นที่ปรึกษาในการสร้างโคราชมิวเซียม สำหรับส่วนราชการที่ยังไม่ย้ายออก ทางธนารักษ์ก็เป็นกําลังสําคัญในการที่จะพูดคุย เพราะที่อยู่ปัจจุบันโทรมหมดแล้ว ใช้ประโยชน์ไม่ได้ บ้านก็เก่า โทรมมาก ไม่มีคนอยู่อาศัยแล้ว เราอยากจะขอพื้นที่คืนเพื่อที่จะพัฒนา”

นายประเสริฐ กล่าวในช่วงหลังของการสัมมนาว่า “ยิ่งได้ฟังวิทยากรหลายท่านบวกกับอาจารย์สุจิตต์ เรายิ่งได้เห็นคุณค่ามากยิ่งขึ้น จะขอเป็นศูนย์กลางที่จะประสานกับทางจังหวัดกับส่วนราชการอื่นๆ กับทางธนารักษ์ กับกรมศิลปากร และนักประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ในการที่จะผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์เมืองหรือโคราชมิวเซียมให้ได้ ผมถือว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดสําคัญที่สุดที่ลูกหลานจะได้รู้ความเป็นมา ซึ่งมีโอกาสได้คุยกับอาจารย์หลายท่าน บอกว่าโคราชของเราอาจจะดีกว่าสยามมิวเซียม เพราะว่ามีประวัติศาสตร์มีเรื่องเล่าเยอะมาก อันนี้ยิ่งเกิดความรู้สึกว่าอยากทํา อยากทําให้เร็ว อยากทําให้ได้ หากได้พื้นที่เมื่อไหร่ก็เริ่มต้นได้เลย เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรับปากแล้วว่า พร้อมที่จะจัดงบประมาณผูกพันไว้ 3-4 ปี แล้วก็สร้างเรือนจําเป็นที่รองรับ เราเพียงแต่หาสถานที่ให้ได้ ใครพอจะรู้ว่ามีที่สาธารณะที่อยู่ไม่เกิน 30 กิโลเมตรจากเมือง เพราะมีข้อกําหนดเนื่องจากต้องพาผู้ต้องขังมาขึ้นศาล ไม่อยากให้ไกลเกิน แต่วันนี้เราก็มองไว้หลายแห่งแล้ว แถวโคกกรวด แถวขามทะเลสอ แถวสุรนารี แต่ต้องไปดูอีกว่าต้องมาอยู่ใกล้ชุมชน คนก็กลัวอีกถ้าเอาคุกไปไว้ใกล้ๆ ก็ให้เกิดความพร้อมใจกันทุกฝ่าย ตนเชื่อว่าถ้าเราได้เห็นเป้าหมายเดียวกันแล้วก็ร่วมกัน คิดว่าจะเกิดขึ้น แล้วที่เมืองเสมา ตําบลเสมา อำเภอสูงเนิน มี ๓ ปราสาท คือประสาทเมืองเก่า ปราสาทโนนกู่ และปราสาทเมืองแขก ที่จัดงานกินเข่าค่ำ นอกจากนี้ยังมีปราสาทบ้านบุใหญ่

“คนโคราชหลายคนเคยไปชม อาณาจักรศรจนาศะกับทวารวดีอันเดียวกัน แต่อาจารย์สุจิตต์บอกว่าไม่ใช่ มีสิ่งที่แสดงออกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตในทางพระพุทธศาสนา มีพระนอนพระพุทธไสยาสน์ที่ทําด้วยหินทรายแดง ยาวและใหญ่ที่สุด ผมไปบังคลาเทศ ไปอินเดีย ยังไม่ใหญ่เท่ากับเมืองเสมาที่สูงเนิน อายุ 1,300 กว่าปี และมีเสมาธรรมจักร มีคนขโมยไปแต่ตามกลับมาได้ คนที่ตามกลับมาก็คือพ่อของส.จ.รักชาติ คือนายสมชาย กิริวัฒนศักดิ์ อดีตประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสูงเนิน (เสียชีวิตแล้ว) ตามเสมาธรรมจักรมาได้ วันนี้เก็บไว้อย่างดี สิ่งเหล่านี้คือความภาคภูมิใจของพวกเรา” นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวในท้ายสุด


299 1,248