July 09,2024
ภาคเอกชนโคราชค้าน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บ. ติงนักการเมืองควรเลิก "สัญญาว่าจะให้"
วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดนครราชสีมา นำโดย นางธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นายสุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนางบังอร วรฉัตร ประธานสมาคมธนาคารไทย จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เดินทางเข้าพบนายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อหารือและยื่นหนังสือถึงนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในการคัดค้านการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั่วประเทศ โดยมีนางนิธิอร บุญญานุสิทธิ์ จัดหางานจังหวัดฯ นางสาวปภิญญา ทองสมจิตร แรงงานจังหวัดนครราชสีมา และนายธวัช ไชยเดช สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ร่วมรับหนังสือ
นายสุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ตามที่ กกร.จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และสมาคมธนาคารไทย จังหวัดนครราชสีมา ประชุมพิจารณาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ทั่วประเทศนั้น พบว่าเป็นนโยบายการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำในระดับที่สูงเกินกว่าพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และยังมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ติดต่อกัน 2 ครั้ง ภายในปีเดียว (พ.ศ.2567) ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ การลงทุนภายใน จังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการบริการ และต้นทุนการจ้างงานทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคการค้าและบริการ ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ที่ยังคงมีความเปราะบาง จากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน และมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการใช้แรงงานค่าจ้างขั้นต่ำเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในระดับที่สูงเกินไป โดยไม่มีการรับฟังความเห็นรอบด้านจะส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการจะต้องปิดกิจการ ลดขนาดกิจการ นำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด เกิดสภาวะการว่างงานเพิ่มขึ้นในที่สุด
กกร.จังหวัดนครราชสีมา มีข้อเสนอและความเห็นต่อนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ 5 ข้อ ได้แก่
1.กกร.จังหวัดนครราชสีมา เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
2.กกร.จังหวัดนครราชสีมา ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างไตรภาคีจังหวัดพิจารณาอัตราจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด เสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) กลาง เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทาง เศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และประสิทธิภาพของแรงงาน
3.การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการ พัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)
4.การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นและศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่หรือประเภทธุรกิจเช่นกัน
5.นอกเหนือจากการยกระดับรายได้ของแรงงานแล้ว ภาครัฐควรเข้ามาดูแลค่าครองชีพในการดำรงชีพของแรงงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคแรงงานและประชาชน เช่น ราคาอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึงค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างความสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้กับแรงงานให้สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ รองประธานชมรมรถโดยสารประจำทางจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัย 21 จำกัด แสดงทัศนะว่า ประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตย มีระบบหาเสียง แต่จะทำอย่างไรที่จะกำหนดหรือควบคุมไม่ให้การหาเสียง เป็นไปในรูปแบบของคำว่า "สัญญาว่าจะให้" โดยที่ไม่ศึกษาผลกระทบล่วงหน้าก่อนที่จะเข้ามาทำงาน ไม่ใช่เข้ามาศึกษาในโอกาสที่ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลหรือได้เข้ามาทำงานแล้ว ซึ่งเมื่อมีการสัญญาจึงจำเป็นที่จะต้องมีความพยายามที่จะทำให้ได้ แต่ความพยายามนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ ภาคเอกชนจึงไม่เห็นด้วยหรือไม่สนับสนุนนโยบายที่จะเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ที่เป็นการเอาเงินอีกฝ่ายไปให้อีกฝ่าย แต่เราจะสนับสนุนสัญญาที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นจากความสามารถของรัฐบาล เช่น การบริหารจากภาษีหรือการบริหารจากกฎหมายที่มีที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น เราสนับสนุนให้รัฐบาลใช้ความสามารถแบบนั้นมากกว่า
104 3,486