8thSeptember

8thSeptember

8thSeptember

 

July 16,2024

ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 67-68 เศรษฐกิจอีสาน ปี 67 ทรงตัวในช่วง -0.2 ถึง 0.8% ขณะที่ปี 68 ขยายตัวในช่วง 0.9 ถึง 1.9%

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 67-68
(ประมาณการรอบครึ่งปี ณ เดือนกรกฎาคม 2567)

 

ปี 67 ทรงตัว โดยภาคอุตสาหกรรมกลุ่มผลิตอาหารขยายตัว เช่นเดียวกับภาคการค้าที่ขยายตัวจากการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงกำลังซื้อจากผู้เยี่ยมเยือนช่วงเทศกาลช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตามผลผลิตเกษตรหดตัวจากภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในเขตชลประทาน ด้านภาคก่อสร้างหดตัวจากความล่าช้าของงบประมาณภาครัฐ และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวกว่าคาด

 

อัตราการเติบโตรายปี 2565-68

ปี 68 ขยายตัว จากสภาพภูมิอากาศที่เข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรขยายตัวในทุกพืชสำคัญ ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหมวดอาหารขยายตัว และภาคการค้าขยายตัวจากรายได้ภาคเกษตรที่ดีขึ้น อีกทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้น ขณะที่ภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ทยอยปรับดีขึ้น ตามการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ และความต้องการที่อยู่อาศัย

 

กราฟแสดงผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอีสาน

รายได้ต่อหัวของครัวเรือนอีสาน

หดตัวในปี 67 แต่ทรงตัวในปี 68

รายได้จากการผลิตของครัวเรือนอีสาน ปี 67 หดตัว จากหมวดค่าจ้าง เงินเดือน และกำไรนอกภาคเกษตร เป็นสำคัญ ตามความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือนที่ลดลง จากภาวะต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง สถานการณ์การแข่งขันที่สูงขึ้น ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่ทยอยหมดลง แต่ ปี 68 คาดว่ากลับมา จากกำไรภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามสภาพอากาศและต้นทุนปุ๋ยเคมีที่ปรับลดลง

 

Income Forcast 2024

 

Income Forecast 2024

 

รายละเอียดทิศทางการเติบโตของกิจกรรมสำคัญ(เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน)

 

เกษตร ลดลง

  • ปี 67 หดตัว จากผลผลิตมันสำปะหลังที่ลดลงจากผลของโรคใบด่างที่ระบาดในพื้นที่ปลูกหลักต่อเนื่องมาจากปี 66 ข้าวนาปรังหดตัวกว่าประมาณการครั้งก่อน จากผลของภัยแล้งทำให้น้ำในเขื่อนไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในหลายจังหวัด อาทิ โคราช ชัยภูมิ และขอนแก่น ขณะที่ยางพาราปรับดีขึ้นเล็กน้อย จากสภาพอากาศที่กลับสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปีและพื้นที่กรีดยางที่เพิ่มขึ้น
  • ปี 68 ขยายตัว จากสภาพอากาศที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงเพาะปลูก ทั้งข้าว ยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง โดยยางพาราขยายตัวจากพื้นที่กรีดยางที่เพิ่มขึ้น อ้อยจากราคาจูงใจให้เกษตรกรดูแลระหว่างการเพาะปลูก และมันสำปะหลังจากสถานการณ์โรคใบด่างที่คาดว่าจะปรับดีขึ้น
     

อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น

  • ปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย จากการผลิตหมวดอาหารที่ดีกว่าคาดจากอุปสงค์ของตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ ได้แก่ การผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป รวมถึงการผลิตแป้งมันสำปะหลังที่แม้ได้รับผลกระทบจากโรคใบด่าง แต่ก็มีการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อชดเชยวัตถุดิบในประเทศที่ลดลง
  • ปี 68 ขยายตัว จากหมวดอาหารตามผลผลิตเกษตรที่ดีขึ้นเป็นสำคัญ ได้แก่ การสีข้าว น้ำตาล แป้งมันสำปะหลัง อีกทั้งการผลิตยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ดีขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอและพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีการผลิตในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

 

การค้า เพิ่มขึ้น

  • ปี 67 ขยายตัว จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น กำลังซื้อจากผู้เยี่ยมเยือนช่วงเทศกาลช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับดัชนีผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และมาตรการรัฐช่วงครึ่งหลังของปีสามารถช่วยบรรเทาค่าครองชีพ
  • ปี 68 ขยายตัว จากกำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว รวมถึงรายได้ภาคเกษตรที่ขยายตัวดีสอดคล้องกับภาคเกษตรช่วยพยุงการบริโภค อย่างไรก็ดียังมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงภาระหนี้กดดันการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน

 

ก่อสร้าง ลดลง

  • ปี 67 หดตัว ตามอุปสงค์โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่หดตัวกว่าคาด อีกทั้งความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณลงทุนภาครัฐ มีผลต่อการก่อสร้างภาคเอกชนซึ่งคาดว่าจะฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปีตามการเบิกจ่ายภาครัฐ
  • ปี 68 ขยายตัว การก่อสร้างภาคเอกชนทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยได้แรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ทยอยฟื้นตัว และการลงทุนก่อสร้างภาครัฐโครงการใหญ่ อย่างไรก็ดีความต้องการอสังหาฯ อาจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด

 

อสังหาริมทรัพย์ ลดลง

  • ปี 67 หดตัว ตามอุปสงค์ที่อ่อนแอกำลังซื้อที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ประกอบกับภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มบ้านระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้าน และกระทบไปยังบ้านทุกระดับราคา
  • ปี 68 ขยายตัวเล็กน้อย จากความต้องการที่อยู่อาศัยจริง ที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว และกำลังซื้อที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ดีภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูงจะยังเป็นปัจจัยกดดันภาคอสังหาริมทรัพย์

 

 

หมายเหตุ :

  1) โครงสร้างเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 65 ประกอบด้วย เกษตร 21% อุตสาหกรรม 19% การค้า 12% ก่อสร้าง 4% อสังหาฯ 4% และอื่นๆ 40%
  2) กำหนดเผยแพร่ประมาณการผลิตภัณฑ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งต่อไป ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568


ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานประกันสังคม, กรมศุลกากร, กรมสรรพสามิต, กรมสรรพากร, กรมการขนส่งทางบก, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, กรมธุรกิจพลังงาน, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมท่าอากาศยาน, ท่าอากาศยานไทย, GFMIS, กรมการปกครอง, กรมที่ดิน, The Nielsen Company, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คำนวณโดย ธปท.


40 2,277