August 03,2024
‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ย้ำ ‘ประชาชนไม่ใช่ผู้เสียสละ’ แม้ปัญหายังไม่เกิดแต่ชาวบ้านวิตก ‘เหมืองแร่โปแตช’ด่านขุนทด
ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่เหมืองแร่โปแตช ‘ไทยคาลิ’ ที่ด่านขุนทด หลังประชาชนร้องเรียนให้ปิดเหมืองอย่างต่อเนื่อง อ้างได้รับผลกระทบ เปิดประชุมรับฟังความเห็นที่ศาลากลางฯ ย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีข้อมูลชัดเจนว่า ไม่กระทบกับประชาชน เพราะเหมืองยังไม่เปิดกิจการ แต่ชาวบ้านหวั่นวิตก
เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ผู้ตรวจการแผ่นดินประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตช ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดยนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน, นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายอรุณ เมฆฉาย นายอำเภอด่านขุนทด, นายชูพงษ์ วิเศษจินดาวัฒน์ ผู้จัดการบริษัท ไทยคาลิ จำกัด, ผู้แทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต ๖ (นครราชสีมา), สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานทรัพยากรธรณีฯ, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ผู้บริหาร อปท.ในพื้นที่ เป็นต้น แต่ไม่มีประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมแต่อย่างใด โดยใช้เวลาประชุมกว่า ๔ ชั่วโมง
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่อนุญาตให้บริษัท ไทยคาลิ จํากัด ประกอบกิจการเหมืองแร่ใต้ดิน ชนิดแร่โปแตชและเกลือหิน ตามใบอนุญาตประทานบัตรทําเหมืองใต้ดินเลขที่ ๒๘๘๓๑/๑๖๑๓๗ ตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓ และเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจําท้องที่จังหวัดนครราชสีมามีหนังสือแจ้งอนุญาตให้เปิดการทําเหมือง โดยระหว่างที่บริษัทฯ เริ่มก่อสร้างอุโมงค์เพื่อเข้าสู่ชั้นแร่และอุโมงค์ระบายอากาศในช่วงต้นปี ๒๕๕๙ เกิดเหตุน้ำใต้ดินท่วมอุโมงค์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ บริษัทฯ จึงหยุดดําเนินการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน และเสนอคําขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการและมาตรการที่กําหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะกรรมการผู้ชํานาญการพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบกับรายงานดังกล่าว โดยให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
แต่อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเบื้องต้นปรากฏข้อเท็จจริงว่าประชาชนในพื้นที่ยังมีข้อกังวลในเรื่องผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตชของบริษัทฯ เนื่องจากกระบวนการและกรรมวิธีที่จะนําแร่โปแตชมาใช้ประโยชน์นั้น มักจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน ทั้งด้านเสียง และฝุ่นจากการใช้วัตถุระเบิด ผลกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดิน และการปนเปื้อนของสารอันตรายในดิน ผลกระทบทางสังคมในพื้นที่และสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้ ซึ่งหากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง มิได้มีมาตรการป้องกันผลกระทบต่างๆ และมาตรการกํากับตรวจสอบ ควบคุมไว้อย่างเหมาะสมเพียงพอ การประกอบกิจการก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และสุขภาพของประชาชนหรือชุมชนได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เห็นถึงความสําคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้สํานักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแสวงหาข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตชจากประชาชน ผู้นําชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประกอบกิจการ
โดยที่ผ่านมา มีการชุมนุมของกลุ่มด่านขุนทดรักษ์บ้านเกิดซึ่งอยู่ในพื้นที่ ๓ ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองไทร ตำบลหนองบัวตะเกียด และตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทดอย่างต่อเนื่อง ทั้งการชุมนุมเรียกร้องในพื้นที่ด่านขุนทด และขยับเข้ามาชุมนุมในตัวจังหวัดนครราชสีมา มีการชุมนุมแบบยืดเยื้อเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาลงมารับเรื่องและทำข้อตกลงระหว่างกัน หวิดเกิดจลาจลหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งล่าสุดมีการบุกขึ้นศาลากลางจังหวัดฯ ด้วย
สำหรับในวันนี้จึงมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนก่อนมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ คําสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานต่อไป โดยที่ผ่านมา สํานักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ศึกษาการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตชและมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาถึงความถูกต้องครบถ้วนของการดําเนินการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตช รวมทั้งมาตรการในการแก้ไขและป้องกันปัญหาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน
หาแนวทางลดผลกระทบ
ภายหลังการประชุม นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า วันนี้มีการประชุมกับหน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานระดับจังหวัด และอปท.ในพื้นที่การประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ที่อำเภอด่านขุนทด เพื่อหารือแนวทางที่จะลดปัญหาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดําเนินกิจการเหมืองแร่โปแตซของไทยคาลิ ซึ่งหลังจากได้รับประทานบัตรแล้วไทคาลิเริ่มที่จะดําเนินกิจการนำแร่โปแตชออกมาเป็นวัตถุดิบที่สําคัญในการผลิตปุ๋ย ที่สําคัญการคือผลิตปุ๋ย จะช่วยลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยของเกษตรกร มีการพูดคุยกันในหลายประเด็น เรื่องการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะยิ่งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานทําเหมืองแร่และบริเวณข้างเคียง และสาธารณชนทั่วไปเข้าใจถึงมาตรการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการเหมืองแร่ รวมทั้งข้อมูลที่จะให้สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมทั้งประเด็น อุโมงค์ที่จะเจาะลงไปใต้ดิน ซึ่งเมื่อปี ๒๕๖๓ อุโมงค์แรกมีปัญหาน้ำใต้ดินท่วมอุโมงค์ ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็จะท่วมผิวดิน ซึ่งทางบริษัทแจ้งว่ายุติการดําเนินกิจการในอุโมงค์แรก และได้ศึกษาข้อบกพร่องในเหตุที่ไม่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้น และนำมาใช้ในการจะเปิด ๓ อุโมงค์ใหม่ ซึ่งผ่านการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอนุมัติเรียบร้อยแล้ว แต่มีมาตรการเพื่อความมั่นใจว่าอุโมงค์ใหม่จะไม่มีปัญหาเรื่องผลกระทบ
เก็บตัวอย่างความเค็มมาพิสูจน์
“นอกจากนั้นมีการพูดคุยกันเรื่องการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ตัวอย่างความเค็มของดิน ทั้งก่อนเริ่มดําเนินกิจการของบริษัท และระหว่างประกอบกิจการ กรณีที่ประชาชนร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบ จะได้มีข้อมูลสถิติยืนยันกันว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งเพื่อความมั่นใจในเรื่องการเก็บตัวอย่างว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้ไปเข้าข้างผู้ประกอบการหรือเข้าข้างพี่น้องประชาชน จะต้องคุยกันเรื่ององค์ประกอบเจ้าหน้าที่ที่จะไปเก็บตัวอย่างน้ำและความเค็มของดิน จะเป็นในรูปของคณะกรรมการหลายฝ่ายหลายหน่วยงาน เพื่อความมั่นใจของประชาชน รวมทั้งคุยกันเรื่องมาตรการกํากับดูแลการดําเนินกิจการของบริษัทที่ได้รับสัมปทาน จะให้ความมั่นใจว่าเมื่อบริษัทดําเนินกิจการแล้ว ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้บริษัทดําเนินการไปตามอําเภอใจ มีเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในการอนุญาตสัมปทานอยู่แล้ว หน่วยงานที่มีหน้าที่จะต้องมีหน้าที่ไปติดตามตรวจสอบตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ ที่สําคัญข้อกังวลว่าการติดตามการรายงานผลการตรวจสอบหน่วยงานจะเข้าข้างผู้ประกอบการ มีการให้ข้อมูลว่า ประชาชนในพื้นที่รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงผลการติดตามกํากับตรวจสอบได้ผ่านทางระบบสมาร์ทอีไอเอ ทุกคนสามารถเข้าถึงการติดตามการประกอบกิจการของบริษัทได้” นายสมศักดิ์ กล่าว
ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจ
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นยังให้ความมั่นใจในมาตรการเยียวยาประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบในขณะดำเนินกิจการของบริษัทหรือหลังจากบริษัทปิดเหมืองแล้วก็จะมีรายละเอียด ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดมีอยู่ในเงื่อนไขการให้สัมปทานออกใบอนุญาต รวมทั้งการฟื้นฟูเยียวยามี ๖ กองทุน เป็นกองทุนที่บังคับตามพ.ร.บ.แร่ ๒ กองทุน และอีก ๔ กองทุนเป็นกองทุนที่บริษัทต้องจัดตั้งงบประมาณเพื่อดําเนินการตามเงื่อนไขท้ายสัญญาการอนุมัติให้สัมปทาน เป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้วแต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ
“สิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ประกอบกิจการที่ได้รับสัมปทานของบริษัทไทยคาลิในพื้นที่ ๓ ตำบลของอำเภอด่านขุนทด รวมทั้งประชาชนทั่วไปด้วยว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการที่จะเตรียมรองรับสําหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ที่สําคัญในเกือบจะทุกมาตรการจะให้ความสําคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เข้าไปร่วมกับข้าราชการ หน่วยงานในการที่จะกํากับตรวจสอบ ทั้งตรวจสอบความเค็มของน้ำใต้ดิน บนดิน ความเค็มของดิน การเข้าไปตรวจสอบการ ดําเนินกิจการ รวมไปถึงกองทุนต่างๆ จะมีตัวแทนของภาคประชาชนด้วย เพราะฉะนั้น ในทุกขั้นตอนจะมีตัวแทนของภาคประชาชนอยู่ด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าว
ปัญหายังไม่เกิดแค่กังวล
สื่อมวลชนถามว่า การลงพื้นที่พบปะประชาชนในพื้นที่และผู้ประกอบการฯ ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ตอบว่า ความจริงแล้วบริษัทยังไม่ได้เริ่มดำเนินกิจการผลิต เป็นเพียงการเตรียมการอยู่ในที่ตั้งของโรงงาน ความเดือดร้อนในตอนนี้ยังไม่เกิด แต่ทั้งหลายทั้งปวงเป็นความกังวลว่าปัญหาจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า เมื่อไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารว่าทางราชการร่วมกับผู้ประกอบการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการเตรียมรองรับปัญหาที่จะขึ้นอย่างไร จึงมีความกังวล ทั้งๆ ที่จริง ยังไม่มีปัญหาผลกระทบเกิดขึ้น เพราะว่าการดําเนินกิจการของบริษัทยังไม่เริ่มต้นเต็มรูป
“ส่วนประเด็นที่เกิดขึ้นกับอุโมงค์แรกนั้น เป็นเหตุสุดวิสัยนอกเหนือจากที่ทางบริษัทเขาเตรียมแผนไว้ ซึ่งทางบริษัทก็ยอมหยุด ทั้งที่ลงทุนไปมากแล้ว เพราะว่าหากดำเนินการต่ออาจจะเกิดปัญหาขึ้นจริงๆ และรุนแรง จึงยุติ ซึ่งอุโมงค์แรกยังไม่เกิดผลกระทบกับชุมชน ส่วนในพื้นที่เกษตรที่บอกว่าเกิดความเสียหายก็ต้องมีการพิสูจน์ว่าเป็นภาพปัจจุบันหรือภาพเดิม”
นายสมศักดิ์ กล่าวย้ำอีกว่า จากข้อมูลที่ได้มาจากภาคส่วนต่างๆ นั้น ปัญหายังไม่เกิดและยังไม่กระทบกับชุมชน เพราะว่า บริษัทยังไม่ได้เริ่มดำเนินกิจการ เป็นเพียงการเตรียมที่จะดําเนินการ และปัจจุบันก็เป็นปัญหากระทบกับบริษัท เพราะเดินต่อไม่ได้ ที่ดําเนินการไปแล้วก็เสียหาย วัสดุอุปกรณ์โดนน้ำท่วม แต่ผลกระทบยังไม่ออกมานอกพื้นที่เหมือง
ข้อมูลต้องเข้าถึงประชาชน
สำหรับแนวทางในการทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นําเรียนในที่ประชุมและทางจังหวัดว่าสิ่งที่หารือกันในวันนี้เรื่องข้อห่วงใยของพี่น้องประชาชน มาตรการที่จะลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนในขั้นตอนเมื่อบริษัทดําเนินกิจการ ผู้ที่ควรจะรู้เป็นอันดับแรกคือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่มีข้อกังวลในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งสื่อมวลชนในโคราชก็อาสาว่า ถ้าจังหวัดมีข้อมูลก็พร้อมที่จะเผยแพร่ ซึ่งสิ่งที่จะต้องทําในขั้นตอนนี้คือ ๑.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับข้อเสนอแนะที่ที่ยังไม่อยู่ในแนวปฏิบัติที่กําหนดไว้เดิมไปทําเพิ่มเติม ๒.จังหวัดต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางต่างๆ เพื่อลดข้อกังวลของพี่น้องประชาชน ด้วยการคิดล่วงหน้าถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น และการสื่อสารสิ่งที่จะดูแลพี่น้องประชาชนออกไป น่าจะช่วยลดข้อกังวลของพี่น้องประชาชนได้ ในเรื่องนี้ต้องนําเรียนว่า แร่โปแตชถ้ามองในมิติของประเทศถือว่ามีความจําเป็น เพราะว่าเป็นส่วนประกอบสําคัญในการผลิตปุ๋ย ซึ่งถ้าสามารถผลิตปุ๋ยได้เองภายในประเทศจะช่วยลดการนําเข้า ต่อไปต้นทุนการผลิตปุ๋ยจะต่ำลง พี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศจะได้ประโยชน์ แต่จะมองในมิตินี้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูว่าทําอย่างไรในพื้นที่ที่ตั้งของโครงการสัมปทานต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน ทั้งในวิถีชีวิตประจําวัน และการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต กล่าวอีกว่า วันนี้มีการพูดคุยกันว่า สิ่งที่ต้องทำให้เบื้องต้นคือ ต้องรีบเก็บข้อมูลสถานะปัจจุบันก่อนเริ่มกิจการ และไปเก็บข้อมูลอีกเป็นระยะๆ ในช่วงที่ผู้ประกอบการเริ่มดําเนินกิจการ เพราะฉะนั้นจะมีข้อมูลชัดเจน ครั้งหน้าจะเป็นการพูดคุยกันด้วยข้อเท็จจริง มีข้อมูลที่ถูกต้องเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เป็นความรู้สึกหรือเป็นความกลัว ความกังวล หรือเป็นการพูดเกินเลยว่าได้ทําหรือไม่ได้ทํา
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต
ประชาชนไม่ใช่ผู้เสียสละ
“โคราชเป็นแหล่งแร่โปแตชแหล่งใหญ่ของประเทศ ถ้าโครงการนี้เป็นไปด้วยดี ในภาพรวมรัฐบาลได้เงินค่าภาษีที่ทางผู้ประกอบการจะต้องจ่าย เพื่อเป็นงบพัฒนาประเทศ ที่สําคัญในระดับพื้นที่ก็จะเกิดการจ้างงาน เกิดธุรกิจรายย่อย เมื่อมีคนงานมาทํางาน ที่สําคัญจะมีการแบ่งค่าภาคหลวงแร่ประมาณ ๖๐% ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ทั้งอบต.และอบจ.เอาไปพัฒนาพื้นที่ และบริษัทจะมีเงินสนับสนุนให้กับอบต.แต่ละแห่งเป็นรายปีอีก นอกเหนือจากส่วนแบ่งค่าภาคหลวงแร่ นอกจากนั้นยังมีเงินที่จะมาใช้ในกองทุนที่จะเยียวยา เพราะฉะนั้นประโยชน์จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ทั้งในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ แต่อย่างไรก็ตามประชาชนต้องมาก่อน ต้องไม่กระทบกับพี่น้องประชาชน ประโยชน์ที่จะคืนในภาพรวมกับใคร ประชาชนคงไม่ใช่เป็นผู้เสียสละ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ต้องได้รับการดูแล” ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า หลังจากมารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้แล้ว ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะสรุปเป็นข้อเสนอแนะผลการประชุมในวันนี้ว่า แนวทางที่จังหวัดควรจะขับเคลื่อนเป็นอย่างไร แนวทางที่หน่วยงานส่วนกลางต้องไปออกกฎออกประกาศออกเงื่อนไขหลักเกณฑ์เพิ่มเติม รวมทั้งแนวทางในระดับพื้นที่โดยจังหวัดในรูปของคณะกรรมการจะเพิ่มใครเข้ามาและมีส่วนร่วมอย่างไร การประชุมในวันนี้มีความชัดเจน ถ้าทุกภาคส่วนมีการนําไปปฏิบัติ ปัญหาข้างหน้าเรื่องผลกระทบต่อประชาชนคิดว่าจะมีน้อย หรือถ้ามีก็อยู่ในวิสัยที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ ความรุนแรงน่าจะไม่มี
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๒๗๖๗ วันที่ ๑๕ เดือนกรกฎาคม - วันที่ ๑๔ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๗
500 6,293