September 06,2024
ถอดรหัสความสำเร็จ ๓ อาณาจักรธุรกิจโคราช ‘ซิตี้ลิงค์ สยามวิชโก้ บ้านขนมคุณภัทรา’
๓ นักธุรกิจดังเมืองโคราช เจ้าของอาณาจักรธุรกิจใหญ่ ที่ได้รับเชิญจากผู้จัดงาน “Money Expo Korat 2024” ร่วม “ถอดรหัสความสำเร็จ ๓ อาณาจักรธุรกิจโคราช” เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๗ ณ เดอะมอลล์โคราช กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้คงไม่ใช่เรื่องง่าย และอะไรคือหัวใจแห่งความสำเร็จ “สุดที่รัก (ฮั่น) พันธ์สายเชื้อ” กรรมการบริหาร บริษัท คลังคาซ่า จำกัด ผู้ปลุกปั้น “ซิตี้ลิงค์” ย่านธุรกิจใหม่เมืองโคราช และปัจจุบันนั่งเก้าอี้ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา “พันเลิศ วิชชาพิณ” กรรมการบริหาร บริษัท สยามวิชโก้ จำกัด ค้าปลีกท้องถิ่นรายใหญ่ “วิชโก้ โฮลเซล” และ “กฤษณภัทร (แบงก์) มหาปิติ” กรรมการผู้จัดการ บ้านขนมคุณภัทรา
• เหมือนสุนัขล่าเนื้อ
เริ่มต้นจากโอกาสทางธุรกิจ ซึ่ง “สุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ” ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เล่าว่า เขาเป็นคนจังหวัดสุรินทร์ แต่เมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีย้ายมาอยู่โคราช มองหาบ้านและอยากได้บ้านสองชั้น แต่มีอยู่รายเดียวที่ทําบ้านสองชั้นคือแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ซึ่งอยู่ไกลจากตัวเมืองมาก เป็นช่วงที่กำลังจะแต่งงาน คุณพ่อของภริยาบอกว่า ‘ถ้าไม่มีบ้านก็ไม่ได้แต่ง’ ต้องรีบหาบ้าน สุดท้ายก็ได้บ้านสองชั้นมือสอง จากนั้นก็ทำธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ แต่พอถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่าทุกอย่างเริ่มนิ่ง จึงไปทําธุรกิจอสังหาฯ และเริ่มมองว่า ทําไมในโคราชจึงหาบ้านสองชั้นยาก แต่โปรเจกต์แรกที่เริ่มทําคือบ้านชั้นเดียว เหมือนฝึกวิชา อยากทําธุรกิจนี้ให้เป็นก่อน เมื่อประสบความสําเร็จก็เริ่มทําตามฝัน อยากจะให้คนโคราชมีที่อยู่ดีๆ จึงเริ่มทําบ้านสองชั้น และน่าจะเป็นไม่กี่รายในโคราชที่มีบ้านสองชั้นขายทั้งโครงการ ซึ่งเมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีที่แล้วส่วนใหญ่เป็นชั้นเดียว
“ผมเป็นคนที่มองหาช่องว่างทางการตลาดเสมอ เห็นว่าบ้านสองชั้นมีช่องว่างอยู่ เป็น Blue Ocean ผู้เล่นมีไม่เยอะ พอทำไปก็รู้ว่าบ้านสองชั้นมีหลายราคา ลูกค้ามีหลายกลุ่ม อยากลองทําโครงการที่พรีเมี่ยมขึ้นเรื่อยๆ เพราะเห็นว่ามีตลาดรองรับ เมื่อทำแล้วจึงพบว่า เมื่อจบโครงการหนึ่งก็ต้องไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ เหมือนสุนัขล่าเนื้อ ต้องวิ่งหาทําเลใหม่ตลอด และเริ่มมีคู่แข่งเต็มไปหมด ถูกก็อปปี้ง่าย แต่เราก็ทำไปเรื่อยๆ เมื่อประมาณ ๑๔-๑๕ ปีที่แล้วขายบ้านราคา ๘-๓๒ ล้าน และมาถึงจุดที่พีคแล้ว รู้สึกว่าจะไปไกลกว่านี้คงไม่ไหว แล้วจะทําอย่างไร โชคดีได้เจอเพื่อนรุ่นพี่ที่ดี เอาที่ดินมานั่งคุยกัน มาทําโปรเจกต์ร่วมกันเกิดมาเป็นโครงการซิตี้ลิงค์ที่ไม่ต้องหาที่ดินตลอดเวลา และคนอื่นจะก็อปก็ลําบาก” สุดที่รักบอกเล่า
สุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ - ไพจิตร มานะศิลป์ สองหุ้นส่วนอาณาจักรซิตี้ลิงค์
• เทียบธุรกิจกับเจ้าสัว
ขณะที่นักธุรกิจค้าปลีก “พันเลิศ วิชชาพิณ” ซึ่งถือว่ามีคู่แข่งเยอะ เขาเป็นคนพิมาย เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจโชห่วย แถมยังตั้งปณิธานไว้ว่าจะไม่สานต่อธุรกิจที่บ้าน เขาเล่าว่า “แต่ก็โชคชะตาทําให้ได้ไปเรียนวิศวะที่ ม.เกษตร ระหว่างเรียนคุณพ่อก็ไปซื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ บอกว่า ‘เดี๋ยวเรียนจบแล้วพ่อจะทําแบบเจ้าใหญ่เจ้าหนึ่ง’ เกือบสอบตก เพราะว่าไม่ตั้งใจเรียน คิดอย่างเดียวว่าจะทํายังไง พ่อบอกให้ทําแบบนี้ พอมาเทียบสเกลเจ้าใหญ่ระดับโลก ฟ้ากับเหว ไปหาความรู้ตอนนั้นความรู้ในอินเทอร์เน็ตยังไม่ค่อยมี ซื้อหนังสือมาเปิดดู POS (Point of Sale) หนังสือที่มีคําว่า POS ซื้อมาอ่านหมด เพราะฟังแล้วไม่รู้เรื่องว่ามันคืออะไร เพิ่งมารู้ตอนหลังก็เครื่องเก็บเงินนี่เอง”
เขามองว่าการที่จะทําอะไรต้องมีแรงบันดาลใจ ซึ่งสมัยก่อนต้องอกสั่นขวัญแขวนว่าเมื่อไหร่เจ้าใหญ่จะมาบุกพื้นที่ รู้สึกเก็บกด เครียด กลัว เกร็ง สมัยนั้นสัก ๓๐ ปีที่แล้ว คุณพ่อบอกว่าจะทําแบบนี้ ให้ไปหาวิธีทํามา ซึ่งทําให้ต้องพูดว่า เอาก็เอา ทําให้เกือบเรียนไม่จบ แต่ก็โชคดีเรียนจบ แล้วมาทํากิจการที่บ้านต่อ แต่รูปแบบสมัยใหม่ เป็นห้างทั่วไปที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อก่อนเวลาลูกค้าต้องการอะไรก็ยื่นกระดาษให้หรือพูด เราก็บอกให้ลูกน้องไปหยิบมาให้ลูกค้า จัดของขึ้นรถให้ไม่มีระบบเซลฟ์เซอร์วิสเหมือนปัจจุบัน แต่ทําไปได้สักพัก ความคิดอาจจะไม่ตรงกัน จึงแยกตัวออกมาทําที่อําเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ใช้แบรนด์ฮกกี่เหมือนเดิม แต่บริหารเองแบบ ๑๐๐% การเงินหรืออะไรก็แยกออกจากกันแบบ ๑๐๐% อาจจะมีทางบ้านให้ยืมมาบ้าง แต่ต้องคืน เมื่อทําธุรกิจที่นางรองได้ ๕-๖ ปี เริ่มขยับขยายมาที่โคราช ตั้งต้นเป็นสยามวิชโก้ จะเป็นโชคดีและโชคร้ายเมื่อเปิดสยามวิชโก้ก็มีอุปสรรคต่างๆ นานา พื้นที่ไม่เพียงพอเพราะว่าทําไปทํามา สต็อกสินค้าเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทําให้มีโกดังใหญ่เท่าไหร่ก็ไม่พอ ซึ่งโอกาสที่มาทําที่โคราชนั้นสถาบันการเงินเป็นผู้ชักชวน เมื่อมาแล้วก็ซื้อที่ดินต่อไปเรื่อยๆ ตอนนี้มี ๗๐ กว่าไร่ คิดว่าเพียงพอในการขยายงาน
“พันเลิศ วิชชาพิณ” กรรมการบริหาร บริษัท สยามวิชโก้ จำกัด ค้าปลีกท้องถิ่นรายใหญ่ “วิชโก้ โฮลเซล”
• ตอบโจทย์ลูกค้า
“พันเลิศ” บอกว่า มุ่งมั่นทําสยามวิชโก้ และมองว่า ในอนาคตคนต้องการความสะดวกมากขึ้นเรื่อยๆ คือต้องการร้านขนาดเล็กที่เปิดใกล้บ้าน จึงใช้คอนเซ็ปต์ที่ว่าคนต้องการความสะดวกยอมจ่ายแพงขึ้นนิดหน่อย ซึ่ง ‘วิชโก้ เอ็กซ์เพรส’ ที่เปิดปัจจุบันก็ใช้คอนเซ็ปต์นี้คือ ‘สะดวก ครบครันใกล้บ้านคุณ’ ตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดี และรู้สึกมีความสุขที่เห็นลูกค้ายิ้มแย้มเดินเข้าไปในร้านใกล้บ้าน ราคาสินค้าจับต้องได้ คําว่าถูกของลูกค้าก็ยังมีกําไรในจุดที่เราพอใจ ตอนนี้มีกว่า ๘๐ สาขาทั่วโคราชแล้ว
• เริ่มจากเปิดร้านกาแฟ
ส่วนธุรกิจ “บ้านขนมคุณภัทรา” นั้น “กฤษณภัทร” เล่าว่า เริ่มต้นช่วงหลังแฮมเบอร์เกอร์ไครซิสประมาณ ๑๑-๑๒ ปี เริ่มจากไม่มีทุน เมื่อก่อนที่บ้านทําการ์เม้นท์แล้วเลิกไป แถมยังมีภาระติดตัว ตอนที่เริ่มทําขนมก็เริ่มจากทําอยู่หลังบ้าน เช่าร้านกาแฟที่อยู่ไกลเมืองมาก คนไปไม่ถึง ก็เลยต้องเอาขนมมาฝากขายตามร้านกาแฟที่อยู่ในเมือง ร้านหนึ่งขายได้วันละ ๕ ห่อ ๑๐ ห่อ ยอดขายดีกว่าการมีร้าน เมื่อครบปีก็เลิกเช่าร้าน หลังจากนั้นก็ ตั้งเป้าว่าจะฝากตามร้านต่างๆ (ในขอนแก่น) สองปีแรกตระเวนส่งทั่วจังหวัด และก็เริ่มไปจังหวัดอื่นในภาคอีสาน เช่น อุดรธานี โคราช มหาสารคาม พอปีที่ ๒-๓ ก็เจอคาเฟ่อเมซอน ซึ่งขายดี ก็เข้าอเมซอนทุกที่ที่ผ่าน ๒๐ กิโลเมตรเจออเมซอนที่หนึ่งก็ต้องเจาะให้ได้ ระหว่างทางจะได้มียอดขาย มีต้นทุน วิ่งไปอุดรฯ ๑๒๐ กม. ระหว่างทางถ้าไม่ได้ส่งขายใครเลยเราก็เสียโอกาส จึงส่งไปเรื่อยๆ เป็นรถล่อง ใช้ระบบ Cash & Carry ยังไม่มี POS และระบบ transaction ของการเงินก็ยังไม่ค่อยมี คือพนักงานใช้ Cash & Carry เลย เดินหิ้วขนมใส่หลังรถ เข้าไปดูหน้าร้านว่าขายได้มั้ย ถ้าขายได้ค่อยเติมขนม พอเติมก็ให้เก็บเงิน ระบบก็เริ่มดีขึ้น ระบบการเงินดีขึ้น ให้เครดิตลูกค้าแต่เป็นการโอน ลูกน้องไม่ค่อยจับเงินสด รั่วไหลน้อยลง ระบบดีขึ้น การเงินดีขึ้น ธุรกิจก็เริ่มโตขึ้น
“กฤษณภัทร (แบงก์) มหาปิติ” กรรมการผู้จัดการ บ้านขนมคุณภัทรา
• ครองตลาดขนม
“ปัจจุบันคือผ่านไปประมาณ ๑๒ ปี เราก็ส่งขายในร้านกาแฟอเมซอน ในร้านคอนวีเนียน เซเว่นทั่งประเทศ ซีเจ โลตัส แม็คโคร เข้าหมด แล้วก็เป็นโออีเอ็มให้อีกสองบริษัทมหาชน ในต่างประเทศปีนี้มีซูเปอร์มาร์เก็ต Circle K ด้วย ตอนนี้หน้าร้านขายปลีกมีอยู่ที่ขอนแก่น ในโคราชประมาณ ๓-๔ สาขา ส่วนใหญ่ขายส่งให้กับบริษัท หรือร้านกาแฟ”
“แบงก์” กฤษณภัทร เล่าอีกว่า เมื่อก่อนเก่งระบบการผลิต เพราะคุณแม่ทําการ์เม้นท์เกือบ ๒๐ ปี ไล่งานเก่งมาก สามารถจัดแผนการผลิต วางไลน์การผลิตได้เลย ส่วนตัวเขานั้นก่อนแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ประมาณ ๒-๓ ปีไปทำงานกับบริษัทเดลต้า ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม้ไม่ได้เรียนไออี แต่ได้ระบบการทํางานของเดลต้า สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิต ทําให้ต้นทุนการผลิตขนมถูกกว่า เป็น Economy of Scale of Speed
• รักความเสี่ยง ชอบความท้าทาย
จากนั้นผู้ดำเนินรายการให้ ๓ นักธุรกิจบอกเล่าประสบการณ์ทางธุรกิจ มีความล้มเหลวบาดเจ็บ หรือท้าทายอย่างไรบ้าง เริ่มจาก “พันเลิศ วิชชาพิณ” แห่งสยามวิชโก้ ค้าปลีกรายใหญ่ที่ขยายไม่หยุดในทุกวันนี้ โดยเขาบอกว่า
“ถ้าเรื่องบาดเจ็บต้องบอกว่าเยอะ คิดว่าตัวเองเป็นคนรักความเสี่ยง ชอบความท้าทาย เวลาทําอะไรจะยังไม่ถึงขั้นพร้อม แต่ก็มั่นใจว่าเราเตรียมตัวอยู่ตลอดเวลา คืออยู่ด้วยความไม่ประมาท เป็นคนใช้เงินไม่ค่อยเก่ง บางทีเดินๆ ดูก็ไม่รู้ว่าอยากได้อะไร เวลาทําอะไรที่ท้าทายหรือเสี่ยง บางครั้งก็ไม่ได้ดั่งใจหรือดั่งที่คิด เคยทําร้านบิวตี้คอสเมติกส์ ตอนนั้นเห็นคนอื่นทําแล้วดี เราก็คิดว่าภริยาของเราเรื่องคอสเมติกส์ไม่แพ้ใคร จึงคิดว่าทําร้านสวยๆ ขึ้นมาเดี๋ยวภริยาจัดการเอง แต่พอมาเปิดร้าน เราทําสเกลที่อัปสเกลขึ้นแบบ ๔-๕ เท่าจากเมื่อก่อน ปรากฏว่างานยุ่งมากจนภริยาบอกว่าไม่มีเวลาทํา ก็เลยใช้ลูกน้องทํา ขาดทุนไปเยอะ ปัจจุบันยังโดนภริยาบ่นอยู่ไม่รู้จบ แต่ก็เป็นประสบการณ์หรือเป็นบทเรียนหนึ่ง ซึ่งผมไม่ได้คิดว่าทํา ๑๐๐ ต้องได้ ๑๐๐ หรือทํา ๑๐ ต้องได้ ๑๐ ผมทํา ๑๐ ได้สัก ๖ หรือ ๗ ก็โอเค และอาจจะพลาดไปบ้าง ๓-๔ ตัว ถ้านับจริงๆ อาจจะพลาดแค่ ๑๐% หรือ ๒๐% เท่านั้น ประมาณ ๘๐% ก็สำเร็จ เพราะฉะนั้นการที่จะทําอะไรก็แล้วแต่ ถ้าอยากก้าวหน้าหรือก้าวกระโดดขึ้น บางครั้งเราต้องยอมเจ็บตัว”
• การแข่งขันเข้มข้น
“พันเลิศ” บอกว่า วิชโก้เปิดมาถึงวันนี้ก็ประมาณ ๖ ปีกว่า ก่อนหน้านี้เราอยู่เมืองเล็ก อยู่นางรอง พิมาย เราไม่รู้เลยว่าการแข่งขันโหดร้ายขนาดนี้ นึกว่าโลกนี้สวยงาม ยักษ์ใหญ่จะไม่มายุ่ง แต่พอมาแข่งจริงๆ โหดร้ายมาก ไม่เคยคิดว่าเราซื้อของซัพพลายเออร์ๆ บอกว่า ไม่ขายให้เพราะจุดจุดจุด คิดว่าเราเป็นผู้ซื้อ คนต้องมาง้อให้เราซื้อ พอมาถึงสนามใหญ่ มันไม่ใช่ บางครั้งกลายเป็นว่าเราก็ซื้อของเขาไม่ได้หลายตัว แต่ก็เป็นส่วนน้อย เพราะว่าซัพพลายเออร์ส่วนใหญ่ น่ารัก บริหารพอร์ตให้กระจายความบาลานซ์ แต่จุดส่วนน้อยก็เป็นจุดแตกต่างซึ่งทําให้เราต้องดิ้นรนหรือต้องไปหาซัพพลายเออร์เจ้าใหม่ ซึ่งเขาอาจจะเป็นเบอร์ ๒-๓ ก็ช่วยกันพัฒนาขึ้นมาให้คุณภาพและราคาของเขาสู้กับซัพพลายเออร์ เบอร์ ๑ ได้ในท้องตลาด หรือแม้แต่เมื่อมาทําสาขาเล็ก (วิชโก้ เอ็กซ์เพรส) เราก็ไม่เคยคิดเลยว่ายักษ์ใหญ่จะมาสนใจเรา แต่พอมาลงสนามจริงๆ ปรากฏว่าการแข่งขันมันเข้มข้น แต่ด้วยประสบการณ์ด้านค้าปลีกค้าส่งมาเกือบ ๓๐ ปี ก็พอเอาตัวรอดได้ ทําให้รู้ว่าการแข่งขันในสนามใหญ่มีอะไรมากกว่าที่เราคิด ถือเป็นบทเรียนหรือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ต้องขอบคุณที่มีประสบการณ์แบบนี้เข้ามา จริงๆ ประสบการณ์พวกนี้ทําให้หลายๆ ธุรกิจ รวมทั้งสยามวิชโก้แข็งแกร่ง และเติบโตขึ้น พอคู่แข่งเก่งตลาดแข็งแรง ถ้าเราทําได้ เราทําถึง เราก็เก่งขึ้น เราก็อัปเกรดตัวเองขึ้น เพราะฉะนั้นความล้มเหลวที่ประสบพบเจอมาบ้าง โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี คนเราถ้าจะประสบความสําเร็จทุกๆ เรื่องชีวิตอาจจะมีความสุขน้อยเกินไปหรือเปล่า ก็ต้องสําเร็จบ้างเฟลบ้าง เป็นเรื่องที่ดี
“สุดที่รัก (ฮั่น) พันธ์สายเชื้อ” กรรมการบริหาร บริษัท คลังคาซ่า จำกัด ผู้ปลุกปั้น “ซิตี้ลิงค์”
• มองไม่รอบด้าน
ทางด้าน “สุดที่รัก” ที่บอกว่าเคยล้มเหลวกับบางธุรกิจ เขาเล่าว่า “เป็นช่วงเวลาที่แต่งงานได้ประมาณ ๕-๖ ปี แล้วก็เริ่มทําธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์มือสอง เรียกว่าสนับสนุนสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ซื้อรถแล้วเงินไม่พอ ให้ลูกค้าผ่อนกับเราเป็นรายงวด ซึ่งครอบครัวทําธุรกิจนี้อยู่แล้ว ช่วงเวลานั้นรู้สึกว่าบุกตลาดได้ดีมาก มีลูกค้าเยอะตลอด ๖-๘ เดือน แต่เก็บเงินไม่ได้เลย เงินก็หมด ไปไม่เป็น ทานข้าวไม่ลง นอนไม่หลับ นั่งบ่นกับภริยาว่าจะทํายังไง ตอนนั้นมีลูกแล้ว ๑ คน รู้สึกว่าเป็นภาระที่หนักมาก แต่ก็ด้วยการมีครอบครัวที่ดี ภริยาไม่เคยทอดทิ้ง และพี่ชายซึ่งทําธุรกิจนี้อยู่แล้วก็บอกว่า ‘ไม่เป็นไรเดี๋ยวเฮียรับมาทําเอง’ เขารับพอร์ตที่เราปล่อยเช่าซื้อไปทั้งหมด เอากลับไปทําให้ เหมือนยกภูเขาออกจากอก หลังจากที่ทําพลาด เป็นบทเรียนสําคัญมากเพราะว่าระหว่างที่ทําเริ่มให้สินเชื่อ คุณพ่อก็เตือนเสมอ ให้ระวัง ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ เราว่าเราระวังพอแล้ว ก็บุกลุยเต็มที่ แต่ปรากฏว่า จริงๆ แล้วไม่พอ หลังจากที่ขายพอร์ตต่อให้พี่ชายแล้ว จากนั้น ๔ ปี พี่ชายกลับมาคุยด้วยบอกว่า ‘พอร์ตที่ฮั่นทําเอาไว้มันดีมาก’ สรุปคือผมเห็นไซเคิลของธุรกิจ ไม่ครบรอบ เห็นด้านหนึ่งแล้วอีกด้านยังทําไม่เป็น ไม่มีประสบการณ์ เร่งตัวมากเกินไป ทําให้ธุรกิจล้มเหลว คิดว่าตัวเองทําที่บ้านเสียหายเยอะ”
“หลังจากที่จบธุรกิจนี้ ตอนที่เริ่มทําอสังหาฯ คิดว่าตัวเองเป็นคนที่สังเกตตลอดเวลา เรื่องเล็กๆ น้อยๆ และเป็นคนชอบเข้าไปคุยกับหลายคนเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำให้รู้ว่าสภาวะตลาดเป็นอย่างไร ค้าปลีกค้าส่ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เป็นอย่างไร” สุดที่รัก กล่าว
• อย่าคว้าไว้ทุกโอกาส
ส่วนเรื่องโอกาสทางธุรกิจนั้น “สุดที่รัก” บอกว่า มีแฟคเตอร์อยู่ ๓-๔ ตัวที่สะท้อนให้เราเห็นโอกาสได้ง่ายขึ้น เพราะว่าก่อนที่เห็นโอกาสเราก็ต้องไปมองดูเรื่องความไม่แน่นอนของความเสี่ยง ถ้าเรามองเห็นก็จะรู้ตัวว่าเราจะบริหารยังไง เรื่องที่สองการแข่งขันทางการตลาด เวลาคู่แข่งเข้ามา เราก็ต้องดูว่าคู่แข่งสามารถก็อปปี้เราได้ง่ายๆ มั้ย ถ้าได้ง่ายๆ สุดท้ายแล้วสินค้าหรืออะไรก็ตามที่เราทํา อาจจะไม่ได้เติบโตอย่างยั่งยืน เรื่องที่สาม เงินทุน เรามีมากน้อยแค่ไหน แล้วก็เรื่องการปรับเปลี่ยน adapt to change ปรับเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ เรื่องสุดท้ายเราต้อง stay innovative เสมอ คือจะต้องมองเห็นการพัฒนาตัวเองด้านใหม่ๆ อยู่เสมอ ถ้าเรามองเห็นครบทั้ง ๓-๔ ตัวนี้แล้ว โอกาสก็จะวิ่งมาเอง เราจะเริ่มเห็นโอกาส บนถนนมีโอกาสอยู่ทั่วไปหมด ผมเป็นคนที่โชคดีที่มองเห็นโอกาสอยู่เต็มไปหมด แต่ว่าจะต้องเลือกให้ดี ไม่ใช่ว่าจะเอาทุกโอกาส พอพิจารณาเรื่องพวกนี้เสร็จเรียบร้อย ก็มาดูว่าโอกาสนี้ใช้ได้มั้ย ถ้าใช้ได้สเต็ปต่อไปเราก็ต้องดูอีกว่า เป็น Red หรือ Blue แล้วเมื่อไหร่ที่เป็น Red หรือ Blue พอเราตัดสินใจได้แล้วก็คิดต่อว่าแล้วมีโอกาสเป็น Deep Blue ได้มั้ย (เป็นโอกาสที่คนอื่นมองไม่เห็น) ถ้าเราเห็น Deep Blue ได้ หมายความว่า สิ่งที่คนจะไล่ตามจะยากขึ้น”
• ต้องพัฒนาไม่หยุด
ในขณะที่ “แบงก์” แห่งบ้านขนมคุณภัทรา บอกว่า “ธุรกิจค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าเริ่มต้นจากไม่มีเงินทุน ต้นทุนน้อยมาก ก่อนหน้านั้นเรามีประสบการณ์ของที่บ้านเป็นบทเรียน ผมไม่ใช้เงินกู้เลย มีเท่าไหร่ค่อยเติมเอา ค่อยๆ สร้าง เพราะว่าวันหยุดหรือวันอะไรดอกเบี้ยก็โตตาม ก็เลยทําไปสะสมเงินไป ขยายการตลาด ไปหาลูกค้าด้วยตัวเอง เมื่อก่อนยังไม่เป็นระบบ ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดอยู่ในปั๊ม ปตท. เราขยันออกไปหาลูกค้า ลูกค้าให้โอกาสเรา เราก็ได้ขาย เพราะฉะนั้นเราก็จะได้เพิ่มอีกหนึ่งสาขา ยอดขายเราก็เพิ่มขึ้น สมัยนี้มันอาจจะเป็นอีกระบบหนึ่ง ปัจจุบันบ้านขนมคุณภัทราส่งถึงสามจังหวัดภาคใต้ มีศูนย์กระจายสินค้าอยู่ที่สุราษฎร์ธานี ผลิตที่ขอนแก่น ๖ โมงเย็นวิ่ง ๑๒ ชั่วโมงไปถึงสุราษฎร์ ก็สามารถส่งขนมที่สดใหม่ให้กับลูกค้าได้ทั่วประเทศ แม่สายเชียงรายก็ส่งได้ ผู้บริหารร้านค้าให้โอกาสเรา ตอนนี้มีแผนก R&D เมื่อลูกค้าอยากได้ขนมอะไร เราสามารถแกะสูตรทําตัวอย่างให้ เพื่อให้ทันซีซั่นมาร์เก็ตติ้ง เราทำได้ไว โอกาสก็เข้ามา”
แต่ “แบงก์” บอกว่า ข้อจํากัดของขนมสด แช่เย็นก็คืออายุ เมื่อก่อนขนมบัวหิมะอยู่ได้แค่ ๕-๖ วันก็เสียเพราะใช้แป้งสด จึงไปเดินตามงานแฟร์ต่างๆ เช่น Food Tech หรือ Thai Fex ดูเทคโนโลยีการผลิต การถนอมอาหาร แพคเกจจิ้ง ซึ่งทําให้ได้เรียนรู้ พัฒนามาเรื่อยๆ และเป็นเช่นทุกวันนี้ ปัจจุบันมีสาขาใหญ่อยู่ที่อําเภอสีคิ้ว และที่อำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น โดยที่สีคิ้วเปิดได้ประมาณ ๗-๘ ปี ตอนนี้ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากการเปิดให้ใช้ M6 ฟรี ลูกค้าคนเดินทาง จึงเลือกที่จะขึ้น M6 เป็นส่วนใหญ่ ต้องดูว่าเมื่อไหร่ที่มีการเปิดใช้ M6 เต็มระบบและมีการเก็บเงินแล้วจะเป็นอย่างไร
อาณาจักรซิตี้ลิงค์
• คิดบวกอย่าคิดลบ
สุดท้ายมาฟังกันว่า “หัวใจแห่งความสำเร็จ” ของทั้ง ๓ นักธุรกิจคืออะไร เริ่มจาก “สุดที่รัก” แห่งซิตี้ลิงค์ ที่บอกว่า “ต้องมี Positive Mindset มีความคิดบวกอยู่เสมอ ถ้าคิดลบแล้วมันคิดไม่ออก ติดๆ ขัดๆ เต็มไปหมด แล้วเราต้องมองหา Opportunity ตลอดเวลา และเห็นด้วยที่ว่า ดอกเบี้ยไม่เคยรอใคร ช่วงโควิดก็มีประสบการณ์เรื่องดอกเบี้ยไม่รอใครเหมือนกัน หัวใจสําคัญ อย่างแรกคือ ต้องมีมุมมองที่เป็นเชิงบวกให้กับ สิ่งที่เราเห็น พอเรามองบวกจะเริ่มเห็นโอกาส พอเห็นโอกาสก็ค่อยๆ พิจารณาว่าโอกาสนี้เหมาะกับเรามั้ย อย่ากระโจนหาทุกโอกาสที่ตรงเข้ามาหา อาจจะเปลี่ยนเป็นวิกฤตได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นต้องศึกษาให้ดี Deep Listening คือฟังอย่างลึกซึ้ง ตอนที่ทําซิตี้ลิงค์ ก็พยายามฟังว่า Stakeholders ของเราหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มผลประโยชน์ที่จะได้รับของเรามีใครบ้าง อันดับแรกเลย Stakeholders ของเราต้องมีลูกค้า ลูกค้าที่เข้ามาซื้อคอนโด ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในซิตี้ลิงค์ พอลูกค้าที่ซื้อคอนโดไป เราก็คุยกับเขาว่าแล้วอะไรที่ทําให้คุณรู้สึกว่าทําเลดี แต่ในมุมลูกค้าคําว่าทําเลดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น ใช้ชีวิตสะดวกสบาย มีทางเข้าออกเยอะ เพราะฉะนั้นเมื่อลูกค้าบอกว่าอยากได้ทําเลที่ดี จริงๆ แล้ว ซิตี้ลิงค์เป็นโครงการที่ต้องเข้ามาในซอย เข้ามาในถนนมานะศิลป์ซึ่งตรงมาจากถนนมิตรภาพประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ เมตร เราก็เริ่มเห็นโอกาสจากการฟังจากลูกค้า ประกอบกับสถานการณ์บีบบังคับเป็นช่วงโควิดพอดี เพราะช่วงโควิดเปิดพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ค้าที่ ณ เวลานั้นตลาดปิดทุกที่ ไปขายที่ไหนก็ไม่ได้ เราก็เปิดพื้นที่ให้เข้ามาขาย เราก็เริ่มเห็นโอกาสแล้ว ตรงนี้คนก็ยังเข้ามาขายของได้ แล้วก็มีไฟลนก้นนิดๆ ดอกเบี้ยไม่เคยรอใคร ช่วงโควิดมันก็เดินไม่หยุด เราก็ดูว่าถ้าอย่างนั้นเราน่าจะต้องทําร้านค้า สร้างร้านอาหารขึ้นมา พอเริ่มทําร้านอาหารมีร้านที่หนึ่ง ร้านที่สองร้านที่สามร้านอาหารก็กลายเป็น Stakeholders ของเราอีกเช่นกัน พยายามจัดแต่ละร้านไม่ให้มีสินค้าที่ Overlap กันมากเกินไป อาจจะมีทับกันบ้าง ๒๐-๓๐% เป็นเรื่องธรรมดา แต่พยายามเลือกให้สินค้าไม่เหมือนกัน เพื่อความหลากหลายให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการหรืออยู่ที่ในคอนโด และเพื่อ Stakeholders ที่เป็นร้านค้าของเราเองด้วย เพื่อที่จะให้ Stakeholders ของเรามีความสุขไปกับเราด้วย
• ทีมเวิร์คที่ดี
“นอกจากมี Positive Thinking และมองหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา ความตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง สุดท้ายที่เป็นหัวใจคือ จะต้องมีทีมเวิร์คที่ดี ทีมงานมีส่วนช่วยให้จากงานหนักเป็นงานเบา ช่วยให้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่บางครั้งเรามองข้ามไป เขาสามารถเก็บรายละเอียดให้ดีขึ้นได้ ที่สําคัญ การทํางานเป็นทีมเวิร์ค เราต้องไว้ใจ ไม่ใช่ว่าสั่งอะไรไปแล้วต้องติดตามทุกอย่างอย่างใกล้ชิด ชนิดหายใจรดต้นคอ ทีมงานไม่สบายตัว เราก็ต้องปล่อยพื้นที่ให้เขาสามารถทํางานได้เต็มที่ ถ้าหากเรา allocate ให้ทีมงานได้แล้ว เชื่อว่าการทํางานร่วมกันเป็นทีม มี Creativity ของแต่ละคน ทีมงานของผมเคยนำเสนอบางอย่างที่ผมก็มองไม่เห็น พอเขานําเสนอมาเราก็เอ๊ะ...คิดได้ยังไง แล้วเราก็ลองทําดูปรากฏว่าประสบความสําเร็จมาก เพราะว่าเขาอยู่กับงานตรงนั้นตลอดเวลา แล้วก็มองเห็นว่าเป็นโอกาสแบบมโหฬาร แต่เวลามีคนนําเสนอโอกาสให้เรา ดูให้ดีว่าเป็นโอกาสมั้ย และอย่าพลิกโอกาสเป็นวิกฤตเป็นใช้ได้ ย้ำว่าหัวใจสําคัญคือ Positive Thinking และ Seek Opportunity ตลอดเวลา รวมทั้ง Deep Listening และสุดท้ายขอให้มีทีมเวิร์คที่ดี นี่คือความสําเร็จของซิตี้ลิงค์” สุดที่รัก กล่าวทิ้งท้าย
• เรียนรู้ตลอดเวลา
ด้าน “กฤษณภัทร” บอกว่า “ธุรกิจขนมเป็นธุรกิจที่ Easy to Entrance คือใครมีเตาอบมีเครื่องตีแป้งก็สามารถทําธุรกิจขนมได้แล้ว เข้าง่าย แต่ผมมองหลายๆ คนที่ทําคือเรื่องตลาด หาที่จําหน่ายไม่ได้ การสร้างแบรนด์ก็มีต้นทุน ต้องใช้ระยะเวลา ส่วนตัวผมถือคติพจน์ประจำใจตัวเองเป็นประโยคคลาสสิกคือ ‘ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน แล้วก็เรียนรู้ตลอดเวลา’..”
• ครอบครัวทำให้สำเร็จ
ในขณะที่ “พันเลิศ วิชชาพิณ” ผู้ครองตลาดค้าปลีกในท้องถิ่นขณะนี้บอกว่า “ถ้าจะกลั่นกรองว่าความสําเร็จของผมคืออะไร ความสําเร็จมีหลายแง่มุม ทั้งด้านธุรกิจ ด้านครอบครัว หรือด้านสังคม สําหรับผมมองว่า เติบโตมาในธุรกิจที่การแข่งขันสูง เข้มข้น หัวใจของความสําเร็จของผมคือโชคชะตา การที่ธุรกิจหรือครอบครัวของผมเติบโตมาส่วนใหญ่ผมคาดหวังไม่เยอะ อย่างลูกๆ วันนี้มาทั้งสามคน อาจจะดีมากบ้างดีน้อยบ้าง แต่ผมคิดบวก อย่างน้อยปีนี้ก็ดีกว่าปีที่แล้ว พฤติกรรมดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนภริยาปีนี้ก็ดุน้อยกว่าปีที่แล้ว ผมก็พอใจแล้ว จริงๆ พื้นฐานครอบครัวเป็นส่วนสําคัญมาก ที่จะทําให้เราประกอบธุรกิจได้ประสบความสําเร็จ คือถ้ามีครอบครัวที่เกื้อหนุน ครอบครัวที่เข้าใจ ครอบครัวที่ซัพพอร์ต ถึงแม้ช่วงต้นๆ ที่ผมบอกว่าอาจจะมีความขัดแย้งกันบ้าง แต่ข้างในเนื้อแท้พร้อมซัพพอร์ตแบบล้านเปอร์เซ็นต์ การที่เรารู้ว่ามีคนพร้อมจะซัพพอร์ตเราแบบล้านเปอร์เซ็นต์ ทําให้ ไม่ว่ามีปัญหาอะไรเข้ามา ไม่ว่าจะมีโอกาสอะไรเข้ามาเราก็พร้อมที่จะแก้หรือที่จะคว้าไว้ได้”
• ทีมงานคือหัวใจ
“ถ้าเป็นหลักวิชาการ หัวใจของความสําเร็จของสยามวิชโก้ คือทีมงาน เมื่อก่อนผมอยู่นางรอง ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคล้ายๆ ปะการัง นานๆ กว่าจะ มีลูกน้องเก่งๆ หรือทีมงานเก่งๆ เข้ามา ก็โชคดีที่มีลูกแล้วเลยมองหาลู่ทางช่องทางการเรียนของลูก ก็คิดว่าน่าจะต้องมาเรียนที่เมืองใหญ่คือเมืองโคราช เริ่มแรกหาที่เรียนให้ลูกก่อน พอหาที่เรียนให้ลูกปุ๊บเหมือนกับโชคชะตาทํางาน คือดวงอะไรเข้ามาและอยู่ดีๆ ธนาคารก็เดินเข้ามาบอกว่าอยากมาอยู่โคราชมั้ย พอมีคนถามมานิด ก็อยาก เขาก็จะซัพพอร์ตทางด้านการเงินให้หลายท่านเคยมาถามว่า ทํายังไงให้ธนาคารอยากซัพพอร์ต อยากเดินเข้ามาคุยกับเรา แล้วก็อยากเสนอเรื่องดีๆ ให้ สถาบันการเงินมีหน้าที่ในการหาลูกค้าที่ดีให้กับธนาคาร ถ้าเรามีพฤติกรรมที่ดี มีบุคลิกหรือคาแรกเตอร์ที่ดี ง่ายๆ คือปล่อยเงินกู้ไว้ให้คนนี้น่าจะไม่เบี้ยว น่าจะจ่ายครบทั้งต้นทั้งดอก ถ้าเรามีบุคลิกประมาณนี้ รวมกับธุรกิจของเรา เขาก็มาเยี่ยมเรื่อยๆ ว่าธุรกิจของเราเป็นยังไง ไปคุยกับพนักงาน ไปคุยกับลูกค้าเรา เขาก็จะมาเซอร์เวย์ก่อนว่าธุรกิจนี้แข็งแรงแค่ไหน พอเรามีความพร้อม ซึ่งเราไม่ได้ทําเพื่อให้ได้เงินกู้ เราทําเพื่อให้ธุรกิจของเราดี โอกาสดีๆ เช่น ส่วนใหญ่เวลาผมขยายงานจะมีธนาคารเดินเข้ามาหาแล้วมาคุยแล้วก็เสนอว่าอยากให้ช่วยอะไร อยากกู้เงินไหม พูดแบบภาษาชาวบ้าน ซึ่งบางครั้งก็ปล่อยโอกาสไปบ้างเพราะตอนนั้นอาจจะยังไม่พร้อม แต่ส่วนใหญ่ก็จะคว้าโอกาสเอาไว้ พอได้เงินทุนเข้ามา การขยายงานก็ขยายขึ้นเป็น Double Triple ขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นหัวใจที่สําหรับผม ถ้าจะบอกว่าหัวใจที่ผมทําให้ก้าวหน้าแบบค่อนข้างดีสําหรับในธุรกิจท้องถิ่น ถ้าไปเทียบกับในระดับประเทศหรือระดับโลกอาจจะเล็กน้อย แต่ถ้าเทียบกับท้องถิ่นด้วยกันก็ถือว่า สยามวิชโก้เติบโตได้ดี”
• คนคือหัวใจความสำเร็จของธุรกิจ
“พันเลิศ” ย้ำให้ทีมงานได้ชื่นใจอีกว่า “ผมมองว่าเรื่องบุคคลเรื่องคน เมื่อสยามวิชโก้มาอยู่ที่โคราช มีพนักงานหรือทีมงานที่มีคุณภาพค่อนข้างสูงในปริมาณมากเข้ามาร่วมงาน ทําให้เวลาผู้บริหารคิดอะไรปุ๊บก็มีมือมีไม้ มีแขนมีขาไปทําต่อให้ได้อย่างที่เราคิด เพราะฉะนั้นถ้าให้สรุปในแง่ธุรกิจ คนคือหัวใจของความสําเร็จขององค์กรของผม”
• ทีมข่าวโคราชคนอีสาน
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๒๗๖๘ วันที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม - วันที่ ๑๔ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๖๗
421 1,817