September 09,2024
‘กอล์ฟ’ มารุต ชุ่มขุนทด ท้าชิงบ้านใหญ่โรงแป้ง สนามเลือกตั้ง‘นายก อบจ.’
เปิดเวทีแรก ๓๖๐ องศา ประกาศตัวลงชิงนายก อบจ.โคราช ในนามอิสระ สร้างความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณ สร้างโอกาสและความเท่าเทียม หลังลุยลงพื้นที่ ๓๒ อำเภอ ย้ำ “โคราชต้องมาก่อน” ในขณะที่บ้านใหญ่โรงแป้งยืนหยัดลงสมัครรักษาเก้าอี้อีกสมัย
เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๘.๐๐ น. นายมารุต ชุ่มขุนทด หรือ “กอล์ฟ” เจ้าของธุรกิจร้านกาแฟหลายสาขา “คลาส คาเฟ่” จัดเวทีเป็นครั้งแรกบริเวณลานข้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) หลังประกาศตัวลงชิงเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (นายก อบจ.นครราชสีมา) ซึ่งจะหมดวาระในปลายปีนี้ และที่ผ่านมาได้เดินสายลงพื้นที่ต่างๆ ทั้ง ๓๒ อำเภอในจังหวัดนครราชสีมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา ๑ ปี แม้จะเคยสมัครเป็นสมาชิกแบบตลอดชีพพรรคก้าวไกล แต่พรรคก็ไม่ได้ส่งลงสมัครในนามพรรค จึงเป็นการลงสมัครในนามอิสระ โดยในวันนี้เป็นการจัดเวทีแบบ ๓๖๐ องศา มีกลุ่มและบุคคลจากพื้นที่ต่างๆ ซึ่งนายมารุตเคยไปพบปะช่วงลงพื้นที่มาขึ้นเวทีนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มนั้นๆ ด้วย ท่ามกลางผู้มาร่วมรับฟังและให้กำลังใจกว่า ๒๐๐ คน โดยนายมารุตขึ้นเวทีปราศรัยบอกเล่าเรื่องราวระหว่างการลงพื้นที่ต่างๆ ใน ๓๒ อำเภอของจังหวัดนครราชสีมาในชื่อโครงการ “ฟังเสียงโคราช” ที่มีการลงพื้นที่ไปกว่า ๑๘๐ ตำบลแล้ว
“ทําไมต้องเดินทางไปกันขนาดนี้ ผมเป็นคนที่มาทําการเมืองด้วยความที่ไม่ชอบนักการเมือง แต่เมื่อจะเป็นนักการเมืองก็ไม่อยากได้คนพูดเก่ง อยากได้คนฟังเก่ง ทําไมเราเลือกคนมาทีไร ทุกคนต้องมาสั่งเรา และน้องๆ ที่มายืนพูดบนเวทีเป็นคนเก่ง ฉลาด ผมเชื่อในพลังโคราชสุดหัวใจ จึงเริ่มออกเดินทางไม่ได้ไปสั่งแต่ไม่ฟัง และโคราชมีศักยภาพมากแต่ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น นั่นคือสิ่งที่ผมตั้งคําถาม ลูกผมอายุ ๗ เดือน แต่ทำไมซื้อนมแพงมากทั้งที่โคราชเป็นแหล่งผลิตนม เกิดอะไรขึ้นกับเมืองๆ นี้ที่มีทุกอย่างเต็มไปหมด ไม่ได้ขาดอะไรเลย ไม่ได้ขาดความรู้ ไม่ได้ขาดคนเก่งๆ แต่สิ่งที่ขาดคือโอกาส หน้าที่ของคนที่จะมายืนตรงนี้ ไม่ใช่มาสั่ง แต่มาฟัง แล้วสร้างโอกาสให้ออกไปยืนในระดับโลกให้สําเร็จ เช่นน้องเซลล์ไร่คืนรังที่เปิดเวทีให้ผมฟังคนแรก ได้รางวัลจาก UN เต็มไปหมด ทั่วโลกให้การยอมรับ แต่สิ่งที่โคราชไม่มีให้คืออะไร”
นายมารุตปราศรัยต่อไปว่า “โคราชมีงบประมาณถึง ๑๖,๐๐๐ ล้านในสมัยของนายก อบจ.คนหนึ่ง แล้วทําไมถึงไม่มีเงินที่จะไปอุดหนุนสตาร์ทอัพ เพราะการเมืองไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด ทําไมจะไม่มีเงินสักพันล้านไปอุดหนุนสตาร์ทอัพให้ออกไปอยู่ในระดับโลกได้ ขาดโอกาสไปหมด ทําไมเมืองจักรยานในโคราชจึงทําไม่ได้ โคราชรวยมาก แต่ไปไหนหมด นั่นคือสิ่งที่ผมตั้งคําถาม สิ่งที่ผมโกรธมากคือสิ่งเหล่านี้หายไปไหนหมด แต่ละปีมีนักศึกษาจบใหม่หมื่นคนเป็นอย่างน้อย ถ้า ๑๐% ของนักศึกษาที่จบใหม่ ใน ๑,๐๐๐ คนเปิดบริษัทใหม่เกิดขึ้น ๑,๐๐๐ บริษัท แล้วถ้ามีสัก ๑๐% คือ ๑๐๐ บริษัททําสําเร็จ มูลค่าบริษัทสตาร์ทอัพ ๑ บริษัทคือพันล้าน เราจะมีเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้าได้ทันที นี่คือ New S-Curve ของเมืองโคราช จะมีใครสักคนไหมที่เดินไปบอกว่า เทสล่าน่าจะมาตั้งโรงงานที่เมืองไทย ต้องมาตั้งที่โคราช จะมีใครสักคนที่เดินไปบอกคนประเทศอื่นว่ามาตั้งโรงงาน EV ที่โคราช ทำฮาร์ดดิสก์ส่งออกให้คนทั้งโลก ทําไมจะทําไมโครชิพที่นี่ไม่ได้ เราทะเยอทะยานพอไหม เรากล้าคิดมั้ยว่า ควอนตั้มเทคโนโลยีที่ผมไปร่วมกับนักวิจัยเก่งๆ ที่มทส.เกิดขึ้นที่บ้านเราได้ นั่นคือสิ่งที่พวกเราต้องร่วมมือกัน สิ่งที่พวกเราต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ลองคิดดูถ้างบประมาณทั้งหมดถูกทําอย่างโปร่งใส คนรุ่นใหม่จะมีโอกาสได้เงินจากภาครัฐเข้าไปเติมในบริษัทสตาร์ทอัพที่ทําขึ้นมา หน้าที่ของพวกเราคือเอาภาษีกลับคืนไปสร้างโอกาสให้กับน้องๆ ทั้งหมดในวันนี้ เปิดทุกอย่างให้โปร่งใส วันนี้สิ่งที่เจอคือความไม่โปร่งใสเต็มไปหมด สิ่งที่พวกเรานั่งคุยกันสิ่งแรกที่ผมต้องทําคือเปิดทุกอย่างออกมาให้หมด ให้ทุกตําบลให้ทุกหมู่บ้านได้รู้ว่างบประมาณมีเท่าไหร่ ให้เขารู้ว่าสิทธิของตัวเองมีอะไร การที่นักการเมืองมาบอกว่า เป็นคนเอางบประมาณมาให้ โกหกทั้งนั้น เพราะเป็นเงินของประชาชนทั้งหมด นี่คือสิ่งที่ผมโกรธมาก แล้วอยากจะบอกว่าถ้าเราเปลี่ยนเรื่องพวกนี้กลับมาสร้างโอกาสให้มหาศาลเกิดขึ้น บริษัทใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ปีหนึ่งเป็นร้อยบริษัทพันบริษัท มูลค่าพันล้านขึ้นมา โคราชจะอยู่แบบนี้หรือ?”
“พวกเราต้องช่วยกันเปลี่ยน มารุตคนเดียวทําไม่ได้ ผมไปทุกพื้นที่ อยากให้ทุกคนออกมาช่วยกัน คนละไม้คนละมือ ช่วยกันเติมความฝัน เราเห็นน้องนนท์ขับเคลื่อนเมืองแบบที่พวกเราไม่เคยเห็นมาก่อน จัดงาน ‘คลังแสง’ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือความหวัง และความฝัน ทําไมเราไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้ที่โคราช เดินไปทุกที่ เห็นคนต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะแล้วเจ็บปวด ทั้งที่การเอาขยะมาแปรเป็นพลังงานเป็นเรื่องดี ผมตามไปดูสิ่งที่เขาทํากับคนขามสะแกแสง สิ่งแรกที่ได้กลิ่นคือเผายาง มีการบิดเบือนกระบวนการจนกลายเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดกับชาวบ้านทั้งหมด”
นายมารุตบอกว่า เรื่องการศึกษาโรงเรียน ๕๘ แห่ง ต้องให้เข้าถึงเอไอเทคโนโลยีทั้งหมดแล้วเปลี่ยนเมืองให้ได้ ในขณะที่ รพ.สต.ที่โอนถ่ายมาสู่ อบจ. ๑๘๒ แห่ง สิ่งที่เจอไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ ไม่มียา ไม่มีหมอ ผอ.รพ.สต.บอกว่าไม่มีน้ำเกลือ แล้วระบบสาธารณสุขจะเดินไปแบบไหน ระบบเทคโนโลยีรุ่นใหม่จะต้องเข้ามาช่วยเรื่องพวกนี้ ระบบเอไอต่างๆ ที่เราเตรียมไว้จะต้องมาเปลี่ยนเรื่องพวกนี้ทั้งหมด
“การจัดเวที ๓๖๐ องศาวันนี้สร้างความเท่าเทียมให้กับทุกคน ฟังเสียงโคราชที่ผมลงพื้นที่ไม่ใช่โปรเจ็กต์ปกติ ไม่ได้เลือกไปในที่ที่มีเสียงดัง แต่เลือกที่จะเดินไปฟังเสียงที่เราไม่ได้ยิน เสียงแผ่วเบาที่สุด เช่นที่อำเภอเทพารักษ์เป็นโปรเจ็กต์ที่ภูมิใจมาก พวกเราไม่มีอํานาจรัฐ คนเทพารักษ์อยู่กับไฟดับมา ๑๗ ปี วันละชั่วโมง เศรษฐกิจจะเดินไปทางไหน แต่สิ่งที่ปวดใจมากที่สุดคือไฟดับวันละ ๑-๒ ชั่วโมง ทําให้เครื่องออกซิเจนของผู้ป่วยติดเตียงดับลง ไฟดับกลายเป็นปัญหาที่คร่าชีวิตคนเทพารักษ์ หากมองด้านเศรษฐกิจจะมีโรงงานไหนอยากไปเปิดที่เทพารักษ์ถ้าไฟดับแบบนี้ เรารวมพลังกันนั่งคุย จนวันนี้การไฟฟ้านำไปสู่การแก้ปัญหา เมื่อ ๑๗ ปีที่แล้วทําไมเทพารักษ์ไฟดีกว่านี้ เพราะใช้ไฟฟ้าจากชัยภูมิ ไม่ได้ใช้ไฟจากสีคิ้ว อยู่ๆ ก็เปลี่ยนไฟจากชัยภูมิไปสีคิ้ว คนเทพารักษ์จึงมืดสนิท เราต้องการงบประมาณที่เราอยากจะควักเงินเข้าไปเติม ๒๐ ล้านบาทเพื่อบาลานซ์ไฟชัยภูมิกับสีคิ้ว เรื่องนี้เราต้องช่วยกันทํา”
นายมารุตกล่าวอีกว่า วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะร่วมเดินกันไปด้วยกัน ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมยังไม่รู้ แต่ผมพร้อมที่จะเรียนรู้ให้เร็วที่สุด อยากชวนทุกคนว่า ยังมีอีก ๑๐๐ ตําบลที่จะต้องลงพื้นที่ไปด้วยกัน ติดตามเรื่องนี้ไปด้วยกัน วันนี้ที่ลานย่าโมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ตรงนี้ ผมจัดเวทีนี้ขึ้นมาเพื่อประกาศเจตจํานงของตัวเองอย่างชัดเจนว่า จะลงชิงตําแหน่งนายก อบจ.โคราชมาให้ได้ เราเหลือเวลาอีก ๕ เดือนเท่านั้นเอง ถ้าวันนี้เราไม่ทําอะไรเลย หรือนั่งอยู่เฉยๆ โคราชรอไม่ได้แล้ว เราต้องเปลี่ยน แล้วเปลี่ยนด้วยกัน ถ้าจะต้องลงอิสระ บนเงื่อนไข โคราชต้องมาก่อน ไม่ใช่เรื่องของการเมือง ไม่ใช่เรื่องสีเสื้อ ไม่ใช่เรื่องพรรคไหน แต่วาระโคราชใหญ่เกินกว่านั้น ใหญ่เกินกว่าที่จะเป็นเพศไหน อายุเท่าไหร่ เราจะทํางานอะไร แต่วันนี้เราต้องทํางานด้วยกัน ต้องเชื่อมต่อเข้าหากันทั้งหมดและเดินไปด้วยกัน
“ผมจะไม่ทําให้ผิดหวัง ผมรับปากกับทุกคน วันนี้เราใส่เสื้อสีขาว ผมใส่เสื้อสีขาวมาตลอดเส้นทาง คือสิ่งที่อยากสะท้อนว่า เราไม่แบ่งแล้ว ไม่แบ่งสี ไม่ได้สนใจสีเสื้ออีกต่อไป เราจะต้องเดินไปด้วยกันเพราะนี่คือบ้านของเรา” นายมารุตกล่าวย้ำทิ้งท้าย
นายมารุต ชุ่มขุนทด หรือ “กอล์ฟ” เป็นคนโคราชโดยกำเนิด เรียนจบมัธยมจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย และเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศและต่างประเทศ โดยจบปริญญาตรีวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงมีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และชื่นชอบเทคโนโลยี ซึ่งทำงานด้านเทคโนโลยีกับบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เช่น บมจ.อินเทอร์เน็ตประเทศไทย, บมจ.จีเอ็มเอ็มแกรมมี่, โทรศัพท์ Hutch, Nokia และกลับมาอยู่โคราชโดยการทำธุรกิจร้านกาแฟในชื่อคลาส คาเฟ่ ซึ่งมีหลายสาขาในโคราชและต่างจังหวัด เมื่อเริ่มสนใจการเมืองจึงลงพื้นที่ต่างๆ ในชื่อ “ฟังเสียงโคราช” เพื่อพบปะพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มต่างๆ และประกาศตัวลงชิงเก้าอี้นายก อบจ.นครราชสีมา
ในขณะที่เจ้าของเก้าอี้เดิมคือนางยลดา หวังศุภกิจโกศล หรือ “หน่อย” ภริยาของ “กำนันป้อ” นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล แห่งโรงงานแป้งมันเอี่ยมเฮง ซึ่งถือเป็นบ้านใหญ่ทางการเมือง ก็จะลงสมัครนายก อบจ.ฯ อีกสมัย แม้ว่าหลายคนจะฟันธงว่า ยากที่นายมารุตจะเอาชนะบ้านใหญ่ก็ตาม รวมทั้งน่าจะมีผู้สมัครรายอื่นมาร่วมชิงด้วย โดยเฉพาะอดีตนายก อบจ.รายอื่นๆ ที่อาจจะหวนคืนสู่สนามอีกครั้ง การแข่งขันทางการเมืองครั้งนี้จึงเป็นที่จับตามองอย่างมาก
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๒๗๖๘ วันที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม - วันที่ ๑๔ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๖๗
140 4,525