4thOctober

4thOctober

4thOctober

 

September 11,2024

มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน–โคราช (M6) เตรียมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ภายในปี 2569

 

คมนาคมขับเคลื่อนโครงการสำคัญเตรียมพร้อมให้บริการ สู่โครงข่ายที่ยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างเศรษฐกิจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

(11 กันยายน 2567) เพจประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม โพสต์รายละเอียดระบุกระทรวงคมนาคมเดินหน้าขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินโครงการสำคัญ เร่งรัดทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ทั้งทางด้านการขนส่งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้ประชาชนได้มีการขนส่งเดินทางที่ครอบคลุม ด้วยความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาที่สมเหตุสมผล พร้อมเดินหน้าสู่อนาคตด้วยแนวคิด “I-SMART พัฒนาโครงข่ายและบริการระบบขนส่ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างระบบเศรษฐกิจ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” มีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในอนาคตอันใกล้ ดังนี้

โครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางบก ได้แก่
• การดำเนินโครงการบนถนนพระราม 2 ให้แล้วเสร็จ โดยมี 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการทางพิเศษ สายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2568 ส่วนสะพานทศมราชัน หรือสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ขณะนี้การก่อสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2567 2) โครงการก่อสร้างทางยกระดับ ทล.35 ช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 และจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการชั่วคราว ระหว่างด่านพันท้ายนรสิงห์ - ด่านมหาชัย ระยะทาง 4 กม. ภายในปลายปี 2567 นี้ และ 3) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.3 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ภายในเดือนมิถุนายน 2568 และจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตลอดเส้นทางภายในปี 2570
• โครงการ Motorway สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) เตรียมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ภายในปี 2569 และ Motorway สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) เตรียมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตลอดเส้นทาง ภายในปี 2568


โครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางราง เพื่อให้การขนส่งคนและสินค้าในระบบราง เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการสินค้า ครอบคลุมจุดหมายทั่วทุกภูมิภาค สู่การเป็นระบบคมนาคมแกนหลักของประเทศ
• โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 มีเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ ช่วงนครปฐม - หัวหิน หัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ และประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร โดยยังมีเส้นทางรถไฟสายใหม่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ซึ่งมีแผนก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2571 และสายบ้านไผ่ – นครพนม ซึ่งมีแผนก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570 ซึ่งจะทำให้โครงข่ายรถไฟทางคู่มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
• โครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้เร่งรัดการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในต้นปี 2571 และเร่งเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทาง “บางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)” ภายในเดือนพฤศจิกายน 2573 ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีกำหนดเปิดให้บริการได้ในปี 2571  สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวจะเติมเต็มให้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นไปอย่างสะดวกทั่วถึง ตั้งแต่ใจกลางเมืองสู่ชานเมือง


เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ให้ตอบโจทย์กับพฤติกรรมการเดินทางของประชาชน เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องสู่ทุกภูมิภาค เพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งสาธารณะโดยรวม และส่งเสริมระบบรถไฟฟ้าให้เชื่อมโยงการเดินทางจากสถานีขนส่งสู่แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่เศรษฐกิจ หรือย่านที่พักอาศัย และรักษามาตรฐานการบริการที่มีความปลอดภัย พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อำนวยความสะดวกในการให้บริการ ส่งเสริมจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน


โครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) เพื่อยกระดับท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย พร้อมรองรับผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม มีข้อมูลเวลาเรือโดยสารเข้า-ออกท่าแบบเรียลไทม์ ข้อมูลแนะนำเส้นทางการเชื่อมต่อรถโดยสาร ทางลาดสำหรับผู้พิการ ระบบปรับอากาศในห้องพักผู้โดยสารและ Free Wi-Fi โดยท่าเรือที่มีความพร้อมในการเปิดให้บริการ ได้แก่ ท่าเรือพระปิ่นเกล้า และท่าเรือพระราม 5 พร้อมทั้งการพัฒนาท่าเทียบเรือทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการเดินทางและการท่องเที่ยวทางน้ำ

อีกทั้งยังคงเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ที่จะเป็นการสร้างมูลค่ามหาศาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งในพื้นที่จังหวัดระนองและชุมพร รวมถึงประเทศไทยในภาพรวม ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการทำหนังสือบรรจุวาระการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ. SEC เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป


โครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคมเดินหน้าพัฒนาขยายศักยภาพของท่าอากาศยานไทย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและศูนย์กลางการบินในภูมิภาค โดยในปี 2568 จะมีการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ของท่าอากาศยานภูมิภาค ซึ่งจะทำให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น ประกอบด้วย ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด


การขับเคลื่อนและติดตามโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม จะต้องเป็นไปตามระยะเวลาที่กระทรวงคมนาคมกำหนด เพื่อให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

ที่มา : https://www.facebook.com/share/p/xXHtTYzmMSsLAmuu/


32 2,617