November 18,2024
สศท.๕ เผยแนวทางบริหารจัดการ‘ทุเรียนสุรินทร์’ มุ่งสร้างสินค้าที่มีศักยภาพเพื่อรายได้มั่นคง
เมื่อไม่นานมานี้ นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ ๕ นครราชสีมา (สศท. ๕) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ทุเรียนถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง ตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง ซึ่งจังหวัดสุรินทร์นับเป็นอีกจังหวัดที่เกษตรกรในพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนทดแทนพื้นที่มันสำปะหลังโรงงานและพื้นที่ยางพารา ตามโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) โดยปี ๒๕๖๗ จังหวัดสุรินทร์ มีเนื้อที่ยืนต้นทุเรียนรวม ๒,๐๐๐ ไร่ พบปลูกในพื้นที่เหมาะสมมาก (S1/S2) ร้อยละ ๔๔.๔๐ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3/N) ร้อยละ ๕๕.๖๐ แหล่งปลูกสำคัญอยู่บริเวณเชิงเทือกเขาพนมดงเร็ก ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของอำเภอพนมดงรัก อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ และอำเภอกาบเชิง เกษตรกรนิยมปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองและพันธุ์ก้านยาว
จากการติดตามของ สศท.๕ พบว่า เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนในพื้นที่เหมาะสมมาก (S1/S2) จะได้ผลผลิต ๓๑๙.๓๓ กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) ๒๔,๑๘๓.๕๓ บาท/ไร่/ปี หรือ ๗๕.๗๓ บาท/กิโลกรัม ซึ่งหากเทียบกับเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) จะได้ผลผลิต ๒๘๖.๖๗ กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) ๙,๘๐๗.๕๕ บาท/ไร่/ปี หรือ ๓๔.๒๑ บาท/กิโลกรัม ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่เหมาะสมมาก (S1/S2) ให้ปริมาณผลผลิตที่สูงกว่า พื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความเป็นกรดเป็นด่าง ความชื้น และแหล่งน้ำ สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี สำหรับราคาทุเรียนที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ ๑๕๐-๑๘๐ บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๐ เกษตรกรจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง ผลผลิตร้อยละ ๕ พ่อค้ามารับซื้อที่หน้าสวนและรวบรวมไปขายต่อในจังหวัด และผลผลิตอีกร้อยละ ๕ เกษตรกรจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของตนเอง
ทั้งนี้ ทุเรียนยังถือว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของจังหวัดสุรินทร์ แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดสุรินทร์ ยังพบปัญหา เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ในการปลูกทุเรียนมาก่อนทำให้ขาดองค์ความรู้ในการดูแลรักษา รวมทั้งการขาดแคลนแหล่งน้ำ ทำให้ต้นทุเรียนประสบภาวะภัยแล้ง ทุเรียนยืนต้นตาย
สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการสินค้าทุเรียนที่มีศักยภาพ ในพื้นที่ S3/N จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ ๑) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพดิน และเพิ่มแหล่งน้ำ เช่น การพัฒนาคุณภาพดินให้มีประสิทธิภาพในการผลิตการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ได้แก่ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน จัดหาแหล่งน้ำในไร่นา เป็นต้น ๒) การปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชทางเลือกอื่นที่มีศักยภาพ และมีตลาดรองรับ เพื่อทดแทนในพื้นที่ทุเรียนยืนต้นตาย หรือให้ผลผลิตน้อย เช่น พืชสมุนไพรอินทรีย์ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นต้น ๓) การทำเกษตรผสมผสาน เป็นอีกทางเลือกที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และเพื่อความมั่นคงของครัวเรือน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเสี่ยงในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวของเกษตรกร
หากเกษตรกรหรือผู้สนใจข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนผลตอบแทนการผลิตทุเรียนจังหวัดสุรินทร์ สามารถสอบถามได้ที่ สศท.๕ นครราชสีมา โทรศัพท์ ๐๔๔-๔๖๕๑๒๐ หรืออีเมล์ zone5@oae.go.th
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๒๗๗๐ ประจำวันที่ ๑๕ เดือนตุลาคม - ๑๔ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๗
9 577