5thFebruary

5thFebruary

5thFebruary

 

December 18,2024

มั่นใจ‘พืชสวนโลก’ยิ่งใหญ่ เร่งหา‘ออกาไนเซอร์’จัดงาน ขนส่งสาธารณะต้องพร้อมสู่ อ.คง

รมว.เกษตร ประชุมร่วม AIPH และผู้บริหารจังหวัด มั่นใจไทยเจ้าภาพจัดมหกรรมพืชสวนโลก ๒ จังหวัด ‘โคราช-อุดรธานี’ ยิ่งใหญ่ กรมวิชาการเกษตรบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน เร่งนำข้อเสนอแนะ AIPH สู่การปฏิบัติเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ และระยะเวลา เร่งหา ‘ออกาไนเซอร์’ จัดงานด่วน พร้อมเตรียมขนส่งสาธารณะเดินทางสู่พื้นที่ อ.คง

เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมร่วมกับ Ms. Hongmin Peng รองประธานสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ Mr.Tim Briercliffe เลขาธิการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ และคณะกรรมการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ร่วมด้วย นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายณฐพล วิถี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สสปน. (TCEB) รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ณ ห้องประชุม ท ๒๕๖๙

“โดยในส่วนของ “มหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี” เป็นการจัดงานระดับ B มีความก้าวหน้าของงานในหลายด้าน ถึงแม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่การดำเนินงานก็เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ได้รับคำแนะนำ และข้อเสนอแนะจากทาง AIPH ให้เน้นการจัดงานพืชสวนที่มีคุณภาพ และขอให้มั่นใจว่าจะนำแนวทางดังกล่าวไปปฏิบัติเพื่อให้การจัดงานสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ ตามเวลาที่กำหนด สำหรับ “มหกรรมพืชสวนโลกโคราช” พ.ศ.๒๕๗๒ เป็นการจัดงานระดับ A1 มีความก้าวหน้าเป็นที่หน้าพอใจ ปัจจุบันกำลังดำเนินการจัดเตรียมงบประมาณเพื่อทำแผนแม่บท ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการดำเนินงานในขั้นต่อไป และจะนำข้อเสนอแนะของ AIPH ไปดำเนินการเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอย่างยิ่ง โดยในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าในการเตรียมงานที่จังหวัดอุดรธานี นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้ต้อนรับคณะกรรมการ AIPH ที่จังหวัดเชียงรายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ ในงาน AIPH Spring Meeting and Green Conference และจะใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์งานพืชสวนโลกของประเทศไทย และเชิญชวนประเทศสมาชิก AIPH มาร่วมจัดงานทั้งในงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี และนครราชสีมาด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของ “มหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี” นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นางวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจังหวัดอุดรธานี โดยนายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางสาวอารีรัตน์ มนตรีปรีชาชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมติดตามการ Site Inspection กับคณะกรรมการ AIPH มีความก้าวหน้าการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะจาก AIPH ดังนี้ การปรับสภาพพื้นที่ กรมวิชาการเกษตรได้รับมอบพื้นที่ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการฯ และจะต้องมีแผนที่ดีในการเพิ่มอินทรีย์วัตถุเพื่อปรับปรุงคุณภาพของดิน, การปรับปรุงผังแม่บท AIPH เห็นด้วยในแนวคิดการปรับผังแม่บทตามที่เสนอ โดยจังหวัดอุดรธานี รับทราบ และเห็นด้วย ทั้งนี้ให้รีบดำเนินการจัดจ้างผู้ออกแบบ AIPH มีข้อเสนอแนะให้รีบดำเนินการเพื่อจะได้ดำเนินการก่อสร้างและงานภูมิสถาปัตย์ใหม่ให้ได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด, การประชาสัมพันธ์เชิญชวนประเทศสมาชิก/นานาชาติเข้าร่วมจัดสวนมุ่งเน้นความร่วมมือกับสมาชิก AIPH และประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเมืองคู่มิตรของอุดรธานี รวมไปถึงเชิญประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อแสดงนวัตกรรมทางด้านพืชสวนที่หลากหลาย และในส่วนของกิจกรรมที่ต้องดำเนินงานอย่างเร่งด่วนคือการดำเนินงานหาผู้รับจ้างบริหารจัดการโครงการ

ในขณะที่ “พืชสวนโลกโคราช” นางวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจังหวัดนครราชสีมา โดยนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และหัวหน้าส่วนราชการภาครัฐ และเอกชน ร่วมติดตามการ Site Inspection กับคณะกรรมการ AIPH มีความก้าวหน้าการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะจาก AIPH ดังนี้ เร่งรัดการแต่งตั้งกรรมการบริหารและอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง โดยควรมีผู้เชี่ยวชาญ ที่มีองค์ความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดงานระหว่างประเทศ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง, เร่งรัดการจัดจ้างผู้บริหารจัดการโครงการ (Organizer) โดยด่วน เพื่อให้เข้าสู่แผนปฏิบัติการในลำดับต่อไปให้ทันระยะเวลาที่กำหนด และเร่งรัดการจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับรายละเอียดของงานทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ, ในการจัดทำ Master plan ต้องประกอบด้วยรายละเอียดของทุกแผนการปฏิบัติงาน ในทุกกิจกรรมโดยละเอียด โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสมาคมที่เกี่ยวข้องด้านพืชสวน สถาบันการศึกษา หอการค้า สภาอุตสาหกรรม เป็นต้น, ต้องมีการร่วมมือ การมีส่วนร่วม การรับรู้ ของชุมชน สถาบันการศึกษา องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง, เนื่องจากสถานที่จัดงานอยู่ค่อนข้างไกลจากตัวจังหวัด ดังนั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะให้พร้อม และสามารถรองรับจำนวนผู้เข้าร่วม ทั้งจากนานาประเทศรวมไปถึงในประเทศ, การสร้างการรับรู้ และระลึกถึงบรรยากาศให้เป็นที่จดจำตลอดไป เพื่อให้เป็นมรดกที่ถ่ายทอดรุ่นหลังต่อไป (Legacy) ตรงตามภายใต้แนวความคิดที่กำหนดไว้ (Theme) และเพื่อสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ควรมีนโยบาย Green city พร้อมทั้งเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมการประกวด Green city ที่จัดโดย AIPH

ในโอกาสนี้ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สสปน. กล่าวขอบคุณ และให้ความเชื่อมั่นในความร่วมมือ และสนับสนุนในการทำงาน และได้แนะนำคณะทำงานฯ ให้ศึกษาดูงานมหกรรมพืชสวนโลก Type A ปี ๒๕๖๙ ที่โยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของทั้งสองจังหวัด ซึ่งจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครราชสีมา ได้แสดงความมั่นใจเน้นย้ำ ให้คณะกรรมการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศในความร่วมมือ และการสนับสนุนในการทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนโครงการการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดนครราชสีมา ผ่านกิจกรรมในพื้นที่

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เน้นย้ำการเตรียมดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดทำ Master plan การจ้างผู้บริหารโครงการ โดยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำมติที่ประชุมครั้งนี้รายงานต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความเห็นชอบการของบกลางฯ รวมถึงการดำเนินการบริหารจัดการโครงการฯ ภายในปี ๒๕๖๘ ต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ข้อเสนอแนะของ AIPH สำหรับการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกของทั้งสองจังหวัดในการลงพื้นที่สำรวจเชิงลึก จะเป็นแนวทางที่ดีในการขับเคลื่อนให้การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี พ.ศ.๒๕๖๙ และงานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๗๒ สามารถดำเนินการลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้นถึงสิ้นสุด นำไปสู่ความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของมหกรรมพืชสวนโลกนานาชาติทั้งสองจังหวัด

ทั้งนี้ “มหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๗๒” ระดับ A1 งบประมาณกว่า ๔ พันล้านบาท จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๗๒ ถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๗๓ รวม ๑๑๐ วัน บนพื้นที่โคกหนองรังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา จัดขึ้นตามแนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” (Nature and Greenery: Envisioning the Green Future) สะท้อนความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพืชสวนและการเกษตรที่ยั่งยืนของประเทศไทย

ในขณะที่ มหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี ๒๕๖๙ (International Horticultural Expo 2026) ระดับ B จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๙ ถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๗๐ รวม ๑๓๔ วัน ณ บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๒๗๗๑ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน - วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๗

 


298 2,064