December 24,2024
ส.ป.ก.บุรีรัมย์หนุนถั่วแระญี่ปุ่น สร้างรายได้ยั่งยืนช่วงหน้าแล้ง พลิกผืนดินสู่พืชมูลค่าสูง
นายประเสริฐ กาญจนเกียรติกุล ปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ เดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรปลูกถั่วแระญี่ปุ่นพันธุ์ลานนา 75 เป็นพืชทางเลือกใหม่ทดแทนพืชดั้งเดิม หลังพบว่าจังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินกว่า 1.3 ล้านไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 97 ต้องพึ่งพาน้ำฝนในการทำการเกษตร เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา ซึ่งให้ผลตอบแทนต่อไร่ค่อนข้างต่ำ ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
การนำร่องปลูกถั่วแระญี่ปุ่นในเขตปฏิรูปที่ดินบุรีรัมย์ ครอบคลุมเกษตรกร 110 ครัวเรือน โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอโนนสุวรรณ ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในทุกขั้นตอนการผลิต ทั้งการใช้โดรนในการฉีดพ่นปุ๋ยน้ำและควบคุมศัตรูพืชทางใบ ไปจนถึงการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการปลูกถั่วแระญี่ปุ่นใช้เวลาเพียง 70 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1.3 ตันต่อไร่ พื้นที่เพาะปลูกจำนวน 1,200 ไร่ โดยมีแหล่งรับซื้อถึงพื้นที่ สร้างรายได้ให้เกษตรกรในช่วงฤดูแล้งกว่า 185,900 บาทต่อครัวเรือน
นายสมควร อ้วนดี เกษตรกรจากบ้านไร่สมบูรณ์ ตำบลโนนสุวรรณ อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ เล่าว่า ได้ปรับเปลี่ยนจากการปลูกมันสำปะหลังมาปลูกถั่วแระญี่ปุ่นในพื้นที่ 10 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 13 ตัน ขายได้กิโลกรัมละ 13 บาท สร้างรายได้ถึง 169,000 บาท หักต้นทุนแล้วมีกำไร 90,000 บาทต่อรอบการผลิต ซึ่งดีกว่าการปลูกพืชอื่นๆ นอกจากนี้ถั่วแระญี่ปุ่นยังมีรสชาติหวานมัน มีโปรตีนสูง และต้นถั่วมีไนโตรเจนสูงซึ่งจะช่วยในการปรับปรุงบำรุงดินอีกด้วย
"นี่คือตัวอย่างของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมายกระดับการผลิตให้มีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ และกำไรงาม" นายประเสริฐกล่าวทิ้งท้าย
การดำเนินการนี้สอดคล้องกับนโยบาย "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนโยบายของ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ เลขาธิการ ส.ป.ก. ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้มีความมั่นคงและยั่งยืน โดยการส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกที่มีมูลค่าสูง ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีตลาดรองรับที่แน่นอน
ความสำเร็จของโครงการนี้จึงไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นแบบของการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน ที่สามารถขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในเขตปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศต่อไป
50 3,132