31stMarch

31stMarch

31stMarch

 

March 05,2025

กมธ.เสนอ 8 มาตรการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงให้ประชาชน ลดราคาค่าไฟให้ถูกลงได้ประมาณ 0.8907 บาทต่อหน่วย

กมธ.การพลังงานแถลงผลศึกษาปัญหาค่าไฟแพง เสนอ 8 มาตรการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงให้ประชาชน ลดราคาค่าไฟฟ้าให้ถูกลงได้ประมาณ 0.8907 บาทต่อหน่วย แนะรัฐบาลควรมีแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมในการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ชดเชยรายได้เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อเสถียรภาพด้านการคลัง

วันพุธที่ 5 มีนาคม 2568 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน คนที่หนึ่ง และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา พร้อมด้วย คณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาญัตติแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง แถลงผลการศึกษาญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง โดยมี นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ เป็นผู้เสนอ และญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง โดยมี น.ส. ธิษะณา ชุณหะวัณ เป็นผู้เสนอ ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้คณะกมธ.การพลังงานเป็นผู้พิจารณา ขณะนี้คณะ กมธ. ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว โดยเห็นควรเสนอมาตรการ แนวทาง และข้อสังเกต เพื่อเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงให้กับประชาชนผู้บริโภค ดังนี้

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน คนที่หนึ่ง และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา

1. การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ซึ่งจากผลการพิจารณาศึกษาคาดว่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 0.3224 บาทต่อหน่วย
2. การทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Adder และ Feed in Tariff (FiT) ในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุนการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบดังกล่าวสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งหากสามารถทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวได้จะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 0.1700 บาทต่อหน่วย
3. นำเงินรายได้ค่าภาคหลวงและส่วนแบ่งกำไรของรัฐในส่วนของภาคไฟฟ้ามาลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยจากผลการพิจารณาศึกษาคาดว่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ 0.1255 บาทต่อหน่วย
4. กำหนดให้หน่วยงานที่ใช้ไฟฟ้าสาธารณะ (Street Lighting) เป็นผู้รับผิดชอบจัดหางบประมาณมาจ่ายค่าไฟฟ้าเอง เพื่อลดภาระที่ประชาชนต้องแบกรับในปัจจุบัน ซึ่งจากผลการพิจารณาศึกษาคาดว่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 0.1032 บาทต่อหน่วย
5. ปรับลดอัตราเงินนำส่งคืนรัฐของการไฟฟ้าทั้งสามแห่งจากร้อยละ 50 ลดลงเหลือร้อยละ 20 เพื่อนำส่วนต่างมาปรับลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ 0.0848 บาทต่อหน่วย
6. ทบทวนสัดส่วนการนำเข้า LNG แบบสัญญา Long -Term ต่อสัญญาแบบ Spot LNG ให้เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะสามารถค่าไฟฟ้าได้ 0.0626  บาทต่อหน่วย
7. ปรับลดเกณฑ์อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ใช้ในการคำนวณรายได้ที่พึงได้รับของการไฟฟ้าให้เป็นไปตามประมวลรัษฎากรจากร้อยละ 30 ลดลงเหลือร้อยละ 20 ซึ่งจากผลการพิจารณาศึกษาจะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 0.0174 บาทต่อหน่วย
8. จัดตั้งคลังกักเก็บ LNG เป็นเขตปลอดอากร เพื่อให้การนำเข้า LNG เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด ลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติแบบเร่งด่วน (Prompt Cargo) ในลักษณะ Spot LNG ที่มีราคาสูง และสามารถให้สิทธิในการยืม - คืน ระหว่าง Shipper แต่ละรายได้ โดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งคาดว่าหากสามารถจัดตั้งคลังกักเก็บ LNG เป็นเขตปลอดอากรจะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 0.0048 บาทต่อหน่วย

ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ทั้ง 8 มาตรการให้เป็นผลสำเร็จในภาพรวมจะสามารถลดราคาค่าไฟฟ้าให้ถูกลงได้ประมาณ 0.8907 บาทต่อหน่วย ปัจจุบันอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 อยู่ที่ระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะมีอัตราค่าไฟฟ้าเท่ากับ 4.4405 บาท ต่อหน่วยนั้น จะสามารถลดลงมาได้ไม่น้อยกว่า 1.8588 บาทต่อหน่วย โดยจะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าหลังหักตามมาตรการ ลดลงเหลือ 3.5817 บาท ต่อหน่วย (ไม่มีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม) อันจะเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลงได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ การลดค่าไฟฟ้าตามมาตรการดังกล่าวข้างต้น จากผลการศึกษาคาดว่าจะเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศ  อย่างไรก็ตาม แนวทางในการปรับลดค่าไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ และเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อเสถียรภาพด้านการคลัง รัฐบาลจึงควรมีแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมในการเพิ่มการจัดเก็บรายได้จากแหล่งอื่น เพื่อนำมาชดเชยรายได้ในส่วนที่ลดลง นอกจากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวข้างต้นแล้ว คณะกมธ. มีข้อสังเกตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้

1. ปรับปรุงโครงสร้างราคาไฟฟ้าให้มีความเหมาะสม
2. บริหารจัดการก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ
3. ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากยิ่งขึ้น
4. บริหารจัดการการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ
5. จัดทำแผน PDP ให้สอดดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
6. เปิดตลาดไฟฟ้าเสรีของประเทศไทยอย่างเป็นธรรม

 

 


55 4,620