16thMay

16thMay

16thMay

 

May 14,2025

ชลประทานที่ 8 แก้ปัญหาระยะยาวภัยแล้งโคราช พร้อมแผนสำรองเตรียมรับมือเมื่อถึงสภาวะฉุกเฉิน

สถานการณ์ภัยแล้งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมาเป็นเวลานาน รวมไปถึงปี 2568 ซึ่งในปีนี้ทางกรมชลประทาน และโครงการชลประทานนครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ให้ข้อมูลว่า เป็นปีที่น้ำน้อยที่สุดตั้งแต่สร้างเขื่อนลำตะคองมา โดยเขื่อนลำตะคองเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อการชลประทาน ทั้งอุปโภคและทำการเกษตร เป็นเขื่อนที่สำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา แต่ทางกรมชลประทานก็ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำให้ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งไว้เช่นกัน

ถึงแม้จะมีปริมาณน้ำที่น้อยในทุกปี แต่กรมชลประทานวางแผนทำให้น้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ ตลอดจนแผนระยะยาวที่กรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้วางแผนงานการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มายังเขื่อนลำตะคอง เป็นวิธีการสูบน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ผ่านแนวท่อและอุโมงค์ผันน้ำความยาวรวมประมาณ 43 กิโลเมตร จะสามารถสนับสนุนน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนลำตะคองถึงปีละ 50-60 ล้านลูกบาศก์เมตร

อีกทั้งยังมีแผนบริหารจัดการน้ำที่ยึดมติของคณะกรรมการจัดการชลประทานเขื่อนลำตะคอง (JMC เขื่อนลำตะคอง) โดยแยกเป็นการใช้น้ำ 4 กิจกรรมหลัก คือ น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ พืชฤดูแล้ง และ อุตสาหกรรม โดยจะมีการแบ่งปันจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม และสำหรับกรณีหากเกิดเหตุการณ์วิกฤต ยังมีแหล่งน้ำสำรองจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ ในความดูแลของโครงการชลประทานนครราชสีมา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะคือ อ่างเก็บน้ำห้วยซับประดู่ และเขื่อนลำแชะ ที่สามารถระบายน้ำมาช่วยเมืองนครราชสีมา แต่จะต้องใช้ระบบสูบน้ำควบคู่กันไป

สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้วางมาตรการสำรองไว้สำหรับช่วยเหลือประชาชน กรณีเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำดิบ หากว่าปริมาณน้ำไม่เพียงพอหรือขาดแคลน เช่น การรับปริมาณน้ำจากอ.สีคิ้วเพิ่มมากขึ้น การขอซื้อน้ำดิบจากเทศบาลนครราชสีมา การซื้อน้ำจากบ่อทรายเอกชน รวมไปถึงการขอความอนุเคราะห์จากเขื่อนลำแชะและเขื่อนมูลบน ในการจัดสรรน้ำเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้เป็นผลมาจากมาตรการในการบริการจัดการน้ำในฤดูแล้ง ตามแนวทางในการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญของการใช้น้ำ เป็นแนวทางกรมชลประทานดำเนินการมาเสมอ

แต่ถึงกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีวิธีการจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสมแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งได้ในระยะยาว คือการที่ประชาชนและเกษตรกรให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ติดตามข่าวสารและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่านั่นเอง

 


14 215