June 09,2025
ส.ว.ลงพื้นที่รับฟังปัญหาความต้อง ปชช.ชายแดนที่บุรีรัมย์หลังเหตุปะทะ เรียกร้องสร้างหลุมหลบภัยเพิ่มรองรับเหตุไม่คาดคิด
คณะสมาชิกวุฒิสภา ลงพื้นที่รับฟังปัญหาความต้องการประชาชนตามแนวชายแดน ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อศึกษากรณีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทยในการให้ความปลอดภัยกับประชาชน หลังเกิดเหตุปะทำที่ช่องบกจนเกิดความตึงเครียด แม้ล่าสุดจะถอนกำลังกลับที่ตั้ง แต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ ผู้นำสะท้อนอยากให้สร้างหลุมหลบภัยเพิ่มให้เพียงต่อกับประชาชนที่เสี่ยงภัย เพื่อความปลอดภัย
วันนี้ (9 มิ.ย. 2568) พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) ลงพื้นที่อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ศึกษากรณีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทย ในการให้ความปลอดภัยกับประชาชนต่อท่าทีผู้นำกัมพูชา โดยได้พบปะประชาชน และผู้นำชุมชน ในพื้นที่ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีพื้นที่ชายแดนไทย ติดกับกัมพูชา และมีจุดผ่อนปรนทางการค้าช่องสายตะกู ทั้งนี้เพื่อรับฟังสภาพปัญหาและความต้องการขอรับการสนับสนุน และความเดือดร้อนจากปัญหาด้านอื่นๆของประชนในพื้นที่ ตลอดทั้งการเตรียมความพร้อมรับมือ การบริหารจัดการหากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดน ของหน่วยงานต่างๆอย่างทันท่วงที ทั้งการอพยพ การจราจร การดูแลสัตว์เลี้ยงของประชาชน โดยมีนายอำเภอ ส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อเสนอแนะ ปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ นั้นคณะ ส.ว.ยังได้เดินทางไปยังบริเวณจุดผ่อนปรนช่องสายตะกู ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด ซึ่งเป็นจุดผ่อนปรนที่เปิดให้ประชาชนทั้งสองฝั่งซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคระหว่างกัน แต่หลังเกิดเหตุปะทะที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี เกิดสถานการณ์ตึงเครียด และล่าสุดทางแม่ทัพภาค 2 ได้มีคำสั่งปรับลดวันเวลา เปิด-ปิดจุดผ่อนปรน พร้อมให้มีการตรวจเข้มบุคคลเข้า-ออก ด้วย จากปกติจุดผ่อนปรนดังกล่าวจะเปิดให้ซื้อขายสินค้ากันทุกวันเวลา 08.00–15.00 น. แต่หลังเหตุตึงเครียดได้ปรับลดเหลือ 3 วัน คือวันอังคาร พุธ และวันพฤหัสบดี เวลา 09.00–12.00 น. กว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
พลตำรวจตรี ฉัตรวรรษ แสงเพชร ประธานคณะกรรมการฯ ระบุว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชน ส่วนราชการต่างๆก็มีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นจุดรวมพล ผู้อพยพ เส้นทางต่างๆ และได้มีการซักซ้อมประชาชนในพื้นที่ มีการทำหลุมหลบภัยให้เพียงพอ ดังนั้นแล้ว เมื่อเกิดเหตุปะทะ หรือมีลูกกระสุนตกในพื้นที่ชาวบ้านต้องได้รับความปลอดภัย นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนคือ ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยไม่มีเอกสารสิทธิ์ มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องรัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่เฉพาะพื้นที่แนวชายแดนเท่านั้น ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วประเทศคาราคาซังมานานมาก การแก้ปัญหานี้ไม่ใช่ให้งบประมาณหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำ แต่ต้องเป็นงบประมาณรวมทุกหน่วยงานให้ทำเรื่องนี้ จึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืน
ส่วนปัญหาความไม่ปลอดภัยปัญหาความไม่สงบพื้นที่ชายแดน ชาวบ้านไม่อยากให้เกิดภัยสงครามส่วนนี้ก็ต้องไปดูอีกว่ารัฐบาลสามารถที่จะปรับงบประมาณป้องกันภัยเกี่ยวกับความมั่นคงได้หรือไม่ ตั้งแต่ระบบการเจราให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ ทำมาหากินเป็นปกติ ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด ประชาชน และผู้นำหมู่บ้านก็มีเสียงสะท้อนเรียกร้อง อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างหลุมหลบภัยเพิ่ม ให้เพียงพอกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย บางหมู่บ้านมีหลุมหลบภัยแค่จุดเดียวแต่ราษฏรในพื้นที่มี 400–500 คน ซึ่งหากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นก็จะไม่เพียงพอ
การลงพื้นที่ครั้งนี้ก็จะได้นำปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปเสนอต่อสภา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือนร้อน และสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนต่อไป
29 224