January 20,2015
ไก่พื้นบ้าน ๔ สายพันธุ์ใหม่เลี้ยงง่ายโตไวต้นทุนต่ำ เล็งต่อยอดธุรกิจสร้างรายได้ให้ชุมชน
รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาชีพการเลี้ยงสัตว์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเกษตรกรไทย ซึ่งในการเลี้ยงดูต้องเอาใจใส่เป็นอย่างดี ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเรียนรู้และศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย รวมทั้งปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อการผลิตสัตว์และการตลาดให้ถ่องแท้ ถึงจะได้รับผลผลิตที่คุ้มค่าและมีรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเกษตรกร เช่นเดียวกันกับการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ซึ่งศูนย์เครือข่ายวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ไก่พื้นเมือง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ประกาศสายพันธุ์ไก่ที่พัฒนาขึ้นก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย ไก่ประดู่หางดำ มข.๕๕ และไก่สายพันธุ์ KKU 10 และในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปีนี้ ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ ไก่ไทย KKU 50 เป็นไก่สายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นซึ่งไก่ไทย KKU 50 มีต้นกำเนิดมาจากไก่พื้นเมือง คือไก่ชีซึ่งมีขนสีขาว จากนั้นก็สร้างลูกผสมกับไก่ทางการค้า เมื่อได้ลูกผสมแล้วเราได้มีการคัดเลือกพันธุ์ให้เป็นสายพันธุ์แท้ ปัจจุบันคณะเกษตรศาสตร์ได้ค้นพบขึ้นมาอีก ๔ สายพันธุ์แท้ ไม่ว่าจะเป็น แก่นทอง สร้อยนิล สร้อยเพชร และไข่มุกอีสาน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะต่อท้ายด้วย KKU 50
แก่นทอง
“แก่นทอง จะมีสีน้ำตาลชัดเจน ซึ่งเราเรียกว่าสีอำพันเพราะจะเป็นสีออกทองนิดๆ ความโดดเด่นคือเป็นไก่ที่ให้ไข่ดกมาก เฉลี่ยในหนึ่งปีให้ไข่กว่า ๒๐๐ ฟอง ซึ่งเหมาะที่จะทำเป็นไก่ที่เลี้ยงเพื่อผลิตไข่อย่างเช่นไข่อินทรีย์ หรือแปลงไข่จากไก่หลังบ้าน
สร้อยเพชร
ส่วนของกลุ่ม “สร้อยเพชร” เป็นไก่ที่มีขนสีดำแต่มีสร้อยคอ แผงคอเป็นสีขาว ซึ่งจะมีลักษณะสวยงาม และจะมีความโดดเด่นที่เป็นลักษณ์สองด้าน คือเรื่องการเจริญเติบโต และเรื่องของการให้ไข่ดก เพราะฉะนั้นจะเหมาะกับกลุ่มเกษตรกรที่อยากจะมีไก่ที่ใช้ได้ทั้งเลี้ยงเพื่อเป็นเนื้อและเลี้ยงเพื่อผลิตไข่
สร้อยนิล
ตัวที่ ๓ กลุ่มของ “สร้อยนิล” จะเป็นกลุ่มที่มีขนสีขาว มีสร้อยคอสีดำ กลุ่มสร้อยนิลมีความโดดเด่นสองด้านเช่นกัน คือสามารถเลี้ยงเพื่อการเจริญเติบโตก็ได้และก็เลี้ยงให้ไข่ก็ได้ กลุ่ม “สร้อยเพชร” ลักษณะเด่นมีขนสีดำและมีสร้อยคอสีขาว จะมีสองลักษณะเด่นเช่นกัน ในส่วนของความแตกต่างของกลุ่มสร้อยเพชร คือเมื่อนำไปผสมพันธุ์กับไก่ทางการค้าใดๆ ก็ตาม จะได้ลักษณะเด่นที่มีขนสีดำกลับออกมา ซึ่งสามารถที่จะนำลูกผสมจากกลุ่มสร้อยเพชรไปเป็นตลาดชุมชนได้ เพราะคนทางภาคอีสานและภาคเหนือจะชอบไก่ที่มีขนสีดำ
ไข่มุกอีสาน
ส่วนสายพันธุ์สุดท้ายคือ “ไข่มุกอีสาน” ลักษณะเด่นจะมีสีขาวปลอดตลอดทั้งตัว มีแข้งสีเหลือง ลักษณะสีสันจะคล้ายกับไก่ชี ซึ่งเป็นพันธ์ุพื้นเมืองแท้ แต่เนื่องจากเราเป็นไก่พันธุ์สังเคราะห์สายใหม่ที่สร้างขึ้น ไก่ไข่มุกอีสานจะมีการเจริญเติบโตที่เร็วขึ้น ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และเป็นตัวที่เรากำลังจะผลิตเป็นไก่ไทยบอยเลอร์ในอนาคต ไทยบอยเลอร์คือไก่เนื้อไทย ซึ่งก็จะมีศักยภาพมากในการส่งออก และก็เป็นตลาดในกลุ่มอาเซียนและก็ตลาดในกลุ่มประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะสนใจไก่ลูกผสมไก่บ้านไทย”
คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไก่พื้นเมือง กำลังถูกจัดเป็นอาหารสุขภาพ เนื่องจากมีคอเลสเตอรอลต่ำกว่าไก่เนื้อทั่วไป มีรสชาติที่อร่อยกว่าโดยที่ไม่ต้องใส่ผงชูรส การเลี้ยงค่อนข้างง่าย แล้วก็เป็นการสู่ชุมชนโดยตรง เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง ดังนั้นแนวทางในการส่งเสริม จะต้องเริ่มจากการจับมือกับภาคเอกชนกับภาคเกษตรกร ในรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น ปัจจุบันไก่พันธุ์ใหม่ทั้ง ๔ สายพันธุ์ อยู่ในความรับผิดชอบโดยมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนจะมาดูแลในเรื่องการตลาด ประสบการณ์ผลิตอาจจะเป็นภาคเกษตรกรหรือว่าชุมชนต่างๆ การจัดการในลักษณะแบบนี้ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการผลิตไก่บ้านไทย อย่างไรก็ตามอนาคตการเลี้ยงไก่พื้นเมืองไทย ค่อนข้างสดใส และเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจ และต้องการที่จะสร้างประโยชน์และทำให้เกิดการแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำในสังคม และก็ทำให้มีรายได้มากขึ้นเป็นอย่างดีอีกด้วย
ฉบับที่ ๒๒๗๐ วันศุกร์ที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
729 1,818