9thSeptember

9thSeptember

9thSeptember

 

November 06,2010

มข.ได้อธิการบดีคนใหม่ ใช้วิจัยเป็นฐานพัฒนา

สภามหาวิทยาลัยเล็งเห็นวิสัยทัศน์ ‘รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย’ ลงมติเลือกรับตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นคนใหม่ หลังสามารถตอบโจทย์ได้สมบูรณ์ นำพามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของเอเชีย โดยใช้การวิจัยเป็นฐานการพัฒนา

เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ที่ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น วาระพิเศษ เพื่อให้ผู้เข้ารับการสรรหาอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น แสดงวิสัยทัศน์ต่อสภามหาวิทยาลัย ก่อนลงมติแต่งตั้งอธิการบดีคนที่ ๑๐ แทน ศ.เกียรติคุณ ดร.สุมนต์ สกลไชย ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดี ในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ โดยการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีครั้งนี้ มีผู้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมสภาฯ ๓ คน ได้แก่ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย, รศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข และรศ.ดร.สมนึก ธีระกุลพิศุทธิ์

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า หลังจากรับฟังวิสัยทัศน์จากผู้เข้าสู่กระบวนการสรรหาทั้ง ๓ คน กรรมการสภาฯ จึงมีมติเห็นชอบให้ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น คนที่ ๑๐ โดยที่ประชุมเห็นว่าจากวิสัยทัศน์ที่ รศ.ดร.กิตติชัยนำเสนอนั้น สามารถตอบโจทย์ของสภาฯ ได้สมบูรณ์ กล่าวคือ สะท้อนให้เห็นแนวทางที่จะนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ ๑ ใน ๓ ของประเทศ, ๑ ใน ๑๐ ของเอเชีย และ ๑ ใน ๔๐๐ ของโลก ประกอบกับการสามารถเป็นผู้นำที่จะพัฒนา มข.ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีสุขภาวะที่ดี มีธรรมมาภิบาล รวมทั้งมีการบริหารจัดการทรัพย์สินและสินทรัพย์ทางปัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้การวิจัยเป็นฐานการ

ด้านรศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย เปิดเผยความรู้สึกหลังจากได้รับทราบผลการลงมติว่า รู้สึกหายเหนื่อย หลังจากที่เตรียมตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหามาเป็นเวลานาน ตนพร้อมที่จะร่วมทำงานกับประชาคม มข. และทุกภาคส่วน เพื่อนำพามข.ไปสู่เป้าหมายที่สภามหาวิทยาลัย และประชาคม มข.คาดหวังไว้ และขอขอบคุณประชาคม มข. ที่ให้กำลังใจ ความไว้วางใจ และให้คำแนะนำที่ดีมาโดยตลอด ซึ่งหวังว่าจะได้รับคำแนะนำและความร่วมมืออันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วยดีในโอกาสต่อไป

สำหรับนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.กิตติชัย กล่าวว่า อีกไม่ถึง ๒ ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะมีอายุครบ ๕๐ ปี ต้องขอบคุณบุคลากร, ศิษย์เก่า, นักศึกษา และผู้บริหารของมหาวิทยาลัย นับตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบัน ที่ได้ร่วมพัฒนา และนำพามข. สู่ความเป็นมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของประเทศในขณะนี้ และเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกฝ่ายในปัจจุบัน ที่จะต้องช่วยกันสานต่อการพัฒนาให้มหาวิทยาลัยก้าวต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษนี้โลกาภิวัฒน์ได้ทำให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทย กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ก้าวไปสู่ความเป็นสากล มข.ก็เช่นกัน ไม่ใช่เพียงส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งท่ามกลางมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก

“มหาวิทยาลัยและผลผลิตของมหาวิทยาลัยต้องเป็นที่ยอมรับ และยืนอยู่ได้ในสังคมทุกแห่งอย่างเป็นสากล การที่จะนำมหาวิทยาลัยแห่งนี้สู่การเปลี่ยนผ่านนครั้งนี้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของบุคลากรทุกภาคส่วน ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าและเป็นบุคลากรของมข. ตนมีความพร้อมและความมุ่งมั่นที่จะเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมกับพวกเราทุกคนในมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่อนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืน” รศ.ดร.กิตติชัย กล่าว

อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นคนใหม่ กล่าวในท้ายสุดว่า ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่า มข. รุ่นที่ ๑๑ รับราชการในมข. มากกว่า ๓๒ ปี จากการมีโอกาสได้พูดคุยกับนักศึกษา รวมถึงบุคลากรสายผู้สอนและสายสนับสนุน ทั้งส่วนที่เป็นข้าราชการพนักงาน และลูกจ้าง ทำให้ได้ทราบถึงปัญหาที่ประชาคม มข. มีความกังวลและต้องการให้ผู้บริหารคนใหม่นำไปปรับปรุงหลายเรื่อง ดังนั้น การบริหารมหาวิทยาลัยในยุคเปลี่ยนผ่าน ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการนำทิศทางและความสำเร็จมาสู่มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพัฒนาการอุดมศึกษาไทย ทั้งสภาพที่จะต้องเปิดเสรีทางการศึกษา การนำมหาวิทยาลัยสู่ประสิทธิภาพและคุณภาพ นับเป็นความท้าทายที่จะนำพา มข.ไปสู่ยุคแห่งการบูรณาการความรู้ในศาสตร์ต่างๆ เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน จากความสำเร็จในการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผนวกกับแนวทางการทำงานที่ตนยึดมั่นมาโดยตลอด คือ “การมีส่วนร่วม” และ” การร่วมลงมือทำ” กับประชาคม มข. มั่นใจว่าจะสามารถนำพา มข. ก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้

ทั้งนี้ ขั้นตอนจากนี้ไปสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น จะนำเสนอชื่อของรศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย ไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น คนที่ ๑๐ ต่อไป

สำหรับประวัติ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นคนใหม่ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ปริญญาโท สาขาวิชา Agricultural Machinery จาก Asian Institute of Technology ประเทศไทย และปริญญาเอก สาขาวิชา Machine Design and Manufacturing จาก Niigata University ประเทศญี่ปุ่น

ประวัติการทำงานในตำแหน่งสำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก.พ. ๒๕๕๐-ปัจจุบัน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี, ก.พ. ๒๕๔๙-ปัจจุบัน ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์, มี.ค. ๒๕๕๐-มิ.ย. ๒๕๕๐ รักษาการแทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์, ก.พ. ๒๕๕๐-มี.ค. ๒๕๕๐ รักษาการแทนอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี, ก.พ.๒๕๕๐-มี.ค. ๒๕๕๐ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา, ปี ๒๕๔๘-ก.พ. ๒๕๕๐ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์, ก.พ. ๒๕๔๖-พ.ค.๒๕๔๗ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร, ต.ค. ๒๕๔๕-ก.พ. ๒๕๔๖ รักษาการรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์, พ.ค. ๒๕๔๔-มี.ค. ๒๕๔๖ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์, มิ.ย. ๒๕๔๓-พ.ค. ๒๕๔๔ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์, ม.ค. ๒๕๔๑-มิ.ย. ๒๕๔๓ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์, ก.ค. ๒๕๓๗-ม.ค. ๒๕๔๑ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์, ก.ค. ๒๕๓๗-ก.ค. ๒๕๔๐ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์

ตำแหน่งบริหารที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ผู้อำนวยการศูนย์คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ประธานคณะกรรมการเครือข่ายบริหารการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, คณะทำงานโครงการประเมินศักยภาพผลงานวิจัย สำนักงานคณกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, เลขานุการคณะกรรมการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สวทช. และเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๑๙๗๔ วันที่ ๕-๘ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๓


691 1,357