July 07,2015
“ทำไมชาวนายากจน???”
กลุ่มคนยากจนในประเทศไทยมีสามกลุ่มใหญ่คือ หนึ่ง กลุ่มเกษตรกร ได้แก่ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน สอง ผู้ใช้แรงงานที่พึ่งพาค่าแรงขั้นต่ำ และสาม ผู้หาเช้ากินค่ำ
โดยมีกลุ่มเกษตรกรเป็นคนจนกลุ่มใหญ่ที่สุด
ทำไมชาวนาไทยจึงยากจน?
ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยได้ลงทุนจัดตั้งหน่วยงานจำนวนมากขึ้นมาดูแลกว่าครึ่งศตวรรษ ดูได้จากจำนวนกรมกองต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีจำนวนมากมายและใช้จ่ายงบประมาณปีละนับแสนล้านบาท
ปัจจุบันมีพื้นที่ทำนาประมาณ ๗๐ ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทานประมาณ ๓๐% คือประมาณ ๒๑ ล้านไร่ ผลิตข้าวทั้งนาปีและนาปรังได้ผลผลิตประมาณ ๓๘ ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นข้าวสารประมาณ ๒๓ ล้านตัน ใช้บริโภคในประเทศประมาณ ๑๐ ล้านตัน ถ้าปีไหนส่งออกได้ดีจะส่งออกได้ประมาณ ๑๐ ล้านตันเศษ ทุกปีจะมีข้าวเหลือค้างสต็อกประมาณเกือบสามล้านตัน
การที่ชาวนาผลิตข้าวเกินความต้องการของตลาดทำให้มีปริมาณข้าวล้นตลาดทุกปี ไม่นับข้าวที่ค้างอยู่ในโกดังจากโครงการรับจำนำข้าวอีก ๑๗ ล้านตัน ที่เป็นปัจจัยฉุดราคาข้าวให้ตกต่ำโดยยังหาทางออกไม่ได้ การที่ชาวนาไทยผลิตข้าวเกินความต้องการของตลาดทุกปีเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ และทำให้ชาวนาขาดทุน
โอกาสที่ชาวนาจะขายข้าวได้ราคาดีก็เฉพาะในปีที่มีภัยพิบัติที่ทำให้ผลผลิตข้าวทั่วโลกลดลงเท่านั้น ถ้าฝนฟ้าอากาศดีชาวนาก็จะผลิตข้าวได้ล้นตลาด ทำให้ราคาข้าวตกต่ำและขาดทุน การที่ชาวนาต้องขายข้าวในราคาที่ขาดทุนทุกปีจึงเป็นต้นเหตุให้ชาวนาต้องกู้หนี้ยืมสิน กลายเป็นกลุ่มคนที่มีหนี้ท่วมหัว จนเป็นที่กล่าวกันว่า “ชาวนาไทยเกิดมาเพื่อทำงานใช้หนี้จนกว่าชีวิตจะหาไม่”
ปัญหาการขายข้าวขาดทุนทำให้ชาวนาต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อประทังชีวิตมาโดยตลอด เป็นสาเหตุให้ชาวนาต้องยากจนเรื้อรัง
และไม่เคยมีรัฐบาลไหนแก้ไขปัญหาให้ชาวนาได้สำเร็จ
โครงการรับจำนำข้าวที่ทำให้รัฐบาลเสียหายกว่าห้าแสนล้านบาทก็ไม่ได้ช่วยให้ชาวนาพ้นจากความยากจน แต่เป็นภาระที่คนไทยทุกคนต้องรับภาระใช้หนี้อีกไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี
การที่ชาวนาขายข้าวขาดทุนนั้น คิดเฉพาะส่วนที่เป็นต้นทุนของชาวนาโดยตรงไม่นับรวมงบประมาณของรัฐที่กรมกองต่างๆของรัฐใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนชาวนาอีกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เช่น งบประมาณของกรมชลประทาน เป็นต้น ถ้านับรวมทั้งต้นทุนทั้งทางตรงที่ชาวนาจ่ายเอง และต้นทุนทางอ้อมที่รัฐบาลสนับสนุน ข้าวสารแต่ละตันที่ผลิตได้ก็จะขาดทุนสูงมาก
ปัญหาความยากจนของชาวนาที่เรื้อรังมายาวนานนี้ รัฐบาลต้องมีทิศทางที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และมีแนวทางปฏิบัติที่จะบรรลุผลได้จริง จึงจะแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาได้
ถ้ายังทำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาของชาวนาก็จะยืดเยื้อเรื้อรังต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
...สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๘
ที่มา : FB//:Prof.SombatThamrongthanyawong
นสพ. โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๐๑ วันจันทร์ที่ ๖- วันศุกร์ที่ ๑๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
809 1,892