27thJanuary

27thJanuary

27thJanuary

 

November 07,2015

ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นที่พึ่งพาของประชาชนมากขึ้นทุกวัน เพื่อให้ได้น้ำดื่มที่สะอาดราคาถูก ธุรกิจตู้น้ำดื่มแพร่หลายมากขึ้น จนน่าเป็นห่วงในเรื่องคุณภาพ มีหน่วยงานใดดูแลเรื่องนี้บ้างอย่างไร? กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เคยสำรวจและตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มตู้ จำนวน ๒,๐๒๕ ตัวอย่าง จากทั่วประเทศ  ในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ ถึงกันยายน ๒๕๕๕ พบว่า เกือบร้อยละ ๔๐ ไม่ผ่านมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด น้ำดื่มเหล่านี้มีค่าความเป็นกรด-ด่างและค่าความกระด้างเกินเกณฑ์ และยังพบเชื้อโคลิฟอร์มและ E.coli .ในน้ำดื่มถึง ๓๑๙ ตัวอย่างด้วย

ปัญหาเกิดจากอะไร? ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดการดูแลรักษาและการกำกับดูแลธุรกิจนี้

เครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร (ภาคประชาชน)  ได้ทำการสำรวจลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติในกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ จำนวน ๘๕๕ ตู้ จาก ๑๘ เขตของ กทม. สำรวจเกี่ยวกับ สถานที่ตั้ง  การติดฉลาก คุณลักษณะ แหล่งน้ำที่ใช้ และการบำรุงรักษา ผลการสำรวจพบว่า มีเพียงร้อยละ ๘.๒๔ ของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ  ตู้น้ำดื่มฯส่วนใหญ่ตั้งในสถานที่ไม่เหมาะสมตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ดังรายละเอียดต่อไปนี้ ร้อยละ ๗๖.๓ ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีฝุ่นมาก เช่น ริมถนน บนทางเท้า ร้อยละ ๔๗.๗ ไม่มีการยกระดับตู้ให้สูงจากพื้นอย่างน้อย ๑๐ เซนติเมตร ร้อยละ ๒๘.๓ ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำขัง/ แหล่งระบายน้ำเสีย (บางครั้งพบตู้น้ำดื่มฯ และเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญในบริเวณใกล้กัน) ร้อยละ ๒๒ ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เช่น แมลงสาบ หนู แมลงวัน ตู้น้ำดื่มฯ ส่วนใหญ่ไม่มีการติดฉลากบอกข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน วัน เดือน ปีที่เปลี่ยนไส้กรอง หรือมีแต่ก็ไม่ครบถ้วน ทีมสำรวจพบทั้งตู้เก่าและตู้ใหม่ บางตู้ติดตั้งมานานและไม่ได้รับการดูแลจากผู้ประกอบการ มีสนิม รูรั่วซึม การผุกร่อน บางตู้ไม่มีฝาปิดช่องจ่ายน้ำ บางตู้มีตะไคร่เกาะที่หัวจ่ายน้ำด้วย ร้อยละ ๙๓.๘ ของน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มในตู้เหล่านี้เป็นน้ำประปา ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะน้ำประปาเป็นน้ำที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแล้ว มีเพียงร้อยละ ๕๘.๗ ของตู้เหล่านี้ที่ได้รับการบำรุงรักษาและทำความสะอาดถังเก็บน้ำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง มีตู้หยอดเหรียญจำนวนไม่น้อยที่ผู้สำรวจไม่สามารถติดตามพบเจ้าของผู้รับผิดชอบได้

กฎหมายที่เกี่ยวข้องมีหรือไม่? ตู้น้ำหยอดเหรียญถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๓๕ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข  ฉบับที่ ๓๖๒ พ.ศ.๒๕๕๖ เรื่อง น้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ ต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท หากฝ่าฝืนจะเข้าข่ายเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ตามมาตรา ๒๘ ฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ (๓) มีโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ประกาศดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗

หน่วยงานราชการใดมีหน้าที่ดูแลบ้าง? (๑) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำกับดูแลคุณภาพของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.๒๕๒๒ (๒) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำกับดูแลการโฆษณาคุณภาพและการควบคุมการติดฉลากของเครื่องผลิตน้ำแบบหยอดเหรียญ ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ (๓) สำนักอนามัย สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ติดตามการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และบังคับใช้บทลงโทษ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๓๕ (๔) สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ดูแลเครื่องผลิตน้ำแบบหยอดเหรียญให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมเครื่องกรองน้ำประเภทต่างๆ ที่กำหนดภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.๒๕๑๑

เราจะมีวิธีการเลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญให้ปลอดภัยอย่างไร?

ทีมสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เสนอแนะให้ผู้บริโภคตรวจดูสภาพตู้จากภายนอก เลือกตู้ที่สะอาด มีการทำความสะอาด  ปัดกวาดเช็ดถูบริเวณรอบๆ จุดที่ใช้สำหรับวางภาชนะเพื่อรองน้ำจากหัวบรรจุต้องสะอาด ไม่มีฝุ่นผง มีฝาปิดป้องกันฝุ่นละออง หัวจ่ายน้ำไม่มีคราบสนิมหรือตะไคร่น้ำ ควรเลือกตู้ที่ตั้งอยู่ในที่ร่มไม่มีแสงแดดส่องถึง เพราะแสงแดดมักทำให้เกิดตะไคร่ภายในหัวบรรจุ  ดูการควบคุมคุณภาพน้ำว่ามีการตรวจสอบเปลี่ยนไส้กรองหรือไม่ มีการติดสติ๊กเกอร์แจ้งวัน เวลาที่เข้ามาตรวจสอบหรือไม่ ควรสังเกตกลิ่น สี รส  ของน้ำดื่มจากตู้ฯ ว่า ผิดปกติหรือไม่ ถ้าผิดปกติไม่ควรใช้ ๓ ภาชนะที่เรานำไปรองรับบรรจุน้ำดื่มจากตู้ฯ ควรสะอาดและมีขนาดพอดีกับปริมาณน้ำที่ซื้อ ไม่ควรสัมผัสหัวจ่ายน้ำด้วยมือหรือวัสดุอื่นใด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำดื่ม (นิตยสารฉลาดซื้อ ปีที่ ๒๒ ฉบับที่ ๑๗๕)

• บุญเลิศ สดสุชาติ
สภาฮักแพงเบิ่งแงงคนมหาสารคาม

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๕ วันศุกร์ที่ ๖ -  วันอังคารที่ ๑๐  เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๕๘


744 1,485