14thNovember

14thNovember

14thNovember

 

January 15,2016

สกว.ร่วมมือวิจัยไก่เนื้อ ‘ไก่มทส.’ เนื้อนุ่ม-ทนโรค ส่งเสริมเกษตรกรเข้มแข็ง


ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. และรศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการ สกว. ลงนามจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาไก่เนื้อโคราช

          ‘มทส.-สกว.’ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้งศูนย์วิจัยไก่เนื้อโคราชเชิงบูรณาการ เพื่อพัฒนาพันธุ์ และผลักดันเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเกษตรกร

          เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องสารนิทัศน์ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จังหวัดนครราชสีมา มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาไก่เนื้อโคราชเชิงบูรณาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) โดยศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และรองศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. และรองศาสตราจารย์ ดร.ประภาพร ขอไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สกว. ร่วมลงนามในครั้งนี้ ซึ่งจัดตั้งเพื่อพัฒนาพันธุ์ไก่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยง การจัดการและการแปรรูป รวมถึงผลักดันการใช้สายพันธุ์ไก่และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นให้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพที่เข้มแข็งและยั่งยืนของเกษตรกร

          ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า มทส. เป็นมหาวิทยาลัยที่ประกาศตัวเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม เพราะฉะนั้น การลงมือทำการวิจัยในสิ่งที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในภาพรวม คือการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ ที่เรียกว่า ไก่เนื้อโคราช หรือไก่มทส. ซึ่งนักวิจัยที่มีส่วนร่วมในงานวิจัยครั้งนี้มีหลายท่าน อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.กนก ผลารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนา, ดร.วิทธวัส โมฬี นักวิจัยด้านอาหารสัตว์และการจัดการฟาร์ม, ดร.อมรรัตน์ โมฬี นักวิจัยด้านพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.บัญชร ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิจัยสุขภาพสัตว์ พร้อมด้วยอาจารย์อีกหลายท่าน รวมทั้งรองศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เราได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ โดยมุ่งหวังว่านวัตกรรมในการพัฒนาสายพันธุ์ไก่โคราชที่ทางมหาวิทยาลัยกับสกว.ได้ร่วมกันพัฒนานี้ จะทำให้พี่น้องเกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพได้

          “สำหรับคุณสมบัติที่โดดเด่นของแม่ไก่พันธุ์ มทส. คือ การเป็นแม่พันธุ์ไก่เนื้อดี โดยมีผลผลิตไข่ต่อตัวต่อปีประมาณ ๑๘๐–๒๐๐ ฟอง มีอัตราการผสมติด ๙๐% และอัตราการฟักออก ๙๐% จึงทำให้ต้นทุนลูกไก่โคราชที่อายุ ๑ วัน อยู่ที่ ๑๔ บาท ราคาลูกไก่โคราชที่อายุ ๑ วันหน้าฟาร์ม ๑๙ บาท ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าไก่แม่พันธุ์ มทส.สามารถสร้างผู้ประกอบการธุรกิจพันธุ์ไก่ได้ โดยไก่เนื้อโคราชที่เป็นผลผลิตจากงานวิจัยของมทส. และสกว. เป็นไก่พันธุ์ทาง ซึ่งพัฒนามาจากไก่ของสมเด็จพระนเรศวรกับไก่พันธุ์ที่เป็นความลับของทางมหาวิทยาลัย ไก่พันธุ์นี้จะมีความคงทน เพราะหากเป็นสายพันธุ์เดี่ยวไม่ใช่ลูกผสมหรือพันธุ์ทาง ไก่จะมีโอกาสในการเกิดโรคมากขึ้น เพราะฉะนั้น ไก่สายพันธุ์ที่มทส.และสกว.พัฒนาที่เรียกว่าไก่เนื้อโคราช หรือไก่เนื้อมทส.จะมีอัตลักษณ์ คือมีความทนต่อโรค และมีเนื้อนุ่ม” อธิการบดี มทส. กล่าว

          ศาสตราจารย์ ดร. ประสาท สืบค้า ยังได้กล่าวอีกว่า ในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาไก่พันธุ์โคราช ให้มีพิวรีน (Purine) และกรดยูริค(Uric) ในปริมาณต่ำ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภคที่เป็นโรคเก๊าว์ และหากพัฒนาได้คาดว่าไก่โคราชจะเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ทางศูนย์วิจัยฯ มิได้ต้องการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่แต่อย่างใด หวังให้เป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรมากกว่า ปัจจุบันงานวิจัยเริ่มมีผลกับพี่น้องประชาชน กลุ่มเกษตรกรซับตะเคียน อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และกลุ่มเกษตรกรภายใต้การจัดการบริหารของสหกรณ์การเกษตรกันทรวิชัย อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็น ๒ กลุ่มเกษตรกรนำร่อง และขณะนี้มิใช่เฉพาะนครชัยบุรินทร์ อันประกอบไปด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เท่านั้น ที่มีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงไก่โคราช แต่ได้ขยายเขตไปถึงจังหวัดศรีสะเกษ ทางศูนย์วิจัยฯ จึงต้องการที่จะขายลูกไก่เพื่อให้เกษตรกรได้เลี้ยงและพัฒนา จุดนี้คือความภาคภูมิใจว่าพี่น้องประชาชนได้มีอยู่มีกิน ได้มีวิชาชีพเสริมอีกอย่างหนึ่งที่จะไปพัฒนาได้ และในอนาคตหากไก่เนื้อโคราชได้รับความนิยมก็จะเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมีความพร้อมแล้วที่จะตอบสนองต่อนโยบาย innovative startup ของรัฐบาล โดยเรามีนวัตกรรม  คือพันธุ์ไก่เหลืองหางขาว และพันธุ์ไก่ มทส. ซึ่งเป็นพ่อและแม่พันธุ์ของไก่โคราช ที่พร้อมใช้ในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ในธุรกิจพันธุ์ไก่ เพื่อปักธงและทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำในด้านธุรกิจพันธุ์ไก่ในภูมิภาคอาเซียน

          ทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ กล่าวว่า “การลงนามในวันนี้จะเป็นการพัฒนาไปสู่การปักธง เพื่อที่จะขับเคลื่อนให้ไก่โคราชไม่เป็นเพียงอาชีพของเกษตรกรเท่านั้น แต่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบและเทคโนโลยีการวิจัยด้วย คาดว่างานทั้งหลายเหล่านี้จะทำให้เป้าหมายของมหาวิทยาลัย และเป้าหมายของสกว. ในการสร้างคน สร้างผลงานวิจัย และสร้างระบบวิจัยเป็นไปได้อย่างดียิ่ง เป็นการพิสูจน์ต่อสังคมว่า งานวิจัยไม่ใช่การลงทุน ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายโดยไม่มีผลตอบแทน อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการวิจัยในครั้งนี้จะไม่มีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งปัญหานี้เป็นความวิตกของรัฐบาลและทางศูนย์วิจัยฯ เกษตรกรรายย่อยทั่วไปสามารถเข้าถึงไก่พันธุ์นี้ได้โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำ”

          “ผลจากการดำเนินงานวิจัยของศูนย์ฯ จะทำให้ประเทศมีสายพันธุ์ไก่ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของไก่ที่มีเนื้อ มีประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภค และทำให้ผู้ประกอบการผลิตไก่โคราชมีเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการควบคุมฟาร์ม ได้แก่ ระบบการติดตามตรวจอุณหภูมิ ความเร็วลม ด้วยโทรศัพท์มือถือ ระบบการสั่งจ่ายอาหารอัตโนมัติผ่านมือถือ ระบบการตรวจสอบและวินิจฉัยโรคโดยสัตวแพทย์แบบ real time โดยเน้นว่า เครื่องมือและระบบทั้งหมดนี้ ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงได้ ทั้งในแง่ของราคา และการใช้งาน ทั้งหมดนี้จะเป็นการยกระดับความสามารถของเกษตรกร ในการแข่งขันบนเวทีอาเซียน

          ทั้งนี้ ผู้สนใจข้อมูลเกี่ยวกับไก่เนื้อโคราช สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ โมฬี สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โทรศัพท์ ๐๔๔ – ๒๒๔๕๖๙, โทรสาร ๐๔๔ – ๒๒๔๓๗๖, E-mail address : amonrat@sut.ac.th


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๓๙ วันเสาร์ที่ ๑๖ - วันพุธที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙


709 1,490