January 22,2016
พบ‘สิรินธรน่า โคราชเอนซิส’พันธุ์ใหม่ สร้าง‘ไดโนพาร์ค’๑,๓๙๐ ล้าน
“สิรินธรน่าโคราชเอนซิส” ไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ เป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก อายุ ๑๒๐ ล้านปีก่อน ค้นพบที่บ้านสะพานหิน ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา
สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ วิจัยร่วมกับญี่ปุ่น พบไดโนเสาร์โคราชพันธุ์ใหม่ของโลก “อิกัวโนดอนต์สิรินธรน่า” เทิดพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมเชิญชวนเยี่ยมชมซากดึกดำบรรพ์ เตรียมพัฒนาให้เป็นไดโนพาร์ค ด้วยงบประมาณ ๑,๓๙๐ ล้านบาท
เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๓๐ น. ณ ห้องประชุมชั้น ๒ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา บ้านโกรกเดือนห้า ถนนมิตรภาพ-หนองปลิง ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานแถลงข่าว “การค้นพบไดโนเสาร์โคราชพันธุ์ใหม่ของโลก กับการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ ๖๐ พรรษา” พร้อมด้วยนายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี, นายสุรพันธ์ ดิสสะมาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ, รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราภัฏนครราชสีมา, Prof. Dr.Yoichi Azuma ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ มหาวิทยาลัยฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น และ Mr. Masateru Shibata นักวิจัยไดโนเสาร์ จากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น
ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ กล่าวว่า จากการค้นพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จึงได้จัดทำหนังสือส่งถึงสำนักราชเลขานุการ ทูลเกล้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระบรมราชานุญาตให้มีนามของพระองค์ในชื่อไดโนเสาร์พันธุ์นี้ว่า อิกัวโนดอนต์ “สิรินธร” ให้เป็นที่ประจักษ์และภาคภูมิในของชาวไทย ชิ้นส่วนที่พบนั้นเป็นชิ้นส่วนของกะโหลก ในทางวิทยาศาสตร์และทางวิชาการการวิจัยจะให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากสามารถนำไปเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์อื่น เพื่อระบุสายพันธุ์ของไดโนเสาร์ได้ ชิ้นส่วนทั้งหมดของกะโหลกที่ค้นพบมีอยู่ประมาณกว่า ๑๐ ชิ้น ไม่รวมถึงกระดูกชิ้นส่วนอื่นๆ โดยทางสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ จะนำองค์ความรู้เหล่านี้มาพัฒนานิทรรศการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้ทราบถึงการค้นพบบรรดากลุ่มไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ที่มากที่สุดในอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของเรา ก่อนหน้านี้ทางสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ สามารถค้นพบไดโนเสาร์ที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกได้ ๓ สกุล ประกอบด้วย ๑. สิรินธรน่า ๒. ราชสีมาซอรัส และ ๓. สยามโนดอล ซึ่งการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ในตะกูลอิกัวโนดอนต์ครั้งนี้จัดอยู่ในสกุล “สิรินธรน่า” โดยใช้ชื่อว่า “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis)” ถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการพัฒนาเป็นไดโนพาร์คต่อไป ซึ่งในขณะนี้ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความเห็นชอบในหลักการ และอยู่ในช่วงของการทำแผนบริหารจัดการเรื่องของพื้นที่ในการก่อสร้าง โดยเป็นพื้นที่สาธารณะของกรมป่าไม้ ซึ่งจะตั้งอยู่ในเขตตำบลโครกกรวด-สุรนารี ขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการออกแบบสวน และรูปแบบตัวอาคาร ส่วนงบประมาณของการสร้างไดโนพาร์คที่ขออนุมัติไปประมาณ ๑,๓๙๐ ล้านบาทแต่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ จึงอาจจะทยอยสนับสนุนงบประมาณไปเรื่อยๆ
“นอกเหนือจากการค้นพบไดโนเสาร์ตระกูลอิกัวโนดอนต์ที่เป็นสัตว์กินพืชแล้ว ในขณะเดียวกันก็ได้ดำเนินการตรวจสอบและวิจัยของไดโนเสาร์สายพันธุ์ที่กินเนื้อ ซึ่งคาดว่าจะเป็นไดโนเสาร์ตระกูลเดียวกับทีเร็กซ์ มีความยาวไม่ต่ำกล่า ๑๐ เมตร เนื่องจากเจอชิ้นส่วนของขากรรไกรล่างที่มีความยาว ๕๐ ซม. ซึ่งเป็นครึ่งเดียวของชิ้นส่วนของกะโหลกที่มีความยาว ๑ เมตร และฟันมีความยาวไม่ต่ำกว่า ๑๐ ซม. จัดอยู่ในจำพวกไดโนเสาร์ฟันฉลาม ที่เป็นตะกูลเดียวกับจิกแกนโนโตซอรัส (กิก้าโนโตซอรัส) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยทำการค้นพบที่ประเทศอาร์เจนตินา ฉะนั้น หากมีผลการวิจัยออกมาก็จะเพิ่มน้ำหนักของการเป็นเมืองบรรพชีวิน เป็นประตูสู่อาณาจักรไดโนเสาร์ และสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ จะผลักดันโครงการไดโนพาร์คให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมาต่อไป” ผอ.สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ กล่าว
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ชิ้นส่วนไดโนเสาร์ในครั้งนี้ค้นพบที่บ้านสะพานหิน ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา ลักษณะของไดโนเสาร์ชนิดกินพืช มีขนาดความสูงประมาณ ๒ เมตร และมีความยาวประมาณ ๖ เมตร ไดโนเสาร์พันธุ์นี้มีความแตกต่างจากไดโนเสาร์กินพืชอื่นๆ เพราะส่วนใหญ่จะมีลักษณะคอยาว เมื่อเปรียบเทียบกับ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ปัจจุบันนี้โคราชพบไดโนเสาร์มากที่สุดทั้งหมด ๓ สกุล ได้แก่ ๑. สิรินธรน่า ๒. ราชสีมาซอรัส และ ๓. สยามโมดอน นอกจากนี้สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ยังเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ออกสู่ประชาชนอีกด้วย หากมีการพัฒนาดินแดนแห่งนี้ให้เป็นไดโนพาร์ค ซึ่งทาง ครม.ได้อนุมัติให้ดำเนินการแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะมีไดโนพาร์คที่สมบูรณ์แบบ ผู้ที่มีความสนใจสามารถมาร่วมเข้าชมได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศทั่วโลก
“ด้วยศักยภาพด้านทรัพยากรฟอสซิลไดโนเสาร์ระดับอาเซียนและมีฟอสซิลไดโนเสาร์กระจายอยู่ไม่ต่ำกว่า ๔ อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครราชสีมา ปักธงชัย สีคิ้ว และด่านขุนทด รวมทั้งทำเลที่ตั้งของจ.นครราชสีมา ที่เป็นเหมือนประตูสู่อาณาจักรไดโนเสาร์อีสานและอินโดจีน โคราชจึงควรมีไดโนพาร์คในระดับอาเซียนด้วย ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ยังคงดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ซึ่งตนหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากบุคคล และองค์กรทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันผลักดันโครงการโคราชไดโนพาร์คให้เป็นความจริง โดยมี “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส” เป็นไฮไลต์หนึ่งที่ชาวโคราชจะได้ภาคภูมิใจไดโนพาร์คที่จะมีขึ้น” นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าว
นายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า หวังว่าในอนาคตสถาบัน วิจัยไม้กลายเป็นหินฯ แห่งนี้จะเป็นศูนย์การเรียนรู้คู่จังหวัดโคราช เพราะว่าการค้นพบไดโนเสาร์ครั้งนี้จะเป็นตัวที่บ่งบอกถึงความเป็นมาของสิ่งมีชีวิตในอดีตของโลก และแผ่นดินอีสาน โดยเฉพาะที่โคราชว่าสิ่งที่ค้นพบมีวิวัฒนาการอย่างไร สิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นจะเป็นประโยชน์ต่องานวิจัย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของสาธารณชนในทุกระดับ ซึ่งฟอสซิลถือว่าเป็นมรดกของชาติที่จะต้องเก็บรักษาและอนุรักษ์ไว้เผยแพร่ความรู้ และจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาความรู้ต่อไป แล้วอาจพัฒนาเป็นแหล่งไดโนพาร์คตามความตั้งใจของจ.นครราชสีมา จากข้อมูลที่มีการสำรวจพบซากไดโนเสาร์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๙ ขณะนั้นมีนักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณีเริ่มสำรวจและค้นพบชิ้นส่วนไดโนเสาร์ชิ้นแรกที่ภูเขาประตูตีหมา อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น หลังจากนั้นจึงได้คิดโครงการที่จะพัฒนาเรื่องการสำรวจไดโนเสาร์อย่างเป็นระบบ ในสมัยแรกร่วมมือกับประเทศฝรั่งเศสและสถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น จากนั้นดำเนินการวิจัยถึงปัจจุบัน เมื่อมีการค้นพบมากขึ้นก็เล็งเห็นว่าซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้มีความสำคัญกับกรมทรัพยากรธรณี จึงได้เสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.๒๕๕๑ โดยจะคุ้มครองตั้งแต่กระบวนการวิจัยไปถึงการเก็บรักษาเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับประเทศไทยต่อไป
นายสุรพันธ์ ดิสสะมาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวสนับสนุนว่า อีกไม่นานอาจจะมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ เรื่อง การพบไดโนเสาร์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนอีกก็ได้ ดังนั้น เรื่องของฟอสซิล หากพิจารณาถึงฟอสซิลอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นไม้กลายเป็นหิน หรือซากช้างดึกดำบรรพ์ ซึ่งทราบว่าพบที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา หลายสายพันธุ์มากที่สุดในโลก เนื่องจากการพบชิ้นส่วนโครงกระดูกของช้างดึกดำบรรพ์ถึง ๑๐ สกุล จาก ๔๔ สกุลที่พบทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “โคราช” เป็นนครแห่งบรรพชีวิน หรือฟอสซิล เป็นคำกล่าวที่มีหลักฐานสนับสนุน และจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจุดแข็งที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น การประกาศจัดตั้งอุทยานธรณีโคราชที่ผ่านมาก็อาศัยจุดแข็งดังกล่าว ซึ่งน่าจะก้าวไปสู่อุทยานธรณีระดับประเทศและระดับโลกได้ด้วย ทั้งนี้ จ.นครราชสีมา ก็ได้พิจารณาให้เป็นวาระสำคัญของจังหวัด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานสากลของโคราชต่อไป
รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา และกรมทรัพยากรธรณี ดำเนินการประชาสัมพันธ์ถึงพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสนพระทัยและส่งเสริมสนับสนุนการสำรวจ ศึกษา วิจัย และอนุรักษ์บรรพชีวินหรือฟอสซิลของประเทศไทย เพราะพระองค์ทรงศึกษาหาความรู้เก็บข้อมูลในภาคสนาม ทั้งร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับฟอสซิลมาโดยตลอดกว่า ๒๕ ปี จึงเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจยิ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามของพระองค์เป็นชื่อของไดโนเสาร์ “อิกัวโนดอนต์” ซึ่งนับเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่พบในโคราช ชื่อว่า “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส (Sirindhonrna khoratensis) โดยก่อนหน้านี้ทรงอนุญาตให้ใช้ชื่อ “สิรินธรเน่” เป็นชื่อชนิดของไดโนเสาร์สกุลภูเวียงโกซอรัส สำหรับครั้งนี้เป็นชื่อระดับสกุลจึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้น นับเป็นความภาคภูมิใจที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้มีโอกาสปฏิบัติงานเทิดพระเกียรติในวโรกาส ๖๐ พรรษาของพระองค์ ขอขอบคุณคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยจังหวัดฟูกุจิ และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุจิ ประเทศญี่ปุ่น ที่สนับสนุนทั้งงบประมาณ นักวิจัย เครื่องมือในการวิจัย รวมทั้งสถาบันบรรพชีวินวิทยาฯ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ
Prof. Dr.Yoichi Azuma ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ มหาวิทยาลัยฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า เป็นข่าวดีสำหรับชาวไทยและชาวญี่ปุ่น ที่มีการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ตนได้มีโอกาสเดินทางมาประเทศไทยครั้งแรกในปี ค.ศ.๒๐๐๗ และได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เห็นว่าการทำงานของพิพิธพันธ์แห่งนี้มีการค้นพบซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ ซึ่งการปฏิบัติงานของสถาบันแห่งนี้มีความใกล้เคียงกับศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ของมหาวิทยาลัยฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น จากนี้ไปประเทศไทยและญี่ปุ่นคงได้ร่วมมือกันทำวิจัยเกี่ยวกับซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ให้พัฒนายิ่งขึ้น ระยะเวลากว่า ๑๐ ปี มีการวิจัยและขุดค้นตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าทางด้านวิชาการของการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ และจากนี้ไปก็จะพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น โดยหวังว่าจะมีงานวิจัยและพัฒนาทางด้านการค้นพบต่อไป
“การขุดพบครั้งนี้จะแตกต่างจากที่จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากสภาพธรณีวิทยาที่ไม่เอื้ออำนวย เพราะสภาพชิ้นส่วนอยู่ในหินจึงต้องใช้เวลาค่อนข้างนานเพื่อจะนำออกมา ทำให้ไม่สามารถพบชิ้นส่วนที่มีขนาดใหญ่หรือยาวเหมือนกับที่จ.กาฬสินธุ์ได้ แต่จะพบในรูปแบบที่แตกหักและกระจัดกระจายไปทั่ว ซึ่งมีอายุประมาณ ๑๒๐ ล้านปี อยู่ในยุคครีเทเซียส และสามารถบอกได้ว่าสายพันธุ์ที่พบในครั้งนี้เป็นสายพันธุ์เริ่มแรกของอิกัวโนดอนต์ และเป็นจุดกำเนิดของวิวัฒนาการไปเป็นไฮโนซอรัส นอกเหนือจากนั้นยังได้ทำการศึกษาถึงระบบการทำงานของสมองเพื่อจะนำไปต่อยอดในอนาคตต่อไป” Prof. Dr.Yoichi กล่าว
Mr.Masateru Shibata นักวิจัยไดโนเสาร์ จากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า จากขั้นตอนการค้นพบซากไดโนเสาร์จากแท่นหินที่แข็งมาก มีคนในท้องถิ่นหลายคนมักตั้งคำถามว่าจะขุดพบอะไร? หลังจากที่ทลายก้อนหินที่มีขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลงแล้วก็ได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านบริเวณละแวกนั้นในการกะเทาะหิน เนื่องจากต้องมีความอดทนและความมุมานะของผู้ร่วมงานจนทำให้ชาวบ้านในพื้นที่พบชิ้นส่วนของกระดูกที่อยู่ในก้อนหินเป็นวัตถุขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นชิ้นส่วนกะโหลกและฟันทั้งหมด ๑๙ ชิ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่เป็นฐานของฟันสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นไดโนเสาร์ชนิดใด นอกจากนี้ยังสังเกตได้ที่บริเวณรอบคอและหางมีส่วนประกอบที่ใหญ่ขึ้น ลักษณะของกะโหลกที่ค้นพบสามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ที่แปลกใหม่ อาจมาจากหลากหลายสายพันธุ์ หลังจากนั้นจึงได้ลองทำกราฟฟิกดีไซน์ภาพจำลองของไดโนเสาร์พันธุ์นี้ขึ้นมา ทั้งนี้ ไดโนเสาร์สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ซอริสเชียน และออร์นิทิสเชียน โดยลักษณะเฉพาะที่ค้นพบจากซากไดโนเสาร์แห่งนี้ คือ มีลักษณะเป็นประเภทเดียว บริเวณด้านยาวของช่วงปากมีความยาว และช่องตามีขนาดยาวมากกว่าสายพันธุ์อื่นซึ่งพบที่นี่เป็นที่แรก เมื่อเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์พันธุ์ราชสีมาซอรัสที่มีความสูง หนา และยาวกว่าสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย จึงเป็นเหตุผลที่ต้องตั้งชื่อใหม่ขึ้นมา
Mr.Masateru Shibata กล่าวสรุปว่า งานวิจัยครั้งนี้ได้ประโยชน์ในการค้นพบซากกะโหลกไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย เพราะไม่มีที่ใดที่ได้รูปแบบโครงกะโหลกที่สมบูรณ์เท่าที่นี่มาก่อน และจากโครงกะโหลกที่ค้นพบทำให้สามารถมองเห็นโครงร่างที่สัมพันธ์กับไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ว่า มีความยาวตั้งแต่ศีรษะถึงปลายหางประมาณ ๖ เมตร หลังจากที่ค้นพบชิ้นส่วนกระดูกครั้งนี้ยังได้พบสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันอีกด้วย คาดว่าอยู่ในบริเวณไม่ไกลกันมาก การศึกษาในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าประเทศไทยน่าจะเป็นของศูนย์กลางในการค้นพบสายพันธุ์ไดโนเสาร์ในเอเชียได้ และจะขยายไปในพื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ผลของการวิจัยทำให้เห็นถึงวิวัฒนาการของไดโนเสาร์จากอดีตที่ผ่านมา
อนึ่ง อิกัวโนดอนต์ “สิรินธร” (Sirindhorna khoratensis) เป็นไดโนเสาร์ประเภทมีกระดูกสะโพกแบบนก กินพืช และอยู่ในกลุ่มย่อยที่มีหัวแม่มือเป็นเดือยแหลมของกลุ่มใหญ่อิกัวโนดอนต์ ซึ่งความหมายของอิกัวโนดอนต์ในภาษาอังกฤษ Lguanodont มาจาก Lguana และ -odont หรือ -odon ที่หมายถึงฟันในภาษากรีก อิกัวโนดอนต์จึงหมายถึง กลุ่มไดโนเสาร์กินพืชกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่มีฟันคล้ายฟันกิ้งก่าอิกัวน่า แต่มีลักษณะที่ใหญ่กว่ามาก และจัดเป็นไดโนเสาร์ขนาดกลางถึงใหญ่ มีความยาวประมาณ ๔-๑๔ เมตร อายุประมาณ ๑๒๐ ล้านปีมาแล้ว ขนาดความยาว ๖ เมตร ความสูงระดับสะโพก ๒ เมตร น้ำหนักประมาณ ๑ ตัน ซึ่งแหล่งค้นพบอยู่ที่ บ้านสะพานหิน ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sirindhorna khoratensis เป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก โดยชื่อสกุล “สิรินธร” เป็นพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงสนพระทัยส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัยและอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ ส่วนชื่อชนิดเป็นชื่อของแหล่งพบ คือ โคราช (Khorat/korat) ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันทั่วไปของจ.นครราชสีมา โดยผู้วิจัยได้แก่ Mr. Masateru Shibata, Asst. Prof. Dr. Pratueng Jintasakul, Dr. Hai-Lu You และ Prof. Dr. Yoichi Azuma 2015 และสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๔๐ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙
793 1,508