22ndNovember

22ndNovember

22ndNovember

 

March 19,2016

พร้อมเปิดเวทีฟังประชาชน ขนส่งสาธารณะนครโคราช เสนอเชื่อมโครงข่ายสู่สนามบิน


          สนข.จ้าง มทส.ศึกษาแผนแม่บทจราจรและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองโคราช พร้อมเชื่อมสู่สนามบิน ชี้วิถีชีวิต รถไฟไทย-จีน ศูนย์การค้าใหม่ ทำบริบทเมืองเปลี่ยนด้านนักวิชาการผังเมืองระบุถ้าสรุปต้องสร้างระบบที่ไม่ใช่ระดับถนนเดิม เตรียมรับหินก้อนใหญ่ ‘สุรวุฒิ’ หวังคนพื้นที่มีมุมมองที่ดี เตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็นปลายเดือนนี้

          ตามที่เทศบาลนครนครราชสีมา โดยนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรี นำเสนอ “โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา” ต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งที่ประชุม คจร. มีมติเห็นชอบกับรูปแบบโครงการดังกล่าว และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จัดสรรงบประมาณศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา พร้อมทั้งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่นั้น ล่าสุดมีรายงานว่า สนข. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ดำเนินงาน “โครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา” วงเงิน ๔๓,๗๐๐,๐๐๐ บาท มีระยะเวลาดำเนินการ ๑๔ เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๙ สิ้นสุดวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๐

ผลศึกษาเบื้องต้นชี้‘สกายบัส’

          ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเทศบาลนครนคร ราชสีมา ในสมัยนายสุรวุฒิ เชิดชัย เป็นนายกเทศมนตรี มีแนวคิดที่จะสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา จึงว่าจ้างสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. รวมทั้งดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บจก.พีเอสเคคอลซัลแทนส์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระบบเทคโนโลยีขนส่งอัจฉริยะ ด้วยงบประมาณ ๑๓ ล้านกว่าบาท จัดทำแผนแม่บทและศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ โดยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนภาคส่วนต่างๆ แล้ว ๒ ครั้ง ซึ่งขณะนั้นมีข้อสรุปเบื้องต้นว่า “รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษแบบยกระดับ (Elevated Bus Rapid Transit - BRT ยกระดับ หรือที่เรียกว่า Sky Bus) เป็นระบบที่มีความเหมาะสมกับระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา” ทั้งทางด้านกายภาพของถนน ปริมาณผู้โดยสาร มูลค่าการลงทุน ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเงินการลงทุน ใช้เงินลงทุน ๔,๘๔๐ ล้านบาท โดยจะนำร่องเส้นทางจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย-บ้านเกาะ ระยะทาง ๑๓.๙๔ กิโลเมตร ทำให้เภสัชกรจักริน เชิดฉาย ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาขณะนั้น ท้วงติงกระบวนการศึกษา โดยระบุว่า ขาดความรอบด้าน ทั้งที่ระบบขนส่งมวลชนมีหลากหลายรูปแบบ แต่กลับสรุปว่า BRT ยกระดับมีความเหมาะสมกับระบบขนส่งมวลfชนเมืองนครราชสีมามากที่สุด และไม่ใช่การเปิดรับฟังความคิดเห็นที่ถูกต้อง เพราะไม่ครอบคลุมไปถึงภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะพ่อค้าและนักธุรกิจในพื้นที่

          ต่อมาวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ได้จัดสัมมนารับฟังแนวคิด “การจัดระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา” อีกครั้ง ที่ห้องประชุมชั้น ๕ อาคารกาญจนาภิเษก เทศบาลนครนครราชสีมา ภายหลังเข้าร่วมประชุมกับ คจร. และนำเสนอโครงการดังกล่าว โดยดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ในฐานะผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสมระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา ชี้ให้เห็นว่า เมื่อคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าสูงสุด (๐๗.๐๐-๑๐.๐๐ น.) ในปี พ.ศ.๒๕๙๐ (๓๐ ปีข้างหน้า) เท่ากับ ๑๑,๖๐๐ คน/ชั่วโมง/ทิศทาง ประกอบกับการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเงิน/การลงทุน และสิ่งแวดล้อม ได้ข้อสรุปว่า ระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษแบบยกระดับ หรือ Sky Bus เป็นระบบที่มีความเหมาะสมกับระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา โดยมีคะแนนรวมสูงสุด ๗๖.๘๘ คะแนน ที่สำคัญคือ ระบบยกระดับทำให้ไม่มีผลกระทบด้านการจราจรบนถนนมิตรภาพ และสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ควบคุมเวลาการให้บริการได้ อีกทั้งการใช้ระบบรางบังคับล้อจากความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม จะช่วยให้การให้บริการมีความปลอดภัย และระบบ Sky Bus ที่เป็นรถโดยสารจะมีวงเลี้ยวแคบกว่าระบบราง ทำให้ลดปัญหาการเวนคืนพื้นที่ประชาชนตามแนวสายทาง ประเมินค่าก่อสร้างในเส้นทางนำร่องสายสีน้ำเงิน จากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย-บ้านเกาะ จำนวน ๓,๙๗๗ ล้านบาท ซึ่งยังคงมีเสียงเรียกร้องให้ศึกษาระบบขนส่งมวลชนต่างๆ อย่างละเอียดและคุ้มค่างบประมาณเพื่อให้ตอบสนองกับเมืองนครราชสีมา ก่อนจะด่วนสรุปว่า Sky Bus มีความเหมาะสม ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวลงฉบับที่ ๒๓๐๐ วันที่ ๑-๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘

๓ โจทย์วางระบบขนส่งมวลชน

          สำหรับการดำเนินโครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๙ ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา และหัวหน้าศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ เปิดเผยรายละเอียดกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดำเนินงานในโครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา วงเงิน ๔๓,๗๐๐,๐๐๐ บาท เริ่มงานตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๙ สิ้นสุดวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๐ ระยะเวลารวมทั้งสิ้น ๑๔ เดือน ทั้งนี้ มีหลายปัจจัยที่ทาง สนข. มอบหมายให้ มทส. ดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากเคยได้รับว่าจ้างจากเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อจัดทำแผนแม่บทและศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ เป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่จะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อีกทั้ง มทส. ยังมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านวิศวกรรมโยธา และวิศวกรรมขนส่ง ซึ่งการดำเนินงานศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมาครั้งนี้ ประกอบด้วย ๓ ส่วนหลัก ดังนี้

          ๑. จัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง เช่น ท่าอากาศยานนครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่กว้างประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ๒. จัดทำแผนแม่บทการจัดระบบการจราจรในเขตเมืองนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนแม่บททั้งระบบการขนส่งสาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น รถโดยสารทุกประเภท อาจจะเป็นรถเมล์ รถสองแถว มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือ BRT (รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษแบบยกระดับ) เป็นต้น ขณะเดียวกันระบบการจราจรจำเป็นต้องวางแผนป้องกันเรื่องการจราจรติดขัด และป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นด้วย หลังจากที่ได้จัดทำแผนแม่บทระบบการขนส่งสาธารณะและการจราจรแล้วเสร็จ สุดท้าย ๓. ศึกษาจัดทำรูปแบบเบื้องต้น (Conceptual Design) โดยคัดเลือกเส้นทางเป็นโครงการนำร่องระบบขนส่งสาธารณะ ๑ เส้นทาง ซึ่งจะใช้เกณฑ์การพิจารณาจากความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเสนอแนวคิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีระบบขนส่งมวลชน (Transit oriented development : TOD) หรือจุดจอดของระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะพยายามทำให้เหมือนกับต่างประเทศหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะพื้นที่โดยรอบสถานีจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีราคาสูง ที่สำคัญคือต้องทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เช่น มีร้านค้าเชิงพาณิชย์ หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

พัฒนาเชื่อม‘สนามบินหนองเต็ง’

          “ณ วันนี้ ในมุมมองของผม โดยเฉพาะการจัดทำแผนแม่บทที่จะต่อเนื่องพื้นที่ที่มีความต้องการเดินทาง เช่น ท่าอากาศยานนครราชสีมา (สนามบินหนองเต็ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา) จะเห็นได้ว่า จังหวัดนครราชสีมา ใกล้กรุงเทพฯ คนส่วนใหญ่เดินทางโดยรถยนต์ หลายบริษัทที่เข้าลงทุนที่โคราชไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่โคราชเป็นจังหวัดขนาดใหญ่และมีประชากรอยู่อาศัยจำนวนมาก เมื่อต้องการเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือต้องเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือรถทัวร์ (รถโดยสารประจำทาง) เพื่อเข้าสู่กรุงเทพฯ แล้วต่อเครื่องบินพาณิชย์ไปยังจุดหมายปลายทาง ทั้งที่ปริมาณผู้ที่ใช้บริการทางอากาศยานมีมากพอสมควร แต่ไม่ได้เกิดการพัฒนาเพราะเราไม่มีระบบที่เอื้อหรือเชื่อมโยงไปสู่สนามบิน ธุรกิจต่างๆ ที่เข้ามาลงทุนจึงไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก ดังจะเห็นได้ว่า มีหลายจังหวัดซึ่งเมื่อมีสายการบินพาณิชย์มาเปิดให้บริการแล้ว จังหวัดนั้นจะเกิดการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าท่าอากาศยานนครราชสีมาจะประสบความสำเร็จและเจริญมากกว่านี้ ถ้าพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเชื่อมการเดินทางกับอากาศยาน” ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ กล่าว

‘ชีวิต-รถไฟ-ศูนย์การค้า’เปลี่ยน!

          ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ ชี้ให้เห็นว่า การจัดทำแผนแม่บทและศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ กับการจัดทำแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ที่ได้เริ่มดำเนินการศึกษาตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๙ เป็นต้นมา จะต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม เนื่องจากบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตของชาวโคราช จากช่วงที่ผ่านมานิยมมีที่ดินเป็นของตัวเอง และปลูกบ้านอยู่อาศัยเอง แต่ปัจจุบันอยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรกันมากขึ้น และเริ่มมีโครงการคอนโดมิเนียมสำหรับอยู่อาศัยเกิดขึ้น อีกทั้งแหล่งช้อปปิ้ง นอกเหนือจากเดอะมอลล์นครราชสีมา ในเร็วๆ นี้ จะมี Terminal 21 มาเปิดให้บริการ รวมถึงเซ็นทรัลพลาซา ก็กำลังก่อสร้าง นี่เป็นบริบทที่ไม่ได้ถูกคิดไว้ในการจัดทำแผนแม่บทฯ เมื่อปี ๒๕๕๕ ปัจจัยต่อมาที่อาจจะต้องมาผนวกเข้ามาด้วย คือ นโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟไทย-จีน ที่จะรองรับรถไฟความเร็วสูงได้ในอนาคตด้วย นอกจากนี้ ในงานศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งในเขตเมืองนครราชสีมา เมื่อปี ๒๕๕๕ จะมี ๕ เส้นทาง ได้แก่ ราชสีมา-บ้านเกาะ, โคกกรวด-ราชสีมา, ประตูน้ำ-หัวทะเล, บ้านเกาะ-จอหอ และแยกขอนแก่น-จอหอ โดยจะนำร่องดำเนินการในเส้นทางสีน้ำเงิน “ราชสีมา-บ้านเกาะ” แต่ทั้งนี้ ในเส้นทางแยกขอนแก่น-จอหอ ศูนย์การค้า Terminal 21 กำลังจะเปิดให้บริการ ทำให้บริบทได้เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีการพัฒนาและต่อยอดการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา โดยจะใช้แผนแม่บทฯ เมื่อปี ๒๕๕๕ เป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดการพัฒนาสำหรับการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทในครั้งนี้

๕ หลักการคัดระบบเหมาะสม

          ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ กล่าวถึงการพิจารณาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีความเหมาะสมว่า เมื่อปี ๒๕๕๕ สรุปในเบื้องต้นว่า รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษแบบยกระดับ (BRT หรือ Sky Bus) เป็นระบบที่มีความเหมาะสมกับระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา เพราะฉะนั้น ในการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทครั้งนี้จะมาตรวจสอบด้วยว่า BRT จะเป็นระบบที่เหมาะสมหรือไม่? ซึ่งภาพรวมการศึกษาจะพิจารณาจาก ๕ หลักการในการวางแผนพัฒนา ประกอบด้วย ๑) ความปลอดภัยสูงสุด เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยระบบขนส่งที่ชาวโคราชใช้บริการในปัจจุบัน ๒) ความเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ที่เรียกว่า Feeder ซึ่งต้องวางระบบเครือข่ายอย่างครบวงจร หลังจากนั้นจะต้องพิจารณา ๓) เทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัย ๔) ความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง และ ๕) การประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เตรียมหยั่งเสียงปลายเดือนนี้

          ในส่วนของการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักตาม TOR ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ ผู้จัดการโครงการฯ ระบุว่า ๑. จัดสัมมนาเพื่อรับฟังข้อเสนอ/ความคิดเห็น ครั้งที่ ๑ (ปฐมนิเทศ) คาดว่าจะดำเนินการในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ หรือต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๙ กำหนดกลุ่มเป้าหมายจำนวน ๑๐๐ คน จาก ๗ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนในรัศมี ๕ และ ๑๐ กิโลเมตร, กลุ่มผู้นำชุมชน เช่น ประธานชุมชน ผู้นำศาสนา และนักการเมืองระดับชาติ/ท้องถิ่น เป็นต้น, เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ในเขตเมืองนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียง, องค์กรภาคเอกชนที่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิประชาชนต่างๆ, ภาคธุรกิจเอกชน, สถาบันการศึกษา/สถาบันศาสนา และสื่อมวลชน ๒. การเข้าพื้นที่เพื่อหารือหรือพบปะกับกลุ่มผู้นำชุมชน/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รอบที่ ๑ ในปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙ และรอบที่ ๒ ปลายเดือนมกราคม ๒๕๖๐ โดยกลุ่มเป้าหมายมุ่งที่ประชาชนท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินงานและเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการฝ่ายปกครองระดับเขต/อำเภอที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น กลุ่มที่ ๑ กลุ่มนักคิดนครราชสีมา เช่น นักวิชาการ และนักปราชญ์ กลุ่มที่ ๒ ประชาชนในแนวสายทางโครงการ กลุ่มที่ ๓ โรงเรียนและสถานศึกษาในแนวสายทางโครงการ กลุ่มที่ ๔ ผู้ประกอบการรถประจำทาง และกลุ่มที่ ๕ ภาคธุรกิจและประชาชนผู้สนใจ ๓. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ กำหนดช่วงปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๕๙ ซึ่งจะดำเนินกิจกรรมร่วมกับกลุ่มผู้นำชุมชน/กลุ่มประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณเขตทางและพื้นที่ใกล้เคียง, เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในเขตเมืองนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียง, องค์กรภาคเอกชนที่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิประชาชนต่างๆ, ภาคธุรกิจเอกชน และสถาบันการศึกษา/สถาบันศาสนา จากนั้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ จะจัดสัมมนาเพื่อรับฟังข้อเสนอ/ความคิดเห็น ครั้งที่ ๒ (ปัจฉิมนิเทศ)

ปริมาณผู้ใช้-ความเร็วสู่แผนแม่บท

          “หากจะระบุว่าระบบขนส่งมวลชนสาธารณะใดเหมาะสมสำหรับเมืองนครราชสีมา จะต้องมี ๒ ปัจจัยประกอบกัน คือ ปริมาณผู้ใช้ และความเร็วของระบบขนส่งมวลชน โดยปกติความเร็วในเมืองเฉลี่ยอยู่ที่ ๓๐ ไมล์/ชั่วโมง ส่วนความสามารถรองรับปริมาณจราจร (Capacity) ขณะนี้ทีมสำรวจได้ลงพื้นที่แล้ว หลังจากนั้นจะพิจารณาว่าระบบขนส่งมวลชนที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับเมืองนครราชสีมาจะเป็นระบบอย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องทำการ info-case สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย อาทิ แผนการจัดวางผังเมืองจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ปริมาณผู้ใช้บริการจะมีมากน้อยเท่าไหร่ เพื่อนำเข้าสู่การจัดทำแผนแม่บทฯ ต่อไป อย่างไรก็ดี การศึกษาครั้งนี้พวกเราชาว มทส. ต้องทำงานร่วมกันทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และจะต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทีเกี่ยวข้องด้วย เพื่อนำเสนอแผนแม่บทฯ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นประโยชน์ต่อชาวโคราชทุกคน” ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ กล่าวในท้ายสุด

พิสูจน์ความเป็นมืออาชีพ‘มทส.’

          ทั้งนี้ ภายหลัง สนข. ว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๒.๐๒ น. ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการผังเมือง คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Nikhom Boonyanusith” ที่ติดตามการศึกษาระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมามาตั้งแต่ต้น และมีข้อท้วงติงถึงแนวทางการคัดเลือกระบบที่มีความเหมาะสมนั้น ได้โพสต์ข้อความว่า “โปรเจ็กต์นี้จะเป็นการพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของ มทส. สถาบันการศึกษาที่อวดอ้างตนเองว่า เป็นผู้นำในเรื่องการวางแผนจราจร หากข้อสรุปของการศึกษาออกมาว่า ต้องสร้างระบบอะไรที่มันลอยอยู่บนฟ้า ไม่ใช่ระดับถนนเดิม มทส. ต้องมีคำตอบต่อสังคมที่สมเหตุผลแบบเถียงไม่ได้ด้วยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หากคำตอบเป็นได้แค่ “ไม่ต้องการรบกวนการจราจรบนถนนเดิม”... ก็เตรียมรับก้อนหินก้อนใหญ่(น่าจะหลายก้อน) จากหลายภาคส่วนของเมืองโคราชได้เลย”

‘สุรวุฒิ’หวังคนพื้นที่มีมุมมองที่ดี

          ด้านนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาล และคณะอาจารย์ มทส. ดำเนินการศึกษาต่อจากโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา ที่ทางเทศบาลนครนครราชสีมาได้นำเสนอก่อนหน้านี้ สำหรับการจัดทำแผนแม่บทฯ ในครั้งนี้ โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ คนในพื้นที่น่าจะมีมุมมองที่ดี และมาร่วมกันมองระบบขนส่งมวลชนเมืองให้กับโคราชของเรา อีกทั้ง มทส. ผู้ได้รับว่าจ้างจาก สนข. ให้ดำเนินการศึกษาครั้งนี้ยังเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ด้วย เทศบาลนครนครราชสีมาคาดหวังว่า จะทำให้เกิดระบบขนส่งมวลชนสำหรับให้บริการในพื้นที่โคราชของเรา และมีโอกาสในการที่จะดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งทางเทศบาลนครฯ พร้อมให้การสนับสนุนอยู่แล้ว และต้องเป็นระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมกับโคราช

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๕๑ วันพุธที่ ๑๖ - วันอาทิตย์ที่ ๒๐ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙


803 1,520