4thJanuary

4thJanuary

4thJanuary

 

February 08,2017

ดัน“โคราชจีโอพาร์ค” ลุ้นดินแดน ๓ มรดกโลก

                เสวนา “การขับเคลื่อนอุทยานธรณีโคราช (KHORAT GEOPARK) สู่อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก” หวังขึ้นทะเบียนอุทยานธรณี “โคราชจีโอพาร์ค” ลุ้นเป็น ๑ ใน ๓ ของโลก รับ The UNESCO triple crowns ดินแดนแห่ง ๓ มรดกโลก ครบ ๓ รูปแบบการอนุรักษ์จากยูเนสโก ชี้มีความโดดเด่นระดับนานาชาติ การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นเป็นหนึ่งในเกณฑ์พิจารณา แจง ‘ไดโนพาร์ค’อยู่ในขั้นตอนสำรวจพื้นที่

                เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๐ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงานเสวนา สภากาแฟ เรื่อง “การขับเคลื่อนอุทยานธรณีโคราช (KHORAT GEOPARK) สู่อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก” โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายทศพล นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานธรณีโคราช รวมถึงผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) นายอำเภอที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่จากหลายภาคส่วนเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ณ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

               


เวทีเสวนา“การขับเคลื่อนอุทยานธรณีโคราช (KHORAT GEOPARK) สู่อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก”

มุ่งเป็นดินแดนแห่ง ๓ มรดกโลก

                ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯและผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานธรณีโคราช ให้ข้อมูลความเป็นมาของอุทยานธรณีว่า อุทยานธรณีเป็นรูปแบบการอนุรักษ์แนวใหม่ขององค์การยูเนสโก เป็นรูปแบบใหม่ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยใช้กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงธรณีให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการอนุรักษ์มรดกของท้องถิ่น อันเป็นมรดกทางธรณีที่มีความโดดเด่นในระดับนานาชาติ รวมทั้งลักษณะทางธรณีวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพืชและสัตว์ และลักษณะทางวัฒนธรรมที่เป็นเรื่องของชีวิตมนุษย์ที่มีความสัมพันธ์ทางธรณีวิทยา เรื่องของอุทยานธรณีจึงมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนในท้องถิ่น ประสบความสำเร็จไปทั่วโลก เห็นได้จากที่ยูเนสโกได้จัดตั้งอุทยานธรณีระดับโลกมากถึง ๑๒๐ แห่ง ใน ๓๓ ประเทศทั่วโลก ในอาเซียนมีอุทยานธรณีอยู่แล้วที่มาเลเซีย (ลังกาวี) อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทางกรมทรัพยากรธรณีมีนโยบายให้จัดตั้งอุทยานธรณีตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ทั้งอุทยานธรณีสตูล อุทยานธรณีสามพันโบก และอีกหลายๆ แห่งที่กำลังดำเนินการ หากประเทศไทยมีการจัดตั้งขึ้น โดยเฉพาะอุทยานธรณีโคราช หากจัดตั้งขึ้นได้ ไทยจะเป็น ๑ ใน ๓ ประเทศของโลก ที่มีรูปแบบการอนุรักษ์ของยูเนสโกครบทั้ง ๓ รูปแบบอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ที่เรียกว่า ‘The UNESCO Triple Crowns’ เป็นดินแดนแห่ง๓มรดกโลก อาจขุดพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่

                “หากถามว่าอุทยานธรณีกับสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือฯ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร เนื่องจากทางสถาบันเป็นที่ปรึกษาในการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรธรณีให้กับอุทยานธรณีจังหวัดสตูล ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโกมา และได้เชิญมาดูที่นครราชสีมาแล้วมีความเห็นว่า จังหวัดนครราชสีมามีศักยภาพจะเป็นอุทยานธรณีระดับโลกได้ เพราะเรามีพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินแล้ว และยังมีพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ กับพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ยูเนสโกมองว่าปรับอีกนิดหน่อยก็สามารถเป็นพิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีได้ รวมทั้งพบว่าที่นครราชสีมาค้นพบซากช้างดึกดำบรรพ์ถึง ๑๐ สกุล ถือว่ามากที่สุดในโลก ค้นพบที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา เรื่องของไดโนเสาร์นั้นขุดค้นพบ อิกัวโนดอนต์ก็พบมากถึง ๓ สายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น สยามโมดอน นิ่มงามมิ(Siamodon nimngami) ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareae) และสิรินธรนา โคราชเอนซิส (Sirindhornna khoratensis) รวมถึงสัตว์อื่นอีกหลายชนิด โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมในการศึกษาขุดค้นไดโนเสาร์ด้วย เห็นได้ว่าจังหวัดนครราชสีมามีความโดดเด่นในเรื่องทรัพยากรฟอสซิลและมีความสามารถที่จะเป็นมหานครแห่งบรรพชีวินได้ โดยมีอาณาเขตครอบคลุม ๕ อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครราชสีมา, อ.สูงเนิน, อ.สีคิ้ว, อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.ขามทะเลสอ อันเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาและกลุ่มหินโคราชเผยตัวให้เห็นชัดเจนและโดดเด่นเรื่องฟอสซิลตั้งแต่เขายายเที่ยงจนถึง อ.เฉลิมพระเกียรติ เพราะฉะนั้นจากจุดแข็งอันนี้เป็นที่มาของการจัดทำแผนแม่บทเพื่อก้าวไปสู่อุทธยานธรณีระดับ ผศ.ดร.ประเทือง กล่าว

 

ย้ำประชาชนต้องมีส่วนร่วม

                ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า ทรัพยากรธรณีก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ของกระทรวงฯ ที่ต้องทำการอนุรักษ์ ในขณะเดียวกันก็ต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย ซึ่งก็สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในกรอบของอุทยานธรณี (GEOPARK) ก็เช่นกัน ได้แก่ นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นอุทยานธรณีระดับโลกก็ต้องฝากทางจังหวัดในเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะยูเนสโกมองถึงเรื่องความยั่งยืน เริ่มตั้งแต่ว่าเป็นความต้องการของชุมชนจริงหรือไม่ ในส่วนนี้ต้องทำให้ชัดเจน ครบตามกฎเกณฑ์ของยูเนสโก เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อเสนอไปแล้วเราต้องได้ เพราะหากได้ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีในระดับนานาชาติแล้วสิ่งที่จะตามมาก็คือการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงฯ มีความมุ่งหวังเป็นอย่างมากว่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะเห็นความพร้อมหลายอย่างในจังหวัดนครราชสีมา

                ด้านนายยงยุทธ ป้อมเอี่ยม นายอำเภอสีคิ้ว กล่าวเสริมถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนว่า จากการเข้าไปสัมผัสกับประชาชนในท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณสถาน หรือสถานที่ที่เป็นที่ตั้งของประวัติศาสตร์ที่เราสามารถสืบค้นได้นั้น ประชาชนในพื้นที่มักไม่ให้ความสนใจ เห็นว่าเป็นของราชการไปเสียทั้งหมด ดังนั้นการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในพื้นที่ก็มีความสำคัญ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการคุยกันว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นี้ด้วย

 

KHORAT หรือ KORAT

                นอกจากนั้น ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯและผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานธรณีโคราช ได้อธิบายถึงการใช้อักษรภาษาอังกฤษในการสะกดคำว่า ‘KHORAT GEOPARK’ เนื่องจากมีผู้สงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ใช้การสะกดว่า KORAT ซึ่งใช้กันอย่างทั่วไป ผศ.ดร.ประเทือง ชี้แจงว่า คำว่าโคราช ที่บัญญัติโดยราชบัณฑิตยสถาน ในทางวิชาการและการวิจัยจะต้องมีตัว H ด้วย คือสะกดว่า K-H-O-R-A-T แต่ตามภาษาทั่วไปที่คุ้นชินกันก็สามารถใช้ว่า KORAT ได้ ไม่มีใครผิด เพียงแต่ในทางวิชาการจะใช้ KHORAT เท่านั้น

 

ยูเนสโกเน้นต้องร่วมมือทุกระดับ

                “สิ่งที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น เพราะยูเนสโกใช้หลัก Bottom up หมายความว่า เป็นการร่วมมือจากล่างสู่บน การร่วมมือจากประชาชนในท้องถิ่นสู่การบริหารในระดับท้องถิ่น จังหวัด สู่กระทรวงต่อไป เข้าใจว่าทุกภาคส่วนมีความกังวลทั้งในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นและเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพราะเมื่อมีเขตอนุรักษ์เกิดขึ้น ท้องถิ่นนั้นๆ ต้องมีจิตสำนึกในความหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่นของตน ส่วนใดที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการให้การศึกษาและองค์ความรู้ โรงเรียน มหาวิทยาลัย หน่วยงานทางการศึกษาก็ต้องเข้ามาดูแล และส่วนใดที่เกี่ยวกับการพัฒนาแบบยั่งยืน ทุกภาคส่วน ดังนั้นมีความหวังว่าผู้นำในระดับจังหวัดจะได้ช่วยเหลือสนับสนุนและดำเนินการและค่อยๆ กระจายเข้าสู่ในระดับท้องถิ่นต่อไป ซึ่งในขณะนี้ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการอุทยานธรณีแล้ว โดยให้เกียรติเป็นประธานด้วย และทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยอธิการบดีและทางสถาบัน จะเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนประสานทุกภาคส่วนแต่ละพื้นที่ เพราะพบว่ามีแหล่งค้นพบทั้งที่เป็นด้านธรณีวิทยาและอื่นๆ ที่สามารถนำเสนอต่อยูเนสโกได้ ไม่ต่ำกว่า ๒๐ แหล่ง” ผศ.ดร.ประเทือง เปิดเผยเพิ่มเติม

 

               

 โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๑๔ วันจันทร์ที่ ๖ - วันศุกร์ที่ ๑๐ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐


686 1,362