3rdDecember

3rdDecember

3rdDecember

 

April 07,2017

‘บางกอกแอร์เวย์ส’ท้าบินปีนี้ กรุงเทพฯ-โคราช รอกรมท่าอากาศยานอนุมัติ

          “บางกอกแอร์เวย์ส” จ่อเปิดเส้นทางบิน“กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” หลังผลประกอบการปี ๒๕๕๙ พุ่งลิ่ว พร้อมเปิดอีกหลายเส้นทางทั้งในและต่างประเทศ ยังไม่กล้าเปิดเผยความชัดเจน รอกรมท่าอากาศยานอนุมัติ ด้านผอ.ท่าอากาศยานโคราชยอมรับยังไม่มีสายการบินใดติดต่อขอบิน ส่วนอดีตประธานหอฯ ย้ำอาจรอความชัดเจน ยอมรับโคราชน่าสนใจ

          ผู้บริหารบางกอกแอร์เวย์ส ระบุถึงแผนการดำเนินธุรกิจปี ๒๕๖๐ ซึ่งบริษัทฯ ยังคงเน้นการขยายโครงข่ายเส้นทางการบินที่ตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารและสายการบินพันธมิตร โดยใช้กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ), สมุย และเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางทางการบิน เพื่อให้ครอบคลุมเส้นทางการเดินทางไปยังเมืองสำคัญหรือแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของภูมิภาคเอเชีย โดยมีแผนจะเปิดในเส้นทางต่างๆ เช่น เชียงใหม่-เวียงจันทน์ (สปป.ลาว), เชียงใหม่-พุกาม (เมียนมา), กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-ฟู้ก๊วก (เวียดนาม) ซึ่งเส้นทางเหล่านี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากหน่วยงานราชการของแต่ละประเทศ และสมุย-กวางโจว (จีน) นอกจากนี้ บริษัทฯ จะเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทางบินที่ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเส้นทางบินภายในประเทศ ได้แก่ เส้นทางบินไป-กลับ เชียงใหม่-สมุย เพิ่มเป็น ๒ เที่ยวบินต่อวัน เชียงใหม่-ภูเก็ต เพิ่มเป็น ๒ เที่ยวบินต่อวัน เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน เพิ่มเป็น ๒ เที่ยวบินต่อวัน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (ขาเดียว) เพิ่มเป็น ๙ เที่ยวบินต่อวัน และภูเก็ต-กรุงเทพ (ขาเดียว) เพิ่มเป็น ๑๐ เที่ยวบินต่อวัน และสำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศ ได้แก่ เส้นทางบินไป-กลับ ระหว่างกรุงเทพฯ-ดานัง (เวียดนาม) เพิ่มเป็น ๗ เที่ยวบินต่อสัปดาห์ กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ (สปป.ลาว) เพิ่มเป็น ๒ เที่ยวบินต่อวัน และเชียงใหม่-มัณฑะเลย์ (เมียนมา) เพิ่มเป็น ๗ เที่ยวบินต่อสัปดาห์

 

รอกรมท่าอากาศยานอนุมัติ

          ล่าสุด “โคราชคนอีสาน” สอบถามไปยังบางกอกแอร์เวย์ส ได้รับการเปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังรอการอนุมัติจากหน่วยงานราชการต่างๆ  ไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดข้อมูลได้ เพราะยังไม่ได้รับการอนุมัติ ยังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะกำหนดการบินอย่างไรบ้าง แต่ได้มีการยื่นเรื่องไปที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจริง เพียงแต่ไม่สามารถบอกข้อมูลได้ โดยบางกอกแอร์เวย์สได้ยื่นเรื่องไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับกลับมา น่าจะอยู่ในช่วงของการพิจารณาว่าจะสามารถเปิดทำการได้หรือไม่อย่างไร หากมีการอนุมัติออกมาแล้ว มีรายละเอียดว่าอย่างไรบ้าง บางกอกแอร์เวย์สยินดีที่จะให้ข้อมูล

 

ค่าตั๋วไม่ควรเกิน ๖๙๐ บ.  

          “โคราชคนอีสาน” สอบถามไปยังนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ถึงความเคลื่อนไหวของสายการบินต่างๆ ที่ประสานมายังหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าฯ โดยได้รับการเปิดเผยว่า เดิมทีบริษัทกานต์แอร์ได้เข้ามาเริ่มก่อน จากนั้นต่อด้วยไลอ้อนแอร์ แอร์เอเชีย และบางกอกแอร์เวย์ส ที่ดูมีความตั้งใจและเอาจริงเอาจังที่จะมาเปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-โคราช นอกจากนี้ยังมีสายการบินอื่นซึ่งเป็นสายการบินที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก สอบถามเข้ามาบ้าง ส่วนขั้นตอนของการดำเนินงานนั้น เช่น ในกรณีไทยไลออนแอร์ ทางนักธุรกิจและหอการค้าฯ ก็ต้องการให้มาเปิดเส้นทางบิน เพราะในบรรดาสายการบินทั้งหมด ไทยไลอ้อนแอร์ถือว่ามีราคาค่าโดยสารค่อนข้างจะถูก เช่น บินในเส้นทางอุดรธานี-กรุงเทพฯ ราคา ๖๙๐ บาท(เที่ยวเดียว) และไม่ต้องจองล่วงหน้า เท่ากับว่าผู้โดยสารมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาก็คาดหวังว่าหากมีการเปิดเส้นทางบินโคราช-กรุงเทพฯ ราคาค่าโดยสารก็ไม่ควรเกิน ๖๙๐ บาท

 


ขอบคุณภาพจาก http://wikiwand.com

ผอ.ท่าอากาศยานฯ ยังไม่ได้รับการติดต่อ

          ทางด้านนายประวัติ ดวงกันยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ในเรื่องเปิดเส้นทางบิน ยังไม่ได้รับการติดต่อจากผู้บริหารของสายการบินแต่อย่างใด แต่ตนก็ทราบว่ามีข่าวออกมา รู้สึกแปลกใจ เพราะบางกอกแอร์เวย์สยังไม่ได้ติดต่อมาที่ท่าอากาศยานฯ รวมทั้งสายการบินอื่นๆ ด้วย เพื่อขอเปิดเที่ยวบิน ซึ่งหากสายการบินใดมีความพร้อมและดำเนินการขออนุญาตจากกรมท่าอากาศยานก็สามารถเปิดสายการบินได้เลย

           

เคยขอใช้สนามกองบิน ๑

          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ คือ เมื่อกลางปี ๒๕๕๙ ผู้แทนสายการบิน “Bangkok Airways (บางกอก แอร์เวย์ส)” ซึ่งเป็นสายการบินเชิงพาณิชย์ ดำเนินงานโดยบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าพบนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ณ ห้องปฏิบัติราชการ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อหารือเรื่องที่จะเปิดเส้นทางบิน “นครราชสีมา-กรุงเทพฯ” โดยขอให้ทางจังหวัดดำเนินการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้สนามบินกองบิน ๑ เป็นสนามบินที่ทำการบินขึ้น-ลงให้บริการผู้โดยสารในเส้นทางดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้นต้องขอสนับสนุนจากหลายฝ่ายช่วยผลักดัน ซึ่งขณะนั้นนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “ทางจังหวัดได้สอบถามผู้แทนสายการบินดังกล่าวว่า มีความประสงค์อยากจะให้มาเปิดทำการบินในเส้นทาง นครราชสีมา-กรุงเทพฯ, นครราชสีมา-เชียงใหม่, นครราชสีมา-หาดใหญ่ (จ.สงขลา) และนครราชสีมา-ภูเก็ต ซึ่งผู้แทนสายการบินบางกอก แอร์เวย์ส ก็มีท่าทีสนใจ แต่เขาอยากลงทุนเปิดเส้นทางบินพาณิชย์ที่สนามบินของกองบิน ๑ ในวันนั้นจึงได้หารือกับผู้บังคับการกองบิน ๑ ในเบื้องต้นว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งทราบว่า เมื่อครั้งนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา (เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙) ได้โดยสารเครื่องบินมาลงจอดที่กองบิน ๑ โดยนายกรัฐมนตรีได้สอบถามว่า ทำไมการบินพาณิชย์จึงไม่มาใช้ที่นี่” ซึ่งกองทัพอากาศไม่อนุญาตให้สายการบินพาณิชย์มาใช้สนามบินกองบิน ๑

 

หลายสายการบินไม่ประสบความสำเร็จ

               ก่อนหน้านี้ “แอร์ฟีนิคซ์” วางแผนเปิดบริการการบิน ในเส้นทางระหว่าง นครราชสีมา-กรุงเทพฯ, นครราชสีมา-เชียงใหม่ และนครราชสีมา-เชียงราย ช่วงเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๕๑ แต่หลังจากเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์เส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๑ ต่อมาผู้บริหารของสายการบินนี้จึงแถลงข่าว โดยระบุว่าไม่สามารถเปิดเส้นทางการบินตามที่วางแผนไว้ได้ เนื่องจากขณะนั้นน้ำมันปรับขึ้นราคาสูงมาก จึงทนแบกรับภาวะขาดทุนไม่ไหว ต่อมาบริษัท แฮปปี้ แอร์ ทราเวิล เลอร์ส จำกัด หรือสายการบินแฮปปี้แอร์ ซึ่งเป็นสายการบินระดับพรีเมี่ยม ที่เกิดจากการลงทุนของนักลงทุนในจังหวัดภูเก็ต มาดำเนินการเปิดบริการสายการบินพาณิชย์ขนส่งผู้โดยสาร ในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-เชียงใหม่ดังกล่าว โดยเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ ก่อนที่จะชะลอการปรับปรุงเส้นทางและปิดให้บริการ จากนั้นสายการบิน “ไทย รีเจียนัล แอร์ไลน์ส” เข้ามาเปิดบริการแทนที่ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๔ แต่เนื่องจากท่าอากาศยานแห่งนี้อยู่ห่างตัวเมืองมาก กอปรกับปัญหาด้านการคมนาคมเข้าสู่สนามบิน ทำให้ความนิยมในการใช้บริการลดลง สายการบินต้องยกเลิกทำการบินไปในที่สุด

          กระทั่งเมื่อปี ๒๕๕๘ สายการบินกานต์ แอร์ เปิดเส้นทางการบินเชื่อมภูมิภาค “นครราชสีมา-เชียงใหม่” เริ่มทำการบินวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ และต่อมาต้องยกเลิกการทำการบิน เนื่องจากมีปัญหาด้านใบอนุญาตทำการบิน จากนั้นมาก็มีกลุ่มทุนใหม่ คือ Pattaya Aviation Group (พัทยา เอวิเอชั่น กรุ๊ป) นำโดยนายทศพร อสุนีย์ หรือ Tony A. ประธานกรรมการ ซึ่งเป็น กลุ่มผู้บริหารใหม่ของบริษัท เลกาซี แอร์ จำกัด เตรียมแผนการที่จะเปิดสายการบินใหม่ ใช้ชื่อว่า “ราชสีมา แอร์เวย์ (Ratchasima Airways)” โดยมีความประสงค์จะลงทุนและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมกับลงทุนในอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจรภายในท่าอากาศยานนครราชสีมา บนเนื้อที่ประมาณ ๗๐๐ ไร่ อาทิ โรงเรียนฝึกการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน เป็นต้น แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้า ก่อนที่จะมีข่าวล่าสุดว่า สายการบินรายใหม่ “บางกอก แอร์เวย์ส (Bangkok Airways)” ของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีความสนใจจะมาเปิดเส้นทางการบินในจังหวัดนครราชสีมา

 

        โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๒๖ วันพฤหัสบดีที่ ๖ - วันจันทร์ที่ ๑๐ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐


712 1,471