25thSeptember

25thSeptember

25thSeptember

 

August 23,2017

เปิดตลาดกลางสินค้าเส้นไหม มุ่งขยายฐานผลิต-การตลาด นครชัยบุรินทร์’ฟันปีละ ๕ พันล้าน

           เปิด “ตลาดกลางสินค้าเส้นไหม”ส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งจำหน่ายเพิ่มขึ้น เป็นศูนย์กลางระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย ขยายฐานการผลิตและการตลาดด้านเส้นไหม เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมผลิตผ้าไหมและอุตสาหกรรมเส้นไหมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ปลื้มไหม “นครชัยบุรินทร์” ทำเงินปีละกว่า ๕,๐๐๐ ล้านบาท

           เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ ที่บ้านน้อย ตำบลบ้านยาง อ.พุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ นายดำรงชัย เนรมิตตกพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดงาน “ตลาดกลางสินค้าเส้นไหม” ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์จัดขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าเส้นไหมให้กับสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน วิสาหกิจชุมชนที่ผลิตเส้นไหม ให้เข้าถึงแหล่งจำหน่ายเพิ่มขึ้น เป็นศูนย์กลางระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย และองค์กรที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายสินค้าเส้นไหมจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งยังเป็นการขยายฐานการผลิตและการตลาดด้านเส้นไหม ให้เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมผลิตผ้าไหมและอุตสาหกรรมเส้นไหมตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง และเพื่อเป็นตลาดหลักในการซื้อขายสินค้าเส้นไหมที่แสดงถึงภาวะตลาดที่แท้จริง และเพิ่มอำนาจการต่อรองให้เกษตรกรให้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม

           โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อขาย เส้นไหม รังไหม ระหว่างร้านเรือนไหม-ใบหม่อน กับสหกรณ์ผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม บ้านหัวสะพาน จำกัด และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการซื้อขายใบหม่อนระหว่างบริษัทไทยซิลค์โปรดัคส์ จำกัด กับสหกรณ์ผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านหัวสะพาน จำกัด นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการ เกี่ยวกับการผลิตไหม การออกร้านการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไหมและอื่นๆ ซึ่งมีส่วนราชการ กลุ่มสหกรณ์ และประชาชน มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

           รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ไหม เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ที่รู้จักแพร่หลาย ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไหมที่สำคัญและมีชื่อเสียงประเทศหนึ่งของโลก แต่เนื่องจากผลผลิตเส้นไหมส่วนใหญ่ที่กลุ่ม เกษตรและเกษตรกรผลิตได้นั้น คุณภาพยังขาดความสม่ำเสมอของมาตรฐาน เพื่อใช้ในระบบอุตสาหกรรมไหม ซึ่งเส้นไหมที่ผลิตได้ภายในประเทศที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐาน ยังมีปริมาณน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้าเส้นไหมจากต่างประเทศปีละกว่า ๒๐๐ ตัน จังหวัดบุรีรัมย์จึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหม่อน เลี้ยงไหมและทอผ้าไหม เนื่องจากเส้นไหม เป็นสินค้าเกษตรที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากมีราคาสูง เมื่อนำมาพัฒนากระบวนการผลิตไหม ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าไหมและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรมากขึ้น

           ด้านนายวีระยุทธ ทุมทอง สหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวนกว่า ๑๓,๒๐๐ ราย สามารถผลิตเส้นไหมได้ประมาณ ๒๔๗,๖๐๐ กก./ปี ถือเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้แก่ครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง การจัดตั้งธนาคารและตลาดกลางเส้นไหมในรูปแบบสหกรณ์ เป็นโครงการนำร่องใน ๔ จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตภัณฑ์ไหมที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ สร้างรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ ๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งตลาดกลางสินค้าเส้นไหม ที่เปิดขึ้นนี้ จะเป็นศูนย์กลางระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย และองค์กรที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายเส้นไหม อีกทั้งยังช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าไหมให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนได้

 


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๕๒ วันจันทร์ที่ ๒๑ - วันศุกร์ที่ ๒๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


697 1,383