January 16,2018
นามเมืองนครราชสีมา (๒)
อ่านนามเมืองนครราชสีมา ๑ ได้ที่ http://koratdaily.com/blog.php?id=7077
๓. อีกตำนานหนึ่ง เมืองนครราชสีมาเดิมชื่อ “เมืองขวางทะบุรี” จากนิทานเพลงลากไม้ของ บุญส่ง ครูศรี (๒๕๓๘ : ๒๗) ที่ว่า
ฉันจะเล่านิทานประวัติ
ของเมืองโคราชให้ทุกคนฟังไว้
เดิมชื่อเมืองขวางทะบุรี
จอมธานีทรงศีลไม่คลอนคลาย
ในนิทานประวัติเรื่อง เมืองขวางทะบุรี ของ ศศิธร ธัญลักษณานันท์. (๒๕๓๐ : ๔๒) เล่าว่า ในสมัยหนึ่งมีเมืองๆ หนึ่งชื่อ ขวางทะบุรีศรีมหานคร ได้ประกาศเป็นข้อห้าม มิให้ชาวเมืองกระทำบาปใดๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ในวัน ๗ ค่ำ และ ๘ ค่ำ วัน ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ผู้ใดฝ่าฝืนจะบังเกิดความพินาศแก่ตนเองและบ้านเมือง มาในสมัยหนึ่งพระยาที่ครองเมืองไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม เที่ยวยกรี้พลไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แย่งชิงสมบัติคร่าลูกเมียผู้อื่น บ้านเมืองเดือดร้อนลุกเป็นไฟทุกหย่อมหญ้า พระยาแถนผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในเทวดาได้ทราบข่าว จึงส่งงูร้ายจำนวนมากมาทำลายเมือง จนในที่สุดเมืองขวางทะบุรีศรีมหานครกลายเป็นเมืองร้าง เหลือผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวคือ นางกองศรี ราชธิดาของพระยาผู้ครองเมือง เพราะพระบิดานำไปซ่อนไว้ในกลองใบใหญ่แห่งหนึ่ง ดัง บุญส่ง ครูศรี (๒๕๓๘ : ๒๗) ได้แต่งเป็นนิทานกลอนที่ว่า
จนลุล่วงเข้าสมัยหนึ่ง
เจ้าเมืองหาซึ้งรสพระธรรมไม่
ยกทัพรุกรานชิงบ้านพรารา
ไม่เลือกหน้าว่าเขาลูกเมียใคร
ละเมิดฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
จิตใจแสนหยาบชั่วช้าเลวร้าย
อาเพศบ้านแตกสาแหรกขาด
ทำเอาปวงราษฎร์ต้องรับเคราะห์ภัย
แถนนั้นให้ฝูงงูมากิน
ปวงชนจนสิ้นแสนอนาถใจ
ก่อนที่เจ้าเมืองจะม้วยมรณ์
ได้ซุกซ่อนพระบุตรีไว้
ให้อาศัยอยู่ในเภรี
“กองศรี”คือนามอรไท
ในครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นมานพชื่อ คัทธกุมาร ออกท่องเที่ยวช่วยเหลือบรรดาสัตว์ที่ทุกข์ยากกับทหารคู่ใจคือ นายชายไม้ร้อยกอ และนายชายเกวียนร้อยเล่ม เมื่อผ่านมาถึงเมืองขวางทะบุรีศรีมหานคร ก็แปลกใจที่เมืองนี้ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย เมื่อไปพบกลองใบใหญ่บนหอกลองแห่งหนึ่งได้เอาไม้เคาะตีมีเสียงดังประหลาดๆ จึงใช้พระขรรค์แหวะหนังกลองพบนางกองศรี นางเล่าเหตุการณ์และบอกว่า ถ้ามีการจุดไฟและควันไฟลอยขึ้นไปบนฟ้า จะมีงูฝูงใหญ่ จะลงมาทำอันตรายทันที คัทธกุมารเห็นว่า ชาวเมืองได้ชดใช้กรรมเพียงพอแล้ว สมควรที่จะใช้ชีวิตอยู่กันเป็นปกติสุข จึงให้ทหารคู่ใจทั้งสองก่อไฟ เมื่อกลุ่มควันลอยขึ้นไปบนอากาศพระยาแถนเห็นเข้าจึงปล่อยฝูงงูร้ายลงมา คัทธกุมารได้ฆ่าฟันงูจนหมดราบเรียบ และได้ชุบพระยาขวางทะบุรีพร้อมมเหสี ชาวเมืองที่ล้มตายต่างฟื้นขึ้นเป็นอัศจรรย์ และให้ชื่อเมืองว่า “เมืองนครราช” บริเวณที่ก่อกองไฟกลายเป็นป่าดงดิบรกทึบ เรียกกันว่า ดงพระยาไฟ ส่วนกระดูกงูได้ถูกน้ำหลากพัดพาไปกองเป็นภูเขาชื่อ ภูหอ หรือ ภูโฮ่ง ดังบุญส่ง ครูศรี (๒๕๓๘ : ๒๗) ได้แต่งเป็นนิทานกลอนที่ว่า
อันชิ้นส่วนกระดูกงูร้าย
ก็บันดาลให้น้ำพัดพาไป
พัดออกไปนอกเขตเมือง
เกิดเป็นเขาเขื่องชื่อ “ภูหอ”ไง
เสร็จกิจจึงมีพจนารถ
ประกาศประทานนามเมืองใหม่
เพื่อให้เป็นเกียรติเป็นศรีนามนาม
ธานี “นครราช”กรุงไกร
นายชายไม้ร้อยกอ อยู่กินกับนางกองศรี และได้รับมอบหมายจาก คัทธกุมาร ปกครองเมืองนครราชด้วยความร่มเย็น
เอกสารทางราชการและงานเขียนทางวิชาการ
๑. ในหนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครราชสีมา (๒๕๒๖ : ๕๕-๕๗) ได้บันทึกประวัติความเป็นมาของจังหวัดนครราชสีมาว่า แต่เดิมในสมัยขอม ตัวเมืองนครราชสีมาตั้งอยู่ท้องที่อำเภอสูงเนิน ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันประมาณ ๓๑ กิโลเมตร มีเมืองอยู่ ๒ เมืองที่เคยเจริญรุ่งเรือง คือ เมืองโคราช หรือ เมืองโคราฆะปุระ กับ เมืองเสมา เมืองโคราฆะปุระ ตั้งอยู่ฝั่งเหนือลำตะคอง (ตำบลโคราช อำเภอสูงเนินปัจจุบัน) มีเทวสถานเป็นปราสาทหิน ๒ - ๓ แห่ง พบศิวลึงค์ศิลากับทับหลังรูปพระอิศวรประทับยืนบนหลังโคอุศุภราช สันนิษฐานว่า ปราสาทหินเป็นเทวสถาน ส่วนเมืองเสมาตั้งอยู่ฝั่งใต้ของลำตะคอง มีกำแพงเมืองและคูเมือง ๔ ด้าน มีโบราณวัตถุสมัยทราวดี ได้แก่ พระพุทธรูปทำด้วยศิลาในลักษณะเป็นพระนอน และธรรมจักรศิลาหรือเสมาธรรมจักร สันนิษฐานว่า เป็นโบราณวัตถุสมัยเดียวกับพระเสมาธรรมจักรที่จังหวัดนครปฐม ต่อมาเกิดกันดารแห้งแล้งและทุพภิกขภัย ชาวเมืองอพยพไปอยู่ที่อื่น ทำให้ทั้งสองเมืองมีสภาพเป็นเมืองร้าง ประมาณ พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงให้ย้ายเมืองทั้งสองมาสร้างเป็นเมืองใหม่ที่อยู่ปัจจุบัน โดยเอานามเมือง คือ โคราฆะปุระ กับ เมืองเสมา ตั้งเป็นชื่อเมืองว่า “เมืองนครราชสีมา”และมีพระราชประสงค์ให้เป็นเมืองหน้าด่านในภูมิภาคนี้ ตัวเมืองมีกำแพงและป้อมปราการอย่างแน่นหนาสำหรับป้องกันรักษาราชอาณาจักร
เมืองนครราชสีมาใหม่ มีกำแพงเป็นรูปกลองไชยเภรี วัดกำแพงโดยรอบยาวประมาณ ๕,๒๑๘ เมตร มีเนื้อที่ภายในกำแพง ๑๐๐ ไร่ มีใบเสมารอบกำแพงเมือง ๔,๓๐๒ ใบ มีป้อมรายรอบ ๑๕ ป้อม มีประตูเมือง ๔ ประตู คือ ประตูชุมพลอยู่ด้านทิศตะวันตก ประตูพลแสนหรือประตูน้ำอยู่ด้านทิศเหนือ ประตูพลล้านอยู่ด้านทิศตะวันออก และประตูไชยณรงค์หรือประตูผีอยู่ด้านทิศใต้ ทุกประตูจะมีหอรักษาการณ์สร้างเป็นรูปเรือน (คฤห) หลังคามุงด้วยกระเบื้องเผา มีช่อฟ้า กระจัง และนาคสะดุ้ง ปัจจุบันประตูเมืองดั้งเดิมเหลือเพียงประตูชุมพลเท่านั้น และป้อมได้ถูกรื้อไปพร้อมกำแพงเมือง ส่วนอีก ๓ ประตูที่พบเห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นในรูปทรงใหม่เพื่อให้ทราบว่าเป็นที่ตั้งของประตูเมืองแต่เดิม การที่ผังเมืองนครราชสีมามีคันคูล้อมรอบและสร้างกำแพงเมืองเป็นเครื่องกั้นศัตรูที่จะมารุกรานนี้ สันนิษฐานว่า นายช่างชาวฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ร่วมวางผังเมือง (เทพชู ทับทอง ๒๕๒๑ : ๖๖)
(อ่านต่อฉบับหน้า)
ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๘๐ วันอังคารที่ ๑๖ - วันเสาร์ที่ ๒๐ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
693 1,545