15thNovember

15thNovember

15thNovember

 

January 22,2018

สุดยอดภูมิปัญญาไทย ‘ผ้าไหมลายราชวัตร’ ส่งเสริมไหมแท้ทอมือ สร้างรายได้แก่ชุมชน

 

 

         “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งานพรอมวัฒนธรรม” ...คือคำขวัญประจำจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งหนึ่งของดีที่สืบสานภูมิปัญญาและกลายเป็นอาชีพเสริมของชาวสุรินทร์มาตั้งแต่บรรพบุรุษคือ การผลิตผ้าไหม โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำเลยก็ว่าได้ คือ การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ทอผ้าไหม กระทั่งกลายเป็นผ้าไหมทอมือคุณภาพดีที่มีวางขายกันอยู่ในทุกวันนี้

          และอีกหนึ่งผลงานด้านผ้าไหมที่สืบทอดภูมิปัญญากันมา ซึ่งจะพาไปทำความรู้จัก โดย “นายธนิต มยูขโชติ” นายอำเภอลำดวน จ.สุรินทร์ นำไปที่บ้านหนองยาง ม.๖ ต.ตรำดม อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ เพื่อสำรวจ เกาะติดสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ของสมาชิก “กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองยาง” จุดแรกที่ไปพบคือสมาชิกอาวุโสของกลุ่มฯ คือ “คุณยายอุม ยืนยาว” อายุ ๘๒ ปี ซึ่งพบว่ากำลังนำเส้นไหมขั้นหนึ่งหรือไหมน้อย (ภาษาเขมร เรียก “โซกซัก”) มาใช้ในการทอผ้า ไหมน้อยจะมีลักษณะเป็นผ้าไหมเส้นเล็ก เรียบ นิ่ม เวลาสวมใส่จะรู้สึกเย็นสบาย การทอผ้าไหมของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองยาง มีกรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อน และเป็นกรรมวิธีที่ยาก ซึ่งต้องใช้ความสามารถและความชำนาญจริง เช่น การทอผ้ามัดหมี่พร้อมยกดอกไปในตัว ทำให้ผ้าไหมที่ได้เป็นผ้าเนื้อแน่นมีคุณค่า และมีการทอที่เดียวใบประเทศไทย ที่บ้านหนองยาง กระทั่งเป็นที่สนพระทัยและเป็นที่ชื่นชอบของสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงรับสั่งว่า ใส่แล้วเย็นสบาย อีกทั้งยังใช้ฝีมือในการทออีกด้วย

           โดยเฉพาะ “ผ้าไหมลายราชวัตร”เริ่มตั้งแต่ผู้คนในบ้านหนองยาง จะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมภายในหมู่บ้านแทบทุกหลังคาเรือน  เมื่อว่างเว้นจากการทำนา ก็จะใช้เวลามาทอผ้า โดยนำภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้เรียนรู้กันมา มาทอผ้าโดยการนำลายจากอดีตโบราณ มาประยุกต์ใช้ให้ทันสมัย เข้ากับปัจจุบัน จุดเด่นคือ “ผ้ามัดหมี่ลายราชวัตร” ที่เดียวในโลก ลักษณะเด่นของผ้าไหมกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองยาง จะมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากขอม  และลวดลายที่บรรจงประดิษฐ์ขึ้นล้วนมีที่มาและมีความหมายอันเป็นมงคล เช่น รูปช้าง รูปไก่ และล่าสุด รูปนกฟีนิกซ์ ที่กำลังได้รับความนิยม จากลูกค้าทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ มีคำสั่งซื้อข้ามปี ผลิตแทบไม่ทันขาย ทั้งผ่านแอปพลิเคชั่น LINE และโซเซียลมีเดียต่างๆ

           “ผ้าไหมลายราชวัตร” นิยมใช้ไหมน้อยในการทอ ซึ่งไหมน้อยคือไหมที่สาวมาจากเส้นใยภายในรังไหม มีลักษณะนุ่ม เรียบ เงางาม นิยมใช้สีธรรมชาติในการทอ ทำให้มีสีไม่ฉูดฉาด มีสีสันที่มีลักษณะเฉพาะ คือ สีจะออกโทนสีขรึม เช่นน้ำตาล แดง เขียว ดำ เหลือง อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมจากเปลือกไม้ และใช้ฝีมือการทอ จะทอแน่นมีความละเอียดอ่อนในการทอและประณีต รู้จักผสมผสานลวดลายต่างๆ เข้าด้วยกัน แสดงถึงศิลปะที่สวยงามกว่าปกติ ซึ่งแต่เดิมนั้นการทอผ้าไหมของชาวบ้านทำเพื่อไว้ใช้เอง และสวมใส่ในงานทำบุญและงานพิธีต่างๆ การทอจะทำหลังจากสิ้นสุดฤดูกาลทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลัก มิได้มีการทอเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด กระทั่งมีคำกล่าวทั่วไปว่า “พอหมดหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก”

             นางอุราพร รัตนวงศ์ทอง อายุ ๕๓ ปี ประธานกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองยาง ต.ตรำดม อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองยาง เป็นหมู่บ้านเดียวในอำเภอลำดวน จ.สุรินทร์ ที่ยังคงอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษที่ทำสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน คือ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหมสาวไหม ทอผ้า แบบโบราณ โดยวิธีการธรรมชาติ สมาชิกเริ่มแรกมีประมาณ ๒๑ คน ปัจจุบันที่ทำอยู่จริงประมาณ ๑๐ กว่าคน แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ กลุ่มเหมือนกันที่รวมตัวกันทอผ้าไหม ลายเอกลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์จริงๆ คือ ลายอันปรม ลายโฮล แต่ขณะนี้มีการประยุกต์ให้ทันสมัย เป็นลายรูปนกฟีนิกซ์ ลายรูปนกยูง เน้นสีธรรมชาติ มีทั้งผ้าโสร่ง และผ้าขาวม้า

               นายธนิต มยูขโชติ นายอำเภอลำดวน กล่าวว่า วันนี้เราพามาที่บ้านหนองยาง ม.๖ ต.ตรำดม อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้ มีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก คือการทำ “ผ้าไหมลายราชวัตร”ชาวบ้านได้พากันปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอเส้นไหมเอง แล้วมาดำเนินการทอเป็นเส้น เป็นผ้าไหม เป็นผืน ทำด้วยมือทุกขั้นตอน โดยจะมีลวดลายแปลกๆ ใหม่ๆ ซึ่งทางกลุ่มแห่งนี้ไปศึกษา แลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มทอผ้าไหมต่างๆ ในเครือข่ายกัน และหน่วยงานราชการนั้นก็มีสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลำดวนเข้ามา ส่งเสริม และให้การสนับสนุน นำผ้าไปทดสอบ เพื่อให้ได้มาตรฐาน ปีแรกที่กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองยางเข้าร่วมก็ได้มาตรฐาน OTOP ระดับ ๔ ดาว ได้รับการเชิญให้ไปออกบูธจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย และกรุงเทพฯ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน เสริมรายได้ให้กับชุมชน หลังฤดูกาลทำนา

               “ของดีวิถีลำดวน คือ ผ้าไหม ตนได้ดำเนินการส่งเสริมทั้ง ๕ ตำบล นอกจากตำบลตรำดมแล้ว ยังมีตำบลอู่โลก ตำบลลำดวน ตำบลโชกเหนือ และตำบลต่างๆ พี่น้องประชาชนดำเนินการในเรื่องทอผ้าไหมหลังฤดูกาลทำนา หลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ทุกพื้นที่จึงมีรายได้เสริม” นายอำเภอลำดวน กล่าว

                 สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองยาง สามารถติดต่อได้ที่นางอุราพร รัตนวงศ์ทอง ประธานกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองยาง หมายเลข ๐๘๖-๑๒๐๒๑๑๕

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๘๑ วันอาทิตย์ที่ ๒๑ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


711 1,520