10thSeptember

10thSeptember

10thSeptember

 

October 11,2011

ใครว่าปปช.เสือกระดาษ ฟัน ๓ นายกเทศมนตรีเหวอะ ‘หาญชัย’กับพวกเจอ ๕ ปี


ปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับโลกเรื่องการทุจริต โดยอยู่อันดับที่ ๘๔ จาก ๑๘๐ ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ ๑๐ จาก ๒๓ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยมีดัชนีความโปร่งใสอยู่ระดับ ๓.๔ (องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ.๒๕๕๓) ทั้งนี้ จากความเสียหายจากการทุจริต ทำให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคจะต้องรับภาระของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมหาศาล สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ.๒๕๕๐ จึงกำหนดไว้ในมาตรา ๒๔๖ ถึง ๒๕๑ เกี่ยวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยพยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตในอนาคต จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสำนักงานป.ป.ช.ประจำจังหวัด ๖๗ จังหวัด งบประมาณ ๕๑๓ ล้านบาท โดยครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายนที่ผ่านมา จึงเป็นที่คาดหวังกันว่าจากนี้ไปการทุจริตในวงราชการจะลดน้อยลง แต่ถึงแม้ว่าป.ป.ช.จังหวัดยังไม่เกิด ก่อนหน้านี้นักการเมืองท้องถิ่นระดับนายกเทศมนตรีก็ได้สังเวยข้อหาทุจริตไปแล้วอย่างน้อยก็ ๓ ราย กล่าวคือ

ในที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นเรื่องกล่าวหานายหาญชัย ฑีฆธนานนท์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี(ปัจจุบันนายกอบจ.อุดรธานี) กับพวก ทุจริตการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียโรงฆ่าสัตว์เทศบาลนครอุดรธานี โดยคณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหา นายหาญชัย ฑีฆธนานนท์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กับพวก ร่วมกันทุจริตการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบบําบัดน้ำเสียโรงฆ่าสัตว์เทศบาลนครอุดรธานีในราคา ๑๙,๖๘๙,๖๗๐ บาทนั้น

คณะกรรมการป.ป.ช. ได้พิจารณาสํานวน การไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการ ไต่สวนแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในระหว่างที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี มีคําสั่งให้นายหาญชัย ฑีฆธนานนท์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ส่งมอบงานให้แก่นายวรพงษ์ โสมานันท์ ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี เนื่องจากศาลจังหวัดอุดรธานีได้มีคําสั่งเพิกถอนประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีชุดของนายหาญชัย ฑีฆธนานนท์ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๒ นั้น ปรากฏว่า ได้มีการประชุมสภาเทศบาลนครอุดรธานีสมัยวิสามัญ สมัยที่ ๓ ประจําปี ๒๕๔๒ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๒ โดยคณะเทศมนตรีซึ่งมีนายหาญชัย ฑีฆธนานนท์เป็นนายกเทศมนตรีได้เสนอญัตติต่อสภาเทศบาลฯ ขออนุมัติยืมเงินสะสมของเทศบาลฯ เป็นค่าจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบบําบัดน้ำเสีย โรงฆ่าสัตว์เทศบาลนครอุดรธานีจํานวน ๒๐ ล้านบาท และขอความเห็นชอบในการทํากิจการนอกเขตเทศบาลนครอุดรธานีในการจัดซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงโรงฆ่าสัตว์เดิม และสภาเทศบาลฯ ได้มีมติเห็นชอบในการดําเนินการจัดซื้อที่ดินดังกล่าว นายหาญชัย ฑีฆธนานนท์ ในฐานะนายกเทศมนตรีนครอุดรธานีได้ประกาศจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ ตามประกาศเทศบาลนครอุดรธานีลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๒ โดยกําหนดหลักเกณฑ์ที่มีลักษณะเป็นการกําหนดคุณลักษณะเฉพาะของที่ดินเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของที่ดินผู้หนึ่ง ซึ่งมีตัวแทนเป็นผู้เสนอขายที่ดิน ทั้งที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงินการเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๑ ได้กําหนดให้ต้องจัดซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินโดยตรงห้ามซื้อขายผ่านตัวแทนนายหน้า อีกทั้ง ในบริเวณนั้นมีที่ดินของเจ้าของที่ดินดังกล่าวเพียงรายเดียวที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกําหนด นอกจากนี้ นายหาญชัย ฑีฆธนานนท์กับพวก ได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดินรายดังกล่าวโดยวิธีพิเศษ จํานวนเนื้อที่ ๖๘ ไร่ ๓ งาน ๓๘ ตารางวา ในราคาไร่ละ ๒๘๖,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๙,๖๘๙,๖๗๐ บาท ทั้งที่เจ้าของที่ดินมีความประสงค์ขายที่ดินจํานวนดังกล่าว ในราคาไร่ละ ๕๐,๐๐๐ บาท ตามภาวะราคาที่ดินที่มีการซื้อขายในท้องตลาดขณะนั้น โดยผู้ถูกกล่าวหากับพวก ได้ร่วมกันจัดทําเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมทั้งรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษอันเป็นเท็จ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่า คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษได้เจรจาต่อรองราคาซื้อขายที่ดินกับเจ้าของที่ดินและได้ตกลงซื้อขายที่ดินกับเทศบาลฯ โดยตรง ทั้งที่มิได้มีการเจรจาต่อรองราคากับเจ้าของที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด และได้มีการออกเช็คสั่งจ่ายเงินในนามตัวแทนนายหน้าซึ่งมิใช่เจ้าของที่ดิน อีกทั้ง มิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือตามคําสั่ง” “หรือผู้ถือ” และไม่ได้ขีดคร่อมเช็ค ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยมีเจตนาเบียดบังประโยชน์จากเงินส่วนต่าง ราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

คณะกรรมการป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทําของนายหาญชัย ฑีฆธนานนท์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อํานาจ ในตําแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทําเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทําการรับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทําการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทําต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑ มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๒ (๑), (๔)

สําหรับคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑ มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๒ (๑),(๔) ส่วนตัวแทนผู้เสนอขายที่ดินที่ร่วมกระทําความผิด มีมูลความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานกระทําความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑ มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๒ (๑), (๔) ประกอบมาตรา ๘๖ ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดําเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีกับนายหาญชัย ฑีฆธนานนท์ และคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ รวมทั้ง ตัวแทนผู้ขายที่ดิน ตามฐานความผิดดังกล่าว แล้วแต่กรณีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙๒ และมาตรา ๙๗ ต่อไป

จากนั้น เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๒ จึงส่งเรื่องให้อัยการฟ้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานี

กระทั่งเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ ซึ่งศาลจังหวัดอุดรธานีได้นัดฟังคำพิพากษา คดีดำเลขที่ อ.๑๑๘๑/๕๒ โดยมีจำเลย ประกอบด้วย นายหาญชัย ฑีฆธนานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี เมื่อปี ๒๕๔๒ พร้อมกับพวกรวม ๗ คน คือ นายบุญญฤทธิ์ สีทา, นาย กมล คันธา, นายไพศาล ติพิทยยาสุนนท์, นางเบญจา คูณกลาง, นางศรีประไพ คำสุพรหม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าเทศบาลนครอุดรธานี และนายห่าง แซ่แต้ ผู้สนับสนุนให้มีการกระทำผิด ในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ เพื่อก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียโรงฆ่าสัตว์เทศบาลนครอุดรธานี ในวงเงินที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งในวันนั้น นายหาญชัยเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตัวเองตั้งแต่ช่วงเช้า แต่มีจำเลยบางรายให้ทนายความมาขอเลื่อนนัด โดยอ้างว่าป่วย แต่ศาลยืนยันให้จำเลยทั้งหมดมารับฟังคำพิพากษา โดยเลื่อนเป็นเวลา ๑๕.๐๐ น.

ซึ่งศาลได้พิพากษาจำคุกนายหาญชัยและพวกรวม ๗ คน คนละ ๕ ปี โดยไม่รอลงอาญา ภายหลังคำพิพากษา จำเลยได้ให้ประกันตัววงเงินคนละ ๕ แสนบาท

ปัจจุบัน นายหาญชัยและพวก กำลังยื่นอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว และนายหาญชัยยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง “นายกอบจ.อุดรธานี” ต่อไป

ฟันนายกเทศมนตรีนครลำปาง

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๔ นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาเรื่องที่กล่าวหานายนรินทร์ มโนกูลอนันต์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครลำปาง จังหวัดลำปาง กับพวก ออกใบอนุญาตเลขที่ ๑๒๙/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ ให้กับบริษัท โรงพยาบาลเขลางค์นคร จำกัด ต่อเติมทางเชื่อมระหว่างอาคารใหม่และอาคารเก่า โดยมิชอบนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า โรงพยาบาล      เขลางค์นคร - ราม ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ เป็นอาคารชนิดคอนกรีตเสริมเหล็ก ๕ ชั้น พื้นที่/ความยาว ๔,๘๐๕.๔๐ ตารางเมตร ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ๓๗ คัน พื้นที่ ๑,๖๓๒ ตารางเมตร ตามใบอนุญาต เลขที่ ๑๑๑/๒๕๓๓ ลงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๓๓ และเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ บริษัท โรงพยาบาลเขลางค์นคร จำกัด ได้ทำการต่อเติมอาคารโรงพยาบาลดังกล่าวเพิ่มเติมขึ้นอีก ๑ ชั้น พื้นที่ ๘๑๕ ตารางเมตร ตามใบอนุญาต เลขที่ ๑๐๑/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๖ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ บริษัท โรงพยาบาลเขลางค์นคร จำกัด ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอีก ๑ หลัง เป็นอาคารชนิดคอนกรีตเสริมเหล็ก ๖ ชั้น พื้นที่ /ความยาว ๙,๕๕๐ ตารางเมตร ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ พื้นที่ ๓,๕๔๕ ตารางเมตร ตามใบอนุญาตเลขที่ ๓๑๒/๓๙ ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ โดยอาคารที่ทำการก่อสร้างใหม่นี้ ด้านข้างของอาคารจะอยู่ใกล้ชิดกับแนวเขต (กำแพง) ของบ้านเลขที่ ๗๙/๖ ถนนพหลโยธิน ตำบลสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ซึ่งมีระยะห่างส่วนที่น้อยที่สุด ๐.๘๐ เมตร และส่วนที่มากที่สุด ๔.๗๕ เมตร และตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตกำหนดให้ทำทางเชื่อมระหว่างอาคารใหม่กับอาคารเก่าเฉพาะชั้นที่ ๑ และ ๒ เท่านั้น แต่ในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว บริษัท โรงพยาบาลเขลางค์นคร จำกัด ได้ว่าจ้างผู้รับจ้างให้ทำการต่อเติมทางเชื่อมระหว่างอาคารใหม่และอาคารเก่าตั้งแต่ชั้นที่ ๓ - ๖ ซึ่งมีพื้นที่ชั้นละ ๖๘ ตารางเมตร เพิ่มเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๑ บริษัท โรงพยาบาลเขลางค์นคร จำกัด ได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างอาคารใหม่และเก่า ๔ ชั้น ตั้งแต่ชั้น ๓ - ๖

ซึ่งระหว่างการพิจารณาตรวจสอบการขออนุญาตปรากฏว่า บริษัท โรงพยาบาลเขลางค์นคร จำกัด ได้ดำเนินการก่อสร้างทางเชื่อมอาคารดังกล่าวไปจนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๓ เทศบาลเมืองลำปาง ได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท โรงพยาบาลเขลางค์นคร จำกัด ในข้อหาก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาฐานก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๑ และมาตรา ๖๕ แต่พนักงานอัยการจังหวัดลำปาง มีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยเห็นว่าผู้ต้องหาได้รับใบอนุญาตให้ทำการก่อสร้างอาคาร ค.ส.ล. ๖ ชั้นโดยชอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามใบอนุญาตเลขที่ ๓๑๒/๒๕๓๙ ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ และได้ดัดแปลงต่อเติมทางเดินเชื่อมต่ออาคารหลังใหม่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างกับอาคารหลังเก่าที่มีอยู่โดยผิดไปจากแบบแปลน แผนผัง ที่ได้รับอนุญาต การกระทำของผู้ต้องหาไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันทำการก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๑ และมาตรา ๖๕

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท โรงพยาบาลเขลางค์นคร  จำกัด ก่อสร้างต่อเติมทางเชื่อมระหว่างอาคารใหม่และเก่า ๔ ชั้น ตั้งแต่ชั้นที่ ๓ - ๖ การก่อสร้างต่อเติมทางเชื่อมระหว่างทั้งสองอาคารดังกล่าวเป็นการดัดแปลงอาคาร และทำให้อาคารทั้งสองหลัง เป็นอาคารเดียวกัน มีพื้นที่รวมกันเกิน ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตร ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๓ (พ.ศ.๒๕๓๕) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ โดยพื้นที่หรือผนังอาคารจะต้องห่างจากเขตที่ดินของผู้อื่นและถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า ๖.๐๐ เมตร แต่อาคารตามแบบที่ขออนุญาตนั้น ห่างจากแนวเขตที่ดินของบ้านเลขที่ ๗๙/๖ ไม่ถึง ๖.๐๐ เมตร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ทำการต่อเติมทางเชื่อมระหว่างอาคารทั้งสองหลังได้ โดยการต่อเติมทางเชื่อมระหว่างอาคารทั้งสองดังกล่าว บริษัท โรงพยาบาลเขลางค์นคร จำกัด ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จมาตั้งแต่ประมาณปลายปี พ.ศ.๒๕๔๒ และขณะนั้นได้เคยขออนุญาตแล้วแต่ไม่ได้รับอนุญาต จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๔ บริษัท โรงพยาบาลเขลางค์นคร จำกัด ได้ยื่นคำขออนุญาตทำทางเชื่อมอีกครั้งหนึ่ง ผู้ถูกกล่าวหา จึงได้ร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาอื่นๆ พิจารณาและมีมติอนุญาตให้บริษัท โรงพยาบาลเขลางค์นคร จำกัด ก่อสร้างต่อเติมอาคารส่วนที่เป็นทางเชื่อมระหว่างอาคารสองหลังของโรงพยาบาลเขลางค์นคร - ราม ได้ และต่อมาได้ออกใบอนุญาตให้กับบริษัท โรงพยาบาลเขลางค์นคร จำกัด ตามใบอนุญาตเลขที่ ๑๒๙/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๔

ผิดอาญาเตรียมส่งฟ้องศาล

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา และเทศมนตรีฝ่ายโยธา จึงมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๓  ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอื่นๆ ที่เป็นพนักงานเทศบาล มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๓ เช่นกัน ให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นพนักงานเทศบาล และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙๒ และมาตรา ๙๗ แล้วแต่กรณี

นายกเทศมนตรีชุมพลบุรีก็เจอ

คณะกรรมการป.ป.ช. ยังมีการพิจารณา เรื่องกล่าวหา นายนิรันดร์ ศรีเมือง นายกเทศมนตรีตำบลชุมพลบุรี อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ กับพวก ตรวจรับงาน และเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้กับผู้รับจ้างโครงการขุดลอกขยายสระน้ำดิบกุดเลิงบัว ช่วงที่ ๒ ทั้งที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้เทศบาลตำบลชุมพลบุรี ได้รับความเสียหาย  จึงได้มอบหมายให้พนักงานไต่สวน ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงของพนักงานไต่สวนฟังได้ว่า เทศบาลตำบลชุมพลบุรี ได้รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างระบบประปาของเทศบาลตำบลชุมพลบุรี ในปีงบประมาณ ๒๕๕๐ ซึ่งเทศบาลตำบลชุมพลบุรี ได้ดำเนินการจัดจ้างไปแล้ว และยังคงเหลือเงินอยู่บางส่วน จังหวัดสุรินทร์ได้แจ้งให้เทศบาลตำบลชุมพลบุรี ทำโครงการขอใช้เงินงบประมาณที่เหลือ โดยโครงการที่เสนอขอใช้เงินต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องเป็นประโยชน์กับระบบประปา เทศบาลตำบลชุมพลบุรี จึงเสนอโครงการขุดลอกกุดเลิงบัว โดยได้สอบราคาขุดลอกขยายสระน้ำดิบกุดเลิงบัว ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๐ ผลการสอบราคาปรากฏว่า ร้านเช่าพาณิชย์ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด เป็นเงิน ๗๔๕,๐๐๐ บาท และได้ทำสัญญากับเทศบาลตำบลชุมพลบุรี กำหนดให้สัญญาจ้างสิ้นสุด วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๑ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๑๘๐ วัน

จากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในช่วงเดือนตุลาคมนั้น เป็นช่วงฤดูน้ำหลากจะมีน้ำท่วมเอ่อขึ้นมาเหนือพื้นที่ที่เป็นหนองน้ำ และพื้นที่ของหมู่ที่ ๑๘  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการขุดลอกขยายสระน้ำดิบกุดเลิงบัว ในช่วงเวลาดังกล่าวผู้รับจ้างไม่สามารถเข้าดำเนินการตามโครงการได้ เนื่องจากบริเวณทางเข้าและบริเวณที่จะขุดลอกสระเลิงบัว มีน้ำท่วมขังอยู่ ผู้รับจ้างต้องหยุดการทำงานชั่วคราวเนื่องจากไม่สามารถเข้าไปดำเนินการขุดลอกสระต่อไปได้ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่มีการประชุมสภาเทศบาลตำบลชุมพลบุรี สมัยวิสามัญ สมัยที่ ๓ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๐ โดยมีการกระทู้ถามเกี่ยวกับเรื่องการขุดลอกสระกุดเลิงบัว เป็นเหตุให้ประธานสภาเทศบาลตำบลชุมพลบุรี ซึ่งบ้านอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับบริเวณที่มีการก่อสร้างโครงการดังกล่าว  ได้ลงไปดูในพื้นที่เห็นว่าในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๕๐  การดำเนินโครงการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จจริง

อนุมัติจ่ายเงินทั้งที่งานยังไม่เสร็จ

คณะกรรมการป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า นายนิรันดร์ ศรีเมือง นายกเทศมนตรีตำบลชุมพลบุรี ทราบดีอยู่แล้วว่า ผู้รับจ้างยังดำเนินการขุดลอกขยายสระน้ำดิบกุดเลิงบัว ช่วงที่ ๒ ไม่แล้วเสร็จ แต่กลับอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้าง รวมทั้งมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์รับรองว่า เทศบาลตำบลชุมพลบุรี ได้ดำเนินการโครงการขุดลอกขยายแหล่งน้ำดิบกุดเลิงบัว แล้วเสร็จตามโครงการแล้ว การกระทำจึงมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาลตำบลชุมพลบุรี หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑, มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๒ (๔)

การกระทำของคณะกรรมการตรวจรับการจ้าง และผู้ควบคุมงาน ที่เป็นพนักงานเทศบาลตำบลชุมพลบุรี มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาลตำบลชุมพลบุรี หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, มาตรา ๑๖๒ (๑) (๔) ประกอบมาตรา ๘๓

การกระทำของกรรมการตรวจรับการจ้างที่แต่งตั้งจากประธานชุมชน มีมูลความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗  มาตรา ๑๖๒ (๑) (๔) ประกอบมาตรา ๘๖ เช่นเดียวกับผู้รับจ้าง ส่วนผู้ควบคุมงานที่เป็นพนักงานจ้างตามภารกิจ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง  และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ มาตรา ๑๖๒ (๑) (๔) ประกอบมาตรา ๘๖ ให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีกับบุคคลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙๒ และมาตรา ๙๗ แล้วแต่กรณีต่อไป

บทลงโทษของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง ๓ คนนี้ นับเป็นบทเรียนสำคัญให้กับผู้บริหารท้องถิ่นคนอื่นๆ ได้ใคร่ครวญเป็นอย่างดี


ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๒๐๔๓ วันจันทร์ที่ ๑๐ - วันศุกร์ที่ ๑๔ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔


710 1,418