12thMay

12thMay

12thMay

 

March 14,2018

มวยโคราช (๑)

             มีคำกล่าวขานเรื่องราวของเมืองโคราชในสมัยหนึ่งว่า เป็น “ดินแดนแห่งนกเขาคารม อ้อยคันร่ม ส้มขี้ม้า ผ้าไหมหางกระรอก มวยโคราช แมวสีสวาด ปราสาทหินพิมาย” หรือ “นักมวยโคราช นักปราชญ์อุบล” ซึ่งหมายถึง โคราชมีนักมวยเก่งกาจไม่เคยแพ้ใคร หรือถ้าเป็นเรื่องหมัดๆ มวยๆ แล้วต้องที่โคราช จนบางคนถึงกับกล่าวว่า “โคราชเมืองมวย” และถ้าจะกล่าวถึงผู้รู้หรือผู้มีภูมิปัญญาจนได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์แล้ว ต้องยกให้คนอุบลราชธานี ซึ่งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) เป็นคนอุบลราชธานี เป็นที่ยอมรับกันว่า ท่านรอบรู้และได้รวบรวเรียบเรียงคำผญา สุภาษิต ฯลฯ ไว้หลายเรื่อง อีกทั้งได้รวบรวมวัตถุทางโบราณคดีเก็บรักษาไว้เพื่อการศึกษา จนกรมศิลปากรสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์พระมหาวีรวงศ์ ในบริเวณวัดสุทธจินดา ถือว่าเป็นนักปราชญ์ของอีสาน และชาวนครราชสีมา ได้อาราธนาท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาเป็นองค์แรก

             “มวยไทยโคราช” มีประวัติความเป็นมาพร้อมกับการต่อสู้ผู้รุกรานด้วยมือเปล่าโดยอาวุธประจำกายรอบตัว ตั้งแต่ใช้หัวขวิด ปากกัด ตีนเตะ ถีบเหน็บ มือตะปบ ตบต่อย ทุบ ศอกถอง ฟันสับ ส้นเดือย เข่ากระทุ้ง ก้นกระแทก แบกบ่าทุ่ม ล้มทับ จับหัก ควักนัยน์ตา ผ่าลูกหมาก ฯลฯ ต่อมาพัฒนาประกอบกับการใช้อาวุธมาตั้งแต่สงครามในสมัยก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากโคราชเป็นเมืองหน้าด่านชั้นเอก ของกรุงศรีอยุธยา ที่ต้องทำการป้องกันเมือง และสู้รบกับศัตรูที่รุกราน ชาวเมืองจึงต้องฝึกฝนการต่อสู้และป้องกันตัวเพื่อเตรียมความพร้อมไว้เสมอ คนโคราชจึงมีเลือดนักสู้มาหลายชั่วอายุคน จากหลักฐานที่ปรากฏข้างแท่นอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีกล่าวถึงเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ยกกองทัพเข้ายึดเมืองนครราชสีมา และกวาดต้อนชาวเมืองไปถึงทุ่งสัมฤทธิ์ ท่านผู้หญิงโมรวบรวมกำลังพลทั้งชายหญิงเข้าต่อสู้ตะลุมบอน จนกองทัพเวียงจันทน์แตกพินาศ แน่นอนชาวเมืองโคราชได้ใช้เพลงมวยโคราช จนป้องกันชาติบ้านเมืองเอาไว้ได้ และในยามที่บ้านเมืองสงบ ศิลปะมวยไทยได้พัฒนามาเป็นกีฬาการต่อสู้เป็นที่ชื่นชอบของกษัตริย์ เจ้านายชั้นสูง ตลอดจนสามัญชนทั่วไป 

             อนึ่ง ในปัจจุบันกองทัพไทยได้ดัดแปลงมวยไทยมาใช้ในยุทธวิธีที่เรียกว่า “มวยไทยเลิศฤทธิ์” หรือ “มวยไทยแบบทหาร” ซึ่งวิสิทธิ์ เลิศฤทธิ์ อดีตทหารเรือ ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนศิลปะการต่อสู้ ทั้งไฮไฟติงคิกบ็อกซิง, คาราเต้และไอคิโด ให้แก่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งวิสิทธิ์เป็นผู้สืบทอดมวยโบราณสายโคราชนี่เอง (จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ๒๕๖๑)

             ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถือว่าเป็นยุคมวยคาดเชือกที่รุ่งเรือง ประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๒ มีการจัดแข่งขันมวยคาดเชือกหน้าพระที่นั่งณบริเวณหน้าพลับพลาทรงธรรมสวนมิสกวันในงานศพของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช โดยให้หัวเมืองทั่วประเทศ คัดเลือกนักมวยฝีมือดีเข้าแข่งขัน นักมวยที่มีฝีมือสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้หลายคน และเป็นที่พอพระราชหฤทัย จะทรงโปรดฯ พระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ เป็น “ขุนหมื่นครูมวย” ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการประทวน ถือศักดินา ๓๐๐ ปรากฏว่า นักมวยที่มีฝีไม้ลายมือดีชก ดุเดือดเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัว จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นหมื่นมี จำนวน ๓ คน คือ นายปรง จำนงทอง จากบ้านหัววัว ตำบลเสม็ด เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็น “หมื่นมวยมีชื่อ” บางหลักฐานว่า ชื่อ ปล่อง จำนงทอง (ถาวร สุบงกช ๒๕๒๕ : ๒๘๙) นายกลึง โตสะอาด จากบ้านทะเลชุบศร เมืองลพบุรี เป็น “หมื่นมือแม่นหมัด” และนักมวยจากเมืองโคราช คือ นายแดง ไทยประเสริฐ ลูกศิษย์พระเหมสมาหาร เป็น “หมื่นชงัดเชิงชก” (ลุงรักชาติราชบุรี  ๒๕๖๑) ข้าราชการประทวนทั้ง ๓ คนนี้ ได้รับสิทธิพิเศษ คือไม่ต้องเสียค่าส่วย อากร หรือแม้กระทำผิดก็ให้กรมการเมืองพิจารณาลดหย่อนผ่อนโทษให้ตามที่เห็นสมควร (เขต ศรียาภัย ๒๕๒๓ : ๒๓) สำหรับหมื่นชงัดเชิงชกได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดนักมวยโคราช และในราวปี พ.ศ.๒๔๗๘ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยได้เชิญให้มาฝึกสอนแก่นักเรียนในชั่วโมงวิชาพลศึกษา

             ในรัชกาลที่ ๕ ถึง รัชกาลที่ ๖ พระเหมสมาหาร เจ้าเมืองพิมายในขณะนั้น ท่านโปรดการชกมวย และได้สนับสนุนส่งเสริมศิลปะมวยไทย จนมีคนสนใจ ไม่ว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่หันมาฝึกหัดมวยไทยกันทุกหัวระแหง ถือว่าเป็นยุคที่มวยไทยโคราชรุ่งเรืองที่สุด นอกจากนี้ยังมีการคัดนักมวย ที่มีแววส่งไปฝึกซ้อมในค่ายมวยของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ วังเปรมประชากร เช่น นายทับ จำเกาะ, นายยัง หาญทะเล, นายบัว วัดอิ่ม (นิลอาชา), นายตู้ ไทยประเสริฐ (น้องชาย นายแดง ไทยประเสริฐ), นายพูน ศักดา นักมวยเหล่านี้ได้สร้างชื่อเสียงทำให้คนทั่วประเทศรู้จักโคราชในเรื่องมวย กล่าวคือส่วนใหญ่ชนะคู่ชกแทบทุกเวที จนหาคู่ชกไม่ได้ (เช้า วาทโยธา ๒๕๖๑)

             จะเห็นได้ว่า เมื่อก่อนนั้น มวยไทยใช้การศึกษาสงคราม แต่ปัจจุบันมวยไทยเป็นเรื่องของการกีฬา และมีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องคำว่า “มวยไทย” เริ่มใช้หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.๒๔๗๕ และ ในปี พ.ศ.๒๕๕๔ กระทรวงวัฒนธรรมได้กำหนดให้วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันมวยไทย”

 

ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๙๑ วันอาทิตย์ที่ ๑๑ - วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

 


797 1,996