May 25,2018
แกะรอยประวัติศาสตร์จากวรรณคดี (๔)
แกะรอยประวัติศาสตร์จากวรรณคดี (๔)
ตอนบูรณะวัดกลางโคราช
ในกำแพงเมืองนครราชสีมาจะมีวัดอยู่ ๖ วัด สร้างไว้ประจำทิศต่างๆ ของเมือง สำหรับ วัดกลาง เป็นวัดที่อยู่ใจกลางเมือง สันนิษฐานว่า สร้างประมาณปี พ.ศ.๒๑๙๙ โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้ชื่อว่า วัดพระนารายณ์มหาราช ซึ่งภายในวัดมีศาลพระนารายณ์ ภายในศาลมีเทวรูปพระนารายณ์สี่กรท่ายืนประดิษฐานอยู่ ชาวเมืองถือว่า วัดกลางเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองโคราช และใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีต่างๆ เช่น สำหรับข้าราชการมาปฏิญาณตนว่าจะรับราชการด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ พิธีนี้เรียกว่า พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา รวมทั้งให้เป็นสถานที่ทำพิธีสวดเสกน้ำพระพุทธมนต์ถวายในงานพระราชพิธีเสวยราชสมบัติของพระมหากษัตริย์อีกด้วย
“เจดีใหญ่วัดกลางร้างชำรุด ยังโทรมทรุดล้อมทอดตลอดฐาน
ไม่มีใครศรัทธาล้มมานาน จะประมาณนับยิบหลายสิบปี
ท่านเจ้าคุณมีใจอยากใคร่สร้าง พระเจดีย์วัดกลางเป็นศักดิ์ศรี
จะซื้ออิฐปูนใครที่ไหนมี ไม่รู้ที่แห่งหนตำบลเลย
ท่านก็เที่ยวสืบถามตามชาวบ้าน ด้วยหวังการจริงจริงไม่นิ่งเฉย
เฝ้าสืบเสาะหาแห่งตำแหน่งเคย ท่านภิเปรยถามไถ่มิได้วาย
จิตศรัทธาอาจิณไม่สิ้นสูญ ครั้นอิฐปูนได้สมอารมณ์หมาย
มีผู้มาบอกแจ้งไม่แพร่งพราย ว่ามากมายบริบูรณ์อิฐปูนมี
อยู่ทางหนองกระบกวัดโคกพรม อิฐเผารมแก่ไฟงานได้สี
เจ้าคุณทราบระบิลแสนยินดี จึงป่าวร้องโยธีทุกหมวดกอง
บอกคุณเหล่าพหลไปขนอิฐ ต่างคนคิดยินดีไม่มีหมอง
คานสาแหรกจัดไว้ใส่สำรอง ต่างคนปองเอาบุญไม่ขุ่นเคือง”
จากบทกลอนที่ทิมพรรณนานี้ เข้าใจว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๘ ที่กองทัพกรุงเทพฯ ยกมาถึงเมืองนครราชสีมา และพักรอ คำสั่งจากกรุงเทพฯ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงผู้เป็นแม่ทัพได้พบเห็นวัดกลาง มีสภาพทรุดโทรมโดยเฉพาะองค์เจดีย์ และดูเหมือนชาวเมืองไม่สนใจที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ ปล่อยให้ปรักหักพังรกร้างมานานหลายสิบปี ซึ่งในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่า อาจเป็นเพราะในช่วงนั้นบ้านเมืองแถบอีสานที่อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครราชสีมาไม่มีความสงบ ผู้นำคือเจ้าเมืองนครราชสีมาและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต้องออกไปราชการอยู่เนืองๆ และการเดินทางในสมัยนั้นต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน เพราะเดินทางด้วยสัตว์พาหนะ จึงไม่มีเวลาคิดถึงการบูรณะวัดกลางก็เป็นได้ แต่สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงแม่ทัพเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีใจที่จะสืบสานศาสนา กล่าวคือเมื่อเห็นสภาพของวัดกลางแล้วเกิดศรัทธาที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ ซึ่งการบูรณะจำต้องใช้อิฐเป็นจำนวนมาก ท่านสืบเสาะจนทราบว่ามีแหล่งผลิตอิฐอยู่แถบหนองกระบกใกล้ๆ กับวัดโคกพรม จึงป่าวร้องขอแรงจากชาวเมืองและทหารในกองทัพช่วยกันขนอิฐ
เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) แม่ทัพหน้ายกไปปราบฮ่อที่เมืองหนองคาย ผู้ให้นายทิมแต่ง “นิราศหนองคาย”
ศาลาการเปรียญเก่าวัดกลางนครราชสีมา
สำหรับหนองกระบกที่ทิมกล่าวถึง ปัจจุบันคือบ้านหนองจะบก ตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จากคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่ามีต้นกระบกขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ริมหนองน้ำ (สันนิษฐานว่าอยู่ตรงที่ตั้งของสถานีประมงจังหวัด ตรงข้ามวัดหนองจะบกปัจจุบัน) จึงเรียกว่าหนองกระบก ต้นกระบกนี้ได้แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นร่มเงาขนาดใหญ่ จึงเป็นทำเลที่เหมาะแก่การหยุดพักของผู้ที่สัญจรผ่านไปมา โดยเฉพาะกองคาราวาน กองเกวียน ที่ไปค้าขายยังต่างบ้านต่างเมือง คำว่า “กระบก” ภาษาโคราชเรียกว่า “จะบก” และออกเสียงว่า “กะบ๊ก” และ “จะบ๊ก”
“ครั้นแรมสิบสามค่ำ ณ เดือนอ้าย เวลางายสุริยาส่องฟ้าเหลือง
พวกกองทัพโห่ร้องไปนองเมือง ทั้งชาวเมืองพลอยไปอยากได้บุญ
บ้างก็หาบก็หามตามถนัด ล้วนแต่ศรัทธาชื่นทั้งหมื่นขุน
ไม่ว่าไพร่ผู้ดีมีสกุล ชุลมุนแบกอิฐไม่คิดอาย
************
ทั้งพระเณรเถรชีมีศรัทธา สู้อุตส่าห์ขนอิฐน้ำจิตทน
ทั้งเกวียนล้อโคลากไปมากหลาย ดูเรียงรายเต็มหลามตามถนน
ทั้งแรงโคแรงควายนิกายพล ไปหาบขนอิฐแผ่นแน่นหนทาง
ล้วนสรวลสันต์บันเทิงระเริงรื่น เฮฮาครืนมิได้อายระคายหมาง
ทั้งเจ๊กไทยมอญลาวสาวสำอาง ขนอิฐมาวัดกลางดูเกรียวกราว
คนชาวเมืองพร้อมใจทั้งไทยจีน ออกทรัพย์สินซื้ออาหารข้าวสารขาว
ต้มเลี้ยงคนขนอิฐด้วยคิดยาว ทั้งของคาวหวานเค็มเต็มศรัทธา”
การบูรณะวัดกลางในครั้งนี้ชาวเมืองนครราชสีมาทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าเจ๊กจีน ลาว มอญ พระภิกษุสงฆ์ ตลอดจนชี ต่างออกแรงขนอิฐกันเนืองแน่น ซึ่งระหว่างการทำงานก็อาจมีการเล่านิทานก้อมบ้าง ร้องเพลงพื้นบ้านบ้าง ให้สนุกสนานบันเทิงเพื่อคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า นอกจากนี้ใครมีทรัพย์ก็ออกทรัพย์ ใครมีข้าวสารมีพริกผักก็นำมาช่วย สิ่งใดไม่มีก็ซื้อหามาเพื่อประกอบอาหารเลี้ยงดูผู้ที่มาร่วมทำงาน ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมการมีน้ำใจของคนไทยสมัยนั้น
ในการบูรณะวัดกลางใช้เวลาบูรณะองค์เจดีย์และส่วนอื่นๆ เพียง ๒ วันก็แล้วเสร็จ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีกำลังคนมาก อีกประการอาจมีช่างที่มีฝีมือในการสร้างโบสถ์สร้างเจดีย์จากกองทัพร่วมกับช่างของชาวเมืองนครราชสีมาจึงทำให้แล้วเสร็จเร็ว ดังที่ทิมเขียนในนิราศว่า
“สองวันเสร็จลงมือจับรื้อขุด ด้วยของเก่าชำรุดอยู่หนักหนา”
เมื่อแล้วเสร็จก็เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ต้องมีการสวดพระพุทธมนต์และมีการฉลองสมโภช โดยมีการแสดงโขน ซึ่งผู้แสดงนั้นก็คือทหารในกองทัพนั่นเอง การที่ทหารสามารถเล่นโขนได้ก็เพราะเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงปรีชาสามารถด้านการละคร ท่านมีคณะละครที่มีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๕ รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ละครเจ้าพระยามหินทรฯ”
“ครั้นวันขึ้นสิบสองค่ำจำคดี ในเดือนยี่สัจจังไม่กังขา
ตะวันบ่ายชายแสงพระสุริยา เป็นเวลากำหนดที่จะมีการ
ฝ่ายท่านเจ้าพระยาจอมพหล เชิญพระทนต์พระจอมเกล้าเจ้าสถาน
พร้อมด้วยเหล่ากระบวนแห่แลละลาน ไปมีงานสมโภชใหญ่ในวัดกลาง
นิมนต์สงฆ์ทั่วประเทศเขตนคร มาสดับปกรณ์ตามแบบอย่าง
เหล่าพระสงฆ์ดีใจไม่ระคาง ถึงหนทางไกลนั้นไม่พรั่นพรึง”
************
ฝ่ายเจ้าจอมโยธามีปราโมทย์ ท่านสมโภชพระทนต์พ้นวิสัย
จัดเหล่าพวกกองทัพโดยฉับไว มาเล่นโขนโรงใหญ่ได้อย่างดี”
คนโคราชไม่เคยเห็นและดูโขนมาก่อน พอมีข่าวว่าจะมีโขนแสดงสมโภชวัดกลางต่างก็แตกตื่นแห่กันมาดู คนบ้านนอกที่อยู่ห่างไกลใช้เวลาเดินทางสองวันสองคืนก็ยังอุตส่าห์อุ้มลูกจูงหลานเดินทางมาด้วยอยากจะเห็น
“โขนก็เล่นตามเรื่องแต่เบื้องหลัง เมื่อวิรุญจำบังออกอาสา
พวกคนดูพรูพรั่งประดังมา คนชราแก่สาวมากกราวกรู
ชาวบ้านนอกขอกนามาออกฮือ แจ้งข่าวลือแน่ใจไม่ไขหู
หนทางเดินสองคืนตื่นมาดู เพราะไม่รู้จักโขนโยนอย่างไร
คนชราอายุเจ็ดสิบเลย ยังไม่เคยดูเห็นเป็นไฉน
บ้างหาเสบียงอาหารด้วยบ้านไกล ล้วนตั้งใจมาดูออกกรูเกรียว
ล้วนสาวสาวชาวป่าก็มาสิ้น ทาขมิ้นล้นเหลือจนเนื้อเขียว
อยากดูโขนอย่างยิ่งจริงจริงเจียว บ้างจูงเหนี่ยวลูกหลานมาลานลน”
มีข้อสังเกตว่า งานฉลองสมโภชโดยทั่วไปแล้วจะจัดให้มีการแสดงต่างๆ แต่ปรากฏว่า งานฉลองสมโภชวัดกลางมีการแสดงโขนเพียงอย่างเดียว ซึ่งแท้จริงแล้วเพลงโคราชเป็นเพลงพื้นบ้านที่คนโคราชชื่นชอบกลับไม่มี โดยจะเห็นจากที่ทิมไม่ได้กล่าวถึงเพลงโคราช เพลงช้าเจ้าหงส์ดงลำไย หรือการแสดงอื่นๆ เช่น ลิเก ไว้ในนิราศแต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นเพราะเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงอยากจะให้ชาวเมืองโคราชได้มีโอกาสดูโขนซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงที่หาดูได้ยาก เพราะส่วนใหญ่จะแสดงอยู่แต่ในกรุงเทพฯ หรือไม่ก็ระดับเจ้านายชั้นสูงเท่านั้นที่มีโอกาสดู กอปรกับอาจเป็นความต้องการที่จะให้ทหารในกองทัพเป็นผู้แสดงมากกว่าจะเป็นผู้ดู ซึ่งเหล่าทหารจำนวนหนึ่งมีความสามารถในการเล่นโขน และอีกทั้งต้องการให้เหล่าทหารได้คลายความอ่อนล้าจากการเดินทาง การคิดถึงบ้านที่จากมา ให้มีขวัญกำลังใจในการจะไปสู้รบก็เป็นได้
ข้อสังเกตอีกประการ ตามประวัติที่วัดกลางจะมีสถูปหรือกู่บรรจุอัฐิของท่านท้าวสุรนารีสร้างเป็นอนุสรณ์ไว้ตรงมุมทิศพายัพของวัด (สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา ๒๕๕๙; พ.ต. หลวงศรีโยธา และคณะ. ๒๔๗๗ : คำนำ) การที่มีการสร้างสถูปไว้เป็นเสมือนอนุสาวรีย์ ก็เพราะคุณหญิงโมได้สร้างวีรกรรมปราบกองทัพเจ้าอนุวงศ์และเป็นวีรสตรีในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเรื่องการร่วมรบของคุณญิงโมปรากฏเป็นหลักฐานในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ปี พ.ศ.๒๔๑๒ ต้นรัชกาลที่ได้บันทึกไว้เพียงสั้นๆ ว่า “ท่านผู้หญิงโม้ภรรยาพระยาปลัดคุมผู้หญิงเป็นทัพหนุน” (สุจิตต์ วงษ์เทศ ๒๕๔๙ : ๔๓๘-๔๒๙ ; สายพิน แก้วงามประเสริฐ ๒๕๓๗:๑๔๒) แต่ทิมเขียนนิราศหนองคายในสมัยรัชกาลที่ ๕ มิได้กล่าวถึงเรื่องราวของท่านท้าวสุรนารีแต่อย่างใด ซึ่งทิมอาจมองว่าสังคมในสมัยนั้นผู้ชายต้องเป็นผู้นำและเป็นใหญ่ รวมถึงต้องเก่งกว่าผู้หญิง แม้ผู้หญิงจะทำอะไรที่ดีเด่นก็มักไม่ให้ความสำคัญ ดังคำที่กล่าวว่า “ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง”
เช่นเดียวกับวรรณกรรมเรื่อง “นิราศฉลาง (ถลาง)” ของนายมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) เมื่อเดินทางไปถึงเมืองฉลาง (ถลาง) ก็ไม่ได้กล่าวถึงวีรกรรมของท้าวเทพสตรีท้าวศรีสุนทร ซึ่งเรื่องนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ (๒๕๔๙ : ๔๔๑) นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี ให้ความเห็นว่าการที่นายทิมไม่พูดถึงวีรกรรมท้าวสุรนารีในนิราศหนองคายเพราะมีเรื่องอื่นที่ต้องพรรณนาอีกมาก ดังคำบอกเล่าของทิมในนิราศที่ว่า
“แม้อยากรู้จงดูเรื่องปาจิตร ท่านบัณฑิตกล่าวแกล้งแสดงเรื่อง
ครั้นจะร่ำกล่าวจะช้าเวลาเปลือง จะยักเยื้องหลีกลัดตัดนิยาย”
นอกจากนี้สุจิตต์ฯ ยังเห็นว่า หรือไม่ก็นายทิมอาจไม่เคยได้ยินเรื่องวีรกรรมคุณหญิงโมเลย หรือนายทิมอาจจะเคยได้ยินมาบ้างก็อาจเป็นคนละเรื่องกับที่คนสมัยนี้ได้ยินก็ได้ ทำให้นายทิมไม่ (อยาก) พูดถึง ถึงตรงนี้ชวนให้สงสัยว่าแล้วเหตุไฉนนายมีไม่สดุดี ๒ วีรสตรีเมืองฉลาง (ถลาง)
หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) ผู้แต่งนิราศหนองคาย
เอกสารอ้างอิง
ศรีโยธา, พ.ต., หลวง และคณะ. (๒๔๗๗). ท้าวสุระนารี. มปท.
สายพิน แก้วงามประเสริฐ. (๒๕๓๗). “ภาพลักษณ์ท้าวสุรนารีในประวัติศาสตร์ไทย” ในพื้นถิ่นอีสานพื้นบ้านโคราช. นครราชสีมา : ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล.
สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา. (๒๕๕๙). วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร. สืบค้นเมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑
จาก http://nma.onab.go.th/index.php?option=com_content&viewarticle&id=369:2016-07-22-06-20-24&catid=41:2008-10-29-14-40-50&Itemid=75.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (๒๕๔๙). “พลังลาว” ชาวอีสานมาจากไหน?. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์).(๒๕๔๔). นิราศหนองคาย. พิมพ์ครั้งที่ ๔, กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.
ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๐๔ วันจันทร์ที่ ๒๑ - วันศุกร์ที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
728 1,514