June 04,2018
ประตูเมืองและกำแพงเมืองนครราชสีมา (๒)
ประตูเมืองและกำแพงเมืองนครราชสีมา (๒)
สำหรับที่มาของชื่อประตูเมืองนั้นมีผู้ให้ความเห็นไว้นานาทรรศนะ ดังนี้
๑. สุพร สุภสร อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น (๒๕๓๐ : ๘๖) ได้กล่าวถึงชื่อประตูเมืองที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อกองทัพไปรบได้รับชัยชนะกลับมา จะต้องยกพลเข้าเมืองทางด้านทิศใต้และเรียกประตูนี้ว่าประตูไชยณรงค์ “ไชยณรงค์” แปลว่า ชัยชนะ หรือถ้ามีการล่าถอยก็จะออกประตูนี้เพื่อไปตั้งหลักเอาฤกษ์เอาชัยเชื่อว่าจะได้รับชัยชนะ อนึ่งประตูนี้เป็นประตูที่ใช้นำนักโทษออกไปประหารที่บริเวณทุ่งทะเลหญ้าอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และทางทิศใต้ของเมือง ซึ่งในสมัยนั้นใช้วิธีตัดหัว (กุดหัว) และคงมีหัวของผู้ที่ถูกประหารเกลื่อนกลาด เปรียบดังเป็นทะเลของหัวคน จึงเรียกบริเวณแห่งนี้ว่า “หัวทะเล” หรือเมื่อมีคนตายก็จะต้องนำศพออกทางประตูนี้เท่านั้นเพื่อไปเผาที่วัดนอกกำแพงเมือง เพราะเป็นกบิลเมือง ห้ามมิให้เผาศพที่วัดในกำแพงเมือง จึงเรียกประตูนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “ประตูผี หรือ ประตูผีออก” อีกความเห็นหนึ่งกล่าวว่า ประตูไชยณรงค์เป็นประตูที่ใช้เป็นยุทธศาสตร์ที่ยากแก่โจมตีของข้าศึก เนื่องจากภูมิประเทศด้านนี้ มีหนองน้ำขนาดใหญ่คือหนองบัวและมีหนองน้ำขนาดเล็กขนาดน้อยจำนวนมาก ข้าศึกที่ไม่สันทัดในพื้นที่แห่งนี้มักพ่ายแพ้และชาวเมืองมักจะได้รับชัยชนะ (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ๒๕๔๙ : ๑๕)
๒. ประตูพลล้าน เล่าสืบกันมาว่า เมื่อจะทำศึกใหญ่ต้องระดมไพร่พลเป็นล้าน ก็ให้ถือเอาเคล็ดหรือเอาฤกษ์เอาชัยเคลื่อนทัพออกทางประตูด้านทิศตะวันออก ชาวเมืองจึงเรียกว่าประตูพลล้าน ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีไพร่พลในกำแพงพอแสนพอล้าน แต่เมื่อกำหนดว่าจะต้องใช้รี้พลเท่าใดก็จะไประดมจากเมืองใกล้เคียงมาสมทบ ซึ่งเมืองที่ขึ้นตรงต่อนครราชสีมาได้แก่ เมืองนครจันทึก เมืองพิมาย เมืองปักธงชัย เมืองพุทไธสง เมืองนางรอง เมืองประโคนชัย เมืองบุรีรัมย์ เมืองจัตุรัส เมืองบำเหน็จณรงค์ เมืองภูเขียว เมืองชัยภูมิ เป็นต้น มาสมทบ นอกจากนี้การตั้งชื่อพลล้านก็เพื่อข่มขวัญข้าศึกว่าหากยกพลมาเป็นล้านก็ไม่หวั่น (สุพร สุภสร ๒๕๓๐ : ๘๖)
๓. ประตูพลแสน เล่าสืบกันมาว่าถ้าเป็นศึกไม่ใหญ่โตนัก และถ้าจะเรียกระดมไพร่พลไม่เกินแสนทำศึก ก็ให้ถือเอาเคล็ดหรือเอาฤกษ์เอาชัยให้เคลื่อนทัพออกประตูด้านทิศเหนือไประดมไพร่พลจากเมืองใกล้เคียงมาสมทบ จึงพากันเรียกประตูนี้ว่าประตูพลแสน (สุพร สุภสร ๒๕๓๐ : ๘๖) อีกความเห็นหนึ่งกล่าวว่าการตั้งชื่อประตูแสนนั้นมีความหมายว่าข้าศึกต้องมีกำลังพลถึงแสนหนึ่งจึงจะสามารถบุกเข้ามาได้ (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ๒๕๔๙ : ๑๔)
จากการศึกษายังไม่พบหลักฐานที่บ่งบอกถึงการสร้างเมืองและกำแพงเมืองนครราชสีมา รวมถึงชื่อประตูเมืองโดยตรง จึงจำเป็นต้องศึกษาจากเอกสารที่น่าเชื่อถือนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ถึงความเป็นไปได้
“กำแพงเมืองนครราชสีมา” ได้ทำหน้าที่ตามบทบาทของมัน ด้วยการป้องกันการกันรุกรานของข้าศึกครั้งแล้วรั้งเล่าเพื่อให้ชาวเมืองอยู่สุขสบาย จากข้อเขียนของ สมเดช ลีลามโนธรรมนักโบราณคดีชำนาญการของกรมศิลปากร (๒๕๖๑ : ๑๔) กล่าวว่า ในบันทึกของ ลาลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ที่มาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๓๐-๒๒๓๑ และบันทึกของ มองซิเออร์โบรด์ ชาวฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๓ ได้กล่าวถึงกบฏบุญกว้างว่า มีการปีนกำแพงเข้าเผาบ้านเรือนของทหาร ซึ่งนายบุญกว้าง เป็นคนชาติลาวที่อ้างตัวเองว่า เป็นผู้วิเศษมีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ไม่เกรงกลัวใคร ซึ่งเรียกบุคคลพวกนี้ว่า “ผีบุญ” ได้ก่อการกบฏต่อไทย โดยเข้ายึดเมืองนครราชสีมา เหตุการณ์นี้เกิดในปี พ.ศ.๒๒๓๕ ในสมัยของสมเด็จพระเพทราชา นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์แข็งเมืองไม่ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ นำกองทัพเข้ายึดเมืองนครราชสีมาและกวาดต้อนชาวเมืองไปเวียงจันทน์ แต่ถูกชาวเมืองบางส่วนต่อต้านทำให้กองทัพเจ้าอนุวงศ์เสียไพร่พลเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้แผนการต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่วางไว้ จึง
สันนิษฐานว่าเป็นประตูด้านทิศตะวันออก
ตัดสินใจถอนกำลังและก่อนที่จะล่าถอยได้เผาทำลายบ้านเรือนราษฎร เสบียงอาหาร รื้อทำลายป้อมและกำแพงเมือง และจากจดหมายเหตุนครราชสีมา (กรมศิลปากร ๒๔๙๘ : ๖๐) กล่าวถึงเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ว่า เจ้าอนุวงศ์ก่อการกบฏยกทัพมากวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองโคราชไปเวียงจันทน์และจุดไฟเผาบ้านเรือนแขวงนครราชสีมา
แม้จะปรากฏว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๔ จะทรงโปรดให้มีการซ่อมแซมป้อมและกำแพงเมือง และในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็กระทำได้เป็นบางส่วนแต่ต้องหยุดชะงักลงเพราะไทยมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงกับฝรั่งเศส ถึงกระนั้นก็ยังคงมีการซ่อมแซมเมืองนครราชสีมาแบบค่อยเป็นค่อยไปมาโดยตลอด กอปรกับอุปสรรคสำคัญที่ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก กำแพงเมืองได้ชำรุดทรุดโทรมด้วยสาเหตุต่างๆ ตามกาลเวลา บางเอกสารกล่าวว่า กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกตั้งแต่วัดพายัพมาจนจรดริมถนนมหาดไทย เป็นกำแพงเมืองบริเวณสุดท้ายที่ถูกรื้อถอนเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๗ เหลือเพียงประตูชุมพลและแนวกำแพงสั้นๆ เท่านั้น ให้เห็นเป็นร่องรอยของการเป็นเมืองเก่า (สมเดช ลีลามโนธรรม ๒๕๖๑ :๑๕)
หากจะย้อนเวลาไปหาอดีตแล้ว น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่เมืองนครราชสีมาไม่มีสภาพเป็นเมืองโบราณหลงเหลืออยู่เลย เพราะการรื้อถอนกำแพงเมืองเพื่อรองรับความเจริญ เช่น การคมนาคม การสัญจร การสร้างสถานที่ราชการ ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อครั้งที่เป็นเด็กประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๐๔ เห็นจะได้ เคยเห็นแนวกำแพงเมืองเป็นเนินดินสูงมากทางด้านทิศใต้ตั้งแต่ตลาดประตูผีไปจรดมุมเมืองด้านตะวันออก และยังไปยืนดูนักโทษจากเรือนจำขุดรื้อแนวดินดังกล่าว จากการที่ขุดด้านล่างเป็นอุโมงค์ทำให้ดินถล่มถมทับนักโทษตายไป ๒-๓ คน อีกเรื่องทางจังหวัดมีนโยบายจะถมคูเมือง จำได้ว่า มีนายเตี้ยม บุญญากร สมาชิกสภาเทศบาลเมืองนครราชสีมาในสมัยนั้น (ข้อมูลไม่ถูกต้อง กราบขออภัย) เป็นหัวหอกสำคัญที่ออกมาคัดค้านการถมคูเมืองดังกล่าว และต่อสู้เรื่องนี้เป็นเวลาค่อนข้างนาน จนทางราชการยกเลิกโครงการถมคูเมืองดังกล่าว
คูเมืองโดยรอบจึงคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
แม้ว่าอดีตจะไม่มีวันที่หวนกลับ แต่คนโคราชหรือผู้มีใจรักประวัติศาสตร์ น่าจะหวนรำลึกและมีการบูรณะสร้างเมืองนครราชสีมาให้เห็นร่องรอยสภาพเดิมในอดีต สมกับเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของไทย เท่าที่จะสามารถกระทำได้.
• ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. (๒๔๙๘). จดหมายเหตุนครราชสีมา : พิมพ์สนองคุณเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) และเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา). ม.ป.ท.
ขรรค์ชัย บุญปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ. (๒๕๕๘). โคราชของเรา. นนทบุรี : มติชนปากเกร็ด. จังหวัดนครราชสีมา. (๒๕๒๖). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา : สมบูรณ์การพิมพ์.
สมเดช ลีลามโนธรรม. (๒๕๖๑). โคราช : ประวัติศาสตร์และความทรงจำ. สืบค้นเมื่อ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑ จาก file:///C:/Users/JoJo/Documents.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา. (๒๕๔๙). ปูมเมืองโคราช : บันทึกคำบอกเล่าจาก ภูมิปัญญาท้องถิ่น. นครราชสีมา : สมบูรณ์การพิมพ์.
สุพร สุภสร. (๒๕๓๐). “การก่อสร้างกำแพงและซุ้มประตูเมืองนครราชสีมา” ใน ที่ระลึกในพิธีเปิดหอสมุดแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๓๐. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ฟ.
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๕๐๖ วันศุกร์ที่ ๑ - วันอังคารที่ ๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๑
813 1,897