14thNovember

14thNovember

14thNovember

 

July 17,2018

ตอนที่ ๑๖๖…อาหารจานด่วน‘ฉ่านโถ่ว’

           คราวที่แล้วผมคุยไปด้วย แล้วก็พาไปในตลาดสด ยังพอจะจำรูปในตลาดสดได้ไหมครับ รูปทางเดินในตลาดเลยล่ะ สะอาดและแห้งมาก การจัดการพื้นที่ในตลาดสดทำได้อย่างดี ลองกลับไปดูรูปที่มีพื้นทางเดิน ก็จะเห็นอย่างที่ผมว่าจริงๆ ผมก็เคยเขียนบ่อยๆ ว่า ตลาดบอกอะไรได้ทุกอย่างของเมือง

           ตลาดบอกถึงคุณภาพอาหาร ความสะอาดในโรงเรือน บอกไปถึงบ้านของผู้ค้าขาย สีหน้าบอกอารมณ์ผู้คน เสียงพูดคุยบอกถึงสถานะทางสังคม และเรื่องพูดคุยบอกได้ถึงผู้นำ การใช้เวลาอยู่ในตลาดนานๆ จึงเป็นเรื่องที่เก็บข้อมูลรวมๆ ได้ไม่ยาก  เรื่องที่ยากกว่าคือหากาแฟกินที่ตลาดไม่มี

ตลาดไม่ได้เป็นแหล่งรวมขายของ

ตลาดยังสะท้อนความเป็นมาของเมือง

           ได้เห็นตลาดสดแล้ว วันนี้ก็ถนนอาหารสิครับ เราไปดูว่า อาหารสดจากตลาดตอนเช้านั้น คนในฉ่านโถ่วเอาไปแปรรูปเป็นอะไรกินบ้าง หนึ่งในนั้นที่ผมได้ลองคือหม่าล่า ที่กำลังขึ้นชื่อเป็นเมนูที่สาวไทยนิยมกัน เคยลองยังเอ่ย..หม่าล่า

เหมือนเดิมครับกับคำศัพท์เฉพาะ ที่ไม่ว่าจะมาจากบ้านไหนเมืองไหนก็ตาม ถ้าลองได้เข้ามาเมืองไทยเป็นเราต้องออกเสียงแบบตามใจพี่ไทยถนัด หม่าล่าก็เหมือนกัน เวลาออกเสียงไม่ใช่หมา ความจริงมีไม้เอกด้วย..หม่าล่า เอาให้ถูกต้องเลยต้องหม่าล่า ไม่ใช่หมาล่า

           ก่อนพาไปเดินเลือกของกินที่ถนนอาหาร ผมมีเรื่องเล่าสู่ฟังหน่อย ก็เรื่องความประทับใจผู้คนนี่ล่ะ คือยังงี้ครับ ขาไปนั้นมีอาซิ่มคนหนึ่งนั่งติดกับผมบนเครื่อง เท่าที่ผมมองสังเกตดูนะ มีแต่คนจีนทั้งลำ ทำเอาเครื่องบินเหมือนเป็นรถเมล์ที่มีแต่คนจีนกำลังโดยสารอยู่ และไม่มีอะไรทำได้ดีไปกว่าการนอนหลับ กับการเดินทางด้วยการนั่งบนเก้าอี้แคบๆ นานๆ

           ผมมาตื่นเอาเมื่อพนักงานแจ้งว่า อีกครึ่งชั่วโมงจะลงจอดที่สนามบิน ตามประสาคนเริ่มสูงวัย ที่ตื่นแล้วต้องซาวหาแว่นตา แว่นผมมันไปอยู่ในมืออาซิ่มได้ยังไงไม่รู้ ผมก็ลืมไปครับว่าตอนนี้ที่ไหน ยังฟางขี้ตาสั้นๆ อยู่ ก็เลยพูดเป็นภาษาไทยไปว่า ขอโทษครับ นั่นเป็นประโยคแรกที่ตามมาอีกนับไม่ทัน

           ลื้อมาไหว้ใครหรา อั๊ยหย๊า!!! อาซิ่มคนนี้พูดไทยได้นี่หว่า คือคนไทยที่เดินทางมาฉ่านโถ่วนั้น จำนวนไม่น้อยจะมาไหว้บรรพบุรุษกันครับ คนจีนรุ่นก่อนหน้าเราก็ล้วนรอนแรมออกเรือมาจากแผ่นดินใหญ่ และอีตรงปากน้ำฉ่านโถ่วนี่ละสำคัญ เดี๋ยวผมจะเล่าถึงปากน้ำฉ่านโถ่วอีกที

           เพราะตรงปากน้ำก่อนออกสู่ทะเลเปิดนั้น มีสถานที่ที่คนจีนต้องลงไปสักการะก่อนออกเรือ เพื่อขอพรให้การเดินทางสู่เมืองไทยปลอดภัย

           อั๊วไม่ได้มาไหว้ใครหรอกซิ่ม อั๊วเป็นฮวงนั้ง อ้าว...แล้วลื้อมายังไง มีเพื่อนที่นี่หรา ป่าว...อั๊วไม่มีใครเลย แล้วลื้อพูดจีนได้ป่าวละ อั๊วเป็นฮวงนั้งพูดจีนได้ก็ดีสิซิ่ม โทรศัพท์ลื้อใช้ไม่ล่ายใช่ไหม ใช่แล้วซิ่ม แต่เดี๋ยวถึงสนามบินอั๊วค่อยซื้อซิมมาใส่ โทรศัพท์ ลื้อไม่รู้อาไรสนามบินไม่มีซิมขายให้ลื้อหรอก

           เอาอย่างงี้ ลื้อเอาโทรศัพท์อั๊วโทรกลับไปบอกแม่ลื้อนะ อีจะได้ไม่หวงลื้อ อ้อ..เขาเรียกไม่ห่วงนะซิ่ม เออ..อีจะได้ไม่เป็นห่วงลื้อ ว่าแล้วซิ่มก็เปิดกระเป๋าหยิบมือถือมาส่งให้ผมทันที ความมีน้ำใจของอาซิ่มทำให้ผมต้องรีบปฏิเสธ และตอบไปว่า เดี๋ยวก็ลงสนามบินแล้ว โดยมารู้ทีหลังว่า สนามบินไม่มีซิมโทรศัพท์ขายจริงๆ เรื่องการได้เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือในเมืองจีนนั้นไม่ยุ่งยาก แต่การได้เป็นเจ้าของครอบครองซิมโทรศัพท์นั้นยุ่งยากนิดหน่อย ไม่อิสระสะดวกเหมือนโลกเสรี มันมีขั้นตอน แล้วเดี๋ยวผมจะเล่าสู่ฟังทีหลัง (อีกแล้ว)

           นั่นละครับ เป็นความประทับใจในครึ่งชั่วโมงแรกก่อนที่ผมจะเหยียบแผ่นดินจีน อาซิ่มแกเป็นคนฉ่านโถ่ว แฟนทำงานอยู่ฉ่านโถ่ว มีลูกสาวเป็นตัวแทนขายเครื่องตัดเหล็กอยู่ที่กรุงเทพฯ ไปกลับเมืองไทยเมืองจีนทุกเดือน ซิ่มเลยพูดไทยได้ตามประสาคนจีนสูงวัยพูดไทย แต่ก็เข้าใจกันได้ไม่ยาก ซิ่มกลับมาฉ่านโถ่วสองอาทิตย์ก็จะกลับเมืองไทย วงจรชีวิตเดินทางอยู่แบบนี้ทั้งปี ตลาดแม่กิมเฮงบ้านเราที่โคราช อาซิ่มยังรู้จัก เคยมาแล้วด้วย มันเลยทำให้คนสองคนมีตัวกลางพูดคุยกันเรื่อยๆ

           อาซิ่มพูดอะไรหลายอย่าง บางอย่างผมก็เฉย ไม่ได้โต้ตอบ เพราะฟังกันไม่รู้เรื่องทั้งหมดหรอก ทำไงได้ ตึงนั้งกับฮวงนั้ง อีนั่งคุยกัน ก็อือบ้าง ฮึบ้าง ผมเป็นคนถูกจริตกับคนแก่ และผมก็ชอบคุยกับคนแก่ เพราะอะไรที่เป็นเรื่องเก่าความหลังนั้น คนแก่จะให้ข้อมูลได้อย่างดี ผมแอบเล่าข้ามไปตอนขากลับเมืองไทย ผมก็ได้นั่งติดกับอากู๋ชัยรัตน์

           อากู๋ชัยรัตน์นั้นไม่รู้จักกันหรอก แต่นั่งติดกันคุยกันตลอดบนเครื่อง จนลูกหลานอากู๋มาคุยกับผมว่า เฮียโชคดีมากที่คุยกับกู๋ได้นาน เพราะปกติกู๋ชัยรัตน์จะเงียบๆ ไม่สุงสิงกับใคร นั่งติดกันสามชั่วโมงนิดๆ ไม่มีอะไรครับ เพราะคนแก่มักชอบเล่าถึงเรื่องหนหลัง ผมเลยแอบถามความเป็นมาของเจ้าแม่ทับทิมที่เกาะปล่อยไก่ ก็ไอ้เกาะที่อยู่ปากน้ำทางออกทะเลนั่นละ

 

           ซึ่งลูกหลานจีนสมัยกินข้าวต้มกับปลาทูแขวนเชือกก่อนออกเรือรอนแรมมาเมืองไทยต้องแวะไหว้ขอพรก่อน อากู๋ก็นั่งเล่าจนเหมือนผมนั่งดูรูปภาพวันเก่าๆ นั้นทีละใบทีละใบ แล้วผมจะเขียนถึงศาลเจ้าแม่ทับทิมนี้อีกทีนะ (อีกแล้ว)

           กลับไปที่ซิ่มใบหน้าใจดีอิ่มบุญคนนั้นดีกว่า ผมแอบยิ้มคนเดียวกับความใจดีของอาซิ่ม ที่ดูเป็นห่วงผม ที่ต้องมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่นี้คนเดียว ซิ่มน่ารัก ขอบคุณมากๆ

           ผมอยู่ฉ่านโถ่วสิบวัน เลยไปนอนที่เตี่ยจิว (แต้จิ๋ว) ด้วยสองคืน ที่เมืองนี้ไม่มีกิจกรรมกลางแจ้งอะไรมาก ตั้งใจมาดูการอยู่การกินของคนที่นี่ อาหารแต้จิ๋วมีให้เลือกกินไม่ซ้ำ รสชาติก็จะเป็นไปทางเดียวกัน ถ้าพูดถึงรสชาติหลากหลายมันก็ต้องพี่ไทยนำโดดๆ ชาติเดียวในโลกอยู่แล้ว เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม หรือจะเอาเผ็ดแสบไตแบบส้มตำ ก็ยังมีเลือกเผ็ดหลายมาตรฐาน

ครัวไทยเบอร์ต้นๆ ของนักชิม

ไม่มีครัวไหน หลากหลายเหมือนไทย

           อาหารแต้จิ๋วนั้นรสไม่จัดครับ เครื่องชูรสที่ตั้งอยู่บนโต๊ะก็มีน้อยมาก หลักๆ ก็มีอยู่สองสามอย่างคือซอสเปรี้ยวกับซอสพริกที่เค็มปรี๊ดหน้ามืดเลย หรือบางทีก็มองไปเห็นกระปุกใส่พริกแห้งคั่วกับน้ำมัน ไม่มีน้ำปลา ไม่มีน้ำตาล ไม่มีซอสมะเขือเทศ หรือซอสถั่วเขียวถั่วเหลือง อย่าหวังว่าจะเจอที่โต๊ะอาหาร

           นี่รูปแบบร้านอาหารที่เลี้ยงท้องคนท้องถิ่น ตามร้านริมถนนที่ผมตระเวนกินนะครับ ไอ้ซอสมะเขือเทศกับน้ำตาลน้ำปลา หรือขวดอื่นๆ ที่คุ้นเคย คุณหาได้บนโต๊ะอาหารในโรงแรมใหญ่ๆ หรือไม่ก็ร้านหรูหราที่มาตรฐานสูงขึ้น แต่ถ้าคุณกินได้ทุกอย่าง และกินได้ทุกรสชาติ คุณก็อยู่ฉ่านโถ่วแบบเข้ากับอาหารแต้จิ๋วได้ดี อาจลืมๆ ส้มตำหรือกะเพราไก่ไข่ดาวไปได้

อาหารแต้จิ๋วมีหลากหลาย

จานด่วนเฉลี่ย ๑๕ หยวน..บวกลบ

           นั่งเล่าซะเพลิน กระดาษหมดอีกแล้ว ยังคุยเรื่องอาหารไม่ได้พอเข้ากระพี้เลย เดี๋ยวมาเล่าอีกครับ ขอเขียนเฉียดไปเรื่องถ้ำหลวงหน่อย สุดยอดจริงๆ กับการทำงานกู้ภัย เราจะเสียเงินอีกมากมายเท่าไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถสร้างแบบทดสอบแบบนี้ได้อีกแล้ว

           แม้แต่นักดำน้ำกู้ภัยมือต้นๆ ของโลกที่มาร่วมทำงาน ก็ยังออกปากว่า งานกู้ภัยที่ถ้ำหลวงเชียงรายครั้งนี้ หินโหด และกดดันที่สุด

           พวกคุณเก่งจริงๆ ใจเพชร.

   นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๑๖ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 

 


690 1,367