October 16,2018
ชาวชัยภูมิเรียกร้องรัฐบาล ปัดฝุ่นรถไฟทางคู่ ๙ หมื่นล. หวังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ
ชาวชัยภูมิตั้งโต๊ะแถลงข่าวร้องขอรถไฟทางคู่จากจัตุรัสถึงเมืองเลย เตรียมส่งตัวแทนยื่นเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรี ช่วยปัดฝุ่นอนุมัติ มูลค่า ๙ หมื่นล้าน หวังช่วยเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจโดยด่วน
สำหรับสถานีรถไฟอำเภอจัตุรัส ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๐๙ โดยในปัจจุบันทางจังหวัดชัยภูมิและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการจัดทำแผนศึกษาวิจัยในงบประมาณกว่า ๓๔ ล้านบาทกระทั่งเสร็จสิ้น และเคยนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอดีตมาแล้วหลายสมัย และไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ซึ่งโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ที่มีการศึกษานั้น เป็นทางเลือกที่ ๑ สายสีม่วง มูลค่าประมาณทั้งโครงการประมาณ ๙ หมื่นล้านบาท เส้นทางจากสถานีจัตุรัส-ชัยภูมิ-เลย และหนองบัวลำภู ซึ่งหากมีการก่อสร้างจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบราง พัฒนาทางคู่สายใหม่ ได้นำไปสู่ศักยภาพทางเศรษฐกิจ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานตามมาเป็นจำนวนมาก และเกิดความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย เชื่อมสายใยวิถีชีวิตของประชาชนชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ในปัจจุบันให้มีคุณภาพชีวิตมีความเป็นอยู่ในทางที่ดีเพิ่มมากขึ้นด้วย
โครงการรถไฟทางคู่ทางเลือกที่ ๑ สายสีม่วง มีทั้งหมด ๓๐ สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ ๔ สถานี ได้แก่ ชัยภูมิ ชุมแพ หนองบัวลำภู และเมืองเลย, สถานีขนาดกลาง ๑๐ สถานี ได้แก่ บ้านเขว้า ห้วยบง โคกมั่งงอย แก้งคร้อ ภูเขียว วังเพิ่ม เมืองใหม่ นากลาง นาเหล่า วังสะพุง และสถานีขนาดเล็ก ๑๖ สถานี ได้แก่ บ้านกอก หนองบัวบาน ช่องสามหมอ ลุบคา กวางโจน นาจาน ศรีสุข นากอก หัวนา บ้านพร้าว หนองบัว นาคำไฮ ผาอินทร์แปลง หนองหญ้าปล้อง นาโป่ง และน้ำหมาน
ทั้งนี้ หลังจากการจัดเวทีครั้งนี้ ตัวแทนทุกภาคส่วนในจังหวัดชัยภูมิ จะรวบรวมข้อมูลความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ยื่นผ่านนายมนตรี ชาลีเครือ นายก อบจ.ชัยภูมิ เพื่อนำเสนอต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเร่งผลักดันนำเสนอต่อที่ประชุมครม. เพื่อพิจารณาเดินหน้าโครงการนี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเร็วต่อไป
อนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๘ นายวรรณนพ ไพศาลพงศ์ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงการพื้นฐาน ตัวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับนายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวชัยภูมิ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการพิจารณาเสนอทางเลือกต่อรัฐบาล เพื่อเปิดเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ในภาคอีสาน ที่สรุปเหลือเพียง ๒ เส้นทางหลักทางเลือก จากสายจัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย และอีกเส้นทางคือสายลำนารายณ์-เพชรบูรณ์-เลย-หนองบัวลำภู ณ ห้องเทพสถิต โรงแรมชัยภูมิปาร์ค จังหวัดชัยภูมิ ท่ามกลางตัวแทนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิจำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ คน เดินทางเข้าร่วมเวทีในครั้งนี้จนล้นห้องประชุม และนำป้ายมายืนชูแสดงพลัง พร้อมแจกจ่ายผ้าโพกศีรษะ แสดงสัญลักษณ์ และข้อความ “รถไฟทางคู่ต้องมาชัยภูมิ”, “ชัยภูมิรวม ใจเพื่อรถไฟสายเศรษฐกิจ” เป็นต้น พร้อมทั้งนายบรรยงค์ เกียรติก้องชูชัย นายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิ ได้นำคณะครู ผู้บริหารเทศบาลฯ ขึ้นไปร่วมร้องเพลงคนชัยภูมิต้องการรถไฟด้วย
โดยภาคเอกชนในจังหวัดชัยภูมิมอบหมายให้นายสิทธิพล สุทธิศักดิ์ภักดี เลขาธิการหอการค้าจังหวัดชัยภูมิ ยื่นข้อเสนอผ่านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนระดับจังหวัด (การประชุมใหญ่) ร่วมกับทีมงานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้างทางรถไฟ สายจัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย หรือ ลำนารายณ์-เพชรบูรณ์-เลย-หนองบัวลำภู เพื่อนำเสนอแนวเส้นทางที่เหมาะสม ตำแหน่งของสถานี รูปแบบเบื้องต้นผ่านชัยภูมิเป็นหลักในครั้งนี้ ผ่านไปถึงรัฐบาล ให้พิจารณาถึงความเหมาะสมที่สุดด้วย
การสัมมนาครั้งนี้ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า ได้นำเสนอผลการศึกษาแนวเส้นทางที่เหมาะสม สำหรับนำมาพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ โดยขั้นตอนแรกพิจารณาแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมของแต่ละเส้นทาง ซึ่งใช้ปัจจัยหลัก ๓ ด้านในการพิจารณา ประกอบด้วย ด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลที่ได้คือ สายจัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย ได้แนวเส้นทางที่เหมาะสม ผ่านพื้นที่ ๔ จังหวัด ๑๕ อำเภอ โดยมีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางที่สถานีรถไฟจัตุรัส อ.จัตุรัส ผ่าน อ.บ้านเขว้า อ.เมือง เข้าสู่ อ.คอนสวรรค์ อ.แก้งคร้อ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ก่อนเข้าสู่ อ.ชุมแพ และอ.สีชมพู จ.ขอนแก่น จากนั้นตัดผ่าน อ.ศรีบุญเรือง อ.เมืองหนองบัวลำภู อ.นากลาง และ อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู เข้าสู่อ.เอราวัณ อ.วังสะพุง สิ้นสุดแนวเส้นทางที่อ.เมืองเลย จ.เลย รวมจำนวน ๓๐ สถานี และย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (Container Yard) จำนวน ๖ แห่ง ระยะทางทั้งสิ้น ๓๓๓ กิโลเมตร
ส่วนสายทางลำนารายณ์-เพชรบูรณ์-เลย-หนองบัวลำภู ได้แนวเส้นทางที่เหมาะสมผ่านพื้นที่ ๔ จังหวัด ๑๓ อำเภอ มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางที่สถานีรถไฟลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี มุ่งหน้าขึ้นไปทางทิศเหนือ สู่ อ.ศรีเทพ อ.วิเชียรบุรี ผ่าน อ.บึงสามพัน อ.หนองไผ่ เข้าสู่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ อ.หล่มสัก อ.หล่มเก่า จ.เพชร บูรณ์ ผ่านเข้าสู่ อ.ภูหลวง อ.วังสะพุง อ.เมืองเลย อ.นาด้วง จ.เลย จากนั้นลัดเลาะไปตามไหล่เขาและมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก เข้าอ.นาวัง อ.นากลาง และสิ้นสุดแนวเส้นทางที่อ.เมืองหนอง บัวลำภู จ.หนองบัว ลำภู รวมจำนวน ๓๕ สถานี และย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (Container Yard) จำนวน ๖ แห่ง ระยะทางทั้งสิ้น ๓๙๒ กิโลเมตร
จากนั้นมีการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาสองแนวเส้นทางโดยใช้ปัจจัยหลัก ๓ ด้าน ดังกล่าวข้างต้น พบว่า แนวเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่สู่ภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือตอนล่างที่จะนำมาพัฒนาเป็นลำดับแรก ได้แก่ สายจัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) ร้อยละ ๙.๗๔ มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นประมาณ ๙๓,๔๖๗ ล้านบาท สำหรับแนวเส้นทางสายลำนารายณ์–เพชรบูรณ์–เลย–หนองบัวลำภู มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ร้อยละ ๘.๓๐ มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นประมาณ ๑๓๘,๐๐๒ ล้านบาท ควรได้รับการพัฒนารถไฟทางคู่ในภูมิภาคนี้เป็นลำดับถัดไป ซึ่งการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้จะช่วยเสริมศักยภาพด้านการคมนาคมขนส่งให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเส้นทางนี้จะเชื่อมต่อกับรถไฟสายอีสานซึ่งจะสามารถเชื่อมระบบรางไปยังภาคกลาง ภาคเหนือ และจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อทางรถไฟผ่านสถานีเมืองเลยสามารถใช้เส้นทางถนนเลย–ท่าลี่ เดินทางต่อไปยังสปป.ลาว โดยผ่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง อ.ท่าลี่ ข้ามสะพานมิตรภาพน้ำเหือง เข้าสู่แขวงไชยบุรี และสามารถเดินทางต่อไปยังเมืองหลวงพระบาง ระยะทางเพียง ๓๔๓ กิโลเมตร และสามารถเดินทางต่อไปยังประเทศจีน ด้วยระยะทาง ๒๖๗ กิโลเมตร
นอกจากนี้ การพัฒนารถไฟสายใหม่ จะช่วยส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเป็นทางเลือกในการคมนาคมขนส่งสินค้าที่ประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีความปลอดภัยสูงมากขึ้นอีกด้วย แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่ได้ข้อสรุปที่จะเสนอรัฐบาล ในครั้งนี้ เพราะจะต้องรอผลการสัมมนาที่จะต้องมีขึ้นอีก ๒ จังหวัดต่อไป คือวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๘ ที่แกรนด์ฮอลล์ ชั้น ๒ โรงแรมใบบุญเพลส อ.เมือง จ.เลย ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๒.๐๐ น. และวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๘ ณ หอประชุมประกายเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
ภายหลังจากการสัมมนาครั้งนี้ รฟท.จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาทั้งหมดไปพิจารณาประกอบในรายงานผลการศึกษาทุกด้านของโครงการ และเตรียมส่งมอบให้กับกระทรวงคมนาคม เสนอถึงรัฐบาลดำเนินการในขั้นตอนต่อไป เพื่อให้สอดคล้องตามหลักยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๕ โดยมีแผนงานพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ และความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่งต่อไป
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๓๐ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ - วันจันทร์ที่ ๑๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
963 1,704