October 17,2018
โกนหัวค้านโรงไฟฟ้ามิตรผล ชี้สร้างผลกระทบต่อปากท้อง
ประชาชนกว่า ๓๐๐ คน โกนหัวบุกสำนักงานกำกับกิจการพลังงานฯ ค้านโรงไฟฟ้ามิตรผลบนพื้นที่กว่า ๗๐๐ ไร่ ริมลำน้ำเซบาย วอนชะลอการออกใบอนุญาต อ้างสร้างผลกระทบต่อปากท้อง หวั่นเกิดการแย่งน้ำระหว่างประชาชนกับโรงงานนายทุน
เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๑ ที่หน้าสำนัก งานกำกับกิจการพลังงานประจำเขต ๕ (อุบลราช ธานี) เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซบาย ๒ จังหวัดคือ ยโสธรและอำนาจเจริญ ซึ่งเกรงว่าจะได้รับผล กระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด ๖๑ เมกะวัตต์ของบริษัทมิตรผลไบโอ-พาวเวอร์ จำกัด บริเวณริมแม่น้ำเซบายในพื้นที่เกือบ ๗๐๐ ไร่ กินอาณารอยต่อ ๒ จังหวัด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ประมาณเกือบ ๓๐๐ คน ได้รวมตัวประท้วงคัดค้านและยื่นหนังสือถึงบอร์ดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ ชะลอการออกใบอนุญาตให้บริษัท มิตรผลไบโอ-พาวเวอร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวไว้ก่อน
โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ รอผลการศึกษาข้อเท็จจริง ในการมีส่วนร่วมด้านทรัพยากรและสุขภาพ ซึ่งจังหวัดยโสธรมีคำสั่งแต่งตั้ง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติด้วย เนื่องจากการกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่บริษัทมิตรผลไบโอ-พาวเวอร์ จำกัด นำเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ ไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของราษฎร ๒ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ตามที่เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือประท้วงคัดค้านมาโดยตลอด
จึงขอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ ยกเลิกการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าบริษัท มิตรผลไบโอ-พาวเวอร์ จำกัด ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ ไปก่อน พร้อมขอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ ลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงและรับฟังคำคัดค้านของประชาชนในพื้นที่รอบ ๕ กิโลเมตรของที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างขึ้น และเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซบาย ๒ จังหวัดคือ ยโสธรและอำนาจเจริญ ต้องการเข้าพบกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ เพื่อชี้แจงข้อมูลที่เป็นจริงทั้งหมดด้วย
ต่อมานายปฏิภาณ แก้วรินขวา ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานกำกับกิจการพลังงานประจำเขต ๕ (อุบลราชธานี) ได้ลงมาพบกับราษฎรและรับหนังสือที่ราษฎรมายื่นเรียกร้อง พร้อมแจ้งว่าจะรีบส่งหนังสือต่อไปให้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติภายในวันนี้ เนื่องจากสำนักงานกำกับกิจการพลังงานประจำเขต ๕ (อุบลราชธานี) ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ รวมทั้งไม่ทราบจะมีการพิจารณาเรื่องการออกใบอนุญาตให้บริษัท มิตรผลไบโอ-พาวเวอร์ จำกัด ผลิตกระแสไฟฟ้าในวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ จริงหรือไม่
ทั้งนี้ หลังจากอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซบาย ๒ จังหวัดคือ ยโสธรและอำนาจเจริญ ยื่นหนังสือแล้ว ได้มารวมตัวที่หน้าสำนักงานกำกับกิจการพลังงานประจำเขต ๕ (อุบลราชธานี) และโกนหัวประท้วงรวม ๕ คน เพื่อแสดงเจตนาไม่ยอมรับหากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ ยังจะพิจารณาออกใบอนุญาตให้บริษัท มิตรผลไบโอ-พาวเวอร์ จำกัด ผลิตกระแสไฟฟ้า โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากราษฎร รวมทั้งประกาศจะเดินทางไปรวมตัวกันที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงานในวันที่ ๑๗ ตุลาคมนี้อีกด้วย
ด้านนางมะลิจิตร เอกตาแสง แกนนำราษฎรจากตำบลเชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้กล่าวว่า ลำน้ำเซบายเป็นลำน้ำขนาดเล็ก ที่ราษฎรใช้หากินกับป่าบุ่งป่าทาม จับปลามาเลี้ยงครอบครัว รวมทั้งใช้น้ำในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอินทรีย์หลายหมู่บ้าน เมื่อมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ จะเกิดการแย่งน้ำระหว่างราษฎรกับโรงงาน ซึ่งในฤดูแล้งลำน้ำเซบายนี้ ก็มีน้ำไม่พอต่อการเพาะปลูกพืชผลอยู่แล้ว และแน่นอนเมื่อมีการต่อสู้กันระหว่างนายทุนกับราษฎร ราษฎรต้องเฝ่าป็นยพ่ายแพ้ เพราะไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้กับทุนใหญ่ได้ ซึ่งอนาคตจะส่งผลกระทบกับปากท้องของราษฎรที่หากินอยู่ในพื้นที่ในระยะยาว
“รวมถึงราษฎรยังเกรงว่า หากโรงงานปล่อยสิ่งปนเปื้อนลงไปในน้ำ ก็จะกระทบกับสัตว์น้ำในลำน้ำเซบาย และมีผลกระทบมาถึงความเป็นอยู่ของราษฎร ซึ่งไม่รวมถึงเรื่องมลภาวะด้านเสียง ฝุ่นละออง ของรถบรรทุกที่จะขนอ้อยเข้ามาใช้ผลิตไฟฟ้าในโรงงาน จึงต้องการให้มีการทบทวนการออกใบอนุญาตให้กับโรงไฟฟ้าแห่งนี้” นางมะลิจิตร กล่าว
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๓๑ วันอังคารที่ ๑๖ - วันเสาร์ที่ ๒๐ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
875 1,539