May 11,2019
นิคมอุตสาหกรรมอุดรฯพร้อม เปิดรับนักลงทุนตั้งโรงงานมิ.ย.
มีมติสนับสนุนงบให้ สนข.เร่งรัดศึกษาการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมฯ ตามมติครม. รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกอบการ มากหรือเท่ากับเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี คืบหน้ากว่า ๗๐% พร้อมเปิดให้นักลงทุนสร้างโรงงานมิถุนายนนี้
เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ที่ห้องลาวเจริญศรี โรงแรมเจริญโฮเต็ล อุดรธานี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ๑ โดยมีเนื้อหาในการประชุมเกี่ยวกับพิจารณาเพื่อขอรับการสนับสนุนจาก กรอ.ส่วนกลาง จากจังหวัดในกลุ่ม โดยมีนายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายจิรศักดิ์ ศรีคชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ/ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย หนองบัวลำภู เลย และหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ๕ จังหวัด ร่วมประชุม
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าผลการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๑ ในด้านต่างๆ ตามที่มีข้อสั่งการ เช่น โครงข่ายคมนาคมทางถนน โครงข่ายคมนาคมทางอากาศ โครงข่ายคมนาคมทางราง ด้านแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ด้านการยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต ด้านการท่องเที่ยว ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการติดตามความคืบหน้าผลการประชุมครม.สัญจร เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ จังหวัดหนองคาย ในประเด็นต่างๆ เช่น โครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ๖ โครงการ โครงการขยายช่องทางจราจร ๕ โครงการ โครงการเพิ่มมาตรฐานทางหลวงโดยขยายไหล่ทาง ๖ โครงการ เป็นต้น
นางจิดาภา มั่นในสัจจธรรม กรรมการบริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ซึ่งเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ก่อสร้างขึ้นตามมติ ครม.ที่อยากให้ลูกหลานชาวอีสานมีงานทำ สร้างงานสร้างรายได้ ขณะนี้พัฒนาไปกว่า ๗๐% แล้ว พร้อมเปิดให้นักลงทุนเข้ามาสร้างโรงงานได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมทั้งด้านไฟฟ้า และน้ำ ก็มีหลายกลุ่มทุนที่สนใจจะเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มโลจิสติกมีความชัดเจนและเจรจากันแล้ว เนื่องจากโครงการของเราติดกับทางรถไฟธุรกิจด้านนี้จึงมีศักยภาพมาก กลุ่มอื่นๆ ก็จะมีโรงงานที่ต้องใช้วัตถุดิบในพื้นที่นี้เช่นยางพารา ผลิตยางรถ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาหารและกลุ่มอิเลคทรอนิกส์ ด้วย
“ตามที่จังหวัดอุดรธานี ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและกำหนดแนวทางในการส่งเสริมการลงทุนตามแนวรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงและโครงการท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดอุดรธานี โดยปัญหาของคณะทำงานฯก็คือขาดผู้แทนจาก สนข.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จะนำผลการศึกษาไปปรับใช้ทั้งในเชิงนโยบายและภาคปฏิบัติ นอกจากนี้ผลการศึกษาควรดำเนินการศึกษาอย่างเป็นระบบ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยงบประมาณเพื่อใช้จ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา ตามวิธีการเช่นเดียวกันที่ สนข.ใช้ในการศึกษา เพื่อให้ผลการศึกษาเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติให้การสนับสนุนด้านงบประมาณจากกลุ่มจังหวัด เพื่อให้ สนข.เร่งรัดดำเนินการศึกษาตามมติครม. และกลุ่มจังหวัดจะมีหนังสือแจ้งไปยัง สนข.ให้รีบดำเนินการโดยเร็ว” นาง จิดาภา กล่าว
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมมีมติให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ดำเนินการศึกษาหรือหาทางให้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมให้ได้รับมากกว่าหรือเท่ากับผู้ประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งกลุ่มจังหวัดจะได้ทำหนังสือขึ้นไปใหม่ ส่งตรงถึงประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง น่าจะได้ยินข่าวดีตามที่ขอซึ่งครม.สัญจรได้มีมติไว้แล้ว
สำหรับการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟหนองตะไก้จนถึงใจกลางเมืองอุดรธานี ระยะทาง ๑๖ กม.ซึ่งก่อสร้างไปแล้ว ๑ กม. จะต้องก่อสร้างเพิ่มเพื่อเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นเมื่อมีการขนส่งทางรางเกิดขึ้นในอนาคต โดยประธานที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานทางหลวงชนบทเป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ตัวแทนสภาพัฒน์ ยังชี้แจงต่อที่ประชุมให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สิ่งที่เอกชนขอความช่วยเหลือคือการวางรางในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (ร.ฟ.ท.) มาถึงบริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมฯ เพื่อเชื่อมต่อกับรางรถไฟภายในนิคมฯ ที่เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนเอง ดังนั้นที่ประชุมจึงขอให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาดำเนินการตามที่ ครม.มีมติไว้แล้ว
ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๑ วันเสาร์ที่ ๑๑ - วันพุธที่ ๑๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
875 1,603