28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

June 06,2019

ผู้ว่าฯชวนอ่าน‘ย้อนเรื่องเมืองโคราช’ ย้อนรอยประวัติศาสตร์

            “ผู้ว่าฯ วิเชียร” ชวนอ่านหนังสือ “ย้อนเรื่อง เมืองโคราช : โคราชในความทรงจำ” หนังสือให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์เมืองโคราช ผลงานดร.เมตต์ เผยอยากให้คนโคราชรู้จักตน รู้จักประวัติศาสตร์ หวังคนรุ่นใหม่ช่วยสืบสานรักษามรดกจากคนรุ่นก่อน ต่อยอดให้กลมกลืนกับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง

            เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ มีการประชุมกรมการจังหวัดนครราชสีมาและหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๕/๒๕๖๒ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานในการประชุม ได้กล่าวถึงหนังสือ “ย้อนเรื่อง เมืองโคราช : โคราชในความทรงจำ” ของ ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต ประธานชมรมอนุรักษ์ภาษา และวัฒนธรรมพื้นบ้านโคราช จิตอาสาราชประชาสมาสัย เพื่อเชิญชวนให้หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมอ่านและศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองโคราช และเพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้เขียนอีกด้วย ซึ่งมีผู้ที่สนใจเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการตำรวจ และสื่อมวลชน ต่างเข้าแถวต่อคิวรอซื้อหนังสือเป็นจำนวนมาก

            ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๒.๐๐ น. ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต ประธานชมรมอนุรักษ์ภาษา และวัฒนธรรมพื้นบ้านโคราช จิตอาสาราชประชาสมาสัย ได้ให้สัมภาษณ์กับ “โคราชคนอีสาน” ถึงรายละเอียดของหนังสือ “ย้อนเรื่อง เมืองโคราช : โคราชในความทรงจำ” และความภาคภูมิใจในฐานะผู้เขียน หลังมีผู้สนใจอ่านเป็นจำนวนมาก     

            ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต เล่าให้ “โคราชคนอีสาน” ฟังด้วยความปลื้มปิติว่า “ตนรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่คิดว่าผู้ว่าราชการจังหวัดจะให้ความสนใจหนังสือ ย้อนเรื่อง เมืองโคราช และยังให้ความกรุณาประชาสัมพันธ์ในที่ประชุม เนื่องจากผู้ว่าฯ วิเชียรเห็นว่า เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และเป็นเรื่องราวของคนโคราชโดยตรง และอยากให้คนโคราชได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อที่จะได้รู้จักตนเอง และรู้จักเมืองโคราชมากขึ้น หากมีคนจังหวัดอื่นๆ มาสอบถามเราก็สามารถตอบได้อย่างเต็มภาคภูมิ”

            ดร.เมตต์ กล่าวอีกว่า “ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากเป็นการเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ข้อมูลมีอยู่หลากหลาย ซึ่งตนพยายามศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากทั้งจดหมายเหตุ พงศาวดาร และอื่นๆ ซึ่งจะไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการเขียน เพราะตนไม่ได้เกิดในสมัยนั้น อีกทั้ง การเขียนหนังสือเชิงประวัติศาสตร์จะต้องแสวงหาข้อมูล หลักฐาน ที่เชื่อได้ใช้ในการอ้างอิง ต้องใช้เวลามากกว่าจะได้ข้อมูลแต่ละเรื่อง เมื่อได้มาแล้วยังต้องวิเคราะห์อีกว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่ หลักฐานใดเชื่อได้ หลักฐานไหนไม่น่าเชื่อถือ และนำมากลั่นกรองอีกครั้งเพื่อเรียบเรียงขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา”

            ต่อข้อถามว่า “เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ จะมีส่วนช่วยพัฒนาเมืองโคราชอย่างไรบ้าง” ดร.เมตต์ เล่าว่า “เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาบ้านเมืองในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น การสร้างกำแพงเมือง หากต้องการย้อนกลับไปในอดีต ให้โคราชมีร่องรอย อาจจะทำกำแพงจำลองขึ้นมา ซึ่งอาจจะต้องให้ทางกรมศิลปากรช่วยออกแบบในส่วนนี้ หรือเป็นแนวทางในการนำข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้มาช่วยในการจัดงานประกวดส่งเสริมด้านวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ของจังหวัด การจัดงานแสดงแสง สี เสียง ที่นอกจากวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์แล้ว อาจเป็นการแสดงให้เห็นเรื่องราวด้านอื่นๆ ของเมืองโคราช เพื่อให้คนทั่วไปรู้จักประวัติของเมืองโคราชเพิ่มมากขึ้น”

            ในตอนท้าย ดร.เมตต์ ได้ฝากข้อคิดสำหรับคนรุ่นหลังว่า “อยากให้คนโคราชหันมาสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองโคราชมากขึ้น คนโคราชต้องรู้เรื่องโคราชว่าเป็นหัวเมืองเอกของกรุงสยามมาตั้งโบราณกาล มีเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์มากมาย เช่น การสร้างเมือง สงครามระหว่างชาวเมืองนครราชสีมากับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ที่สนามรบทุ่งสัมฤทธิ์ รถไฟสายแรกของเมืองไทย มวยโคราช แมวโคราช นกเขาคารม และอีกหลายๆ เรื่อง ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อีกทั้ง คนรุ่นใหม่อาจกลายเป็นผู้มีอำนาจในอนาคต ได้เข้ามาบริหารจังหวัด จะได้รู้จักเรียนรู้ หากต่อไปมีการพัฒนาบ้านเมือง จะทำอย่างไรให้การพัฒนายังคงควบคู่ไปกับการรักษาร่องรอยของวัฒนธรรมเดิมที่เคยมีมา และคนรุ่นหลังตระหนักถึงการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณี ภาษา ที่เป็นเอกลักษณ์รากเหง้าของโคราช และมีหน้าที่สืบสานรักษามรดกจากคนรุ่นก่อนโดยต่อยอดให้กลมกลืนกับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง”

            หนังสือ “ย้อนเรื่อง เมืองโคราช : โคราชในความทรงจำ” จำนวน ๓๐๘ หน้า จำหน่ายในราคา ๒๐๐ บาท ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ เป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมา เช่น ที่มาของชื่อ, การสร้างเมืองนครราชสีมา, แมวโคราช และอีกหลายเรื่องราว รวมถึงการกล่าวถึงวีรกรรมของท้าวสุรนารี อีกด้วย โดยหลังจากนี้อาจมีการจัดทำหนังสือ ย้อนเรื่องเมืองโคราช เล่ม ๒ อีก เนื่องจากยังมีอีกหลายเรื่องรายที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ลงในเล่มนี้ สำหรับผู้ที่สนใจหนังสือ “ย้อนเรื่องเมืองโคราช : โคราชในความทรงจำ” ชาวโคราชสามารถซื้อได้ที่ห้างสรรพสินค้า คลังพลาซ่า ทั้ง ๓ สาขา และร้านอาหารแสนพัน ถนนสวายเรียง

 

 

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๖ วันเสาร์ที่ ๖-วันพุธที่ ๑๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


781 1427