30thOctober

30thOctober

30thOctober

 

June 10,2019

รถไฟฟ้ารางเบาโคราช จ้างที่ปรึกษาแล้ว ๘๕ ล. นำร่องเซฟวัน–บ้านนารีสวัสดิ์

            คืบหน้ารถไฟฟ้ารางเบา รฟม.ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษา นำโดยบริษัทโชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา นำร่องเส้นทางสายสีเขียว เซฟวัน–บ้านนารีสวัสดิ์ ประเมินมูลค่าลงทุน ๘,๐๐๐ ล้านบาท คาดเริ่มสร้างปี’๖๔ 

 

            ตามที่ “โคราชคนอีสาน” ได้นำเสนอข่าวความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดนครราชสีมามาโดยตลอด ซึ่งในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ นายวิจิตต์ นิมิตวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยเปิดเผยว่า จากที่มีการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ ได้รับทราบผลการดำเนินโครงการจัดทำแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนคร ราชสีมา โดย สนข.ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นระบบรถไฟฟ้า Light Rail Transit หรือ Tramway) มี ๓ เส้นทางหลัก ประกอบด้วย สายสีเขียว สายสีส้ม สายสีม่วง 

            ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ ซึ่งในขณะนั้นอยู่ระหว่างกระบวนการออกพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจ รฟม.ในการดำเนินโครงการในจังหวัดนครราชสีมาต่อไป ซึ่ง รฟม.ต้องมีการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วยว่า โครงการนี้มีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างไร หรือว่าจะต้องมีการเวนคืนที่ดินหรือไม่ 

            “ในส่วนของการออกแบบใช้เวลาประมาณ ๑ ปี ส่วนกระบวนการ EIA นั้นไม่สามารถควบคุมได้ เพราะว่าขึ้นอยู่กับกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า จะสามารถพิจารณาการศึกษา EIA ได้เสร็จเมื่อไร แต่โดยปกติจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ ๑-๒ ปี เมื่อผ่านแล้วจึงสามารถเสนอผ่านไปยังสภาพัฒน์ ผ่านไปยัง ครม. (คณะรัฐมนตรี) เพื่ออนุมัติโครงการและวงเงินก่อสร้าง รวมทั้งพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน จากนั้นจึงจะไปสู่กระบวนการเปิดประมูล ซึ่งต้องมีเอกสารการประมูลในเรื่องของพระราชกฤษฎีกาเวนคืนเรียบร้อยแล้ว เพื่อหาผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมา) ซึ่งเมื่อได้ผู้รับจ้างแล้วจึงจะเริ่มโครงการ” นายวิจิตต์ กล่าว

            ล่าสุดเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน–สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) แล้ว โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม.ได้ลงนามสัญญาจ้าง กับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดยบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอ็นทิค จำกัด และบริษัท เอ ๒๑ คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยมีวงเงินค่าจ้าง จำนวน ๘๕,๖๐๐,๐๐๐ บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) โดยการเซ็นสัญญาในครั้งนี้เป็นเพียงการเซ็นสัญญาจ้างที่ปรึกษา “ออกแบบ รายละเอียดก่อสร้างโครงการ” หลังจากศึกษาเสร็จแล้ว รฟม.จะนำรายละเอียด และแบบที่ได้ไปเปิดประมูลหาผู้รับเหมาอีกครั้ง

            สำหรับขอบเขตของงานจ้างประกอบด้วยงาน ๒ ช่วง (Phase) ได้แก่ ช่วงที่ ๑ งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม (Feasibility Study) ประเมินผล กระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบ จัดทำรายงานการศึกษา และวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และทำหน้าที่ ที่ปรึกษาตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ ๑ ปี และช่วงที่ ๒ งานจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาเพื่อคัดเลือก ผู้รับจ้างงานก่อสร้างโครงการ และเอกสารประกวดข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า งานบำรุงรักษาและงานให้บริการเดินรถ และทำหน้าที่ที่ปรึกษาตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒

            โดย รฟม.คาดว่า จะสามารถแจ้งที่ปรึกษาเริ่มปฏิบัติงานในช่วงที่ ๑ ได้ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ ใช้ระยะเวลาประมาณ ๑ ปี  เพื่อเสนอรูปแบบการลงทุน นำมาประกอบทำรายงาน คาดว่าใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน และจะเสนอต่อคณะกรรมการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร  กระทรวงคมนาคม จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี ๒๕๖๔ และเปิดให้บริการในปี ๒๕๖๘ ทั้งนี้คาดการณ์จะมีผู้โดยสารประมาณ ๑ หมื่นคน/วัน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงที่สถานีรถไฟนครราชสีมาด้วย ซึ่งจะต้องสำรวจการเวียนคืนที่ดินอีกครั้งเพื่อให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด ส่วนอัตราค่าบริการยังไม่ได้กำหนด ขอศึกษารายละเอียดต่างๆ ก่อน

            ตามผลการศึกษาโครงการแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ของสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน–สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งระดับดิน มีแนวเส้นทางตามแนวตะวันออก-ตะวันตก บนถนนมิตรภาพ ถนนมุขมนตรี ถนนโพธิ์กลาง ถนนราชดำเนิน ถนนชุมพล และถนนสุรนารายณ์ ระยะทางประมาณ ๑๑.๑๗ กิโลเมตร เบื้องต้นประเมินมูลค่าลงทุนไว้ที่ประมาณ ๘,๐๐๐ ล้านบาท 

            โดยมีจำนวน ๒๐ สถานี ผ่านสถานที่สำคัญ เช่น ตลาดเซฟวัน ตลาดมิตรภาพ สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา คลังพลาซ่าจอมสุรางค์ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โรงเรียนสุรนารีวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานจังหวัดนครราชสีมา สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ เป็นต้น

            นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้นจะใช้วิธีลงทุนร่วมกับเอกชน รัฐเป็นฝ่ายจัดหาที่ดิน เอกชนลงทุนค่าก่อสร้าง งานโยธา ระบบรถและเดินรถ โดยรัฐจะทยอยชำระคืนในระยะเวลา ๑๐ ปี ทั้งนี้แนวรถไฟฟ้ารางเบาจะอยู่บนแนวถนน จึงอาจมีการเวนคืนที่ดินบ้างแต่เล็กน้อย ในจุดที่ถนนแคบ หรือจุดโค้งทางเลี้ยว และจุดที่ตั้งสถานี ทั้งนี้ การก่อสร้างสายสีส้ม และสายสีม่วง จะประเมินผลหลังดำเนินโครงการสายสีเขียวก่อน 

            โดยก่อนหน้านี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า โครงการนี้เป็นรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit-LRT) เงินลงทุน ๓๒,๖๐๐ ล้านบาท ดำเนินการลงทุน ๓ ระยะ โดยระยะที่ ๑ ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ วงเงิน ๑๓,๖๐๐ ล้านบาท มีสายสีเขียว จากตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ๑๑.๑๗ กม. ๒๐ สถานี และสายสีส้ม แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า ๙.๘๑ กม. ๑๗ สถานี, ระยะที่ ๒ ปี ๒๕๖๖-๒๕๖๘ มีสายสีม่วงช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ๑๑.๙๒ กม. ๙ สถานี และระยะที่ ๓ ส่วนต่อขยายสายสีส้ม สีเขียว และสีม่วง

            อนึ่ง บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยมี นาวาโทวิรุฬห์ โชติบุตร เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ โดยใช้ชื่อว่า บริษัท มูเชล (ประเทศไทย) จำกัด ต่อมาในเดือนตุลาคม ๒๕๔๓ ผู้บริหารชาวไทยของบริษัท มูลเชล (ประเทศไทย) จำกัด ได้เจรจาซื้อหุ้นบริษัทฯ จำนวนร้อยละ ๗๕ จากมูเชลกรุ๊ป และล่าสุดเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ให้บริการ ๖ สาขา ได้แก่ สาขาการจราจรและขนส่ง, สาขาท่าเรือและวิศวกรชายฝั่ง, สาขาแผนที่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์, สาขาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง, สาขาการวางผังเมืองและออกแบบชุมชนเมือง และสาขาบริหารควบคุมงานก่อสร้างสนามบิน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความชำนาญงานการศึกษาความเหมาะสม การจัดทำแผนแม่บท การออกสำรวจออกแบบรายละเอียดวิศวกรรม/สถาปัตยกรรม การบริหารงานก่อสร้าง การควบคุมงานก่อสร้าง การจัดการและประเมินสภาพแวดล้อม การวางแผนดำเนินงาน และการเตรียมเอกสารสัญญาประกวดราคาก่อสร้าง สำหรับโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน อาทิ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ระบบราง ระบบรถไฟรางเดี่ยวและทางคู่ และโครงการพิเศษอื่นๆ

 

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๖ วันพฤหัสบดีที่ ๖ - วันจันทร์ที่ ๑๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

872 1,568