June 17,2019
ปศุสัตว์บุกโรงฆ่าเถื่อน หวั่นเกิดโรคระบาด
ปศุสัตว์บุกจับโรงฆ่าเถื่อนกลางชุมชนเทศบาล ป้องกันโรคระบาดจากการฆ่าไม่ถูกวิธี เจ้าของโวยวาย ต้องจับผู้ลักลอบฆ่ารายอื่นด้วย แจ้งข้อหาฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต
เมื่อเวลา ๐๙.๔๕ น. วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ นายอภิชาติ ภะวัง หัวหน้ากลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์อุบลราชธานี พร้อมนายไพศาล พัฒนเดชกุล หัวหน้าด่านกักกันสัตว์อุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ ๒๒ เข้าตรวจสอบโรงฆ่าชำแหละเนื้อวัวและควายเถื่อนไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านท่าบ้งมั่ง ถนนประชาสันติ ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ
โดยโรงเชือดและชำแหละเนื้อวัวแห่งนี้ ปลูกสร้างเป็นโรงเรือนชั้นเดียวตั้งอยู่ลางชุมชน เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงพบคนงานกำลังช่วยกันใช้มีดหั่นชำแหละเนื้อวัวที่เพิ่งถูกฆ่าเมื่อเช้า ทำการแบ่งชิ้นส่วนของวัว จึงเข้ายึดเนื้อวัวทั้งหมดน้ำหนักประมาณ ๑๖๐ กิโลกรัม หนังวัว ๑ ผืน มีดใช้ชำแหละ ๔ เล่ม ฆ้อนและขวานอย่างละ ๑ อัน มูลค่าประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ ยังมีวัวอีก ๑ ตัว ถูกขังไว้ในคอกรอการเชือดชำแหละ
จากการสอบถามนายสุริยา มุนมินทร์ อายุ ๔๔ ปี ซึ่งรับเป็นเจ้าของโรงเชือดวัวแห่งนี้ ระบุว่า ได้นำวัวที่กำลังชำแหละไปฆ่าที่โรงเชือดของเทศบาลเมืองวารินชำราบเมื่อช่วงเช้า และได้ขนกลับมาชำแหละแยกชิ้นส่วนที่โรงเชือดในชุมชน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ขอดูหลักฐานการนำวัวเข้าไปฆ่าในโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาล ไม่สามารถนำมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ได้ จึงตรวจยึดเนื้อ พร้อมหนัง และอุปกรณ์ใช้ฆ่าวัวดำเนินคดีข้อหาประกอบกิจการโรงฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ ระหว่างเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและยึดเนื้อวัว มีผู้หญิงอ้างตัวเป็นพี่สาวนายสุริยา โวยวายเจ้าหน้าที่ให้ไปจับผู้ประกอบการรายอื่นในชุมชนท่าบ้งมั่งด้วย เพราะมีอยู่หลายรายอย่ามาจับแต่ของตนเท่านั้น
ด้านนายอภิชาติ ภะวัง หัวหน้ากลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์อุบลราชธานี กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากประชาชนมีการลักลอบฆ่าวัวและควายในชุมชนท่าบ้งมั่ง โดยไม่ผ่านโรงฆ่าสัตว์หลายเจ้า แต่ในวันนี้ ตรวจพบเพียงรายเดียว เจ้าหน้าที่จึงเข้าทำการจับกุมผู้กระทำผิด สำหรับการฆ่าชำแหละเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านโรงฆ่า จะเกิดผลเสียด้านโรคติดต่อไปถึงผู้บริโภค เพราะก่อนฆ่าในโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฏหมาย จะต้องนำสัตว์ให้สัตวแพทย์ตรวจสัตว์เป็นโรคหรือไม่ จึงจะอนุญาตให้ฆ่านำมาจำหน่ายเป็นอาหาร รวมทั้งการชำแหละก็ต้องได้รับการตรวจสอบมีความสะอาดถูกต้องตามหลักอนามัยหรือไม่
“ขอแจ้งให้ผู้ประกอบการทำให้ถูกกฏหมาย เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภค เนื่องจากช่วงนี้ พบโรคระบาดจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เข้ามาระบาดในประเทศไทยด้วย” นายอภิชาติ กล่าวท้ายสุด
ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๘ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒
848 1,483