7thDecember

7thDecember

7thDecember

 

June 22,2019

‘ท่าเรือบก’เล็งเฟสแรก ๖๐๐ ไร่ เร่งหาเอกชนร่วมลงทุน ยังไม่ฟันธง‘สีคิ้ว-สูงเนิน’

มทร.อีสาน เปิดนิทรรศการ ‘ท่าเรือบกกับโอกาสของคนโคราช’ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาค บนเนื้อที่ ๑,๘๐๐ ไร่ มูลค่า ๗ พันล้านบาท ‘วิเชียร’ ลั่นโคราชพร้อม เร่งทำ PPP เสนอ ครม. ยังไม่ฟันธงสร้างที่ไหน ด้านปธ.สภาอุตสาหกรรมฯ เสนอแบ่งสร้างเป็นเฟส เพื่อง่ายต่อการรวมทุน แนะเฟสแรก ๖๐๐ ไร่

ตามที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่เหมาะสมจะพัฒนาท่าเรือบกมี ๔ จังหวัด ได้แก่ ๑.อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง ๗๐ กิโลเมตร ๒.อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ๓๒๐ กิโลเมตร ๓.อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ๕๕๐ กิโลเมตร และ ๔.อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ๓๗๐ กิโลเมตร ทั้งนี้ การลงทุนจะเป็นในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP- Public Private Partnerships) โดยรัฐจะจัดหาที่ดิน ซึ่งต้องดูความเหมาะสม เพราะใช้พื้นที่จำนวนมาก อาจเป็นพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว หรือต้องเวนคืนเพิ่มเติม ส่วนเอกชนทำหน้าที่บริหารจัดการ

โดยจะเริ่มดำเนินการที่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นแห่งแรก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC คาดว่าจะเปิดประมูลปลายปี ๒๕๖๒ เริ่มสร้างปี ๒๕๖๓ เปิดบริการในปี ๒๕๖๗ ส่วนที่โคราชและขอนแก่นจะดำเนินการเป็นอันดับต่อไป คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี ๒๕๖๘ จากนั้นจะเป็นที่นครสวรรค์จะเปิดดำเนินการในปี ๒๕๗๐

มทร.จัดนิทรรศการ ‘ท่าเรือบก’

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่ห้องประชุมวทัญญู ณ กลาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) จังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการแสดงนิทรรศการผลความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและการประชุมเสวนาเชิงวิชาการเสริมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองแห่งท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อให้ทุกภาคส่วนทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของท่าเรือบกที่จะเกิดขึ้นต่อจังหวัดนครราชสีมาในอนาคต

ทั้งนี้ ภายในงานมีการเสวนาท่าเรือบกกับโอกาสของคนโคราช โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย นักวิชาการชื่อดัง, นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถของการรถไฟแห่งประเทศไทย และดร.สมพงษ์ ปักษาสวรรค์ ที่ปรึกษาโครงการฯ DRY PORT ร่วมในการเสวนา พร้อมด้วย นางทัศนา ยุวานนท์ ส.ว.นครราชสีมา ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข และหัวหน้าส่วนราชการ สำนักงานขนส่ง ผู้บริหาร บุคลากรมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และนักศึกษาร่วมงานกว่า ๔๐๐ คน

ร่วมขับเคลื่อนด้านโลจิสติกส์

ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อต้องการสร้างความตื่นตัวและการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งขับเคลื่อนบทบาทยุทธศาสตร์สําคัญของมหาวิทยาลัยฯ ด้านโลจิสติกส์และการท่องเที่ยว ที่ตอบสนองสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด ด้านสถาบันเครือข่ายโลจิสติกส์ โดยมี มทร.อีสาน เป็นแม่ข่าย ซึ่งปัจจุบันจังหวัดและเมืองนครราชสีมาเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ มีโครงการขนาดใหญ่พัฒนาในพื้นที่จํานวนมาก อาทิ ระบบรถไฟทางคู่ ระบบรถไฟความเร็วสูง มอร์เตอร์เวย์ ระบบรถรางภายในเมืองหรือ LRT

ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวอีกว่า Dry Port หรือ ท่าเรือบก ทําหน้าที่เป็นกลไกเชื่อมโยงการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้กับ พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะสร้างโอกาสงานต่างๆ และมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดเป็นอย่างมาก มีลักษณะหน้าที่คล้ายกับท่าเรือและคล้ายกับสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ทั้งนี้จากการศึกษาของ สนข. ได้สรุปพื้นที่ศักยภาพที่ตั้งท่าเรือบก ของประเทศไทยไว้ ๔ พื้นที่ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, นครสวรรค์, ขอนแก่น และนครราชสีมา

สําหรับจังหวัดนครราชสีมา กําหนดพื้นที่ไว้เบื้องต้น ได้แก่ บริเวณฝั่งทิศตะวันตกของเมือง คือตําบลกุดจิก อําเภอสูงเนิน ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับบริเวณถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา และใกล้กับแนวเส้นทางระบบรถไฟทางคู่ ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ท่าเรือแหลมฉบังได้โดยสะดวก

“ขณะนี้ มทร.อีสาน เป็นสถาบันอุดมศึกษาหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาตระหนักถึงการพัฒนาในประเด็นเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง ได้เตรียมความพร้อม ทั้งด้านเชิงสถาบัน อาทิ สถาบันระบบรางแห่ง มทร.อีสาน, สถาบันอุตสาหกรรมการบินแห่ง มทร.อีสาน, วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ กลุ่มโลจิสติกส์ ทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านวิศวกรรม ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และด้านการบริหารโลจิสติกส์ ตลอดทั้งการเตรียมความพร้อมหลักสูตรด้านวิศวกรรม ระบบราง ด้านช่างขนส่งระบบราง ที่เปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๖๒ และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ศูนย์ประสานงานกลุ่มยุทธศาสตร์โลจิสติกส์และการท่องเที่ยว อาคารเรียนรวมด้านวิศวกรรมและการช่าง และอาคารปฏิบัติการระบบรางและการบิน ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนพัฒนาให้จังหวัดนครราชสีมา สามารถพัฒนาได้ ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของประเทศไทย และกลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และสามารถยกระดับเศรษฐกิจของจังหวัดให้ดีขึ้นตามมา” อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าว

เร่งทำ PPP เสนอ ครม.

นายวิเชียร จันทรโณทัย เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีจังหวัดนครราชสีมาเป็นหนึ่งจังหวัดที่จะต้องมีการก่อสร้างท่าเรือบก เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจและเตรียมความพร้อมของประชาชนชาวโคราชจึงมีการให้ความรู้ถึงความสำคัญและประโยชน์ของการก่อสร้างท่าเรือบกให้กับประชาชนได้รับทราบ ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในขั้นของการทำข้อเสนอการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือ PPP เสนอต่อทางรัฐบาล ซึ่งการสร้างท่าเรือบกนั้น จำเป็นจะต้องมีภาคเอกชนมาร่วมลงทุนกับภาครัฐ จึงต้องมีการจัดข้อเสนอ PPP เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ทางจังหวัดก็จะนำข้อเสนอ PPP นี้ ไปประกาศหาผู้เข้ามาร่วมลงทุนกับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนยังอยู่ในการจัดทำข้อเสนอ PPP ต่อคณะรัฐมนตรี สำหรับความเป็นไปได้ที่จะมีการก่อสร้างท่าเรือบกที่จังหวัดนครราชสีมานั้น มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากระบบการขนส่งที่เพียบพร้อม รวมทั้ง โครงการต่างๆ ที่เข้ามายังจังหวัดนครราชสีมา ทำให้จังหวัดมีความเหมาะสมที่จะสร้างท่าเรือบก แต่สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการขณะนี้คือ จะต้องเร่งหาผู้ร่วมลงทุนให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันรถไฟทางคู่ที่จะเปิดบริการในปี ๒๕๖๘

มองเฟสแรก ๖๐๐ ไร่

ด้านนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้มีกลุ่มนักธุรกิจสายเดินเรือ และกลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นให้ความสนใจมาร่วมลงทุน ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาศึกษาการลงทุนระบบ PPP ส่วนเรื่องสถานที่ตั้งท่าเรือบก ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาพื้นที่ เพราะต้องใช้พื้นที่มากถึง ๑,๘๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ จากการศึกษาวิจัยมีอยู่ ๒ พื้นที่ที่เหมาะสมคือ ที่ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน กับ ตำบลหนองน้ำขุ่น อำเภอสีคิ้ว ด้านเรื่องการลงทุนก่อสร้างด้วยงบประมาณที่สูงถึง ๗,๐๐๐ ล้านบาท ด้านกลุ่มผู้ลงทุ นอาจจะทำข้อเสนอขอสร้างทีละเฟสเพื่อประหยัดงบในการทุน โดยอาจจะแบ่งเฟสแรก ๖๐๐ ไร่ เพื่อภาคเอกชนจะได้มีความพร้อม และเมื่อมีผู้มาใช้บริการมากขึ้นจึงค่อยพัฒนาไปเฟสที่ ๒ และ ๓ แต่ตรงนี้ขึ้นอยู่กับ ครม.ว่า จะมีความเห็นชอบด้วยหรือไม่

“ท่าเรือบกมีความจำเป็นต่อโคราช เนื่องจากในพื้นที่ภาคอีสานมีการส่งออก นำเข้าสินค้าทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา-ชัยภูมิ-บุรีรัมย์-สุรินทร์) มีปริมาณเฉลี่ยการส่งออกสินค้าภาคเกษตรมากกว่า ๔๐% จังหวัดนครราชสีมา มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางเครือข่ายคมนาคม หากท่าเรือบกสามารถจัดตั้งได้ที่โคราช ในอนาคตจะช่วยให้พื้นที่มีความเจริญด้านเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น มีเม็ดเงินหมุนเวียนในภาคเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” นายหัสดิน กล่าว

เกิดแน่นอน เน้นวางระบบให้ดี

ดร.สมพงษ์ ปักษาสวรรค์ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ท่าเรือบก (Dry Port) หมายถึง บริเวณพื้นที่ตอนในของประเทศที่มีการดําเนินงานเป็นศูนย์โลจิสติกส์ ซึ่งทําหน้าที่เสมือนท่าเรือ (ยกเว้นการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงเรือ) รองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในระบบตู้สินค้า (คอนเทนเนอร์) มีการเชื่อมต่อการขนส่งได้ตั้งแต่ ๒ รูปแบบขึ้นไป โดยมีการขนส่งทางรางเป็นหลัก จากผลการศึกษา Dry Port ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ UNESCAP พบว่า Dry Port จะต้องมีเครือข่ายที่ประกอบด้วยแหล่งการค้าหรือแหล่งผลิตสินค้าและท่าเรือชายฝั่ง โดยรูปแบบการขนส่งที่เหมาะสมระหว่าง Dry Port กับแหล่งผลิตสินค้า คือ การขนส่งด้วยรถบรรทุก ซึ่งมีพิสัยการขนส่งไม่เกิน ๕๐ กิโลเมตร ส่วนการขนส่งระหว่าง Dry Port กับท่าเรือจะขนส่งด้วยระบบราง ซึ่งมีพิสัยการขนส่งในช่วง ๑๐๐-๓๐๐ กิโลเมตร และสามารถจําแนก Dry Port ออกได้ ๓ ประเภท คือ ๑.Close Dry port ๒.Midrange Dry Port blas และ ๓.Distant Dry Port

“จังหวัดนครราชสีมา จึงมีความสำคัญและเหมาะสมที่จะจัดตั้งท่าเรือบก ซึ่งตามที่ตั้งของภูมิศาสตร์จังหวัดจะตรงกับทฤษฎีน้ำไม่มีวันไหลย้อนกลับ เพราะกลุ่มจังหวัดที่อยู่ใกล้กับโคราชจะขนส่งสินค้ามาที่ท่าเรือบกโคราช เพื่อง่ายและประหยัดต้นทุนในการเดินทางด้วยรถบรรทุก แต่การจะจัดหาผู้ร่วมลงทุนขอแนะนำให้ทำเต็มพื้นที่ ๑,๘๐๐ ไร่ หรืออย่างน้อย ๑,๓๐๐ ไร่ เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการในอนาคต เพราะถ้าเริ่มจากพื้นที่น้อยโอกาสที่จะขยายเพิ่มเติมอาจจะทำได้ลำบาก ดูตัวอย่างได้จากท่าเรือแหลมฉบัง แต่โคราชยังมีเวลาศึกษาออกแบบถึงปี ๒๕๖๖ ขอให้เตรียมพื้นที่ให้พร้อมและจัดหากลุ่มผู้ร่วมลงทุน” ดร.สมพงษ์ กล่าว

ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย กล่าวว่า จากการที่ผมไปศึกษาและไปเป็นที่ปรึกษาเรื่องท่าเรือบกให้กับประเทศต่างๆ กว่า ๑๐๐ ประเทศ อยากให้มีการวางแผนในระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางเพราะในอนาคตถ้าวางระบบเส้นทางไม่ดีจะกลายเป็นจุดการสัญจรที่แออัดคับแคบ ดูตัวอย่างไม่ไกลที่ประเทศกัมพูชา ๑๐ ปีก่อน บ้านเมืองอยู่กันแบบชาวบ้าน พอปล่อยให้กลุ่มนักลงทุนเข้ามาไปดูปัจจุบันมีแต่คนจีนเต็มไปหมด เช่นที่เกาะกง มีแต่นักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นคนต่างชาติ ซึ่งที่โคราชต้องเตรียมการบริหารจัดการให้ดี เพราะจะเกิดการแออัดของการจราจรและเรื่องระบบสิ่งแวดล้อม สังคมจะมีกลุ่มนายทุนต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก จึงต้องสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนและเพิ่มทัศนคติให้กับประชาชนมากขึ้น

งบ ๗ พันล้าน ‘ท่าเรือบกโคราช’

ทั้งนี้ จากการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมา จะเป็นศูนย์ท่าเรือบกขนาดกลาง มีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ ๒๐๐,๐๐๐ ตู้ต่อปีขึ้นไป บนเนื้อที่ ๑,๘๐๐ ไร่ โดยมีค่าดำเนินการดังนี้ ค่าชดเชยที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง ๓,๑๔๐ ล้านบาท, ค่าปรับสภาพดิน ๗๔๐ ล้านบาท, ค่าออกแบบรายละเอียด ๗๐ ล้านบาท, ค่าก่อสร้าง ๒,๑๖๐ ล้านบาท, ค่าอุปกรณ์ ๘๐๐ ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายตามมาตรการสิ่งแวดล้อม ๒๐ ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง ๗๐ ล้านบาท รวม ๗,๐๐๐ ล้านบาท (ต้นทุนราคาปี ๒๕๖๑) ค่าดำเนินการและบำรุงรักษา ต่อปี ๖๒ ล้านบาท โดยมีเวลาออกแบบก่อสร้างและติดตั้งระบบ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๗ ก่อนจะเปิดใช้ได้จริงปี ๒๕๖๘  

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๙ วันศุกร์ที่ ๒๑-วันอังคารที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒


915 1,615