30thOctober

30thOctober

30thOctober

 

June 22,2019

ผู้ว่าฯลดอายุโคราช สร้าง‘พระชัย’ไม่ฟังท้วง มูลนิธิชำระประวัติศาสตร์

‘ผู้ว่าฯวิเชียร’ เป็นประธานพิธีเททองหล่อพระชัยเมืองนครราชสีมา รุ่นฉลองเมืองนครราชสีมา ครบ ๓๔๕ ปี ‘โคราชคนอีสาน’ ท้วงติงว่าไม่ถูกต้อง ลดอายุแท้จริงหลายร้อยปี ได้คำตอบสั้นๆ ว่า “ครับ” แต่ไม่หยุดยั้ง มูลนิธิอักษรารังสีจึงร่วมกับนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์สังคายนาชำระประวัติศาสตร์เมืองโคราช เพื่อหาข้อยุติจะได้ไม่เป็นข้อถกเถียงให้อับอาย

ตามที่จังหวัดนครราชสีมาประกาศว่า จะจัดสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมา ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นประธาน และอ้างว่าเป็นรุ่นฉลองเมืองนครราชสีมา ครบรอบ ๓๔๕ ปี

‘โคราชคนอีสาน’ หนังสือพิมพ์ที่มีอายุยืนยาวที่สุดและวางจำหน่ายต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ติดต่อทักท้วงอายุเมืองนครราชสีมา ที่ทางผวจ.นครราชสีมา ประกาศว่าเป็นการฉลอง ๓๔๕ ปีนั้นไม่ถูกต้อง เพราะในวาระดังกล่าวเป็นการสร้างกำแพงเมืองในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์เท่านั้น พร้อมทั้งอ้างอิงประวัติศาสตร์เท่าที่ปรากฏชัดเจนในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นเวลา ๖๖๑ ปีแล้ว ซึ่งนายวิเชียรตอบรับสั้นๆ เพียงว่า “ครับ” เท่านั้น และประกอบพิธีสร้างพระฉลอง ๓๔๕ ปีนครราชสีมาโดยไม่แก้ไขแต่ประการใด

‘โคราชคนอีสาน’ สืบค้นข้อมูล “พระชัยเมืองนครราชสีมา” พบว่า พระองค์นี้ ขึ้นเลขทะเบียน อ.ย.๒๕ กรมศิลปากร ตามประวัติย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ห้องศิลปะอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร โดยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชนิดสำริด แบบศิลปะสมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๕.๓ เซนติเมตร สูง ๒๒.๒ เซนติเมตร ประทับนั่งสมาธิราบบนฐานเตี้ย พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวสอดอยู่ใต้ชายรัดประคด พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระเนตรเบิกกว้าง กรอบพระพักตร์มีไรพระศกสองเส้น ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีทำเป็นรูปคล้ายหม้อน้ำ แบบศิลปะที่เรียกกันว่า “พระพุทธรูปอู่ทอง ๒” มีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี รูปแบบอักษรประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ที่องค์พระโดยรอบ


ปรากฏพระราชพงศาวดาร

จากข้อมูลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังระบุอีกว่า พระชัย หรือพระไชย เป็นพระพุทธรูปสำคัญมาแต่บรรพกาล ปรากฏในพระราชพงศาวดาร สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นต้นมา โดยกล่าวกันว่าตำนานการสร้างเป็นของสมเด็จพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ที่เรียกว่า “พระชัย” เพราะมีความหมายว่าชัยชนะ เนื่องด้วยแต่เดิมมีความมุ่งหมายเพื่ออัญเชิญไปในกองทัพยามออกศึกสงครามเพื่อชัยชนะ สร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีความหมายว่าปราบมารได้ชัยชนะ ต่อมาพระชัยยังได้อัญเชิญใช้ในพิธีกรรม เรียกว่าพระชัยพิธี สำหรับขจัดมาร อุปสรรค อำนวยให้พิธีกรรมสำเร็จผล
อัญเชิญให้สักการะวันสงกรานต์

“พระชัยเมืองนครราชสีมา” ยังเป็นหนึ่งใน ๙ พระพุทธรูปมงคลโบราณ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เคยอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้กราบสักการะบูชา เนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ เมื่อวันที่ ๒-๙ มกราคม ๒๕๕๔ จากนั้นระหว่างวันที่ ๑-๓๑ มกราคม ๒๕๕๕ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เชิญชวนให้ประชาชนร่วมนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์วังหน้า ต่อมาในงานเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๗ ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อให้ประชาชนได้มาสักการะเพื่อเสริมมงคลให้ชีวิต ระหว่างวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๖-วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๗ และต่อมากระทรวงวัฒนธรรม อัญเชิญพระชัยเมืองนครราชสีมา ที่มีความหมายถึง “ความมีชัยชนะเหนือศัตรู ขจัดอุปสรรค อำนวยให้พิธีกรรมสำเร็จผล” จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พร้อมทั้งอัญเชิญพระพุทธรูปมงคลโบราณอีก ๘ พระองค์ ได้แก่ พระพุทธรูปประทานพร, พระไภษัชยคุรุ, พระหายโศก, พระพุทธรูปประทับรอยพระพุทธบาท, พระพุทธรูปห้ามสมุทร, พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ, พระล้อม (พระห้าร้อย) และพระพุทธรูปขอฝน (พระคันธารราษฎร์) มาประดิษฐานยัง Hall of Fame ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๕ เมษายน ๒๕๕๘ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๕๘   

พระชัยมีหลายองค์หลายสมัย

พระชัย หรือพระชัยวัฒน์ ตามพระราชประเพณีแต่โบราณ พระเจ้าแผ่นดินจะทรงสร้างประจำรัชกาล สำหรับบูชาในหอพระ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระองค์เอง รวมทั้งอัญเชิญไปในการศึกสงคราม การเสด็จประพาส และตั้งในการพระราชพิธีต่างๆ เพื่ออำนวยสวัสดิมงคล ขจัดอุปสรรคป้องกันภยันตรายจากสิ่งชั่วร้ายอัปมงคลต่างๆ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปในการสงคราม หรือเสด็จประพาสทางไกลไปประทับแรม หากไปทางชลมารค ก็จะอัญเชิญประดิษฐานในเรือพระที่นั่งทรงเป็นพิเศษ ถ้าเสด็จไปทางสถลมารค ก็จะอัญเชิญพระชัยขึ้นประดิษฐานบนหลังช้าง จึงได้ชื่อว่า “พระชัยหลังช้าง” หากตั้งในการพระราชพิธี เรียกว่า “พระชัยพิธี”

พระชัยเมืองรุ่น ๑
หาทุนสร้างอาคารบริการโลหิต

พระชัยเมืองนครราชสีมา เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๘ โดยปัจจุบันมีการสร้างพระชัยเมืองแล้วทั้งหมด ๔ รุ่น โดยรุ่นแรกนายธงชัย(เบิร์ด) ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้นจัดสร้าง รุ่นที่ ๒ เป็นรุ่นวัดป่าสาละวันจัดสร้าง รุ่นที่ ๓ เป็นรุ่นที่สำนักการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดจัดสร้าง และรุ่นที่ ๔ รุ่นปัจจุบัน เป็นรุ่นหาทุนบูรณะศาลหลักเมือง ในยุคของผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย ซึ่งมีพิธีเททองหล่อพระชัยเมืองนครราชสีมาไปเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒

รุ่นที่ ๑ โดยนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด(ในขณะนั้น) ได้จัดสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาองค์จำลอง ขนาดหน้าตัก ๓๒ นิ้ว เพื่อประดิษฐานไว้หน้าทางเข้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา และได้สร้างพระชัยขนาดบูชา หน้าตัก ๙ นิ้ว จำนวน ๙๙๙ องค์ และพระชัยเมืองขนาดห้อยคอและเหรียญพระชัยเมือง เพื่อให้ประชาชนได้เช่าบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างอาคารภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ ๕ นครราชสีมา สภากาชาดไทย โดยเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๐๙ น. ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยพลเอกธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ ๒, นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีต ส.ส.นครราชสีมา(ในขณะนั้น) ร่วมทำพิธีเททองหล่อ “พระชัยเมืองนครราชสีมา” โดยมีพระพรหมมังคลาจารย์ (เจ้าคุณธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

“โคราชคนอีสาน” สอบถามนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น โดยนายธงชัย กล่าวว่า การจัดทำพระชัยเมืองรุ่นแรกในตอนแรกนั้น ตนไม่มีความคิดที่จะสร้าง แต่เนื่องจากกำนันเบ้า (นายสมศักดิ์ กาญจนวัฒนา) ได้ฟังจากวิทยุ และมีความคิดริเริ่มอยากขอองค์พระคืนมาไว้ที่จังหวัด แต่นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นให้เหตุผลว่า ไม่สามารถส่งคืนได้ เนื่องจากหากส่งคืนก็จำเป็นต้องส่งคืนกรณีของจังหวัดอื่นๆ ด้วย โดยในตอนแรกที่มีการพูดคุยกับกำนันเบ้า ตนได้มีการปฏิเสธไป และกำนันเบ้าได้ไปพูดคุยกับนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จึงมีการพูดคุยกันอีกครั้ง ซึ่งทางผู้ว่าฯเบิร์ด จึงได้มอบหมายนายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้นจัดการดูแล  อีกทั้งนายธงชัยเผยอีกว่า ตนไม่มีความคิดที่จะสร้าง เนื่องจากช่วงที่ทำเป็นช่วงเดือนสิงหาคม เป็นช่วงที่ตนใกล้เกษียณพอดี ก็เกรงว่าจะเป็นภาระให้กับคนต่อไปหรือไม่ หากเช่าไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนในการทำนั้นค่อนข้างสูง แต่สุดท้ายเมื่อมีการสร้าง กลายเป็นว่าประชาชนมีความต้องการมาก

สำหรับรายได้ที่ได้จากการเช่าบูชาพระชัยเมืองนครราชสีมา ในรุ่นแรกนั้น นายธงชัย กล่าวว่า จำรายละเอียดไม่ได้ว่าประมาณเท่าไหร่ ในส่วนของการสร้างอาคารภาคบริการโลหิตฯ งบประมาณในการสร้างอยู่ที่ ๑๐๐ กว่าล้านบาท โดยทางสภากาชาดไทยมีเงื่อนไขว่าให้ทางจังหวัดหาทุน ๓๐ ล้านบาท และทางสภากาชาดไทยสนับสนุนเพิ่ม ๗๐ ล้านบาท แต่จากที่พอจำได้คร่าวๆ งบประมาณที่ทางเราออกนั้นอยู่ที่ ๓๑ ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้มีการมอบเงินให้แก่โรงพยาบาลมหาราช และมูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์อีกด้วย

พระชัยเมืองรุ่น ๒ วัดป่าสาลวัน

จากนั้นกลางปี ๒๕๕๙ วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยพระวินัยโมลี รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน ได้ดำเนินการสร้างพระชัยฯองค์จำลองขึ้นอีกครั้ง โดยสร้างพระชัยฯขนาดหน้าตัก ๓๒ นิ้ว จำนวน ๒ องค์ เพื่อประดิษฐานไว้ที่วัดป่าสาลวัน ๑ องค์ และประดิษฐานไว้ที่วัดสัมปัตตะวนาราม ต.โคกกรวด อีก ๑ องค์ และจัดสร้างพระชัยฯขนาดบูชา ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว จำนวน ๓,๐๐๐ องค์ และขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว จำนวน ๕,๐๐๐ องค์ และพระชัยขนาดห้อยคอและเหรียญพระชัย เพื่อหารายได้สร้างอาคารปฏิบัติธรรมวัดป่าสาลวัน โดยมีพิธีเททองหล่อเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ หน้าเจดีบูรพาจารย์ วัดป่าสาลวัน มีพระธรรมโสภณ(หลวงพ่อใหญ่) วัดสุทธจินดา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และกำหนดพิธีพุทธาภิเษกขึ้นในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ อุโบสถวัดป่าสาลวัน โดยมีพระธรรมโสภณ(หลวงพ่อใหญ่) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มี พลโทวิชัย แชจอหอ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มีพระเกจิอาจารย์ดังสายวัดป่า ร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต อาทิ หลวงปู่ไม อินทสิริ วัดป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว, หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร จ.สุรินทร์, หลวงปู่สามดง จันทโชโต วัดอรัญพรหมาราม อ.ประทาย จ.นครราชสีมา, หลวงปู่จื่อ พันธมุตโต วัดเขาตาเงาะอุดมพร จ.ชัยภูมิ

ทั้งนี้ นายนฤทธิ์ โพธิ์สาราช เจ้าหน้าที่รับบูชาพระชัยเมืองวัดป่าสาลวัน นครราชสีมา กล่าวว่า รายได้ที่นำมาสร้างอาคารปฏิบัติธรรมนั้น มิได้มาจากการเช่าบูชาพระชัยเมืองนครราชสีมาเท่านั้น แต่ยังมาจากที่ประชาชนร่วมทำบุญบริจาคด้วย ซึ่งงบประมาณในการสร้างอาคารปฏิบัติธรรมวัดป่าสาลวัน อยู่ที่ ๔๐ ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินปลายปีนี้

พระชัยเมืองรุ่น ๓ “แพ้ไม่เป็น”

หลังจากนั้นไม่นาน จังหวัดนครราชสีมา โดยคณะกรรมการกีฬาจังหวัดฯ ได้จัดสร้าง “พระชัยเมืองนครราชสีมา” รุ่น “แพ้ไม่เป็น” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี ครบรอบ ๑๙๐ ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้สมทบทุนสนับสนุนกิจกรรมกีฬา ในการพัฒนาและส่งเสริมกีฬาของจังหวัดและเพื่อสาธาณประโยชน์อื่นๆ โดยมีพิธีเททองนำฤกษ์ “พระชัยเมืองนครราชสีมา”รุ่น “แพ้ไม่เป็น” เมื่อที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยมีพระธรรมโสภณ (หลวงพ่อใหญ่) วัดสุทธจินดา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และกำหนดพิธีพุทธาภิเษก ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๔.๐๙ น. ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดย “พระพรหมมังคลาจารย์”เจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตร เป็นประธานจุดเทียนชัย

พระชัยเมืองรุ่น ๔ ลดอายุเมืองโคราช?

และล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ มีพิธีเททองหล่อพระชัยเมืองนครราชสีมา รุ่นฉลองเมืองนครราชสีมา ครบ ๓๔๕ ปี ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยมีพระธรรมวรนายก (หลวงพ่อโอภาส) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๑ เจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร ประธานฝ่ายสงฆ์ และนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ประธานฝ่ายฆราวาส โดยพระชัยเมืองนครราชสีมา รุ่นฉลองเมืองนครราชสีมา ครบ ๓๔๕ ปี ได้จัดสร้างรวม ๕ แบบ ดังนี้ ๑.รูปหล่อพระชัยเมืองนครราชสีมา ขนาด ๙ นิ้ว เนื้อนำฤกษ์ ๑๓๙ ชุด ราคา ๑๙,๙๙๙ บาท ๒.เนื้อทองเหลืองรมดำ ๙๙๙ ชุด ราคา ๓,๙๙๙ บาท ๓.เนื้อทองเหลืองรมดำปัดทอง ๙๙๙ ชุด ๓,๙๙๙ บาท ๔.ขนาด ๕.๙ นิ้ว ๙๙๙ ชุด ราคา ๑๙๙๙ บาท และ ๕.เนื้อทองเหลืองรมดำปัดทอง ๙๙๙ ชุด ราคา ๑,๙๙๙ บาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์การจัดสร้างเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณะศาลหลักเมืองนครราชสีมาและกิจการสาธารณประโยชน์การกุศลในท้องถิ่น

โดย ‘โคราชคนอีสาน’ ได้ท้วงติงในเรื่องของอายุเมืองโคราช อ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ว่าไม่ถูกต้อง ลดอายุแท้จริงหลายร้อยปี ไปยังนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาดังกล่าว แต่ผู้ว่าฯ ตอบรับเพียงแค่ “ครับ” เท่านั้น และยังคงมีพิธีเททองหล่อพระชัยเมืองนครราชสีมา รุ่นฉลองเมืองนครราชสีมา ครบ ๓๔๕ ปีตามกำหนดเดิม เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ที่เพิ่งผ่านไป โดยไม่ฟังเสียงท้วงติง ทั้งนี้ มูลนิธิอักษรารังสีร่วมกับนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์จึงมีความเห็นร่วมกันว่า จะมีการสังคายนาชำระประวัติศาสตร์เมืองโคราชเพื่อหาข้อยุติจะได้ไม่เป็นข้อถกเถียงกันต่อไป


ชำระประวัติศาสตร์เมืองโคราช

เรื่องราวของเมืองนครราชสีมา เชื่อว่าคนส่วนใหญ่รับรู้จากเอกสารของทางราชการคือ “หนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครราชสีมา ปี พ.ศ. ๒๕๒๖” ซึ่งจัดทำโดยจังหวัดนครราชสีมา และเชื่อเพียงว่าเมืองนครราชสีมาสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๙  ซึ่งพระองค์ได้โปรดให้ย้ายเมืองเสมาและเมืองโคราฆะปุระ จากบริเวณอำเภอสูงเนินมาสร้างเมืองใหม่ ในปัจจุบันและให้ชื่อว่าเมืองนครราชสีมา และโปรดเกล้าให้พระยายมราช (สังข์) เป็นเจ้าเมือง จากข้อสันนิษฐานนี้หากจะนับอายุของเมืองนครราชสีมาถึงปัจจุบัน (ปีพ.ศ. ๒๕๖๒) แล้ว เมืองโคราชจะมีอายุประมาณ ๓๖๓ ปี หรือ ๓๔๕ ปี

แต่ในข้อเท็จจริงจากการสืบค้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการตรวจชำระกฎหมายตราสามดวง ซึ่งรวมถึงกฎมณเฑียรบาลในสมัยกรุงศรีอยุธยาด้วย ปรากฏว่าในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา นั้น พระองค์ได้มีการตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นเมื่อศักราช ๗๒๐ วันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ ชวดนักสัตวศก (จากคำปรารภใน “กฎมณเฑียรบาลเล่มที่ ๑๐ ของกฎหมายตราสามดวง) สาระที่สำคัญของกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้คือได้กำหนดให้มีเมืองพระยามหานคร หรือหัวเมืองชั้นนอก ๘ เมือง คือ ทิศตะวันออกได้แก่ เมืองโคราชบุรี (นครราชสีมา) ทิศใต้ได้แก่ นครศรีธรรมราช ทิศเหนือได้แก่ พิษณุโลก ศรีสัชนาลัย สุโขทัย กำแพงเพชร ทิศตะวันตกได้แก่ ตะนาวศรี และทวาย เมืองทั้ง ๘ ต้องถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จากการศึกษาข้อความที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลดังกล่าว แสดงว่าเมืองนครราชสีมามีเกิดขึ้นแล้ว สำหรับกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้พออนุมานได้ว่าน่าจะตราขึ้นประมาณปี พ.ศ.๑๙๐๑


ดังนั้น หากจะนับว่าเมืองนครราชสีมาได้ก่อตั้งมาประมาณ ปี พ.ศ.๑๙๐๑ เมื่อนับอายุถึงปัจจุบัน เมืองนครราชสีมาก็จะมีอายุประมาณ ๖๖๑ ปี

อนึ่งจากเอกสาร “หนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครราชสีมา ปี พ.ศ. ๒๕๒๖” ที่บันทึกว่าในปี พ.ศ. ๒๑๙๙ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้ย้ายเมืองเสมาและเมืองโคราฆะปุระ มาสร้างเป็นเมืองใหม่คือเมืองนครราชสีมาในปัจจุบันนั้น ประเด็นนี้หากจะวิเคราะห์ในข้อเท็จจริงแล้ว น่าจะเป็นการมาสร้างรั้วบ้านคือกำแพงเมือง หาได้สร้างเมืองใหม่แต่อย่างใด เพราะบริเวณวัดกลาง วัดพระนารายณ์กรมศิลปากรมีการขุดค้นพบว่าเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนพื้นเมืองมาก่อน การที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงให้มีการสร้างกำแพงเมืองก็เนื่องจากมีพระราชประสงค์จะตั้งเมืองพระยามหานครหรือหัวเมืองชั้นนอกให้มีความแข็งแกร่งเพื่อเป็นเกราะป้องกันราชธานีคือเมืองอยุธยา

นอกจากนี้ยังมีหลายหลักฐานที่บ่งบอกว่าเมืองนครราชสีมา เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยมีหลักฐานการสร้างเมืองและการตั้งถิ่นฐานจากหลักฐานทางโบราณคดีมากมายว่า มีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เป็นต้นว่าในพระนิพนธ์เรื่องเที่ยวตามทางรถไฟของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในตอนหนึ่งกล่าวว่า ก่อนที่ไทยจะมาเป็นใหญ่ในสยาม ในท้องที่อำเภอสูงเนินมีเมืองเก่าหรือเมืองโคราช กับเมืองเสมา แต่ในหนังสือพงศาวดารไม่มีเรื่องราวกล่าวถึงเมืองนครราชสีมา ลุถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการสร้างเมืองหลายเมืองเป็นป้อมปราการสำหรับป้องกันพระราชอาณาเขต หนึ่งในเมืองเหล่านั้นมีเมืองนครราชสีมารวมอยู่ด้วย โดยให้ย้ายเมืองโคราชกับเมืองเสมามาสร้างเป็นเมืองใหม่ในปัจจุบัน จึงปรากฏเรื่องราวของเมืองนครราชสีมาเป็นหลักฐานที่ชัดเจน

ดังนั้นเมื่อพิจารณาแล้ว เมืองนครราชสีมา น่าจะมีมาก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดให้สร้างกำแพงเมืองแล้ว และก่อนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ทรงตรากฎมณเฑียรบาลด้วย แต่คนทั่วไปรับรู้และเชื่อว่าเมืองนครราชสีมาสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมากกว่า ซึ่งไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้อง

นักประวัติศาสตร์ของเมืองนครราชสีมาท่านหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะออกนาม ให้ข้อสังเกตว่าเรื่องอายุของเมืองนครราชสีมานั้นยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ บ้างก็เชื่อว่ามีอายุ ๓๔๕ ปี บ้างก็ว่าน่าจะมีอายุมากกว่านั้นเพราะเมืองโคราชก็เป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งโบราณกาลพร้อม ๆ กับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งคนเชียงใหม่เขาเชื่อว่าเมืองเชียงใหม่มีอายุกว่า ๗๐๐ ปี เป็นต้น รวมถึงเรื่องปี พ.ศ.ที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตรา กฎมณเฑียรบาล ว่าตราในปี พ.ศ.๑๙๐๑ บ้าง บ้างก็ว่าปี พ.ศ. ๒๐๐๐ ทั้งนี้เนื่องมาจากมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องค่อนข้างเห็นสอดคล้องหลากหลาย รวมถึงมุมมองของนักประวัติศาสตร์ในการอ้างอิงหลักฐาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ย่อมส่งผลให้การนับอายุของเมืองนครราชสีมาแตกต่างกันไปตามฐานของความคิดและมิติที่มอง

มูลนิธิอักษรารังสีจึงร่วมกับนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ว่า ควรจะมีการสังคายนาชำระประวัติศาสตร์เมืองโคราชกันอย่างจริงจัง เพื่อหาข้อยุติจะได้ไม่เป็นที่ถกเถียงกันต่อไปให้เป็นที่สับสนอับอายคนทั้งประเทศ

หากคุณเป็นคนโคราชจริงๆ จำต้องทราบกำพืดที่แท้จริงของตนมิใช่หรือ?


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๙ วันศุกร์ที่ ๒๑-วันอังคารที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒


99 2,096