June 24,2019
คิงส์ยนต์’สนับสนุนรพ.จิตเวช ๒ ล้าน สร้างห้องบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชเด็ก-วัยรุ่น
เมื่อไม่นานมานี้ นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานในพิธีเปิดห้องบริการ ฝึกประสาทรับความรู้สึก หรือห้องสนูซีเล็น (Snoezelen Room) ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เพื่อเป็นทางเลือกในการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ซึ่งห้องดังกล่าวนับเป็นต้นแบบสำหรับโรงพยาบาลต่างๆ ในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่เรียกว่า สนูซีเล็น โดยมี นพ.กิตติ์กวี โพธ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เป็นผู้กล่าวรายงาน ได้รับการสนับสนุนจากงบในการจัดทำห้องและอุปกรณ์ทั้งหมด จากนายสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ ประธานกรรมการกลุ่มคิงส์ยนต์ มูลค่า ๒ ล้านบาท
ทั้งนี้ นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เพื่อติดตามผลการพัฒนาระบบบริการดูแลปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตของประชาชนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ ๙ ประกอบด้วย ๔ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ซึ่งขณะนี้กรมสุขภาพจิตมีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูให้มากที่สุดและอยู่ในระบบจนหายขาดหรือดีขึ้น ผลงานในรอบ ๖ เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๑-เดือนมีนาคม ๒๕๖๒ พบว่าการเข้าถึงบริการดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ โดยโรคจิตเภท เข้าถึงบริการร้อยละ ๘๓ ซึมเศร้าเข้าถึงบริการร้อยละ ๖๖ ผู้ติดสุราเรื้อรังเข้าถึงร้อยละ ๑๗ ป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายซ้ำในผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายได้ร้อยละ ๙๖ การฆ่าตัวตายมีแนวโน้มลดลง
ในส่วนของกลุ่มเด็ก ที่เร่งเข้าถึงการดูแล คือ เด็กสมาธิสั้น คาดทั้งเขตสุขภาพที่ ๙ มีเด็กป่วยประมาณ ๔๓,๐๐๐ คน เข้าถึงบริการยังน้อยเพียงร้อยละ ๒.๓๙ และออทิสติก คาดมีประมาณ ๑,๗๐๐ คน เข้าถึงบริการแล้วร้อยละ ๒๕ ได้มอบนโยบายให้เร่งเพิ่มระบบการค้นหาในหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อนำเด็กเข้าสู่การดูแลฟื้นฟูเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันได้ยกระดับบริการในระดับเชี่ยวชาญ โดยนำเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า สนูซีเลน (Snoezelen) มาใช้กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทรับความรู้สึกต่างๆของเด็กที่บกพร่องไปจากความผิดปกติในสมองตั้งแต่กำเนิด ขณะนี้เปิดให้บริการแล้วที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลต่างๆในเขตสุขภาพที่ ๙ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคมที่เหมาะสม รวมทั้งนำมาใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีที่มีปัญหาบกพร่องทางการเรียนรู้และบกพร่องทางสติปัญญาด้วย เพื่อเสริมประสิทธิภาพการรักษาของแพทย์ จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น
ทางด้านนพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า เทคโนโลยีของสนูซีเลนนี้ จะเป็นห้องบำบัด (Snoezelen Room) ที่ใช้ครั้งนี้เป็นชนิดให้ผลผ่อนคลาย ลดพฤติกรรมเด็ก เด็กจะมีความสุข มีสมาธิจดจ่อดีขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบดำเนินการทั้งหมด จากคุณสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดคิงส์ยนต์ จ.นครราชสีมา มูลค่า ๒ ล้านบาท ภายในห้องจะมีอุปกรณ์ที่ให้แสง สี เสียง และกลิ่นหอม เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์ คล้ายๆ กับห้องสปา เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทในสมองที่หลากหลายโดยจำลองบรรยากาศต่างๆเข้ามาช่วยเช่น ท้องฟ้า ดาว ทะเล ภูเขา เรียกว่า มัลติเซ็นซอรี่” (Multi-Sensory Environment) ทั้งด้านการมองเห็น, การได้ยิน, การสัมผัส, การได้กลิ่น, การเคลื่อนไหว เช่น มีเก้าอี้ดนตรีให้นั่งฟังเพลง มีพรมทางช้างเผือกให้เด็กเล่นตามความสนใจ เพื่อใช้ส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก ควบคู่กับการบำบัดรักษา พร้อมทั้งเพิ่มทักษะต่างๆ ที่จำเป็นให้เด็ก เช่น การรับรู้ตนเอง ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การสื่อสาร, การผ่อนคลาย และลดพฤติกรรมการกระตุ้นตนเองซ้ำๆ ซึ่งมักพบในเด็กออทิสติก เป็นต้น โดยมีนักกิจกรรมบำบัดให้บริการ ๓ คน ซึ่งจะดูแลเชื่อมโยงกับการรักษาของแพทย์
“จากการทดลองบริการในเด็ก ๔ กลุ่มที่กล่าวมาจำนวน ๒๔ คน ในรอบ ๑ เดือนมานี้ พบว่าได้ผลดีมาก เด็กร้อยละ ๙๕ มีพฤติกรรมนิ่งขึ้น มีสมาธิที่จดจ่อ ไม่วอกแวก อารมณ์และด้านสังคมดีขึ้น โดยการบำบัดจะมีทั้งรายเดี่ยวและรายกลุ่ม เฉลี่ยวันละ ๖-๗ คน ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที - ๑ ชั่วโมงต่อคน ต่อเนื่อง ๑๐ ครั้งหรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับอาการของเด็ก แผนการพัฒนาต่อไป คือ การเพิ่มห้องสนูซีเลนแบบกระตุ้น (adventure room) คือเด็กจะวิ่งเล่นได้หรือมีอุปกรณ์ช่วยลดพฤติกรรม เช่น ชิงช้า แทรมโพลิน เป็นต้น ใช้ควบคู่กับห้องผ่อนคลาย เป็นห้องปรับอากาศทั้งหมด มีความปลอดภัยสูง จะทำให้การบำบัดฟื้นฟูสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น และในอนาคตอาจขยายผลใช้ในผู้สูงอายุที่สมองเสื่อมในระยะแรกอีกด้วย เพื่อฟื้นฟูการรับรู้ การคิด และทักษะต่างๆให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้” นพ.กิตต์กวี กล่าว
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา มีเด็กและวัยรุ่นเข้ารับบริการที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ รวม ๓,๖๙๐ คน อันดับ ๑ ได้แก่ โรคสมาธิสั้น ร้อยละ ๔๔ รองลงมาคือ บกพร่องทางสติปัญญาร้อยละ ๓๐ และออทิสติก ร้อยละ ๒๖ มาตรฐานการบำบัดรักษาเด็กและวัยรุ่นจะเน้นการบูรณาการทั้งยา การปรับพฤติกรรม อารมณ์สังคมควบคู่กันจึงได้ผลดี
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๙ วันศุกร์ที่ ๒๑-วันอังคารที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒
848 1,538