28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

June 27,2019

ครม.ทบทวน‘อุทยานธรณีโคราช’ ศึกษาความเหมาะสมโดยละเอียด ก่อนเป็น‘อุทยานธรณีโลก’แสนล้าน

ครม.สั่งการกระทรวงทรัพยากรฯ พิจารณาทบทวนความเหมาะสม ศึกษาประโยชน์จากการใช้พื้นที่โดยละเอียด วางแผนรองรับบริหารจัดการพื้นที่ ก่อนเสนอให้ยูเนสโกรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก งบแสนล้าน ผอ.อุทยานฯ ยืนยัน มติครั้งแรกไม่ผ่านไม่เกี่ยวกับงบประมาณ

เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ตามที่มีการเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เห็นชอบในหลักการ กรอบข้อเสนอแผนงาน/โครงการ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ และตอนล่าง ๒ รวม ๔ จังหวัด จำนวน ๓๔๔ โครงการ วงเงินรวม ๑๒๒,๖๓๘.๐๖ ล้านบาท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ เสนอ ซึ่งรวมถึงโครงการจัดตั้งพื้นที่อุทยานธรณีแห่งชาติกลุ่ม จ.นครชัยบุรินทร์ (อุทยานธรณีโคราช) ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา วงเงิน ๕ ล้านบาท โดยให้หน่วยงานรับผิดชอบ รับไปพิจารณาศึกษาความเหมาะสมและจัดทำรายละเอียดแผนงาน เพื่อให้สำนักงบประมาณ ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณต่อไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ จังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการตามแนวทางของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมทรัพยากรธรณี) ในการจัดตั้งอุทยานธรณีดังกล่าว ซึ่งอุทยานธรณีโคราช ได้รับการรับรองให้เป็นอุทยานธรณีระดับประเทศจากคณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยา และจัดตั้งอุทยานธรณี เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ ต่อมา คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้อุทยานธรณีโคราช เสนอเข้ารับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก

โดยอุทยานธรณีโคราช มีที่ตั้งครอบคลุม ๕ อำเภอ รวมเนื้อที่ประมาณ ๓,๑๖๗ ตร.กม. โดยมีความเหมาะสมหลายประการ อาทิ เป็นแหล่งธรณีวิทยา แหล่งธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรมในพื้นที่อุทยานฯ จำนวน ๓๕ แหล่ง โดยเป็นแหล่งธรณีวิทยาที่มีคุณค่าระดับนานาชาติ จำนวน ๔ แหล่ง เช่น แหล่งฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอายุ ๒๐๐,๐๐๐ ปี ที่หลากหลายชนิดที่สุด (๑๕ ชนิด) ในอาเซียน นอกจากนี้ อุทยานธรณีโคราช ยังมีลักษณะภูมิประเทศเควสตา (Cuesta) หรือเขารูปอีโต้ ที่มีการยกตัวของที่ราบสูงโคราช โดยเส้นทางเขาเควสตามีระยะทาง ๖๐ กม. (ตั้งแต่จุดชมวิวเขายายเที่ยง-ปราสาทหินพนมวัน) มีโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชนและความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก นอกจากนี้ ยังมีความพร้อมของพื้นที่อีกด้วย โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๕ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา) ซึ่งประโยชน์ของการเป็นสมาชิกยูเนสโกจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านคุณค่าของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและด้านการท่องเที่ยว โดยการเป็นสมาชิกของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกนั้น อุทยานธรณีโคราชจะต้องรับผิดชอบในการชำระเงินค่าสมาชิกปีละ ๑,๕๐๐ ยูโร (ประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท) ค่าใช้จ่ายในการประเมินอุทยานธรณีโคราชในภาคสนาม และค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายอุทยานธรณีโลกและเครือข่ายอุทยานธรณีในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

สำหรับในเรื่องนี้ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช ชี้แจงว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติดังนี้

๑.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณีรับเรื่อง การเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ไปพิจารณาทบทวนให้ชัดเจนว่า การเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกจะมีผลกระทบหรือก่อให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าใช้ประโยชน์ บริหารจัดการ หรือดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าวในอนาคตของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนเจ้าของพื้นที่หรือไม่ ประการใด โดยให้จัดทำข้อมูลที่ครบถ้วนและชัดเจนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

๒.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่น ในอนาคตหากมีโครงการพัฒนาพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อโบราณสถาน ขอให้แจ้งไปยังกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร เพื่อจะได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่อีกครั้ง รวมทั้งควรส่งเสริมศักยภาพของชุมชนและท้องถิ่น และเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชานในการบริหารจัดการ และการพัฒนาอุทยานธรณีโคราชให้มากขึ้น เป็นต้น เพื่อไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไปด้วย

 ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล เผยกับ “โคราชคนอีสาน” อีกว่า ที่มีการเสนอทางคณะรัฐมนตรีแล้วไม่ผ่านการพิจารณา และให้ทบทวนอีกครั้งอย่างรอบคอบ ไม่ได้เกี่ยวเนื่องในด้านของงบประมาณแต่อย่างใด เนื่องจากทางครม.เห็นว่า หากมีการรับรองจากยูเนสโกแล้ว อาจจะมีปัญหาในด้านการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งในส่วนนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องชี้แจง

ทั้งนี้ ทางยูเนสโกเองไม่ได้ออกกฎระเบียบใหม่ออกมา โดยให้ใช้กฎหมายหรือระเบียบที่มีอยู่ในประเทศนั้น ฉะนั้นอาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน ทาง ครม.จึงให้กลับมาทบทวนอย่างละเอียด และหาข้อมูลเพื่อนำชี้แจงต่อ ครม. และยื่นให้พิจารณาอีกครั้ง และยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับเรื่องงบประมาณแน่นอน เพียงแต่อาจมีการขอข้อมูลในการวางแผนงบประมาณ ๔-๕ ปีต่อจากนี้ ว่ามีค่าใช้จ่ายด้านใดบ้าง เพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๘๐วันพุธที่ ๒๖-วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒


780 1427