July 05,2019
เปิดตำนานสุสานช้าง หนึ่งเดียวในโลก
เมืองช้างหรือจังหวัดสุรินทร์ ที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม เมืองที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในโลก นับตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชนชาวกูยในจังหวัดสุรินทร์ คือที่ บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งในปัจจุบันเรียกกันติดปากว่า "หมู่บ้านช้าง" ซึ่งที่นี่นอกจากจะเป็นหมู่บ้านที่มีการเลี้ยงช้างมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์แล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้อารยะธรรมโบราณชองชาติพันธุ์ชาวกวยในจังหวัดสุรินทร์อีกด้วย ซึ่งชาวบ้านที่นี่ได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายในชุดพื้นเมือง ตลอดจนเครื่องใช้ต่างๆ ที่ยังมีหลงเหลืออยู่ และที่นี่ยังเป็น "สุสานช้าง" ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งเดียวในโลกที่มีการนำช้างมาฝังไว้ที่นี่มากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่ "วัดป่าอาเจียง" บ้านหนองบัว ต.กระโพ ซึ่งเราจะมาเปิดตำนานประวัติความเป็นมาของสุสานช้างที่นี่ ว่ามีความเป็นมาอย่างไรให้ได้รับรู้กัน
สำหรับเส้นทางที่จะมา "สุสานช้าง" วัดป่าอาเจียง บ้านหนองบัว ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ หากเดินทางมาจากตัวเมืองสุรินทร์ มาตามเส้นทางสายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด ซึ่งจะมีระยะทางประมาณ ๕๒ กม. โดยเลี้ยวซ้ายไปบ้านตากลาง ต.กระโพ เลยศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้างบ้านตากลางไปประมาณ ๑ กม. ก็จะพบซุ้มประตูทางเข้าวัดป่าอาเจียง ซึ่งปั้นเป็นรูปช้างขนาดใหญ่(กำลังก่อสร้าง) โดยสองข้างทางจะเป็นป่าทึบ บนเนื้อที่ ๘๐ไร่ ที่ยังคงมีไม้ป่านาๆพรรณที่ชาวบ้านและวัดได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ ส่วนลึกเข้าไปภายในก็จะเป็นบริเวณของวัดป่าอาเจียง ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ศาลาเอราวัณซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ของพระพุทธศาสนาและพราหมณ์ ศาลประกำซึ่งเป็นที่เก็บเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เกี่ยวกับการจับช้างคล้องช้าง พิพิธภัณฑ์ชาวกูยซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมเรื่องราวความเป็นมาต่างๆ และเครื่องมือเครื่องใช้ของชนชาติพันธุ์ชาวกูย และที่นี่ยังเป็น "สุสานช้าง" ขนาดใหญ่ หนึ่งเดียวในโลก ที่มีการนำเอากระดูกช้างที่เสียชีวิตแล้วมาฝังไว้ โดยทำเป็นเจดีย์รูปหมวกครอบเอาไว้บนหลุมฝัง เนื่องจากหมวกเป็นสัญลักษณ์ของนักรบ และเพื่อให้รู้ว่าเป็นช้างเชือกใด ชื่ออะไร ซึ่งมีอยู่มากมายที่นี่
โดยผู้ที่จะให้รายละเอียดในเรื่องราวต่างๆ ของวัดป่าอาเจียงแห่งนี้ ก็คือดร.พระครูสมุห์หาญ ปัญญาธโร เจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวัดป่าแห่งนี้ขึ้นมาจากนิมิตของท่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ โดยดร.พระครูสมุห์หาญ ได้เปิดเผยเรื่องราวประวัติความเป็นมาของวัดป่าอาเจียงแห่งนี้ว่า ความเดิมอาตมาได้ทำโครงการช้างคืนถิ่นมาก่อน แต่พอช้างคืนถิ่นมา ช้างต่างบ้านต่างเมืองก็มาอยู่ร่วมกันจนแทบไม่มีที่อยู่ ก็เลยมาอยู่ใกล้ๆ กับบริเวณนี้ซึ่งเดิมเป็นป่าช้าคนและช้าง ก็เลยกลัว ก็เลยคิดว่าเมื่อเราชวนเขามาแล้ว ก็เลยต้องมาอยู่ที่นี่เป็นเพื่อนเขา เขาจะได้มีพระอยู่ใกล้ๆ จะได้อบอุ่น เพราะเขามาอยู่กันทั้งครอบครัว ซึ่งต่อมาก็ขออนุญาตสร้างเป็นวัด เดิมทีอยู่ข้างล่างซึ่งเป็นป่าช้ามาก่อนถึง ๑๖ ปี จนมาถึงปี พ.ศ.๒๕๕๐ จึงได้ขึ้นมาขอ อนุญาตสร้างวัดตรงนี้ ก็มาอยู่ใกล้กับพวกช้างขึ้น ซึ่งก็จะมีวัดอยู่ตรงนี้ สวนสัตว์อยู่ตรงนี้ ศูนย์คชอยู่ตรงนี้ใกล้กัน
ซึ่งก่อนที่จะมาสร้างวัดก็ได้นิมิตมาก่อนว่า ช้างที่อาตมาเคยเลี้ยงเคยดูแลซึ่งอาตมาบวชก็เลย ขายไปไม่ได้ดูแล แต่ว่าก่อนเขาเสียชีวิต อาตมาก็ฝันมาเรื่องๆ ก็เลยนึกว่าทำไมหนอถึงได้ฝัน เห็นช้างอยู่เรื่อยๆ และทุกครั้งที่ฝันเห็นเขาก็จะร้องไห้อยากจะมาอยู่กับเรา อยากจะมาอยู่กับ หลวงพ่อ อยากจะมาอยู่ด้วย เอาเขากลับมาคืนเถอะๆ พอเห็นนิมิตบ่อยๆ ก็เลยไปถามเจ้าของ ถึงได้รู่ว่าช้างเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตไปแล้ว อาตมาเลยขอซื้อกระดูกมา เพื่อมาฝังไว้ แล้วก็จะหาเพื่อนช้างทั้งหมดที่ใครเขาศรัทธาบริจาค ก็จะมาเก็บไว้ที่สุสานร่วมกัน จนกลายมาเป็นสุสานช้างในปัจจุบัน ซึ่งต่อมาก็ได้มีเจ้าของช้างที่ช้างเสียชีวิตแล้ว ได้นำเอากระดูกมาฝั่งไว้ที่นี่ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่จำนวน ๑๓๓ เชือก โดยชาวบ้านที่นี่มีความเชื่อและผูกพันว่า เมื่อช้างของคนในหมู่บ้านนี้ไปเสียชีวิตอยู่ที่อื่น ก็จะต้องนำเอากระดูกกลับมาฝังไว้ที่นี่ แต่ก่อนจะนำเอากระดูกมาฝัง จะต้องฝังร่างช้างเอาไว้อย่างน้อย ๕ ปี เพื่อที่จะให้เนื้อหนังย่อยสลายไปก่อน จึงจะนำเอากระดูกกลับมาฝังไว้ที่นี่ได้ เพื่อที่จะได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ในทุกๆ ปีในวันช้างไทย เสมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของสุสานช้างแห่งนี้
"และที่วัดป่าอาเจียงแห่งนี้ ยังเป็นที่รวมรวบเครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้ในการคล้องช้าง ซึ่งได้นำมาเก็บรวบรวมเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศาลประกำ และยังมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมอารยะธรรมของชาติพันธุ์ของชาวกูยมาไว้ที่นี่ ให้ทุกคนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้อีกด้วย ซึ่งที่นี่เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และยังสามารถเข้ามาศึกษาธรรมมะได้จากพิพิธภัณฑ์เอราวัณที่กำลังก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้อีกด้วย" ดร.พระครูสมุห์หาญ ปัญญาธโร เจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง กล่าวในตอนท้าย
สำหรับสุสานช้างที่วัดป่าอาเจียงแห่งนี้ นับเป็นความภูมิใจของชาวสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง ที่ยังคงมีการอนุรักษ์สิ่งของต่างๆ รวมถึงอารยะธรรมโบราณของชาติพันธุ์ชาวกูยพื้นเมืองที่นี่ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ นอกเหนือจากจะมีหมู่บ้านช้างที่เลื่องชื่อในระดับโลกแล้ว ที่นี่ยังเป็นอีกแห่งที่นับว่าเป็นหนึ่งเดียวของโลกเช่นกัน ที่น่ามาเยี่ยมชมและศึกษาของจังหวัดสุรินทร์
810 2,482