July 06,2019
เที่ยว‘หัตถศิลป์ถิ่นแพรไหม’ นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัด “หัตถศิลป์ ถิ่นแพรไหม” ตอกย้ำวิถีไทย ใส่นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมการท่องเที่ยว นำนวัตกรรมช่วยเพิ่มมูลค่า เน้นประยุกต์ผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย
เมื่อเวลา ๑๔.๓๐ น. วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ที่ลานนาข่า ๑-๒ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาอุดรธานี นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน “หัตถศิลป์ ถิ่นแพรไหม” โดยมีนายประเสริฐ ฝ่ายชาวนา พาณิชย์จังหวัดอุดรธานี พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานเครือข่ายธุรกิจ Biz Club อุดรธานี นายสุวัฒน์ วิไลงาม รองประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี นางฉายา ตยางคนนท์ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการร่วมงาน
นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินโครงการ “ยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว” โดยเดินสายนำผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ เช่น ดีไซน์เนอร์ นักการตลาด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสินค้า/บรรจุภัณฑ์ และภาพลักษณ์ตราสินค้า ฯลฯ ลงพื้นที่ร่วมให้คำปรึกษาแนะนำ ในการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อขยายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น มีการถ่ายทอดเทคนิคการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและลดต้นทุนการผลิต กระตุ้นให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการพัฒนาผ้าไหมให้มีความทันสมัย ร่วมสมัย และดูแลรักษาง่าย ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ให้นำผ้าไหมไทยมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย หรือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเพื่อพัฒนาเส้นทางสายไหมสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ตามยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการผ้าไหม ท้องถิ่น ๓ ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานีนครศรีธรรมราช และภาคเหนือ ได้แก่ แพร่ ลำพูน และเชียงใหม่
“การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ประสบความสำเร็จด้วยดี โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการผ้าไหมท้องถิ่นทั้ง ๓ ภูมิภาค ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ตลอดทั้งเกิดการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการผ้าไหมไทย และสามารถเชื่อมโยงไปยังผู้ผลิต ผู้จัดหา นักออกแบบ ผู้ซื้อ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหม เป็นที่ประจักษ์แก่สายตานักท่องเที่ยว ผู้ที่ชื่นชอบผ้าไหมไทยและประชาชนทั่วไป ตลอดจนเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ที่ได้รับการพัฒนา โดยนำนวัตกรรมมาใส่ดีไซน์ที่ทันสมัยเข้าไป เพื่อตอบโจทย์ตลาดให้กว้างขวางมากขึ้น กรมฯ จึงได้จัดงานแสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ภายใต้ชื่องาน “หัตถศิลป์ ถิ่นแพรไหม” ขึ้น ประเดิมที่อุดรธานี ระหว่างวันที่ ๕ -๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาอุดรธานี”
ภายในงานมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่ได้รับการพัฒนา และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมหลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย เสื้อผ้าแฟชั่น ดีไซน์ที่เหมาะกับผู้บริโภคทุกวัย เครื่องประดับ และของใช้ของตกแต่งบ้าน โดยมีผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาจากกรมฯ เข้าร่วมงานกว่า ๑๐๐ ราย จากทั่วทุกภูมิภาค ผู้เข้าชมงานจะได้ชื่นชมความงดงามของผ้าไหม และผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมแต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาค ซึ่งมีลวดลายที่สวยงาม มีโครงสร้างผ้าและลักษณะการออกแบบที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว แตกต่างกันออกไป รวมถึงสามารถเป็นเจ้าของผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมภายในงานฯ ได้ในราคาสมเหตุสมผล มีความคุ้มค่าคุ้มราคา และสามารถนำไปเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านผ้าไหมแก่ลูกหลานในอนาคตได้อีกด้วย
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำหนดจัดงาน “หัตถศิลป์ ถิ่นแพรไหม” นี้อีก ๓ ครั้ง ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ ฮอลล์ ๑๒ อิมแพ็คเมืองทองธานี กรุงเทพฯ วันที่ ๑๙-๒๑ กรกฏาคม ๒๕๖๒ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ และวันที่ ๒๖-๒๘ กรกฏาคม ๒๕๖๒ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ระยอง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ได้ชื่นชมผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยของผู้ประกอบการท้องถิ่นจากทั่วประเทศ ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒
“จึงขอเชิญชวนแฟนพันธุ์แท้ผ้าไหมไทย และประชาชนทั่วไป ได้อุดหนุนผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยสวยๆ จากผู้ประกอบการท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาค และยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมผ้าไหมไทย มีความเข้มแข็ง เป็นการสืบสานอัตลักษณ์ผ้าไหมของแต่ละชุมชน ให้คงอยู่คู่กับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ทรงคุณค่าผ่านเส้นไหม และลวดลายที่งดงาม สมกับคำที่ว่า “ผ้าไหมไทยสะท้อนเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย” รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวทิ้งท้าย
ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๒ วันเสาร์ที่ ๖ - วันพุธที่ ๑๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
866 1,518