28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

July 06,2019

หอสมุดเปิดเวที‘ส่องอีสาน’ สร้างความรู้เอกสารโบราณ-จารึก

          หอสมุดแห่งชาติฯ เปิดเสวนา “ส่องอีสานจากจารึกและเอกสารโบราณ” เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในคุณค่าและความสำคัญของเอกสารโบราณ รวมทั้งแนวทางสงวนรักษาการอนุรักษ์ ให้คงทนถาวรเป็นมรดกตกทอดแก่อนุชนรุ่นหลัง

          เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๘.๐๐ น. ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา เป็นประธานเปิดโครงการเครือข่ายเพื่อการอนุรักษ์เบื้องต้นและเพิ่มพูนบัญชีเอกสารโบราณในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง “ส่องอีสานจากจารึกและเอกสารโบราณ” พร้อมด้วย นางกันยา แต้เจริญวิริยะกุล ผู้อำนวยการหอสมุดแห่ง ชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา โดยมี               อาจารย์เทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาโบราณ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร, นางสาวยุวเรศ วุทธีรพล นักภาษาโบราณชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ, นายดอกรัก พยัคศรี นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, อาจารย์ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และอาจารย์ธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมเป็นวิทยากร ในช่วงบ่าย

          นางกันยา แต้เจริญวิริยะกุล กล่าวว่า เนื่องจากหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุรักษ์ สืบทอด และเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของชาติ ประเภทเอกสารโบราณ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และมหาสารคาม ปัจจุบันมีคัมภีร์ใบลานจำนวนมากที่ยังไม่ได้สำรวจ รวบรวม สงวนรักษาและอนุรักษ์ตามหลักวิชาการ ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันดำเนินการ โครงการเครือข่ายเพื่อการอนุรักษ์เบื้องต้นและเพิ่มพูนบัญชีเอกสารโบราณ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา มีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจและทำทะเบียนเอกสารโบราณที่พบใหม่ และส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับคุณค่าความสำคัญของเอกสารโบราณ การสงวนรักษา และการอนุรักษ์ อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้เกิดความรักและความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และได้ตระหนักว่า ทุกคนมีส่วนร่วมที่จะช่วยกันอนุรักษ์สืบต่อไป

          ด้านนายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กล่าวว่า เอกสารโบราณ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่สืบทอดมาถึงอนุชนยุคปัจจุบัน เป็นผลงานอันเกิดจากภูมิปัญญาของบรรพชน ที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในรูปของหนังสือตัวเขียนและจารึก เอกสารโบราณเหล่านี้มีอยู่ทุกภูมิภาคของไทย เป็นหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้จำนวนมาก เป็นเอกสารวิชาการอันสำคัญยิ่ง ใช้เป็นข้อมูลศึกษาวิจัยเรื่องต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี อักษรศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณกรรม วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงทางด้านการเมืองการปกครองแต่โบราณ

          “เอกสารโบราณจึงถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของชาติ และเป็นภารกิจสำคัญของกรมศิลปากร ในการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารโบราณ เนื่องด้วยกรมศิลปากรมีหน้าที่ดูแลสมบัติชาติ แต่ข้อจำกัดด้านกำลังคนและงบประมาณ ทำให้การดูแลยังไม่ทั่วถึง ในปัจจุบันยังมีเอกสารโบราณอีกมาก ที่ยังไม่ได้ดูแลและอนุรักษ์ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ชาวจังหวัดนครราชสีมาได้มีการตื่นตัวที่จะร่วมมือกัน ช่วยกันอนุรักษ์เอกสารโบราณ ในฐานะที่เป็นคนไทยและเป็นผู้ที่รับมอบมรดกทางวัฒนธรรมนี้มาจากบรรพชน” ผอ.ศิลปากรที่ ๑๐ กล่าว

          ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้บรรยายในหัวข้อ “นานาสารัตถะจากจารึกและเอกสารโบราณ” และได้กล่าวถึงความเป็นภาคอีสานผ่านหลักฐานจากจารึกไว้ว่า จากอดีตกาลที่ผ่านมา ซึ่งมีหลักฐานจารจารึกไว้ว่า แม้ว่าพื้นที่ภาคอีสานจะมีขนาดใหญ่ เป็นที่อยู่ของคนมานานหลายพันปี แต่ก็ยังคงไม่เคยมีเมืองใหญ่หรือมีอำนาจขนาดพอที่จะตั้งเป็นอาณาจักรของตนเองได้อย่างยั่งยืนมั่นคง เป็นทางผ่านของอำนาจ แล้วแต่ฝ่ายใดจะขึ้นมาเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นทางใต้ ทางตะวันตก หรือ ทางเหนือ

          “เมื่อเป็นทางผ่านของการแผ่อาณาจักรที่มีอำนาจ ทำให้ภาคอีสานมีการเคลื่อนย้ายผู้คนไปมาอยู่ตลอดเวลา แต่จะมีลักษณะไปเป็นกลุ่มๆ จึงเป็นเหตุให้ภาคอีสานมีกลุ่มคนหรือกลุ่มวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะแตกต่างกับภาคกลาง ที่สามารถหลอมรวมผู้คนหลายเผ่าพันธุ์เข้าด้วยกันได้” ผศ.ดร.กังวล กล่าวสรุป

          สำหรับการจัดโครงการครั้งนี้ แบ่งออกเป็น ๒ กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมสำรวจเพื่อการอนุรักษ์เบื้องต้นและจัดทำทะเบียนเอกสารโบราณ ระหว่างวันที่ ๒๘ เมษายน-๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ณ วัดธาตุ ตำบลบ้านเป้า อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และกิจกรรมการบรรยายและการเสวนาแลกเปลี่ยน เรียนรู้เกี่ยวกับเอกสารโบราณ ระยะเวลา ๙ วัน วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมศิลปากร และได้รับความร่วมมือจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่ง ชาติ ตลอดทั้งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยรามคำแหง มาบรรยายให้ความรู้ โดยคาดหวังว่า โครงการนี้จะเป็นการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในคุณค่าและความสำคัญของเอกสารโบราณ ตลอดจนแนวทางการสงวนรักษาและการอนุรักษ์ ให้คงทนถาวรเป็นมรดกตกทอดแก่อนุชนรุ่นหลัง

 

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๒ วันเสาร์ที่ ๖ - วันพุธที่ ๑๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

794 1416