July 17,2019
‘ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมี’ ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ตัวที่ ๑๐ ของไทย
เปิดตัวไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ‘ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมี’ นักล่าแห่งเทือกเขาภูเวียง ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ตัวที่ ๑๐ ของไทย พร้อมผลักดันอุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง เป็นธรณีวิทยาระดับโลกของ UNESCO เชื่อได้รับการรับรองภายใน ๖ ปี
เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๕.๓๐ น. ที่อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ร่วมกันเปิดตัวไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ “ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมี” หรือนักล่าแห่งเทือกเขาภูเวียง ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ตัวที่ ๑๐ ของประเทศไทย และเป็นตัวที่ ๕ ของ จังหวัดขอนแก่น เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดขนาดกลาง สกุลและชนิดใหม่ของโลก หลังจากทีมนักสำรวจจากกรมทรัพยากรธรณีได้ขุดพบที่หลุมขุดที่ 9B ภายในอุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่นี้นั้นมีลักษณะแตกต่างไปจากที่เคยค้นพบมา โดยมีการค้นพบกระดูกส่วนหลัง กระดูกสันหลังส่วนสะโพก กระดูกมือและเล็บ กระดูกหน้าแข้ง ข้อเท้า ฝ่าเท้า และเท้า มีขนาดลำตัวยาวประมาณ ๕-๖ เมตร อยู่ในกลุ่มเมกะแรพเตอรา และคาดว่ามีลักษณะทั่วไปคล้ายกับไดโนเสาร์ตัวอื่นๆ ในกลุ่มเมกะแรพเตอรา เช่น Fukuiraptor จากประเทศญี่ปุ่น คือมีขาหน้าและขาหลังที่ยาว บ่งบอกถึงการวิ่งเร็ว มีกรงเล็บใหญ่ กะโหลกเรียวกว่าที่พบในไดโนเสาร์กินเนื้อทั่วไป เนื่องจากมีกระดูกหลังส่วนสะโพกที่แบน ด้านล่างมีร่องเล็กๆ อยู่ส่วนหน้าและด้านหลังของกระดูกเมื่อมองในมุมล่าง และกระดูฝ่าเท้าชิ้นที่สี่ เฉียงจากด้านนอกตอนต้นมายังด้านในตอนปลาย และมีขอบด้านหน้าที่ต่ำกว่ากระดูกฝ่าเท้าชิ้นที่สาม และต่ำกว่าไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดอื่นๆ เท่าที่เคยมีการค้นพบมา และไดโนเสาร์ภูเวียงเวเนเตอร์ จัดอยู่ในวงศ์เมกะแรพเตอร่า ไดโนเสาร์กลุ่มนี้มีรายงานการค้นพบในยุคครีเทเซียสตอนต้นจากประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลียและประเทศไทย และยุคครีเทเซียสตอนปลายในทวีปอเมริกาใต้บ่งบอกได้ว่า ไดโนเสาร์กลุ่มนี้อาจจะมีกำเนิดในทวีปเอเชีย ก่อนที่จะมีการขยายไปยัง ซีกโลกใต้
“เราจะผลักดันให้พื้นที่อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น เป็นธรณีวิทยาระดับโลกของ UNESCO เพราะขณะนี้ขอนแก่นมีความพร้อมอย่างมาก ซึ่งในอีก ๖ ปีข้างหน้าเชื่อว่าจะได้รับการรับรอง แต่ต้องมีการเตรียมการในเรื่องของการศึกษาวิจัย ที่จะต้องมีหลักฐานในเรื่องการศึกษาวิจัยมารองรับด้วย ชุมชนต้องพร้อม ทั้งยังต้องมีการส่งเสริมในด้านการศึกษาและการท่องเที่ยวในพื้นที่ว่าขณะนี้จังหวัดขอนแก่นได้ทำอะไรไปบ้าง แต่เท่าที่เห็นพบว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จะพยายามยกระดับให้มีมาตรฐานสามารถที่จะตอบคำถามของยูเนสโกได้ เพื่อผลักดันเป็นอุทยานธรณีระดับโลกต่อไป อยากจะให้เพิ่มเติมในเรื่องของภาษา เพื่อช่วยเสริมในด้านการท่องเที่ยวที่จะต้องมีการให้ความรู้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะยูเนสโกจะจะเน้นในการพัฒนาพื้นที่ และจะเน้นเรื่องการทำกิจกรรมซึ่งเราต้องมีให้ครบถ้วน เพราะถ้าสามารถยกระดับเป็นอุทยานธรณีระดับโลกจะเกิดประโยชน์อย่างมาก ประเทศไทยจะมีชื่อเสียงในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวแหล่งที่ให้ความรู้และมีให้เรียนรู้ที่มีมาตรฐานระดับโลก เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวระดับโลกจะมาเที่ยว เขาจะเปิดหาจากเว็บไซต์ว่าสถานที่ไหนที่ท่องเที่ยวระดับโลกอันไหนที่เป็นจีโอพาร์คจังหวัดขอนแก่นมีความพร้อมในด้านต่างๆ เมื่อการประเมินก็จะมีชื่ออยู่ในธรณีระดับโลกได้ถูกขึ้นบัญชี ซึ่งทั่วโลกตอนนี้มีอยู่แค่ร้อยกว่าประเทศ คือที่ ประเทศจีน ประเทศไทย มาเลเซียอินโด นีเซียและเวียดนาม ส่วนในประเทศไทย จะมีอยู่ที่จังหวัดสตูล” นายสมหมาย กล่าว
ขณะที่ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า อุทยานธรณีขอนแก่นหรือ Khonkaen Geopark ประกอบด้วยพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียงคืออำเภอเวียงเก่า และอำเภอภูเวียง เป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรณีอันทรงคุณค่าระดับโลก ซึ่งเป็นเทือกเขาที่มีอายุประมาณ ๑๓๐ ล้านปี รูปทรงแปลกตามีทางเข้าออกเพียงทางเดียว ทั้งยังมีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ ๕ สายพันธุ์ใหม่ของโลก พบฟอสซิลจระเข้สายพันธุ์ใหม่ของโลกและพบฟอสซิลสัตว์โบราณต่างๆ มากมาย จังหวัดขอนแก่นจึงได้ประกาศจัดตั้งอุทยานธรณีระดับโลกจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ โดยแต่งตั้งนายก อบจ.ขอนแก่น เป็นผู้อำนวยการขอนแก่น จีโอปาร์ค พร้อมแต่งตั้งผู้เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน ๕ ด้าน ตามตัวชี้วัดการประเมินอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ประกอบด้วยด้านธรณีวิทยาและภูมิประเทศ ด้านแผนและการจัดการทรัพยากรธรณี ด้านการสื่อสารและการให้ความรู้ ด้านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา และด้านการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคอย่างยั่งยืน
ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๔ วันอังคารที่ ๑๖ - วันเสาร์ที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
894 1,570