July 27,2019
กรมศิลป์หาร่องรอยเมืองโคราช พบกระดูกมนุษย์โบราณ ๒ พันปี
กรมศิลปากร จัดทีมขุดค้นสถานพระนารายณ์หาร่องรอยเมืองโคราช พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ๒ พันปีและเครื่องปั้นดินเผาสมัยกรุงศรีอยุธยาในวัดกลาง พร้อมเตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ด้านชาวบ้านแห่ชมหวังตีเป็นเลขเด็ด
ตามที่ นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ ได้ขออนุญาตกรมศิลปากรขุดค้นสถานพระนารายณ์ เพื่อหาร่องรอยประวัติศาสตร์เมืองนครราชสีมา หลังพบหลักฐานประวัติศาสตร์ เชื่อมีอายุเก่าแก่กว่าปราสาทหินพิมาย เกิดมาแล้วนับพันปี เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๒ นั้น
ล่าสุดวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่โบราณคดี ได้ดำเนินการขุดค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร หรือวัดกลางนครโคราช ถนนจอมพล เขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยกำหนดพื้นที่ด้านทิศใต้ของพระอุโบสถกลางน้ำ จากการขุดหลุมที่ ๑ ระดับความลึกจากพื้นดินประมาณ ๖๐ เซนติเมตร พบแจกกันดินเผาที่ผลิตจากเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี ยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๒๗ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ส่วนหลุมที่ ๒ ระดับความลึก ๑๓๐ ซม. พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ส่วนสูง ๑๕๙ เซนติเมตร และเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการโบราณคดีและกั้นแนวเขตเป็นพื้นที่หวงห้าม ท่ามกลางประชาชนที่มาชม ส่วนหนึ่งได้พิจารณาตามความเชื่อและพยายามตีเป็นเลขเด็ด
นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา เปิดเผยว่า “สืบเนื่องจากทางหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จตรวจราชการที่ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ เพื่อทอดพระเนตรโบราณวัตถุสถาน ซึ่งกำลังชำรุดทรุดโทรมและหักพังลงไปเรื่อยๆ ที่ปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย และวัดพระนารายณ์ฯ จากการเปิด ๒ หลุม ได้พบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุและวัตถุโบราณในบริเวณพระอุโบสถกลางน้ำและมีส่วนหนึ่งถูกนำมาตั้งประดิษฐานในสถานพระนารายณ์หลักเมือง สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงฯ จึงเคลื่อนย้ายส่วนที่อยู่ใต้ดินนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ จังหวัดนครราชสีมา”
ต่อมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ได้สนับสนุนงบ ๕ แสบาท เพื่อดำเนินโครงการขุดค้นทางโบราณคดีสถานพระนารายณ์ ซึ่งเป็นการค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ สันนิษฐานมีอายุประมาณ ๒ พันปีและวัตถุโบราณจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้บริเวณใกล้วิหารใหญ่ พบชิ้นส่วนหินทรายของปราสาทหินพิมายจำนวนมาก และฐานประติมากรรม รูปเคารพ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการขุดค้นหาอีกรวมทั้งสิ้น ๔ หลุม อย่างไรก็ตาม การไขปริศนาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ต้องตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ที่มีความแม่นยำและความน่าเชื่อถือต่อไป
ทั้งนี้ วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ประเภทวรวิหาร ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางเมืองนครราชสีมา ชาวบ้านจึงเรียกว่า “วัดกลาง” ด้านทิศตะวันตกจดถนนประจักษ์ ทิศใต้จดถนนจอมพล ทิศเหนือจดถนนอัษฎางค์ สันนิษฐานว่า ประมาณปี พ.ศ.๒๑๙๙ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดฯ ให้สร้างขึ้น ดังนั้นประเพณีบางอย่างจึง ได้รูปแบบมาจากกรุงศรีอยุธยา เช่น การเผาศพห้ามไม่ให้เผาในกําแพงเมือง เรื่องนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงนิพนธ์ ไว้ว่า “ในพระนครถือว่าเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่คนตายจะเผาใน กําแพงพระนครไม่ได้ ยกเว้นพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงจริงๆ จึงจะเผาที่พระเมรุกลางเมืองได้” สอดคล้องกับในกําแพงเมืองนครราชสีมา ได้มีการสร้างวัดประจําทิศต่างๆ ของเมือง ๖ วัด ได้แก่ วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร (วัดกลาง) วัดบึง วัดบูรพ์ วัดพายัพ วัดสระแก้ว และวัดอิสาน ซึ่งวัดเหล่านี้ได้ถือเอาประเพณี โบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาเป็นกบิลเมือง ที่ห้ามไม่ให้เผาศพในวัดที่อยู่ในกําแพงเมืองนครราชสีมา
อนึ่ง ในปี ๒๕๖๔ สัญญาเช่าตึกแถวที่อยู่อาศัยที่ประชาชนทําไว้กับวัดพระนารายณ์ฯ จะสิ้นสุดลง ทางวัด, คณะกรรมการวัด และคณะกรรมการศาลหลักเมือง เห็นพ้องกันว่า จะถือโอกาสพัฒนาโดยปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาผังเมือง จึงได้จัดประชุมในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พระสีหราชสมาจารมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาและผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์วรวิหาร รวมทั้งส่วนราชการ และภาคเอกชน ประชุมหารือถึงแนวทางการพัฒนาวัดพระนารายณ์ฯ หรือ วัดกลาง เพื่อปรับปรุงพื้นที่และภูมิทัศน์ภายในวัด โดยเฉพาะด้านถนนประจักษ์ ให้มีความสง่างามสมกับเป็นพระอารามหลวง ที่มีความสําคัญและเป็นวัดเก่าแก่ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งที่ประชุมมีดําริให้มีการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จ พระนารายณ์มหาราช เพื่อถวายพระเกียรติที่ทรงสร้างวัดแห่งนี้ให้เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง
ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๕ วันศุกร์ที่ ๒๖ - วันพุธที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
11 1,753